TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyETDA เตรียมออก "เครื่องหมายรับแจ้ง ETDA DPS Notified" ให้แพลตฟอร์มดิจิทัลตามกฎหมาย DPS

ETDA เตรียมออก “เครื่องหมายรับแจ้ง ETDA DPS Notified” ให้แพลตฟอร์มดิจิทัลตามกฎหมาย DPS

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เตรียมออกเครื่องหมายรับแจ้ง ‘ETDA DPS Notified’ ให้แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปที่ยื่นแจ้งข้อมูล ตามกฎหมาย DPS และผ่านการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ 

การออกเครื่องหมายรับแจ้ง DPS หรือ “ETDA DPS Notified” เป็นการเพิ่มความเข้มข้นการกำกับดูแลภายใต้กฎหมาย DPS สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ที่มีลักษณะตาม ม.8 วรรคหนึ่ง ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีผู้ใช้งานเกิน 5,000 คนต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด) เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มกลุ่มใหญ่ที่ให้บริการแก่คนไทยทั่วไปและอาจเข้าข่ายแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงสูง และอาจกระทบต่อผู้ใช้งานในวงกว้างได้ 

เครื่องหมาย “ETDA DPS Notified” นี้จะเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้ผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม พ่อค้าแม่ค้า ไรเดอร์ ตลอดจนผู้บริโภค สามารถเชื่อมั่นได้ว่า แพลตฟอร์มที่มีเครื่องหมายนี้ เป็นแพลตฟอร์มที่ได้มีการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ มีการยืนยันตัวตน เมื่อเกิดเหตุหรือปัญหาสามารถติดต่อได้ มีมาตรการในการบรรเทาความเสียหายและการชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมาย DPS 

แพลตฟอร์มทั่วไปที่ยื่นแจ้งข้อมูลและผ่านการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้รับการอนุมัติให้สามารถดาวน์โหลดเครื่องหมาย ETDA DPS Notified เพื่อนำไปแสดงบนแพลตฟอร์มของตนเองได้ ตามวิธีและเงื่อนไขที่ ETDA กำหนด 

ดังนั้น ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลควรสังเกตเครื่องหมาย ETDA DPS Notified บนแพลตฟอร์ม และคลิกเข้าไปที่เครื่องหมายเพื่อตรวจสอบข้อมูล รายละเอียดที่สำคัญ ๆ ของแพลตฟอร์ม เช่น ชื่อบริการ ลักษณะบริการ สถานการณ์ให้บริการ และ ช่องทางติดต่อ เป็นต้น

จิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ต้องเร่งให้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายต้องแจ้งแต่ยังไม่มาแจ้งให้มาดำเนินการแจ้งข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด รวมไปถึงการเร่งสร้างความเข้าใจและกระตุ้นเตือนให้แพลตฟอร์มที่มาแจ้งข้อมูลแล้ว ต้องดำเนินการยื่นรายงานประจำปีกับ ETDA เพื่ออัปเดตข้อมูล อาทิ รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในไทย จำนวนและประเภทผู้ใช้บริการ เป็นต้น รวมถึงการแจ้งข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ (Terms & Conditions: T&C) ให้ผู้ใช้บริการทราบ 

ในกรณีแพลตฟอร์มที่มีลักษณะตามมาตรา 16 ที่มีให้บริการโดยคิดค่าบริการ หรือให้บริการเป็นสื่อกลางในการเสนอสินค้าหรือบริการ หรือบริการ Search engine ซึ่งทั้งในส่วนรายงานประจำปีและการแจ้ง Terms & Conditions ข้างต้นแพลตฟอร์มจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 29 ก.พ. 2567 นี้ 

แพลตฟอรฺ์มขนาดเล็ก จดแบบย่อ แสดง “ใบรับแจ้ง” แทนได้ 

สำหรับ แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กที่แจ้งข้อมูลแบบย่อ และไม่ได้รับเครื่องหมายดังกล่าว แต่ต้องการแสดงให้ผู้ใช้บริการทราบว่าตนเป็นแพลตฟอร์มที่มีแนวปฏิบัติการให้บริการสอดคล้องกับกฎหมาย DPS สามารถนำใบรับแจ้งที่ได้จาก ETDA ไปสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้บริการได้เช่นเดียวกัน

แพลตฟอร์มดิจิทัลจดแจ้งตามกฎหมาย DPS แล้วมากกว่าพันราย 

กฎหมาย DPS (Digital Platform Service) คือ พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้มาแล้วกว่า 6 เดือน มีแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาแจ้งการประกอบธุรกิจแล้ว 1,168 แพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มสัญชาติไทย และ Online Marketplace แจ้งมากสุด 

แพลตฟอร์มที่มาแจ้งมากที่สุด คือ 

  • บริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) จำนวน 302 แพลตฟอร์ม 
  • บริการสื่อสารออนไลน์ (online communication) จำนวน 199 แพลตฟอร์ม 
  • บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) จำนวน 78 แพลตฟอร์ม

ภาพรวมส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทยถึง 94.46 % ส่วนแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามาแจ้งมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ จีน ตามลำดับ 

แพลตฟอร์มไหนบ้างที่เข้าข่ายแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (ตามมาตรา 18) คือ แพลตฟอร์มที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือ รวมทุกประเภทเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย (AMAU) เกิน 10% ของจำนวนประชากร รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยง และมีผลกระทบในระดับสูง ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติม

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำร่างประกาศรายชื่อดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ โดยสามารถติดตามข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ของ ETDA ที่ www.etda.or.th

เครื่องหมายรับรอง ETDA DPS Certified

ในอนาคตจะออกเครื่องหมายรับรอง ETDA DPS Certified

ETDA กับบทบาท Co-Creation Regulator

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA  กล่าวว่า ETDA มีบทบาทสำคัญ คือ การร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ที่มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในอนาคต 

ETDA ขยับบทบาทสู่การเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลภายใต้แนวคิดการทำงาน Co-Creation Regulator ด้วยการดำเนินงานภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎหมาย Digital ID และกฎหมาย DPS ทั้งในส่วนการกำกับดูแลและการส่งเสริม เพื่อให้ประเทศเกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมั่นใจผ่านการดำเนินงานในหลายส่วน 

หนึ่งงานไฮไลท์ที่เรียกว่าเข้ามาเพิ่มความเข้มข้นของบทบาท Co-Creation Regulator นั่นก็คือ การกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลภายใต้กฎหมาย DPS ถือเป็นงานที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการในประเทศไทยมีจำนวนมากและหลากหลาย การจะทำให้แพลตฟอร์มที่มีอยู่นี้เข้าสู่ระบบ มาแจ้งข้อมูลและดำเนินธุรกิจบริการภายใต้แนวปฏิบัติที่ดีสอดคล้องกับกฎหมาย

“ETDA เร่งวางกลยุทธ์การทำงานให้มีความรอบครอบ รัดกุมมากที่สุด ไปพร้อม ๆ กับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เป็นกลุ่มหลักที่ต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้มาร่วมกำหนดทิศทางการดูแลผู้ใช้บริการ การให้บริการที่มีความเหมาะสม ตลอดจนการมีแนวปฏิบัติที่ดี ที่รวมถึงการกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดจากการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เป้าหมายสูงสุดคือ เพื่อให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีแนวทางที่สามารถกำกับดูแลตนเองในการให้บริการที่ดีได้ในอนาคต (Self-regulate)”

‘ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต’ สะท้อนมุมมองต่อบทบาทของ กสทช. บนความท้าทายในโลกยุคแพลตฟอร์มดิจิทัล

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

นักวิทยาศาสตร์ไทย โชว์การใช้สารสกัดจากพืชกินได้ กำจัดเซลล์ติดเชื้อ HIV บนเวทีระดับโลก

การ์ทเนอร์คาด Deepfakes จะทำให้องค์กรมองโซลูชันยืนยันตัวตน ไม่มีความน่าเชื่อถืออีกต่อไป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ