TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyวว. จับมือพันธมิตร เดินหน้าโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน มุ่งลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

วว. จับมือพันธมิตร เดินหน้าโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน มุ่งลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เดินหน้าโครงการ “การเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนบริหารจัดการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน” ติดตั้งชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนและผลิตน้ำประปาพร้อมดื่มแจกจ่ายให้กับจังหวัดสงขลา ในพื้นที่ชุมชน อบต.บ้านขาว หมู่ที่ 2 และ 3 ระบุขณะนี้ครัวเรือนสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ที่ 0.437 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เผยอยู่ระหว่างการระดมความคิดเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนน้ำดื่มหมู่บ้าน สำหรับเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีรูปแบบการจัดสรรกองทุนในการบริหารจัดการค่าดำเนินการ โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนสามารถซื้อน้ำดื่มได้ 20 ลิตร ในราคาเพียง 5 บาท ซึ่งถูกกว่าราคาจำหน่ายน้ำดื่มในท้องตลาด

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การติดตั้งชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน ในพื้นที่ อบต.บ้านขาว กำหนดพื้นที่ 7 แห่ง มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 273 ครัวเรือน ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จที่โรงเรียนชุมชนวัดบ้านขาว หมู่ 3 และบ้านพ่อผู้ใหญ่สุนทร หมู่ 2

จากการประเมินความเป็นไปได้ในทางเทคโนโลยีพบว่า คุณภาพน้ำประปาที่ผลิตได้ผ่านเกณฑ์การยอมรับของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งการอุปโภคและบริโภค ส่วนการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพจากโลหะหนักและจุลินทรีย์พบว่า ค่าสัดส่วนความเสี่ยงอันตราย (Hazard Index : HI ) มีค่า 0.014 ซึ่งมีค่าต่ำกว่า 1 แสดงว่า น้ำประปาที่ได้จากน้ำฝน ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ สามารถนำมาใช้ได้ทั้งบริโภคและอุปโภค ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพจากโลหะหนักและเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

สำหรับความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน เป็นการศึกษาต้นทุนและผลประโยชน์ของโครงการ โดยทำการปรับมูลค่าด้วยอัตราเงินเฟ้อและตัวประกอบคิดลด (Discount Factor : DF) ซึ่งทำหน้าที่ในการเพิ่มและปรับลดมูลค่าต้นทุน และมูลค่าผลประโยชน์ในอนาคตให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน โดยใช้ตัวชี้วัด คือ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (Benefic-Cost ratio : BCR) อัตราตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return : IRR) และระยะเวลาคืนทุนของโครงการ (Payback Period) โดยนำมูลค่าของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ขายได้นำมาประเมินด้วย ซึ่งจากการประเมินพบว่า ค่า NPV และ BCR มีค่ามากกว่า 1 และ IRR มีค่ามากกว่า อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราคิดลด แสดงว่า มีความคุ้มค่าในการลงทุนทางการเงิน และมีเกณฑ์การยอมรับข้อเสนอโครงการในการลงทุน ไม่ว่าจะขายคาร์บอนเครดิตหรือไม่

“จากการประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนพบว่า ขณะนี้ในแต่ละครัวเรือนสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ที่ 0.437 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี คิดเป็นมูลค่าซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ที่ 11 บาทต่อปี หากคิดทั้งจังหวัดสงขลา ซึ่งมีจำนวนครัวเรือนอยู่ที่ 184,213 ครัวเรือน จะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 74,834 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี คิดเป็นมูลค่าซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ที่ 1.87 ล้านบาทต่อปี”

ปัจจุบัน อัตราการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ยังเป็นการซื้อขายแบบสมัครใจ ซึ่งทางสมาคม carbon market club ได้กำหนดราคาซื้อขายที่ 25 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าการดำเนินการโครงการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท. ทำให้ วว. และจังหวัดสงขลาสามารถบรรลุเป้าหมาย ที่ต้องการให้ชุมชนมีน้ำที่สะอาดและมีคุณภาพใช้อย่างเพียงพอ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนด้วยเทคโนโลยีที่รองรับสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างเป็นรูปธรรม…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

พัทธนันท์ นาถพินิจ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ วว. หัวหน้าโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากทีมวิจัย วว. ได้นำเสนอโครงการให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (อำพล พงศ์สุวรรณ) และนายอำเภอระโนด (ไพโรจน์ ศรีละมุล) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขาว (วรรณรพ ส่องสว่าง) เมื่อเดือนกันยายนและสิงหาคม 2565 วว. และเครือข่ายพันธมิตร ได้เดินหน้าโครงการติดตั้งชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล พิสูจน์ความเป็นไปได้ในการนำน้ำฝนมาผลิตเป็นน้ำประปาพร้อมดื่ม โดยพบว่าไม่มีความเสี่ยงทางสุขภาพกับชุมชน และสามารถลดโลกร้อนได้ โดยสามารถลดการใช้ขวดพลาสติกน้ำดื่ม และลดการใช้ไฟฟ้า สารเคมีจากการผลิตน้ำประปา ซึ่งทำให้โครงการสามารถกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ในส่วนของการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในด้านน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการของจังหวัดในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

เชื้อจุลินทรีย์ในน้ำฝนก่อนผลิตน้ำประปา
เชื้อจุลินทรีย์ในน้ำประปาที่ผลิต สามารถลดจุลินทรีย์ได้มากกว่า 99%

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

บำรุงราษฎร์ ปั้นโมเดล Pride Clinic ชูความต่างในการให้บริการครบเครื่องเรื่องสุขภาพ กลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย

“Data Economy” น่านน้ำเศรษฐกิจใหม่ ไขก็อกปรับนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ปลดล็อกให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า

ยกระดับการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ