TH | EN
TH | EN
หน้าแรกCareer & Talent‘เปลี่ยน’ เพื่อ ‘ปรับ’ สู่การสร้าง People Performance ที่ยั่งยืน

‘เปลี่ยน’ เพื่อ ‘ปรับ’ สู่การสร้าง People Performance ที่ยั่งยืน

ในยุคที่โลกมีสิ่งกระตุ้นหรือตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี ส่งผลทำให้คนมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งด้านพฤติกรรมและการทำงาน องค์กรเองต้องพบกับความท้าทายในการบริหารจัดการบุคลากร ตั้งแต่การสรรหา ดึงดูด และรักษา Talent กลยุทธ์แบบเดิมจึงอาจไม่ตอบโจทย์ที่จะทำให้ “คน” ซึ่งเเป็นทรัพยากรสำคัญอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ ได้อีกต่อไป

ในงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2023 FESTIVAL อภิชาติ ขันธวิธิ CEO – QGEN Consultant เล่าถึงเทรนด์และงาน HR ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้ม วิธีการ และแนวทางในการบริหารจัดการคน ตลอดจนสิ่งที่องค์กรควรต้องปรับเปลี่ยน เพื่อรับมือกับความต้องการของ ‘คนเก่ง’ หรือ ‘Talent’ และดึงศักยภาพของคนเหล่านี้ออกมาเพื่อขับเคลื่อนการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ถึงเวลาที่องค์กรทั่วโลกต้อง Transform 

“องค์กรจำเป็นต้อง Transform เราทำอะไรแบบเดิมไม่ได้แล้ว เราเก่งแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต่อให้วันนี้เรายังเก่งอยู่ แต่ความเก่งของเราที่มีในปัจจุบัน ก็อาจจะไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ทำอย่างไรเราจึงจะมีท่าใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการธุรกิจ ทำอย่างไรเราจึงจะเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลง”

อภิชาตได้เปิดผลสำรวจผู้บริหารระดับ CEO ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสำรวจโดย PWC และมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

CEO 69% มองว่าครึ่งปีหลังจากนี้ไปจนถึงกลางปีหน้าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะแย่ลง 

CEO 53% มองว่าเราไม่สามารถเอาตัวรอดได้ด้วยการทำงานแบบเดิมต่อไปอีกแล้ว 

ทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน จำนวน Talent ในตลาดที่ไม่เพียงพอ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น 16-28% ต่อปี ทำให้องค์กรต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้ง labor cost และต้นทุนอื่น ๆ รวมถึงความต้องการของคนที่เปลี่ยนแปลงไป 

ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ บางองค์กรในหลายประเทศได้เริ่มตื่นตัว และ Transform รูปแบบการทำงานบ้างแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่นเกิดเทรนด์การส่งเสริมให้ผู้ชายให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่าเรื่องงาน ประเทศนิวซีแลนด์หันมาให้ความสำคัญกับการ retain พนักงาน เพื่อรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ ส่วนในอเมริกาเริ่มให้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ จากเดิมที่ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

“Transform เปลี่ยนแล้วต้องเปลี่ยนเลย” เมื่อองค์กรปรับเปลี่ยนมักจะเกิดการต่อต้านหรือไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในองค์กร สุดท้ายก็วนกลับมาใช้ของเดิม เพราะมองว่าของเดิมที่ใช้ดีอยู่แล้ว เมื่อไม่มีการกระตุ้นหรือการพัฒนาสิ่งใหม่ ก็กลับมาใช้ของเดิม แบบนี้แปลว่าไม่ได้ทำ Transform หรือทำไม่สำเร็จนั่นเอง

4 ปัจจัยหลักที่องค์กรต้อง Transform 

เมื่อจะ Transform หรือปรับเปลี่ยนองค์กรต้องพิจารณา 4 ด้านเป็นหลัก ได้แก่ 

  • People คน 
  • Process กระบวนการทำงาน
  • Tools เครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน 
  • Technology เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามามีอิทธิพลในการทำงาน

ทั้ง 4 ปัจจัยนี้เป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกัน เมื่อปรับปรุงสิ่งหนึ่ง สิ่งที่เหลือจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยโดยปริยาย เช่น ถ้าเริ่มใช้ AI หรือ Chatbot เข้ามาช่วยทำงาน กระบวนการทำงานอื่น ๆ ก็ต้องถูกเปลี่ยนเช่นกัน 

จุดมุ่งหมายของการ Transform หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อผลักดันให้ได้ People Performance ที่เป็นไปตามที่คาดหวังหรือดีกว่าเดิม โดยกำหนดกลยุทธ์หรือ Strategy เพื่อสร้างผลลัพธ์ให้เป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งควรเริ่มจาก 2 สิ่งคือ Creativity และ Data ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีแนวทางใหม่เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่าง และต้องมีข้อมูลที่พร้อมวิเคราะห์ วางกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์เป้าหมาย รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะดึงศักยภาพของคนเก่งออกมาได้

5 กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ

การจะก้าวไปสู่องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านการบริหารบุคลากร การวางนโยบายและกลยุทธ์ที่ดีจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้บริหารไม่ควรมองข้าม ด้วยเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กุญแจทั้ง 5 นี้จะช่วยไขให้องค์กรยุคใหม่ สามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

  1. การพัฒนา Experience ของพนักงาน 

แต่ละองค์กรต้องหันมาเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงานในทุก Touch point คือทุกโอกาสที่พนักงานได้ติดต่อกับบริษัท โดยเริ่มตั้งแต่การประกาศรับสมัครงาน กระบวนการสรรหา การเริ่มงานในช่วง 100 วันแรก การพัฒนาบุคลากร การประเมินผลงาน จนกระทั่งการลาออก ต้องทำให้พนักงานรู้สึกประทับใจในทุกช่วงเวลา เพราะ Experience เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พนักงานรู้สึกอยากเติบโตและเดินทางร่วมไปกับองค์กร หากองค์กรช่วยเติมเต็มประสบการณ์ที่ต้องการในช่วงเวลาที่เหมาะสม มอบ Work Life Balance ที่ดีให้กับพนักงาน จะทำให้พนักงานอยากทำงานอยู่กับองค์กร และพัฒนาศักยภาพของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ  หรือแนะนำให้ Talent คนอื่น ๆ มาทำงานกับองค์กรอีกด้วย

‘เปลี่ยน’ เพื่อ ‘ปรับ’ สู่การสร้าง People Performance ที่ยั่งยืน

สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีจำนวนพนักงานมาก การให้ Tool and Resource Experience ที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหลายองค์กรกำลังติดกับดักเน้นให้ความสำคัญกับเรื่อง Career Growth หรือโอกาสในการเติบโต และผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่กลับลืมที่จะจัดหาเครื่องมือการทำงานที่เหมาะสมให้กับพนักงาน “เครื่องมือไม่จำเป็นต้องดีที่สุด ทันสมัยที่สุด แต่เครื่องมือต้องเพียงพอที่จะทำให้เขามองเห็นว่าใช้แล้วจะเกิดความสำเร็จ”

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการพัฒนา Experience ของพนักงานคือ Employee Recognition คือการให้ความสำคัญกับพนักงาน ทำให้รู้สึกถึงความสำคัญและมีตัวตนในองค์กร เมื่อเข้าไปทำงานต้องรู้สึกได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นหรือมีเพื่อน หลายองค์กรจะใช้การทำ recruitment camp ให้กับนักศึกษาจบใหม่ และรับเข้าทำงานพร้อมกัน ทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีเพื่อนในองค์กรตั้งแต่เริ่มต้น จึงทำให้ปรับตัวอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรได้เป็นอย่างดี

  1. องค์กรต้อง Re-design ในเรื่องของ Performance Management System 

องค์กรต้องประเมินระบบการประเมินผลของตัวเองอยู่เสมอว่ายังสามารถใช้ได้จริงอยู่หรือไม่ เช่น บางองค์กรเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Hybrid work place แล้ว ก็ต้องปรับวิธีการประเมินผลงานใหม่ให้เหมาะสม ระบบการประเมินต้องบอกได้ว่า พนักงานทำอะไรได้ดี มีอะไรที่ต้องปรับปรุง และต้องทำอย่างไรจึงจะเติบโตเป็น Talent ในองค์กรได้ 

“องค์กรต้องกลับมาคิดนิยามว่า Talent ของเราคืออะไร หากดูแต่ผลงานย้อนหลัง แปลว่าองค์กรกำลังเชื่อว่าคนที่เป็นคนเก่งในอดีตจะเป็นคนเก่งในอนาคตด้วย แต่ละองค์กรต้องพิจารณาตามความเหมาะสม และนิยามให้ชัดว่า Talent ต้องเป็นแบบไหน” 

แต่ละองค์กรต้องโฟกัสเรื่อง Talent Management เพิ่มขึ้น โดยเริ่มจาก Restart, Reset และ Redesign ในอนาคตจะมีตำแหน่งงานด้าน Talent Management เพิ่มขึ้นในองค์กร โดยมีหน้าที่หลักในการเพิ่มจำนวนคนที่เป็น Talent ผลักดันพัฒนาให้บุคลากรในปัจจุบันกลายเป็น Talent ในองค์กรมากขึ้น

  1. องค์กรต้องย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องกำลังคน

การบริหารอัตรากำลังคนในปัจจุบันเป็นเรื่องที่องค์กรต้องพิจารณา โดยเฉพาะในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา หลายองค์กรได้กลับมาพิจารณาว่ากำลังคนมากหรือน้อยไปหรือเปล่า คำว่ามากหรือน้อยไม่ได้วัดที่จำนวนเท่านั้น แต่อยู่ที่กลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร รวมถึงพิจารณาทักษะของพนักงานอย่างสม่ำเสมอว่าพร้อมที่จะผลักดันให้งานสำเร็จตามเป้าหมายที่องค์กรต้องการหรือไม่

อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยก็คือ สัดส่วนของพนักงานในระดับบริหารที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือ LGBTQ+ มีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหลายองค์กรเริ่มพิจารณาเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของสังคมปัจจุบัน

  1. องค์กรต้องส่งเสริมการเรียนรู้ให้มากกว่าเดิม

เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต องค์กรต้องระบุทักษะที่ต้องการ รวมถึงทักษะใหม่ ๆ ในอนาคตที่ต้องการให้พนักงานพัฒนาได้ โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี ต้องเป็น Continuous Learning หรือการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อให้องค์กรพร้อมรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการทำงาน 

  1. ทบทวนและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมองค์กรเป็นปัจจัยหนึ่งที่ชี้วัดการขับเคลื่อนและเติบโต องค์กรจึงควรออกแบบวัฒนธรรมที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมให้พนักงานทำงานร่วมกันได้ 

‘เปลี่ยน’ เพื่อ ‘ปรับ’ สู่การสร้าง People Performance ที่ยั่งยืน

วัฒนธรรมแบบ CCAID เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่หลายองค์กรเลือกนำมาปรับใช้ เพื่อดึงดูด รักษาคนเก่งให้ทำงานและอยู่ร่วมกันในองค์กรได้อย่างมีความสุข ซึ่งประกอบด้วย

  • Continuous Learning มีการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด
  • Collaboration การทำงานร่วมกันภายใต้เทคโนโลยีเดียวกันได้อย่างราบรื่น
  • Adaptability มีการปรับตัวอยู่เสมอ ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม
  • Innovation ใช้นวัตกรรม มีการทดลองวิธีหรือใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการทำงาน 
  • Data-Driven ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ต้องทำงานหรือตัดสินใจบนข้อมูล 

เมื่อองค์กรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเข้าใจหัวใจของการบริหารจัดการคนแล้ว ย่อมจะสามารถสร้างองค์กรที่มี People Performance ที่เติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ไขความลับการปั้น ‘แรบบิทส์ เทล’ สู่ ‘Experience Agency’

เปิด 4 เช็กลิสต์สำคัญที่ผู้นำองค์กรยุคใหม่ต้องมี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ