TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist‘AI และ หุ่นยนต์’ เปลี่ยนโลกได้อย่างไร โอกาสลงทุนอยู่ตรงไหน

‘AI และ หุ่นยนต์’ เปลี่ยนโลกได้อย่างไร โอกาสลงทุนอยู่ตรงไหน

“การชะงักงันในภาคจ้างงาน (Job Disruption) ต้องมีแน่นอนในอนาคต เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ‘หุ่นยนต์’ ที่จะสามารถทำได้ทุกอย่างแทนเรา ผมหมายถึงเราทุกคน” Elon Musk เจ้าพ่อนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Tesla พูดถึงศักยภาพของ AI (Artificial Intelligence) หุ่นยนต์ (Robot) และ Machine Learning เมื่อปี 2560

ฟังดูเหมือนจะเป็น ‘เรื่องไม่ดี’ เพราะหุ่นยนต์สามารถทำได้ทุกอย่างแทนมนุษย์ นั่นหมายความว่า ถ้ามันทำงานแทนคุณได้ คุณก็คงจะต้องตกงาน 

แต่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม กลับเห็นประโยชน์จากการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคน แม้จะต้องลงทุนสูงมากและใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนก็ตาม

-เจาะลึก ETF ‘หุ้นกัญชา’ ทั่วโลก
-‘เวียดนาม’ ปี 2564 น่าลงทุนตรงไหน?

เพราะหุ่นยนต์ไม่ต้องการวันลา ไม่ต้องการประกันสังคม ไม่ต้องการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่เลือกงาน ที่สำคัญ คือ สามารถทำงานวันหยุดหรือกะดึกได้ 

ไม่เพียงเท่านั้น ‘สังคมคนสูงวัย’ ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ตลาดแรงงานคนกำลังเปลี่ยนแปลง นายจ้างคิดถึงการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีมากขึ้น

นี่ยังไม่ได้พูดถึงเทคโนโลยีอย่าง AI ที่ถูกพัฒนาให้มีความสามารถในการประมวลได้อีกหลายรูปแบบ แล้วใส่เข้าไปในหุ่นยนต์ อธิบายง่าย ๆ คือ หุ่นยนต์สามารถคิดเองได้ เรียนรู้เองได้ และฉลาดมากขึ้น

ยกตัวอย่างใกล้ตัวคุณมากขึ้น อย่างหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในบ้าน คุณรู้ว่ามันสะดวกสบาย และคุณไม่ต้องจับเครื่องดูดฝุ่นมาทำความสะอาดบ้านเอง ถ้าราคาน่าคบหามากขึ้น เชื่อว่า ทุกบ้านก็ต้องการซื้อไอ้เจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ มาไว้ในบ้านสักครั้งเครื่อง เพื่อคุณจะไม่ต้องทำความสะอาดบ้านเองบ่อย ๆ    

‘หุ่นยนต์’ ถ้ามองเป็นอุปสรรค (Threat) ของมนุษย์ มันคือกำแพงสูงชัน ยากที่มนุษย์ธรรมดาจะปีนข้ามไปได้ ถ้ามองเป็นโอกาส (Opportunity) มันคือ ‘เมกะเทรนด์’ ของโลก เพราะมันคือ สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ที่สำคัญคือ มัน (กำลัง) มีอิทธิพลในชีวิตของเรา…ทุก ๆ ด้าน

รู้จักเทคโนโลยีที่พัฒนาใน ‘หุ่นยนต์’

คำว่า ‘หุ่นยนต์’ เราเชื่อว่า ใคร ๆ ก็คงนึกถึงภาพเครื่องจักรหรือแขนจักรกลที่สามารถเคลื่อนไหวได้ บ้างมีรูปร่างคล้ายหรือเหมือนมนุษย์และสัตว์ บ้างก็คิดว่ามันสามารถทำงานตามคำสั่งได้

ความเข้าใจเหล่านี้ ก็ไม่ได้ผิดไปจากภาพลักษณ์ของหุ่นยนต์เลย เพียงแต่ว่า เจ้าหุ่นยนต์มันมีพัฒนาการมาเป็นร้อย ๆ ปี นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในช่วงคริสตวรรษที่ 18 เพราะเป็นช่วงเวลาที่กระบวนการผลิตเปลี่ยนจากใช้แรงงานคน มาเป็นใช้เครื่องจักร วิทยาการเหล่านี้จึงแพร่กระจายทั่วโลกในในช่วง 200-300 ปีต่อมา

‘หุ่นยนต์’ จึงถูกพัฒนาพร้อม ๆ กับเครื่องจักรต่าง ๆ ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั่นเอง

แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ถูกใส่เข้ามาใน ‘หุ่นยนต์’ ต่างหาก ที่ทำให้มูลค่าของธุรกิจการพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น นั่นก็คือ AI หรือปัญญาประดิษฐ์นั่นเอง

ความหมายของ AI คือ เทคโนโลยีที่สร้างความเป็นไปได้ให้แก่เครื่องจักร โดยเครื่องจักรเรียนรู้จากการใช้งานในอดีต ปรับแต่งเข้ากับข้อมูลที่ป้อนเข้าไปใหม่และทำหน้าที่เปรียบเสมือนสมองมนุษย์ 

ดังนั้น AI ไม่ได้จำกัดเฉพาะเทคโนโลยีที่ใส่ในหุ่นยนต์เท่านั้น เพราะเราสามารถฝัง AI ในคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน รถยนต์ เครื่องจักร เกม เว็บไซต์ ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ เรียกได้ว่า AI ถูกฝังในทุกเครื่องมือดิจิทัลเลยทีเดียว

AI ยุคก่อน ๆ ก็คงเป็น เกมที่เล่นหมากรุกหรือหมากฮอสตอบโต้กับเราได้ จนไปถึง AI ยุคปัจจุบัน อย่างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Autonomous Car) ระบบสนทนาอัตโนมัติ (Chatbot) ระบบคัดเลือกวิดีโอที่เราสนใจใน Youtube  

AI จะเรียนรู้จากการใช้งานที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง จดจำและประมวลผลข้อมูลมหาศาล ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ดิจิทัล คอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรต่าง ๆ สามารถทำงานได้ตามที่ผู้พัฒนา AI กำหนดไว้

จึงทำให้เทคโนโลยี AI ได้ถูกพัฒนาไปในหลากหลายรูปแบบ ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมทั้งมีบทบาทต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในทุกมิติ เช่น บริหารองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำการตลาดกับลูกค้า และงานด้านอื่นๆ

เพราะเพียงแค่สร้างชุดข้อมูล ชุดคำสั่ง หรืออัลกอริทึมขึ้นมา ก็สามารถพัฒนา AI ที่สามารถทำงานให้องค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ

ที่สำคัญคือ ความสามารถมนุษย์…ตามหลังความฉลาดของ AI ไปแล้ว

ความต้องการ ‘หุ่นยนต์’ ทั่วโลก

จะเห็นได้ว่า ‘หุ่นยนต์’ กลายเป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ให้มีความสามารถเทียบเท่าหรือมากกว่าความคิดมนุษย์  

Andrew Ng อดีต Chief Scientist และเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา AI ให้ Baidu เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกการตัดสินใจที่มนุษย์สามารถทำได้ภายใน 1 วินาที จะถูกพัฒนาให้เป็นอัตโนมัติด้วย AI” ดังนั้น ‘Common Sense’ ของมนุษย์ จะกลายเป็นสิ่งที่คอมพิวเตอร์ตัดสินใจเลียนแบบได้อย่างง่ายดาย และหุ่นยนต์จะทำให้การดำเนินกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ง่ายขึ้น

AI กำลังจะเปลี่ยนเป็นโฉมหน้าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เข้าไปมีอิทธิพลในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในระดับครัวเรือน สถาบันการศึกษา บริษัท ธนาคาร การเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และหน่วยงานของรัฐ 

ที่สำคัญคือ เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์สามารถรองรับการใช้งานในโลกยุคดิจิทัล และ Internet of Things (IoTs) ในปัจจุบันได้

International Federation of Robotics (IFR) ได้แบ่งประเภทของตลาด ‘หุ่นยนต์’ ไว้ 2 แบบ คือ Industrial Robot กับ Service Robot

  • Industrial Robot ควบคุมการทำงานอัตโนมัติ สามารถตั้งโปรแกรมใช้งานได้ และออกแบบมาให้ใช้งานอเนกประสงค์ ลักษณะหุ่นยนต์จะเป็นแขนกลมี 3 แกนขึ้นไป เพื่อรองรับการเคลื่อนไหวแบบ Automation 

ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ในโรงงาน ไลน์ประกอบรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก พลาสติก เคมีภัณฑ์ หรืออาหาร  

  • Service Robot ออกแบบสำหรับการใช้งานเฉพาะทาง ทำงานตามคำสั่งที่ได้ตั้งโปรแกรมเอาไว้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Task Robot จึงเป็นการควบคุมโดยใช้รีโมต มากกว่าการสั่งการหรือควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ลักษณะหุ่นยนต์มีแกนเคลื่อนไหวน้อยกว่า 3 แกน ไม่เหมือนกับ Industrial Robot

ยกตัวอย่าง เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นในบ้าน เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นหนึ่ง นอกจากนี้ Service Robot ยังถูกใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ  เช่น ดูแลขนส่งโลจิสติกส์ บริหารคลังสินค้า จัดการสิ่งแวดล้อม เป็นยุทโธปกรณ์ของกองทัพ และเป็นเครื่องมือทางการแพทย์

IFR มีมุมมองต่อตลาด Industrial Robot ช่วงปี 2563-2566 ว่า เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 จะทำให้ความต้องการลงทุนซื้อหุ่นยนต์ใหม่ในภาคการผลิตลดลงทั่วโลก แต่การหดตัวจะอยู่เพียงระยะสั้นเท่านั้น

ปี 2564 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรม โดยวัดจากดัชนีความเชื่อมั่นของแต่ละประเทศ และระยะเวลาฟื้นตัวของแต่ละประเทศ จะไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะใช้เวลาไปจนถึงปี 2565-2566 กว่าจะกลับไปช่วงก่อนการแพร่ระบาด Covid-19

เพราะในระยะกลางและยาว ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกจะถูกเร่งด้วยเมกะเทรนด์ของดิจิทัล และโลกของ IoTs ดังนั้นตลาดหุ่นยนต์จะยังเติบโตได้ดี ในที่สุดแล้วการใช้หุ่นยนต์จะทำให้ไลน์การผลิตมีความแม่นยำและยืดหยุ่น 

นอกจากนี้รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศก็ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต ที่ลงทุนในหุ่นยนต์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ทั่วโลกจะมีความหลากหลายมากขึ้น และเทรนด์โยกย้ายแหล่งผลิตจะมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

IFR รายงานว่า Industrial Robot ขายทั่วโลกสะสมจนถึงปี 2562 อยู่ที่ 2.722 ล้านตัว ขณะที่จีนยังคงรั้งตำแหน่งผู้ใช้งาน Industrial Robot สูงสุด รองลงมาเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และเยอรมนี

สำหรับ Service Robot นั้น IFR คาดการณ์ว่า กลุ่มสินค้าที่ใช้ในบ้าน หลัก ๆ ยังคงเป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นและทำความสะอาดบ้าน จะยังเติบได้ในปี 2563 ที่ 21.6 ล้านเครื่องทั่วโลกหรือเพิ่มขึ้น 16% และความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ยังโตต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ดี โดยในปี 2564 คาดว่า ตลาดอยู่ที่ 31.2 ล้าน และไต่ไปถึง 48.6 ล้านเครื่องในปี 2566 หรือมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 31%

นอกจากนี้หุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวได้เหมือนมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง และสามารถทำงานตามคำสั่งของผู้ใช้งาน คุณอาจจะเคยผ่านตาตามงานโชว์เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกับ Service Robot หรือเรียกว่า Entertainment Robot ซึ่ง IFR คาดว่า ยอดขายทั่วโลกปี 2563 จะอยู่ที่ 5.1 ล้านตัว หรือเพิ่มขึ้น 10% และในปี 2566 จะอยู่ที่ 6.7 ล้านตัว หรือมีการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี

ขณะที่ Service Robot ที่ใช้งานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ คาดว่า จะอยู่ที่ 240,000 ตัวในปี 2563 หรือเติบโต 38% และจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 31% จนถึงปี 2566 มียอดขายอยู่ที่ 537,000 ตัว

IFR มองว่า ตลาดหุ่นยนต์บริการมีความน่าสนใจตรงที่ ธุรกิจ Healthcare จะมีการนำหุ่นยนต์มาเป็นเครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ปัจจัย Covid-19 แล้ว การเข้าซื้อกิจการในอุตสาหกรรมสุขภาพ เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ขณะที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ มองว่า การใช้ Service Robot จะช่วยทำงาน 4D คือ งานน่าเบื่อ (Dull) งานสกปรก (Dirty) งานอันตราย (Dangerous) และงานละเอียดอ่อน (Delicate) ซึ่งเป็นงานที่คนไม่อยากทำ และเสี่ยงเกินกว่าที่คนจะทำได้ออกมาแม่นยำ 

มองอีกมุม คือ ทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถบริการจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้ดีขึ้น หากลงทุนใช้หุ่นยนต์ทดแทน แล้วเอาแรงงานคนที่มีทักษะ ไปทำงานด้านอื่น ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารองค์กร 

นอกจากนี้การใช้หุ่นยนต์ นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกัน เช่น Cloud Computing AI และ Machine Learning รวมทั้งการพัฒนาเครือข่าย 5G ที่ทำให้อินเทอร์เน็ตมีความเร็วและเสถียรมากขึ้น 

จึงไม่น่าแปลกใจ…ที่ธุรกิจ AI และหุ่นยนต์ จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจดาวรุ่ง หรือ Rising Star ท่ามกลางเมกะเทรนด์อื่น ๆ ของโลกยุค Digital Disruption 

โอกาสลงทุนในธุรกิจพัฒนาหุ่นยนต์และ AI

ปัจจุบันมีผู้พัฒนา AI และหุ่นยนต์อยู่ทั่วโลก มีทั้งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ไปจนถึงสตาร์ตอัพหน้าใหม่ จึงเป็นโอกาสให้นักลงทุนทั่วโลก สามารถสร้างโอกาสเติบโตจากการลงทุนธุรกิจนี้ได้

ปัจจุบันมีกองทุน ETF ต่างประเทศมากมายที่ลงทุนในธุรกิจอนาคตไกลตัวนี้ เรายกตัวอย่างมา 5 กองทุน ที่มีมูลค่า AUM (Asset Under Management) สูงสุด ได้แก่

คุณจะเห็นได้ว่า ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจ AI และหุ่นยนต์มีการเติบโตอัตราตัวเลข 2 หลัก และ 3 หลักเลยทีเดียว  ETF บางกองไม่ได้ลงทุนในบริษัทที่พัฒนาหุ่นยนต์เท่านั้น แต่ลงทุนในบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยี AI ในอุปกรณ์ดิจิทัลอย่างแท็บเล็ต สมาร์ตโฟน ไปจนถึง AI ในรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้วิกฤติ Covid-19 ก็เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจ AI และหุ่นยนต์ ต้องเร่งพัฒนาและเป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น  AI ที่เรียนรู้การใช้งานแพลตฟอร์มทีวีสตรีมมิงหรือสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในช่วงที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และทำงานจากบ้าน 

เมื่อวิกฤติคลี่คลายไปแล้ว การใช้งาน AI และหุ่นยนต์ก็ไม่ได้ลดลง เพราะสังคมคนสูงวัยและภาวะขาดแคลนแรงงานทั่วโลก ทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาหุ่นยนต์ไปอีกนาน

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณเห็นโอกาสลงทุนในธุรกิจ AI และหุ่นยนต์…หรือยัง?  

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ