TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyสำนักนวัตกรรม หนุน 'นวัตกรหญิง' โชว์ 2 สตรีผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงวงการวิทยาศาสตร์

สำนักนวัตกรรม หนุน ‘นวัตกรหญิง’ โชว์ 2 สตรีผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงวงการวิทยาศาสตร์

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยถึงความสามารถของผู้หญิงยุคใหม่ในปัจจุบันที่เลือกนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาต่อยอดสร้างธุรกิจนวัตกรรมให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และมีอัตราการประสบความสำเร็จไม่ได้น้อยไปกว่านวัตกรชาย ทั้งนี้ NIA พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้กลุ่มนวัตกรหญิงไทยได้มีโอกาสก้าวสูเวทีนวัตกรรมระดับสากลมากขึ้นผ่านกลไกของ NIA

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า วันที่ 11 กุมภาพันธ์ของทุกปี สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นวันสตรีและเด็กหญิงในสาขาวิทยาศาสตร์สากล” เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ณ สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในรัฐนิวยอร์ก ภายใต้แนวคิด “ความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการรวมทุกกลุ่มคน: น้ำรวมเราเป็นหนึ่ง” ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการระดับสูง ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชนจากทั่วโลก มาหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้บรรลุหลัก 3 ประการของการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาคทางสังคม และความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า มีสัดส่วนของผู้หญิงและเยาวชนหญิงในวงการวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และมีจำนวนไม่น้อยที่ก้าวสู่การเป็น “นวัตกรหญิง” ด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ ต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรมจนประสบความสำเร็จ NIA พร้อมเปิดกว้างและร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่ผ่านกลไกของสำนักงาน ตั้งแต่การให้ความรู้ บ่มเพาะ ไปจนถึงการให้เงินทุนสนับสนุนการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมทั้งระดับเยาวชน สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการนวัตกรรม โดยเชื่อมั่นในพลังและศักยภาพของสตรีว่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้า และมีความทัดเทียมกับนานาชาติทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ NIA ยังมีเป้าหมายในการสร้าง คนที่มีความสามารถทางนวัตกรรมทั้งระดับเยาวชน สตาร์ตอัพ และผู้ประกอบการ ซึ่งไม่ได้หวังเพียงแค่การมีส่วนร่วม หรือเป็นเพียงนโยบายเท่านั้น แต่เน้นทั้งการเป็นศูนย์กลางให้คนที่มีความสนใจสามารถเข้าถึงการสนับสนุน และเป็นหน่วยขับเคลื่อนที่ออกไปค้นหาผู้มีศักยภาพ เพื่อร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านการสนับสนุนตามความต้องการ หรือแม้กระทั่งการสร้างแรงจูงใจ สร้างต้นแบบ พี่เลี้ยง นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้งานด้านวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นหนึ่งงานในฝัน หรืออาชีพในอุดมคติของกลุ่มสตรีและกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงความมั่นคง การต่อยอดในอนาคต การเพิ่มขึ้นของรายได้ รวมทั้งการเป็นธุรกิจที่มีทางรอดสามารถแข่งขันได้บนโลกยุคใหม่ที่มีความเป็นดิจิทัล” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

ใช้องค์ความรู้ สร้างความแตกต่าง ในตลาดที่มีคู่แข่งมาก

ดาวใจ ศรลัมพ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขวัญดาว โปรเจ็ค จำกัด เจ้าของ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากเปลือกกาแฟ Na Ha Thai หนึ่งในนวัตกรหญิงที่นำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาต่อยอดสู่ธุรกิจนวัตกรรม เปิดเผยว่า การเปิดโอกาสการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันกว้างขวางกว่าในอดีตมาก ผู้หญิงยุคใหม่เริ่มให้ความสนใจในด้านอาชีพนวัตกร นักวิจัย เจ้าของเทคโนโลยี ฯลฯ เพิ่มอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเรื่องที่ดีต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ก้าวหน้า พร้อมสร้างแรงบันดาลใจจากบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ จนนำมาสู่การคิดค้นสิ่งที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ บริการ และสร้างคนที่มีความสามารถให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

“สำหรับการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างสรรค์ธุรกิจของตนเองนั้น เพื่อสร้างความแตกต่างกับสิ่งที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีคู่แข่งจำนวนมาก ทำให้การแข่งขันด้วยราคาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จึงพยายามสร้างความแตกต่างด้วยการนำความรู้และเทคนิคการสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญจากเปลือกหุ้มเมล็ดกาแฟที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณของสารสกัด รวมทั้งลดระยะเวลาในการสกัดอีกด้วย ซึ่งสามารถนำสารสกัดที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระนี้ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าจากเปลือกกาแฟได้

นอกจากผู้บริโภคจะได้ใช้สินค้าคุณภาพดีแล้ว ยังช่วยให้ครอบครัวชาวไทยภูเขาผู้ปลูกกาแฟมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งสำคัญกระบวนการผลิตยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย”

เบอร์เกอร์เนื้อจาก ‘ถั่วหรั่ง’

นัฐสุนันท์ ไชยเทพ ผู้คิดค้นและพัฒนาเนื้อจากพืช พีโปมี้ท : PEAPO และตัวแทนคนรุ่นใหม่ในด้านวิจัยและพัฒนาจาก จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า โลกปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ทำให้ตนในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มสตรีมีโอกาสเข้าถึง และสานฝันที่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยขณะนี้ได้นำสิ่งที่คิดค้น วิจัย และพัฒนา “ถั่วหรั่ง” พืชท้องถิ่นจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช อาหารที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก ตอบเทรนด์ในด้านการดูแลสุขภาพ และลดการทำลายทรัพยากรโลก และยังช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทั้งจากสถาบันการศึกษาที่ตนเรียน และ NIA

อย่างไรก็ตาม ในฐานะสตรีที่เข้ามาอยู่ในวงการวิจัยและวิทยาศาสตร์ มองว่าทุกเพศ ทุกกลุ่มล้วนมีความสามารถและโอกาสที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะแบ่งแยกได้ว่าเพศไหน หรือสถานะใดมีความโดดเด่นหรือศักยภาพที่เก่งกว่า แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การมีโอกาสและใช้โอกาสนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายอะไร

“สิ่งที่กำลังพยายามทำ คือการทำให้คนในพื้นที่ที่มีความแตกต่างในเรื่องวัย วิถีการใช้ชีวิต ความเชื่อ เข้าใจประโยชน์ที่แท้จริงของนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ เพื่อเชื่อมความเชื่อระหว่างวิถีทางมุสลิมว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่ทำลายหรือทำให้วิถีการใช้ชีวิตผิดแปลกไปจากเดิม แต่คือตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี และทำให้ชุมชนก้าวทันกับความก้าวหน้าของบริบทโลก อีกทั้ง วิถีทางศาสนาอิสลามต่าง ๆ ก็ยังสามารถทำให้มีคุณค่าหรือมูลค่าด้วยนวัตกรรมได้เช่นเดียวกัน”

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

วอลโว่ จ่อเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นใหม่ สมรรถนะแรง ดีไซน์โฉบเฉี่ยว ปลอดภัย

สวพส. นำองค์ความรู้โครงการหลวงสู่ชุมชน ลดจุดความร้อน เพิ่มพื้นที่สีเขียว หวังลดไฟป่า

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ