TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness'จรีพร จารุกรสกุล' นำวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสร้างกลยุทธ์สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

‘จรีพร จารุกรสกุล’ นำวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสร้างกลยุทธ์สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

เธอเป็นนักธุรกิจหญิงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้หญิงแกร่งแห่งวงการอุตสาหกรรมในฐานะนายใหญ่ของ WHA Group ผู้ให้บริการอันดับหนึ่งด้านโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2565 มีผลประกอบการสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยรายได้รวม 15,567.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,045.9 ล้านบาท

จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวกับ The Story Thailand ถึงปัจจัยที่นำสู่ความสำเร็จขององค์กรธุรกิจใหญ่แห่งนี้ว่า

“สิ่งแรกคือมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และที่สำคัญคือการวางแผนกลยุทธ์ที่ดี จังหวะก้าวในการเดินที่ถูกต้อง”

เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจโลจิสติกส์

เธอเริ่มต้นธุรกิจด้านโลจิสติกส์ด้วยการก่อตั้ง บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2546 จากการเป็น logistic developer จากนั้นขยายสู่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมโดยซื้อกิจการจากบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งในจังหวัดชลบุรีและระยองที่รองรับอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศไทยจำนวนมาก

“เมื่อ 20 ปีก่อนการทำคลังสินค้าให้เช่ามักจะทำเป็นโกดังจัดเก็บสินค้าเป็นหลัก แต่เรามีแนวคิดว่าไม่ควรเป็นแค่คลังสินค้าเท่านั้น น่าจะทำเป็นศูนย์กระจายสินค้า หรือ distribution center มากกว่า เพื่อลดต้นทุนทางด้าน inventory หรือเรื่องการจัดเก็บให้เหลือน้อยที่สุด และช่วยให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสูงที่สุด”

จรีพรเล่าจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจด้านโลจิสติกส์โดยสร้างโรงงานและคลังสินค้าขนาดใหญ่ตามความต้องการของลูกค้า หรือ built-to-suit มีการตกลงทำสัญญากับผู้เช่าก่อนที่จะเริ่มก่อสร้าง ซึ่งช่วยให้ลูกค้าลดต้นทุนได้อย่างมาก

จากเดิมอาคารคลังสินค้าส่วนใหญ่มีขนาดพื้นที่ 2,000-3,000 ตารางเมตร และ 4,000-5,000 ตารางเมตร หรือใหญ่ที่สุดขนาด 10,000-20,000 ตารางเมตรต่อหลัง แต่ WHA เสนอให้ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกทำคลังสินค้าขนาด 53.000 ตารางเมตร บนอาคารหลังคาเดียว ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี กว่าลูกค้ารายแรกจะตัดสินใจทำข้อตกลงในปี 2548

“ความที่มันใหญ่มากจนเราต้องพยายามอย่างมากในการทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวเรา ตอนหลังมาทราบว่า built-to-suit เป็นแนวคิดที่ไม่มีที่ไหนในโลกนอกจากที่เมืองไทย จากที่มีลูกค้าต่างชาติหลายรายพูดว่ามีแบบนี้ในโลกด้วยหรือ ถ้ามีแบบนี้จะดีใจอย่างยิ่งเพราะช่วยประหยัดได้มาก”

“โจทย์ยากของช่วงเริ่มแรกอยู่ที่ลูกค้าไม่รู้จักเรา เราไม่มีประวัติที่จะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เสนอไปนั้นจะทำได้ เพราะเราเสนอสิ่งใหม่ที่ในเมืองไทยยังไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน”

เธอบอกว่าความยากอีกประการของการทำธุรกิจแบบให้เช่าก็คือ กว่าจะคืนทุนต้องใช้เวลานาน 8-9 ปี เงินทุนที่มีอยู่ก็จะหมดไปหากเป็นการเติบโตตามธรรมชาติ เธอจึงใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาช่วย โดยทำ property fund ในปี 2553 ด้วยการขายสินทรัพย์ของบริษัทเข้ากองทุน กำไรที่ได้นำไปทำโครงการต่อไป ส่วนที่เหลือนำมาปันผล

ปี 2555 นำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพราะหวังเติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในอนาคต ไม่ใช่เป็นเพียงธุรกิจครอบครัวอีกต่อไป ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ WHA เพราะมีการยกระดับบริษัทให้มีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามา

“วันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 บริษัท WHA เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท” เธอกล่าวถึงความสำเร็จก้าวสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตจนปัจจุบัน

ควบรวมนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

จุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2558 เมื่อ WHA ควบรวมกิจการนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเธอเล่าที่มาว่าขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์กำลังเติบโต มีลูกค้าต่างชาติชักชวนให้ออกไปลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมที่ต่างประเทศ ทำให้เธอได้เห็นว่าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างดี

“เรามีความคิดที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2556 โดยจะไม่เริ่มจากการนับหนึ่งเหมือนตอนทำโลจิสติกส์ เพราะเป็นสิ่งที่มีคนอื่นทำอยู่แล้ว และทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่เห็นว่าถ้ามีการปรับปรุงจะมีการเติบโตได้ดี”

“ช่วงซื้อนิคมอุตสาหกรรมเหมราชด้วยเงิน 4 หมื่นกว่าล้านบาท ตอนนั้นเรามี market cap แค่ 3 หมื่นกว่าล้าน ทุกคนก็มองว่าเราจะรอดหรือไม่ เราเพิ่มทุนแค่ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น มันน้อยมาก ต้องกู้เงินจากธนาคาร 2.7 หมื่นล้านบาท เราสัญญาว่าจะคืนเงิน 2 หมื่นล้านบาทภายในเวลา 2 ปี ที่เหลือ 7 พันล้านบาท ใช้เวลา 7 ปีค่อย ๆ ทยอยจ่ายไป ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะทำได้ แต่เรามีแผนที่ชัดเจน”

ปัจจุบัน WHA Group เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรม 12 แห่ง ในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ด้วยพื้นที่รวมกว่า 71,000 ไร่ และพื้นที่คลังสินค้าให้เช่ากว่า 2.7 ล้านตารางเมตร

หลังจากนั้น WHA มีการเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 3 คือการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมดโดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Logistics Hub) ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม (Industrial Development Hub) ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน (Utilities & Power Hub) และธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล (Digital Platform Hub) โดยมีการบูรณาการทั้งหมดเข้าด้วยกัน

ก้าวสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยี

จีรพรกล่าวว่าจังหวะก้าวการเติบโตของ WHA แบ่งเป็น ยุคที่หนึ่งคือช่วงเริ่มต้น ยุคที่สองคือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ยุคที่สามคือปรับโครงสร้างแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ทำให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่จากนี้ต่อไปจะเป็นยุคที่สี่ คือการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีเพื่อรองรับสู่การเติบโตต่อไปในอนาคต

“ปี 2560 หลังจากเทคโอเวอร์นิคมอุตสาหกรรมเหมราชได้ 2 ปี เราก็เตรียมแผนอนาคตในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เริ่มจากทำเรื่อง digital innovation เอาคนที่พร้อมจะไปข้างหน้ามาสัมผัสดิจิทัลเทคโนโลยีก่อน ระหว่างนั้นก็ปรับเปลี่ยน mindset ของคนในองค์กรด้วยการจัดอบรมต่าง ๆ ปี 2563 เริ่มทำ digital transformation โดยเน้นวางโครงสร้างหลักทางด้าน IT และ HR”

“ในปี 2565 มีการทำ boot camp เพื่อปรับความคิดใหม่ และสร้าง talent รุ่นใหม่ขึ้นมา จากนั้นเตรียมการทำ rebranding อีกครั้ง หลังจากเคยทำมาแล้วในปี 2559 ระหว่างนั้นก็ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็ยากที่เป็นอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้”

ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่อนาคตโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตไม่ว่าตลาดในประเทศหรือการขยายไปตลาดต่างประเทศ หรือการแตกไลน์สู่ธุรกิจอื่น ๆ

“ธุรกิจที่เราทำอยู่แม้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ก็เติบโตแบบ linear จากนี้อยากทำอะไรที่เติบโตแบบ exponential เพราะเชื่อว่าเรามีพร้อมทั้งคนและองค์กรที่จะไปได้ เนื่องจากธุรกิจที่ทำอยู่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด และมีเดต้ามหาศาล ถ้าสามารถจัดระบบเดต้าเหล่านี้ขึ้นมาก็สามารถสร้างธุรกิจใหม่ได้”

ผู้บริหารสูงสุดของ WHA กล่าวถึงเบื้องหลังแนวคิดการพัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยี เพราะมีแรงจูงใจจากความต้องการเติบโตแบบทวีคูณจากระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่พัฒนาต่อเนื่องมา 20 ปี โดยมีทิศทางคือ

“นิคมอุตสาหกรรมต้องไปทางด้านเทคโนโลยี smart eco เรื่องน้ำก็ต้องทำ zero waste ไม่ปล่อยน้ำไปข้างนอก ต้องเอาน้ำมารีไซเคิลให้เกิด value added water ด้านพลังงาน แต่ก่อนทำไฟฟ้าจากถ่านหินก็ต้องเปลี่ยนเป็น solar ทำเรื่องแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงาน เหล่านี้ล้วนใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น”

ตั้งแต่ปี 2563 งานด้านเทคโนโลยีเปลี่ยนจากการอาศัยภายนอกมาเน้นทำด้วยทีมงานภายใน เช่นจากเดิมไม่มีทีมเดต้า ขณะนี้มีทีมเดต้าที่แข็งแรง หรือจากความร่วมมือกับเทคสตาร์ตอัพภายนอกอย่างการสร้างแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน สำหรับซื้อขายไฟฟ้าระหว่างลูกค้าในพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รางวัล Best Innovative Company Awards จากงาน SET Awards 2022 รวมทั้งการสร้างแพลตฟอร์มการซ่อมบำรุงเพื่อดูแลโรงงานและอาคารคลังสินค้าให้เช่า 2.7 ล้านตารางเมตร โดยลูกค้าสามารถแจ้งซ่อมผ่านแพลตฟอร์มนี้ และการนำ AI และ Quantum computing มาใช้กับงานโลจิสติกส์ โดยในช่วง 3 ปีแรกเน้นการใช้ภายในเพื่อทดสอบ ecosystem

“สุดท้ายจะเห็นภาพว่าเราเป็นบริษัทที่สามารถสร้างเทคโนโลยีด้วยตัวเองขึ้นมา นำมาใช้กับสิ่งที่เรามีอยู่เพื่อทำให้เกิดการเติบโตมากขึ้น และจะเป็น new s-curve ของเราด้วย”

Mission to the Sun เพื่อความยั่งยืน

“เรากำลังไปที่ใหม่ที่มีแหล่งพลังงานมหาศาลและไม่มีขีดจำกัด the sun จึงเป็นเป้าหมาต่อไปที่เราสนใจเพราะว่าพลังงานแสงอาทิตย์แค่เพียงน้อยนิดก็สามารถเติมเต็มพลังงานให้เรามากมาย มันขึ้นกับว่าตัวเราสามารถรับได้แค่ไหน”

จรีพรเผยที่มาของชื่อภารกิจ Mission to the Sun ที่เป็นความทะเยอทะยานครั้งสำคัญในการนำกลุ่มบริษัทนี้ก้าวสู่อนาคตด้วยเป้าหมายยอดรายได้รวม 5 ปี (2566-2570) ระดับ 100,000 ล้านบาท ที่ได้ประกาศสู่สาธารณะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

เธอบอกว่าตอนที่เริ่มทำภารกิจนี้เมื่อหลายปีก่อนทีมงานก็ไม่เชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนจากบริษัทที่ทำทางด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมไปเป็นบริษัททำเทคโนโลยีได้ แต่จากไม่เชื่อในวันนั้น มาวันนี้ “พวกเขาเชื่อแล้วว่าเราไปได้”

Mission to the Sun ประกอบด้วย 9 โครงการ นอกเหนือจากโครงการด้านเทคโนโลยี ก็มีด้านสิ่งแวดล้อมหรือ ESG เป็นอีกหนึ่งเรื่องหลัก เนื่องจากธุรกิจของ WHA มีผลกระทบกับคนส่วนมาก พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่บริหารเกี่ยวข้องกับชีวิตคนหลายแสนครอบครัว จึงต้องใส่ใจต่อผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่นปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำเสีย และมลพิษทางอากาศ โดยมีระบบบำบัดน้ำให้มีคุณภาพแล้วนำกลับมาใช้อีก และมีระบบตรวจจับอากาศเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปล่อยอากาศเสียที่จะก่อมลพิษออกไป

นอกจากนี้ในฐานะที่ WHA มีศูนย์โลจิสติกส์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ก็มีแนวคิดทำ green logistic โดยนำรถ EV เข้ามาใช้ในการขนส่งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน และยังตอบโจทย์ลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศซึ่งจะต้องถูกบังคับเรื่อง green concept

“ที่ผ่านมาเราทำเรื่อง ESG เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ แต่เมื่อเกิดประเด็น climate change ขึ้นมาเรากลับมองว่าเป็นโอกาส อย่างเรื่อง carbon neutral เราทำมาตั้งแต่ปี 2564 จนตอนนี้เราขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว เรายังมองภาพต่อไปว่าจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมา อย่างเช่น green logistic ซึ่งจะส่งผลทั้งการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของคนไทย”

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง digital asset ที่จะพัฒนาเดต้าที่มีอยู่ไปเป็น Metaverse และโครงการทำ digital health tech สำหรับคนที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมกว่า 2 แสนคน ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างถ้วนหน้า และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

“เราเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ ตอนนี้มีกว่า 70 บริษัทในกลุ่มธุรกิจของเรา มูลค่าในตลาด 1.5-1.7 แสนล้านบาทแล้ว แต่ยังมีความฝันที่จะต้องเติบโตต่อไปแบบท้าทายเหมือนการมุ่งไปรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ที่จะไม่มีวันหมดสิ้นไป” เธอกล่าวสรุป

วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน

ผู้บริหารหญิงแห่ง WHA เปิดเผยว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ผ่านมา อาศัยปัจจัยสำคัญหลายอย่างประกอบกัน โดยย้ำว่า “สิ่งแรกที่ทำให้ WHA เติบโตมาได้จนวันนี้คือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน”

เมื่อ 30 ปีก่อน หลังจากเรียนจบปริญญาโทบริหารธุรกิจ เธอเปิดบริษัทเทรดดิ้งเกี่ยวกับสินค้าพลาสติกเนื่องจากเห็นว่าการใช้พลาสติกต่อคนของไทยยังมีอัตราที่ต่ำมาก จึงมีโอกาสการเติบโตสูง จน 10 ปีต่อมา เธอได้เรียนรู้ว่าธุรกิจโลจิสติกส์กำลังจะโต จึงเริ่มต้นทำธุรกิจโลจิสติกส์จากการสร้างคลังสินค้าแบบใหม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของ WHA Group

“ตอนทำธุรกิจเทรดดิ้งมีโอกาสเห็นคลังสินค้าของลูกค้า เกิดความคิดว่าคลังสินค้าแบบที่เห็นไม่น่าจะตอบโจทย์การทำธุรกิจสมัยใหม่ เมื่อศึกษาข้อมูลค่าใช่จ่ายด้านโลจิสติกส์ของไทยพบว่าสูงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”

เธอบอกว่า เริ่มจากมองเห็นโอกาสในวันข้างหน้าตามสัญชาตญาณของผู้ประกอบการ โดยอาศัยความรู้พื้นฐานจากการเรียนปริญญาตรีคณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยมหิดล

“ตอนปริญญาตรีมีการเรียนกว้างมาก ช่วง 2 ปีแรก เรียนด้านพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก พอปี 4 เข้าภาควิชา ต้องเรียนการออกแบบอาคาร ทำให้เขียนแบบเป็น ดูแบบเป็น เพราะเวลาไปทำงานตามสายอาชีพต้องไปอยู่ตามโรงงานคอยดูว่าเมื่อทำการผลิตแล้วเกิดปัญหาอะไรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนทำงานหรือไม่”

ในหลักสูตรเดียวกันเธอยังได้เรียนเรื่องเครื่องจักรอุตสาหกรรม พื้นฐานด้าน anatomy ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายทางด้านชีวอนามัย เมื่อเรียนปริญญาโท MBA ก็เลือกเรียนด้านการตลาดเป็นวิชาหลัก และด้านการเงินเป็นวิชาเสริม จนสามารถนำความรู้ทั้งหมดมาต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง

“เวลานั้นประเทศไทยกำลังเปลี่ยนจากเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรม สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญคือค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์สูงมาก คนไทยยังไม่รู้จักว่าคลังสินค้าแบบใหม่เป็นอย่างไร เราจึงมองเห็นว่าตลาดนี้มีโอกาสเติบโตสูงมาก แม้ในช่วงแรกจะเป็น niche market แต่สุดท้ายจะต้องเป็น a must standard“

อีกทั้งเธอทราบว่าลูกค้าต่างชาติต้องการคลังสินค้าที่มีมาตรฐานดี จึงตัดสินใจจับตลาดนี้ โดยเน้นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก จนเกิดคอนเซ็ปต์ built-to-suit ที่กลายเป็นมาตรฐานจนทุกวันนี้

“ที่ผ่านมาเราแทบไม่เคยพลาดเป้าอะไรเลย เช่นเราทำเรื่องโลจิสติกส์ก็เติบโตดีมาตลอด มาลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมใคร ๆ บอกธุรกิจนี้กำลังเป็น sunset แต่เรากลับมองว่าเป็นธุรกิจ sunrise เพราะเรามองภาพว่านิคมอุตสาหกรรมเป็นขุมทรัพย์ที่มีทั้งน้ำและพลังงาน แต่ต้องนำมาใช้ให้เป็น ซื้อมาแล้วเราไม่ได้ทำเหมือนเดิม เราแยกสองส่วนนี้ออกมาเป็นบริษัทลูกทันที (บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด) เมื่อมีโครงการ EEC เกิดขึ้นมา เราก็ได้อานิสงค์นี้ไปด้วย”

“ช่วงเกิดโควิด-19 ทุกคนมีปัญหามาก แต่ WHA ยังไปต่อได้อย่างดีเป็นเพราะที่ผ่านมาเรามองเห็นภาพอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ก็มีการวางกลยุทธ์ไว้ล่วงหน้า มีการกระจายความเสี่ยงของการทำธุรกิจได้ดี ช่วยให้เราไม่พลาด”

ทั้งนี้ เธอมองภาพโลจิสติกส์ของไทยว่าสามารถเป็น logistics hub ของภูมิภาคนี้ได้ ดังนั้นการเติบโตของโลจิสติกส์ไม่ควรเกิดขึ้นเฉพาะภายในประเทศ แต่ควรจะเข้าไปเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ BRI (Belt and Road Initiative) ของจีนโดยอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ประเทศไทยอยู่กึ่งกลางระหว่างสองมหาสมุทรเป็นแลนด์บริจด์ในการเชื่อมเส้นทางขนส่งระหว่างฝั่งแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

“ถ้าเราสามารถทำให้ภาพนี้ชัดเจนขึ้นมาประเทศไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็น strategic location ทางด้านโลจิสติกส์”

ส่วนทางด้าน industrial development หรือนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญของ WHA เธอมีมุมมองว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นแหล่งผลิตของโลกจากการเคลื่อนย้ายฐานทุนมาที่ประเทศไทย หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย

“ประเทศไทยมีความได้เปรียบจากการเคลื่อนย้ายฐานทุนในรอบนี้ และยังเป็น ecosystem ที่ยิ่งใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมของเซ็กเตอร์ต่าง ๆ อย่างเช่นยานยนต์ ซึ่งแม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมรถยนต์แบบสันดาปภายในมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ก็ตาม แต่ไทยยังคงเป็น destination ของอุตสาหกรรมนี้”

จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวทำให้ WHA สามารถดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนมาอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภายใต้การบริหารได้ถึง 3 ราย คือ MG,  Great Wall Motor (GWM) และรายล่าสุดคือ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลก ตัดสินใจลงทุนซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอระยอง 36 พื้นที่ 600 ไร่ มูลค่า 1,000 ล้านบาท สำหรับสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาเพื่อส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีของ WHA

นอกจากนี้เธอยังเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดได้เปรียบของการเคลื่อนย้ายฐานทุนรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จึงตัดสินใจออกไปลงทุนนอกประเทศโดยเน้นที่ประเทศเวียดนามเป็นอย่างมาก เนื่องจากมองว่าไทยและเวียดนามมีการเติบโตอย่างคู่ขนานกันได้

“ทุกวันนี้ทุกคนพูดถึงเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งเราทำมากว่า 10 ปีแล้ว หรือพูดเรื่อง ESG ที่เราทำมาตลอดจนเป็น DNA ของเรา สิ่งนี้เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย การที่เราเห็นภาพชัดเป็นเพราะมีการศึกษาข้อมูลเยอะมากทั้งการฟังการดูงาน มีการวิเคราะห์ภาพใหญ่ของโลกให้รู้ว่า mega trend คืออะไร แล้วมองภาพเล็กลงมาระดับภูมิภาคถึงระดับประเทศ สุดท้ายคือตัวเรา”

ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย

จรีพรกล่าวด้วยท่าทีที่มุ่งมั่นว่า “สิ่งที่ WHA กำลังทำอยู่เป็นการขับเคลื่อนประเทศผ่านทางด้านภาคอุตสาหกรรม”

“WHA ไม่ใช่แค่องค์กรที่เติบโตขยายธุรกิจและสร้างแค่ผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นหรือซัพพลายเออร์ต่าง ๆ เพียงเท่านั้น แต่ธุรกิจของเราได้สร้าง impact ให้กับประเทศอย่างแท้จริง คือการสร้างโอกาสด้านการลงทุนให้แก่ประเทศ และสร้างอาชีพให้คนจำนวนมาก”

ที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมของ WHA ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานหลายแสนคน มีผู้ได้รับประโยชน์หลายแสนครอบครัว ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ลงได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย

“เรามีความต่างจากองค์กรธุรกิจอื่นตรงที่ลูกค้าคือกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่จากทั่วโลก ทำให้เราสามารถสร้างผลสะเทือนให้กับประเทศได้มาก อย่างเช่นที่ผ่านมาหลายคนมองว่าประเทศไทยไม่ใช่จุดสนใจของการลงทุนอีกแล้ว แต่เรามองว่าประเทศไทยยังเป็นจุดหมายสำคัญของการลงทุน”

ธุรกิจของ WHA เป็นต้นน้ำมีการติดต่อกับลูกค้าทั่วโลก เนื่องจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทยต้องผ่านนิคมอุตสาหกรรมเป็นด่านแรก ทำให้เธอเห็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก่อนใคร จึงสามารถบอกได้ว่าจะเกิดการเคลื่อนย้ายฐานทุนครั้งใหญ่จากจีนมาที่ประเทศไทย และส่งต่อข้อมูลที่ได้รับไปยังภาครัฐเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

“ก่อนที่จะเกิด EEC ขึ้นมา ประเทศไทยหลุดจากแผนที่การลงทุนโลกไปแล้ว แต่หลังจากมี EEC มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานใหม่ มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กลุ่มอุตสาหกรรม 12 s curve และ new s-curve ทำให้ประเทศไทยกลับมามีความโดดเด่นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง”

เธอกล่าวถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ส่งผลให้ตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในปี 2565 ขึ้นมาถึง 6.6 แสนล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์กลับเข้ามา จนสามารถดึงผู้ผลิตรถยนต์ EV แบรนด์ดังจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในเมืองไทยได้ และจะตามมาด้วยผู้ผลิตซัพพลายเชนส์

แต่เธอก็เห็นว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลขาดความกระตือรือร้นในการกระตุ้นการลงทุนเหมือนช่วงแรกที่เกิดโครงการ EEC ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลใหม่มองเห็นความสำคัญว่าจำเป็นต้องเข้ามากระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น รวมทั้งให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนที่ออกไปลงทุนต่างประเทศด้วย

ชีวิตที่เลือกทางเดินเอง

“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ เพราะเชื่อว่าเราสามารถจะสร้างอาณาจักรของตัวเองได้ จึงไม่คิดจะเป็นลูกจ้างใคร”

จรีพรบอกว่าเส้นทางชีวิตของเธอคงจะเป็นอีกแบบหากดำเนินตามแผนที่คุณพ่อจัดเตรียมไว้ให้ช่วยธุรกิจการ์เมนต์ของครอบครัว แต่เพราะไม่ชอบให้ใครมาลิขิตชีวิต เธอจึงเลือกทางเดินสร้างธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุ 26 ปี ใช้ความรู้ที่เล่าเรียนมาหาหนทางสร้างความสำเร็จจากสิ่งที่คนอื่น ๆ มองข้าม

“นิสัยส่วนตัวตั้งแต่เด็กก็ไม่ค่อยเชื่อใคร ไม่ยอมให้ใครมาครอบงำความคิดเรา ช่างคิดช่างสงสัยตลอดเวลา และทำทุกอย่างสุดๆ แม้บางครั้งยังไม่เชื่อ ถ้าสงสัยก็จะลองกับมัน ไป explored ดูว่าใช่หรือไม่ใช่ ถ้าได้คำตอบว่าใช่ก็ลุยเลย ถ้าไม่ใช่ก็ถอยกลับ”

ผู้บริหารหญิงแกร่งแห่งวงการอุตสาหกรรมกล่าวถึงตัวตนที่มีส่วนอย่างยิ่งต่อการสร้างความสำเร็จในชีวิต พร้อมกับเสริมว่า เธอเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นมาก และไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ และไม่เคยเอาเปรียบใคร โดยเล่าประสบการณ์ชีวิตว่า

“ตอนเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ ยังค่อนข้างจะเห็นแก่ตัว เพราะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด แต่หลังจากรอดแล้วก็เริ่มมองกว้างออกไปจากตัวเรา เช่น มองลูกน้องและครอบครัวของเขา พอนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องคำนึงถึง stakeholder มาถึงวันนี้ก็ยิ่งมองกว้างออกไปมาก มองถึงอนาคตคนรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร”

ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งที่เธอบอกกับ The Story Thailand ว่า “เราจะไม่หยุดอยู่แค่การทำโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม แต่เราจะทำในสิ่งที่ก้าวหน้ากว่านั้น เราจะเชื่อมโยงคนเข้ามาใน ecosystem ของเราให้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สร้างผลกระทบกับคนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พันธกิจ “ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์” ผู้ก่อตั้ง ECOLOTECH ปักหมุด บริษัท EARTH-SAVING TECHNOLOGY ระดับโลก

REVOLUTION OF GENERATIVE AI เมื่อ AI พลิกโฉมโลกการทำงาน

‘ปิยธิดา ตันตระกูล’ ขายไอที ซีเคียวริตี้ ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ให้ลูกค้าเชื่อใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ