TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessUOB ตั้งเป้าเป็นมากกว่าธนาคาร หนุน SMEs ไทยสู่ดิจิทัล เติบโตอย่างยั่งยืน

UOB ตั้งเป้าเป็นมากกว่าธนาคาร หนุน SMEs ไทยสู่ดิจิทัล เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บรรดาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ของไทยต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอด ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เห็นว่า การบริการด้านการเงินของธนาคารที่มีอยู่ในห้วงเวลานี้ ไม่เพียงพอและตอบโจทย์ความต้องการของบรรดา SMEs ไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มฐานลูกค้าคนสำคัญของธนาคารได้อีกต่อไป

ดังนั้น ธนาคารจึงไม่ใช่เป็นแค่เพียงธนาคาร แต่ต้องเป็นให้ได้มากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) ที่ทำหน้าที่เพียงการปล่อยกู้ รับฝากเงิน ดูแลดอกเบี้ย และบริหารสภาพคล่องบัญชีการเงินเหมือนอย่างที่แล้วมา

สิรินันท์ จิรดิลก ผู้อำนวยการอาวุโสด้าน Digital Engagement & FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า โลกอนาคตธุรกิจการเงินการธนาคารจะต้องประสบคือต้องพยายามปรับปรุงยกระดับตนเองให้เข้ากับยุคเศรษฐกิจดิจิท้ล และต้องปรับตัวเองให้เข้าหาความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

“การเป็นมากกว่าธนาคาร หมายความว่า ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ทำให้มองเห็นว่า สิ่งที่ลูกค้าต้องการจากธนาคารไม่ได้มีเพียงแค่เงินกู้อย่างเดียวแล้ว พวกเขา (SMEs) ต้องการแรงสนับสนุนที่จะช่วยให้ธุรกิจของพวกเขาเติบโตต่อไปได้ ยูโอบี จะเข้าไปช่วยเหลือในส่วนนั้น”

สำหรับบทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กของไทย ยูโอบีอาศัยความได้เปรียบตรงการที่ยูโอบีเป็นธนาคารระดับภูมิภาค (Regional Bank) และมีเครือข่ายพันธมิตรที่ทำงานร่วมกับยูโอบี ทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้แรงสนับสนุนของยูโอบีเป็นแรงผลักดันที่มากพอที่จะช่วยให้ SMEs ให้สามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองให้อยู่รอดและขยายตัวเติบโตต่อไป

ปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล ด้วย Smart Business Transformation

สิรินันท์ อธิบายว่า ปัจจุบัน SMEs ไทยต้องการที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับโลกดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากเห็นแล้วว่า การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลต่าง ๆ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจของตนเอง ยูโอบีพยายามช่วยด้วยการรวบรวมเอาเครือขายและพันธมิตรของยูโอบีเข้ามาสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองได้ กลายเป็นที่มาของโครงการ Smart Business Transformation ซึ่งมีขึ้นมา 2-3 ปีแล้วในสิงคโปร์ ก่อนที่จะนำเข้ามาไทย 

“จุดยืนของ ยูโอบี คือ การสนับสนุนให้ SMEs ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เปลี่ยนแปลง นอกจากการสนับสนุนด้านเงินทุน คือ เทคโนโลยี”

การเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับบาง SMEs เป็นเรื่องที่ยากมาก ยูโอบีจึงตัดสินใจหันมาบริการในส่วนนี้ ภายใต้การร่วมมือกับ Finlab ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนกิจการ SMEs

แต่เดิมความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใน SMEs ไทยนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีมากขึ้น เพราะเหล่าผู้ประกอบการเล็งเห็นแล้วว่า การไม่มีเทคโนโลยีขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังทำให้ธุรกิจของตนหยุดชะงัก 

สำหรับโครงการ Smart Business Transformation ในประเทศไทย ยูโอบีได้จับมือกับพันธมิตรที่มาจากองค์กรภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสมาคมซอฟท์แวร์ไทย นำโซลูชันต่าง ๆ ที่สตาร์ตอัพในเครือข่ายขององค์กรรัฐเหล่านี้ไปถึงมือของผู้ประกอบการ SMEs

“ยูโอบีไม่ได้ทำโครงการเพื่อเร่งกระตุ้นให้เกิดสตาร์ตอัพ แต่เราร่วมมือกับองค์กรรัฐ ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาเวทีเพื่อให้สตาร์ตอัพเหล่านี้มีพื้นที่ที่จะนำโซลูชันของตนออกไปใช้ให้กับคนไทย เรามองว่า สตาร์ตอัพในไทยจริง ๆ มีเยอะมาก แต่กลับเข้าสู่ตลาดได้ยาก ยูโอบีจึงอยากเป็นส่วนนั้น ส่วนที่ช่วยให้สตาร์ตอัพกับลูกค้าได้พบกัน

ยูโอบีคาดหวังว่า จะมีส่วนช่วยสตาร์ตอัพของไทยในการขยายโซลูชันที่พัฒนาขึ้นได้ไปเปิดตลาดยังต่างประเทศ โดยอาศัยจุดแข็งของยูโอบี ที่เป็นธนาคารภูมิภาค มีเครือข่ายเข้มแข็งในต่างแดน

ในส่วนของตัวโครงการ Smart Business Transformation จะประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก

  • ขั้นตอนแรก คือ การให้ความรู้ ทั้งการจัด Workshop หรือ Webinar หรือคอร์สเรียนออนไลน์ต่าง ๆ โดย ยูโอบีจะเป็นคนเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เช่น อี-คอมเมิร์ซ หรือโซเชียล คอมเมิร์ซ อาทิ Shopee และ LINE มาให้ความรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
  • ขั้นตอนที่สอง คือ SMEs สามารถประเมินตนเองได้อย่างแท้จริงว่า สิ่งที่ตนเองต้องการ หรือสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจคืออะไร ทำให้เลือกโซลูชันได้อย่างถูกต้อง
  • ขั้นตอนที่ 3 คือ การกำหนดขอบเขตกรอบการทำงาน การนำไปปฎิบัติใช้งาน 

“ลูกค้าอาจจะเข้าร่วมโครงการด้วยความรู้สึกว่าต้องการดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งไปใช้ เพราะเห็นคนอื่นทำกันเยอะ แต่พอมาเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้น ก็อาจจะเห็นว่าไม่ใช่ อาจต้องการเรื่องอื่น ๆ แทน การที่สามารถประเมินตนเองได้ ก็จะสามารถเลือก Technology Solutions ที่ตนต้องการ หลังจากนั้นก็ค่อยไป Implement เพื่อปรับใช้ได้จริง”

นอกจากนี้ ทางยูโอบี ยังได้จัดทำ Inno Town ขึ้นที่อาคารทรู ดิจิทัล ปาร์ค สำหรับคนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของยูโอบีหรือไม่ ในการเข้ามาหาข้อมูลเกี่ยวกับ Digital Solutions ต่าง ๆ ที่ยูโอบีสามารถจัดหาจัดเตรียมให้กับลูกค้าได้ เป็นพื้นที่ให้ลูกค้าได้รับทราบว่า มี Digital Solutions เป็นทางเลือกอีกมากมาย นอกเหนือจากโครงการ Smart Business Transformation หรือถ้าต้องการทีมสนับสนุน ทางยูโอบีก็มีให้พร้อมเช่นกัน

“จริง ๆ ยูโอบี มี Digital Solutions มากมาย เช่น ระบบ BizSmart ที่คล้ายกับระบบ EPR สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจ ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นมามีระบบ อย่าง Cash Management คอยบริการ เรียกได้ว่าเมื่อมาที่ Inno Town ก็จะสามารถหาข้อมูล หาแรงซัพพอร์ตได้เสมอ”

ปรับตัวอยู่เสมอ

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในอนาคตนับจากนี้ ยูโอบี ประะเทศไทย มองว่า การแข่งขันจะเป็นไปอย่างดุเดือดมากขึ้น ทำให้ธนาคารเองจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยน (Transforms) ตัวเองอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

ที่ผ่านมา ยูโอบีมีการปรับปรุงตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการออก TMRW Application เพื่อตอบโจทย์ด้านการเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือออกผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนความต้องการของผู้ใหญ่วัยทำงาน ไปจนถึงโครงการใหญ่ ๆ สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนธุรกิจขนาดใหญ่ระดับบริษัท (Corporate) 

บทบาทสนับสนุนการทรานส์ฟอร์มของยูโอบีจึงมีหลายระดับแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเป็นหลัก

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นกิจการขนาดเล็กอาจต้องการเพียงแค่การนำ Chat Bot มาใช้เพื่อให้รายได้เติบโตเร็วขึ้น ขณะที่กิจการขนาดกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นที่ 2 ก็จะต้องการประยุกต์เอาระบบนวัตกรรมการจัดการ อย่างระบบการจัดการบัญชี บริหารคลังสินค้า ซึ่งใช้เวลานานกว่าการทรานส์ฟอร์มของกิจการขนาดเล็ก

ขณะเดียวกัน ความร่วมมือสนับสนุนจากทางยูโอบี นอกจากจะเป็นการให้ความรู้ ช่วยให้ SMEs ยืนอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนบนแพล็ตฟอร์มดิจิทัลได้แล้ว ทางธนาคารยังช่วยในเรื่องของการทำแคมเปญสนับสนุนโปรโมทกิจการของลูกค้าด้วยเช่นกัน 

ยิ่งไปกว่านั้น ยูโอบียังส่งเสริมช่วยในเรื่องของการวางแผนขยายตลาดในต่างประเทศ โดยอาศัยเครือข่ายภายในภูมิภารของยูโอบี ทำให้นอกจากจะช่วยสนับสนุน SMEs ในเรื่องทรานส์ฟอร์มสู่โลกดิจิทัล และด้านเงินกู้เงินลงทุนแล้ว การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอย่างราบรื่นก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ยูโอบีให้ความสำคัญไม่แพ้กัน 

การมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการในทุก ๆ ด้าน คือ สิ่งที่ยูโอบี มองว่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถแข่งขันได้ในแวดวงอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารต่อไปได้ 

เป็นการมุ่งเน้นในเรื่องการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อรักษาลูกค้าไว้เป็นหลัก ดังนั้น ในอนาคตนอกจากผลิตภัณฑ์ของธนาคารแล้วเราคงต้องมีโปรดักส์อื่น ๆ ที่จะมานำเสนอให้ลูกค้าเพื่อให้เขาสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในอนาคตโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลักอยู่เบื้องหลัง

สิรินันท์ กล่าวเน้นย้ำว่า การแข่งขันของธนาคารนับจากนี้ ต้องเน้นเรื่องการสนับสนุนลูกค้าให้สามารถเดินต่อไปได้ โดยเฉพาะในห้วงเวลานับต่อจากนี้ที่จะเป็นการตัดสินความสามารถในการต่อสู้ยืนหยัดอย่างแท้จริงหลังจากที่รอดชีวิตจากวิกฤติการระบาดครั้งใหญ่มาได้

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ