TH | EN
TH | EN
หน้าแรกCareer & Talentเปิด 4 เช็กลิสต์สำคัญที่ผู้นำองค์กรยุคใหม่ต้องมี

เปิด 4 เช็กลิสต์สำคัญที่ผู้นำองค์กรยุคใหม่ต้องมี

ในยุคสมัยที่คนมีทางเลือกมากขึ้น แต่ละปีมีบริษัทเกิดใหม่ทั่วโลกโดยเฉลี่ยประมาณ 5 ล้านบริษัท ในขณะที่คนที่มีความสามารถ หรือ Talent กลับยังไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการต่างต้องงัดกลยุทธ์เพื่อดึงดูดและรักษา talent ให้อยู่กับองค์กร ซึ่งในปัจจุบันเงินเดือนและสวัสดิการกลับไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ talent ตัดสินใจเลือกหรืออยู่ต่อกับองค์กรอีกต่อไปแล้ว บางบริษัทให้เงินเดือนสูงลิ่ว มีสวัสดิการมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ใช่ทั้งหมดที่คนทำงานต้องการ

รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด และผู้ก่อตั้งเพจและพอดแคสต์ Mission to the Moon เผยว่า ปัจจุบันปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อการจ้างงาน คือ “หัวหน้า” คน 70% ลาออกจากงานเพราะหัวหน้า มีเพียง 10% เท่านั้นที่ลาออกเพราะเนื้องาน ดังนั้น ถ้าเรามีหัวหน้าหรือ Team lead ที่ดีก็จะสามารถดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ในองค์กรได้ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะสร้างองค์กรที่มี Team lead ที่แข็งแกร่งได้

เรามองหาอะไรบ้างในมนุษย์หนึ่งคน

สมัยนี้คนเก่งเยอะมาก มี Skill หรือทักษะมากมาย ผู้ประกอบการมักมีลิสต์ไว้เลยว่าในตำแหน่งนี้อยากได้คนที่มีทักษะแบบไหนบ้าง มี skill อะไรที่จำเป็นบ้าง แต่สมัยนี้เป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นคนดีและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย

“เราทำงานเก่งมาก แต่เราเป็นเหมือนปลาปิรันย่า ปล่อยไปบ่อไหนปลาตายเรียบหมด” แบบนี้ไม่ดีแน่ หากเรามี Team lead ที่เป็นปิรันย่า พนักงานก็จะล้มหายตายจากไปทีละคน Team lead ที่ดี ต้องมี Emotional Intelligence  สามารถปรับตัว บาลานซ์กับกฎระเบียบในการทำงานได้ ที่สำคัญต้องเป็นคนที่ “ใช่” สำหรับองค์กรด้วย

เฟ้นหาคนที่ “ใช่” เริ่มต้นที่ Value

คำว่า Value มีนิยามเยอะแยะมากมาย  Personal Value ก็คือแนวความคิดในการดำเนินชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ส่วน Company Value  คือสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญ ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินงานนั่นเอง ดังนั้น Company Value จึงเป็นตัวกำหนดนโยบายและทิศทางของบริษัท หากองค์กรไหนมี Company Value ที่ชัดเจน และสอดคล้องกับ Personal Value ของพนักงานก็มีส่วนที่ทำให้พนักงานตัดสินใจอยู่กับองค์กรนั้นได้อย่างยาวนาน

นอกจากนั้น Personal Value ของผู้บริหารเองก็มีส่วนสำคัญต่อการกำหนด Company Value หรือนโยบายองค์กรด้วย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ ซึ่งนโยบายแต่ละด้านถูกกำหนดโดยกลุ่มผู้บริหารที่มี Value ชัดเจนและต้องตรงกัน ให้สอดคล้องและมีความกลมกล่อมไม่มากหรือน้อยเกินไป บางองค์กร “ขับเคลื่อนด้วยผลลัพธ์” แต่ถ้าเน้นผลลัพธ์มากเกินไปคนทำงานก็อยู่ไม่ได้ รู้สึกกดดัน เครียด เพราะผลลัพธ์ที่ผู้บริหารอยากได้มักจะเกินความจริงไปเยอะ หรือบางองค์กรเน้นความโปร่งใส ฟังดูแล้วเป็นข้อดี ทุกอย่างต้องพิสูจน์ได้มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่ถ้ามากเกินไปจนเกินขีดจำกัดก็เกิดผลเสียได้ ยกตัวอย่างบริษัทหนึ่งที่อเมริกา นำเงินเดือนของพนักงานทุกคนมาเปิดเผยให้รู้กันหมด คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินงาน หรือแม้กระทั่งความมีน้ำใจ หากมีน้ำใจช่วยเหลือทุกคนจนไม่ได้ทำงานของตัวเอง นอกจากเหนื่อยเกินไปแล้วก็ยังเสียงานด้วย ทุกอย่างต้องมีจุดที่พอดี ดังนั้น การกำหนด Company Value จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำอย่างไรให้พอดีสอดคล้อง แต่ลงตัวกับยุคสมัย ตลอดจนความต้องการของผู้บริหารและคนในองค์กร

4 เช็กลิสต์สำคัญ ที่ผู้นำองค์กรยุคใหม่ต้องมี

ปัจจุบันผู้นำองค์กรที่ดี นอกจากเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำแล้ว ยังต้องเป็นผู้ประสานเป็นตัวเชื่อมที่ดีในการทำงาน รวิศเล่าถึงสิ่งที่คนเป็นหัวหน้าที่ดียุคนี้ควรจะต้องมี ต้องคิด และปรับให้ได้

1) ต้องสร้าง Cross-Functional working  

ผู้นำที่ดีต้องสามารถบริหารและทำให้ลูกน้องอยากเดินตามหรือเดินเคียงข้างไปตลอด งานบางงานไม่สามารถทำสำเร็จด้วยตัวคนเดียวได้ การทำงานเป็นทีมจะทำให้องค์กรขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว และมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่า เมื่อต่างคนต่างทำงานหน้าที่ของตนเองที่แตกต่างกันแต่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน การที่ผู้นำจะบริหารแบบ Cross-functional ได้ดีนั้นจะต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของแต่ละตำแหน่งอย่างถ่องแท้เสียก่อน จึงจะสามารถออกแบบการทำงานของแต่ละบทบาทได้อย่างเหมาะสม และทำให้คนทำงานในแต่ละหน้าที่เข้าใจกันและกัน จึงทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

คุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำในการทำ Cross-Functional lead หรือบริหารทีมได้ดีจะต้องมีความสามารถในการบริหารโครงการ หรือ Project Management ที่ดีซึ่งมีคอร์สสอนมากมาย หากคุณคิดว่ายังไม่เก่งพอก็สามารถศึกษาหาเรียนได้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ใน Google Academy  นอกจากนั้นต้องมีทักษะด้าน Problem Solving หรือแก้ปัญหาได้ดีด้วย การแก้ปัญหาในที่นี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาให้พนักงาน แต่ต้องสามารถวางโครงสร้างในการแก้ปัญหาให้กับองค์กรได้อย่างถูกต้อง โดยวัตถุประสงค์ต้องชัดเจน ต้องรู้จักทรัพยากรหรือเครื่องมือที่ใช้ได้ และที่สำคัญทุกการแก้ปัญหาต้องวัดผลได้อย่างเที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น รวิศได้ยกตัวอย่างแนวการบริหารแบบ Tight Loose Tight (แน่น-หลวม-แน่น) คือวัตถุประสงค์ต้องชัดเจน ต้องการอะไร ถัดมาคือวิธีการทำงานควรให้อิสระกับคนทำงานเต็มที่ สุดท้ายการวัดผลต้องแม่นยำ มีการติดตามผล แก้ไขปัญหา และรับ feedback อย่างสร้างสรรค์

2) ต้องมี Lifelong Learning Mindset

ผู้นำที่ดีควรเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ลองตั้งเป้าหมายง่าย ๆ ว่าต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน รวิศกล่าวว่าเริ่มทำ Mission to the moon ก็เพราะแนวคิดนี้ “ทำอย่างไรจึงจะเรียนรู้เรื่องใหม่ได้ทุกวัน”  จึงเริ่มทำ Podcast เพราะเวลาจะเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องไปอ่านเรื่องที่น่าสนใจ ทำความเข้าใจ แล้วนำมาเล่าผ่าน Podcast ซึ่งจะทำให้จดจำเรื่องนั้นได้เป็นอย่างดี

ทุกวันนี้มีบทเรียนที่น่าสนใจเยอะมากและหาเรียนได้ง่าย ไม่ว่าเป็นคอร์สออนไลน์หรือออนไซต์ เพียงแต่ต้องโฟกัสให้ถูกจุด ต้องรู้ว่าบทเรียนไหน Skill หรือทักษะไหนที่เหมาะและสำคัญสำหรับการทำงานของเรา อย่าเรียนสะเปะสะปะ ต้องรู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคืออะไร เพื่อใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หากทำงานเกี่ยวกับการบริหารคน ทักษะที่สำคัญและควรต้องเรียนรู้คือเรื่องจิตวิทยา เป็นต้น

3) ต้องมี Give & Take Feedback

ระบบ feedback มีความสำคัญมาก มนุษย์เราสามารถเติบโตได้จาก feedback และผู้นำที่ดีจะต้องสามารถสร้างบรรยากาศที่ต่างคนต่างกล้าให้ feedback ซึ่งกันและกันได้จริง ๆ และรวิศยังได้ยกตัวอย่างวิธีการสร้างบรรยากาศของการ feedback ที่สร้างสรรค์ง่าย ๆ คือ

  • การให้หรือรับ Feedback ภายใต้กรอบ Start – Stop – Continue Framework คือ สิ่งที่ยังไม่ทำแต่อยากให้ทำ – สิ่งที่กำลังทำอยู่แต่อยากให้หยุดทำ – สิ่งที่ทำอยู่และดีอยู่แล้วต้องทำต่อไป
  • หัวหน้าต้องตั้งใจฟังและยอมรับเมื่อได้รับ feedback ละทิ้งอีโก้ ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าได้รับความสนใจและสามารถ feedback กับหัวหน้าได้จริง ๆ นอกจากนั้นสัดส่วนของลูกน้องต่อหัวหน้าก็มีส่วนสำคัญ มีผลสำรวจบอกว่าหัวหน้า 1 คน ควรมีลูกน้องภายใต้การบริหารไม่เกิน 8 คน
  • แยกแยะระหว่าง Noise และ Feedback ให้ได้ Feedback คือสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ แต่ Noise คือการบ่นที่ไม่มีประโยชน์ นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วบางทียังทำให้ขุ่นมัวด้วย ดังนั้น ต้องเก็บเฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์ไปพัฒนาต่อ

อุปสรรคสำคัญของการสร้างระบบ Feedback ที่ดี คือ Walls, Mirrors และ Liars เหมือนคำกล่าวที่ว่า Leaders surrounded by walls, mirrors and liars เมื่อคุณเป็นผู้นำสามสิ่งนี้จะเข้ามาล้อมรอบทันทีอย่างแรกคือกำแพงที่ปิดกั้นตัวเองจากความเป็นจริง ไม่รับฟังความคิดเห็นหรือ feedback จากคนอื่น สองคือกระจกที่ส่องให้เห็นแต่อีโก้ของตัวเอง และสุดท้ายบริวารที่พร้อมจะเอาใจ ไม่เคยให้ feedback ที่แท้จริง เราต้องระวังและหาวิธีการจัดการกับสามอย่างนี้เพื่อสร้าง Feedback system ที่ดีและเป็นธรรม

4) Technology Skills

ปัจจุบันไม่ว่าคุณจะทำงานในตำแหน่งไหน เรื่อง technology เป็นสิ่งจำเป็น ช่วยให้การทำงานดีและง่ายขึ้นได้ ไม่ควรยึดติดกับวิธีการเดิม หากต้องการผลลัพธ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการตลาด หรือการวิจัย technology ล้วนช่วยให้ง่ายขึ้นได้ เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจออกผลิตภัณฑ์สักตัวหนึ่ง เราสามารถหาข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่าลูกค้ามีความต้องการแบบไหน ทำแบบสอบถามหรือรวบรวมความคิดเห็นจาก Social Media ได้ สำหรับทิศทางในการโฆษณาหรือแม้แต่ราคาก็ยังสามารถให้ลูกค้าช่วยเลือกได้เลย

ต่างจากสมัยก่อนที่ยังไม่มี technology เข้ามาช่วย การออกผลิตภัณฑ์รวมถึงทิศทางในการสื่อสารทางการตลาดถูกกำหนดโดยผู้บริหาร ซึ่งอาศัยข้อมูลที่มีไม่มากนักจากการทำ focus group เมื่อผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดไปแล้ว ก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนสื่อได้อีก ได้แต่รอเวลาเพื่อดูว่าจะได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายหรือไม่ แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีส่วนช่วยกำหนดทิศทางในการสื่อสาร เพียงแค่ใช้ technology เข้ามาช่วย ทดลองสร้าง Ad ในรูปแบบต่าง ๆ แล้วโฆษณาผ่านทาง Social Media เพื่อดู Engagement ว่าลูกค้าชอบแบบไหน หากลูกค้าไม่ชอบก็สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางหรือโฆษณาได้ทันที ในส่วนราคาก็เช่นกัน สามารถทำโฆษณาเพื่อทดสอบว่าราคาช่วงไหนที่ผู้บริโภคอยากซื้อมากที่สุด มีโอกาสในการกดซื้อมากที่สุดก็เลือกราคานั้น

นอกจากนั้น หัวหน้าต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ technology ต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เช่น ChatGPT เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ChatGPT เป็น AI ด้านภาษาที่สามารถช่วยคิด วิเคราะห์ข้อมูล หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ช่วยในการนำ Historical Knowledge ที่เกิดขึ้นมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามคุณต้องมีการฝึกฝน ใช้ให้เกิดความคุ้นเคย จึงจะรู้ว่าสามารถนำ ChatGPT หรือ technology ต่าง ๆ มาช่วยในงานได้อย่างไร หากคุณเป็นหัวหน้าแต่ไม่มีความรู้เรื่อง technology เหล่านี้เลยก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ หัวหน้าจึงควรต้องมีความรู้ด้าน technology ให้มากพอที่จะไม่เป็นภาระกับลูกน้อง

นอกจาก 4 เรื่องสำคัญนี้แล้วอีกอย่างหนึ่งที่ผู้นำต้องมีก็คือ Common Sense on people ต้องดูคนให้เป็น ภายใต้เวลาสัมภาษณ์งาน 2 ชั่วโมง ผู้นำต้องสามารถดูออกว่าคนคนนั้นมีความสามารถ และเหมาะสมกับองค์กรของเราหรือเปล่า หากตัดสินใจรับพนักงานเข้ามาผิด ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่อีกครั้ง ทำให้เหนื่อยและเสียเวลามาก และ Common  Sense on people เป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสบการณ์ หรือต้องศึกษาเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาจะช่วยสร้าง Common Sense ได้ ดังนั้น หากคุณจะบริหารคนการศึกษาเรื่องจิตวิทยาจึงมีประโยชน์มาก

หากทีมงานมีความสุขแล้วก็จะสามารถส่งต่อความสุขนั้นไปยังลูกค้าได้ด้วย ซึ่งทีมงานจะมีความสุขได้ขึ้นอยู่กับนโยบายที่มาจาก Value ขององค์กร และมีผู้นำที่ดีนั่นเอง “การเป็นลีดเดอร์ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งเลย ถึงคุณจะเป็นจูเนียร์ก็เป็นลีดเดอร์ได้ หากคุณนำพาให้คนอื่นเดินตามหรือเดินเคียงข้าง สร้างศรัทธาให้ลูกทีมและลูกค้าได้ สิ่งเหล่านี้ต้องมาจากจิตใจจริง ๆ”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

AWS re/Start โปรแกรมฝึกอบรมพื้นฐานคลาวด์ สำหรับคนที่มองหาโอกาสเข้าสู่สายงานด้านเทคในไทย

คุณจะทำอย่างไร? ในวันที่ Resume สำคัญน้อยลง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ