TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyววจ. เปิดหลักสูตรใหม่ มุ่งผลิต “นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์” เพื่อรองรับความขาดแคลน

ววจ. เปิดหลักสูตรใหม่ มุ่งผลิต “นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์” เพื่อรองรับความขาดแคลน

“คำว่า “นักอัลตราซาวด์” เป็นคำใหม่ในแวดวงของแพทย์ และระบบสาธารณสุข แต่ในต่างประเทศคำว่านักอัลตราซาวด์มีมานานแล้ว อย่างที่ออสเตรเลียมีมาประมาณ 30 กว่าปี ซึ่งการ อัลตราซาวด์ถือเป็นการตรวจชนิดหนึ่ง อย่างเช่นตั้งครรภ์เราก็ใช้อัลตราซาวด์ตรวจอายุครรภ์ได้ ตรวจดูว่าเด็กดิ้นดีไหม เห็นแขน เห็นขา เห็นอวัยวะภายใน คนทั่วไปก็จะตรวจช่องท้อง ดูตับ ดูถุงน้ำดี โดยที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่ในต่างประเทศการตรวจต้องใช้เวลานาน จึงพัฒนาให้มีนักอัลตราซาวด์เกิดขึ้น เพื่อลดภาระหน้าที่ของแพทย์ คือแทนที่แพทย์จะต้องทำการถ่ายภาพดูส่วนต่าง ๆ เอง ก็จะส่งหน้าที่นี้ให้กับนักอัลตราซาวด์ เพราะขั้นตอนนี้ใช้ระยะเวลานาน”

-วิศวะฯ มหิดล ตั้งเป้าเป็น Hub ด้านวิศวกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ
-“ทีเซลส์” ผนึกราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมพัฒนา AI ด้านรังสีวิทยา สู่วงการแพทย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเชษฎ์ สิริพงษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดหลักสูตรใหม่ผลิต “นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์” ขึ้นมารองรับในสาขาที่ขาดแคลนบุคลากร

คำจำกัดความของ  “อัลตราซาวด์ทางการแพทย์”

อัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คือ เครื่องตรวจวินิจฉัย โดยการใช้คลื่นเสียงนั่นเอง ส่วนหลักการของเครื่องอัลตราซาวน์ คือเครื่องมือวินิจฉัย ที่ทำให้เราเห็นภาพได้โดยการใช้คลื่นเสียงสะท้อนกลับไปแล้วส่งภาพกลับมา เราใช้คลื่นเสียงที่กลับมาสร้างภาพเป็นภาพขาวดำเพื่อให้เห็นโครงสร้างทางกายวิภาค ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้เป็นเครื่องมือที่ปลอดภัย ตรวจได้ง่ายและรวดเร็ว

อุปสรรคและปัญหาที่ผ่านมา จนมาถึงการจัดตั้งคณะและหลักสูตรเพื่อผลิต “นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์” ขึ้นมาโดยเฉพาะ

สำหรับนักอัลตราซาวด์ที่โรงเรียนเปิดสอน เราผลิตบุคลากรที่ใช้เครื่องมืออัลตราซาวด์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยโรคและการสร้างภาพ หน้าที่ของนักเรียนที่จบมาก็ต้องสามารถทำการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ในการสร้างภาพและวินิจฉัยเบื้องต้นในโรคต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้ ส่วนผู้ที่จะแปลผลจริง ๆ ก็คือแพทย์ โดยภาพรวมการทำอัลตราซาวด์ใช้เวลานาน ถ้าใช้แพทย์ในการตรวจรักษารวมถึงทำ อัลตราซาวด์ผู้ป่วยด้วยตนเองจะใช้เวลามาก หากมีนักอัลตราซาวด์มาช่วยก็จะทำให้แพทย์ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งดูแลคนไข้ได้มากขึ้นอีกด้วย

อัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ถือเป็นสาขาวิชาชีพที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ และถ้ามีมากขึ้นก็จะสามารถช่วยแพทย์ได้มากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแน่นอน โดยปกติความต้องการของนักศึกษาที่จบเป็นบัณฑิตก็ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด แต่ในเรื่องของการทำอัลตราซาวด์ มีความต้องการมากอยู่แล้ว ทำให้บัณฑิตที่จบทางด้านนี้มีความต้องการในระบบสาธารณสุขมากขึ้น

นอกจากนั้นในภาพรวม อัลตราซาวด์เป็นศาสตร์ที่กำลังโตอย่างก้าวกระโดด เพราะเครื่องอัลตราซาวด์ในปัจจุบันมีขนาดเล็กลงและมีราคาที่ถูกลง ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่ทำงานด้านนี้ยังน้อยอยู่  ส่วนใหญ่จะจำกัดที่แพทย์เฉพาะทางเป็นหลัก จึงคาดการณ์ได้ว่าบัณฑิตที่จบไปเป็นที่ต้องการแน่นอน เนื่องจากมีคนที่ต้องการใช้อัลตราซาวด์มากขึ้น ผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น และศาสตร์ต่าง ๆ ที่ต้องการใช้อัลตราซาวด์ก็มีมากขึ้น

หลักสูตรและรายละเอียดการเรียนการสอนของ “นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์”

โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ สังกัดอยู่ใน คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นโรงเรียนที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์สายสนับสนุน ซึ่งอาชีพหนึ่งที่ต่างประเทศมีแต่ประเทศไทยยังไม่มี นอกจากนั้นอาชีพนี้ยังช่วยในการบริการสุขภาพที่ดี

สำหรับบทบาทหน้าที่ของนักอัลตราซาวด์จะมีด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรกคือทำการตรวจหารอยโรค ทำการเก็บภาพและการวินิจฉัยภาพ ส่วนที่สองคือการแปลผล ซึ่งส่วนนี้จะทำโดยแพทย์  แต่ที่ผ่านมาในประเทศไทยแพทย์จะทำหน้าที่นี้ทั้งหมด ทำให้กว่าจะตรวจเสร็จสักคนต้องใช้ระยะเวลานาน ทางคณะฯ จึงอยากให้มีนักอัลตราซาวด์เกิดขึ้นเพื่อลดภาระให้กับแพทย์ ทำให้แพทย์รับคนไข้ได้มากขึ้น ถึงได้จัดตั้งโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมา พร้อมศาสตร์ทางด้านอัลตราซาวด์โดยเฉพาะ อีกวัตถุประสงค์คือ เนื่องจากเครื่องอัลตราซาวด์มีอยู่ทุกที่ทุกโรงพยาบาลแล้ว อีกทั้งเครื่องตรวจไม่ได้แพง แถมยังไม่มีรังสีด้วย ทำให้สามารถทำการตรวจคนไข้ได้ไม่จำกัดและตรวจได้ในอีกหลายระบบ

ตอนนี้เรา เปิดอยู่ 2 หลักสูตร หลักสูตรแรก คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ชื่อ สาขาวิชาสัทภาพการแพทย์ ชื่อในราชบัณฑิต สัท แปลว่า เสียง ภาพ ก็คือ การสร้างภาพ ดังนั้น สัทภาพการแพทย์ คือ การสร้างภาพด้วยเสียง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการ อัลตราซาวด์ เป็นหลักสูตรที่เรียนเพื่อเป็นอาจารย์ หลักสูตรต้องเรียน 36 หน่วยกิต ใช้เวลาเรียน 2 ปีกับหนึ่งภาคฤดูร้อน ในช่วงหนึ่งปีแรกจะเรียนเรื่องทักษะการอัลตราซาวด์ทั้งหมด ในช่วงปีที่ 2 จะเป็นการทำวิจัยและการทำวิทยานิพนธ์เพื่อขอจบ และอีกหลักสูตรหนึ่งคือ หลักสูตร 1 ปี สำหรับบุคคลที่เรียนเพื่อไปใช้งาน ทำงานบริการในโรงพยาบาลเป็นหลัก และช่วยงานแพทย์ต่าง ๆ โดยหลักสูตร 1 ปี จะเรียนเรื่องทักษะการอัลตราซาวด์ทั้งหมด

 การเรียนการสอนแบบเฉพาะทางของ “นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์”  ของ ววจ.

เนื่องจากเรามองภาพรวมทั้งประเทศ จะเห็นได้ว่าโดยรวมแพทย์บ้านเราค่อนข้างขาดแคลน ซึ่งแพทย์ก็จะเรียนด้านนี้เสริมความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาของแพทย์อยู่แล้ว ซึ่งในเมืองนอกไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรป ออสเตรเลีย หรือว่าในอเมริกา เขาก็จะเอาคนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มาศึกษาต่อทางด้านอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ เพื่อทำงานในส่วนนี้ หรืออาจจะเป็นคนที่เรียนจบทางด้านพยาบาล หรือจบทางสาธารณสุขซึ่งมีองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์มาระดับหนึ่ง ก็มาเรียนต่อทางด้านนี้ และก็ทำงานเกี่ยวกับอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ต่อ

โดยทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งสร้างมาตรฐานระดับนานาชาติ จึงได้ร่วมมือกับ โมแนส ยูนิเวอร์ซิตี้ (Monash University) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีหลักสูตรการอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงของออสเตรเลียมาสร้างหลักสูตรร่วมกัน โดยมีเนื้อหาโครงสร้างที่ได้รับการพัฒนาโดยคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญจากโมแนสยูนิเวอร์ซิตี้ ก็จะส่งบุคลากรจะมาเทรนอาจารย์เราด้วย เทรนในเรื่องคอนเซปต์และหลักเกณฑ์ในการสอนนักอัลตราซาวด์เป็นผู้เชี่ยวชาญต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมภาคสังคมเพื่อฝึกฝนให้กับนักศึกษาได้ฝึกทักษะ เพราะเครื่องอัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ทักษะ ต้องฝึกทำเยอะ ๆ จึงจะทำได้ดี

โครงการและกิจกรรมภาคสังคมให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติ

กิจกรรมทางภาคสังคม ซึ่งเป็นกิจกรรมของนักศึกษาในช่วงระหว่างเรียน นักศึกษาจะฝึกงานในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในแผนกอัลตราซาวด์อยู่แล้ว กิจกรรมนอกเหนือจากการให้บริการในโรงพยาบาล เรามีกิจกรรมในการเรียนการสอนให้บุคคลภายนอก เราได้รับทุนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ซึ่งเรามีหน้าที่ผลิตและอบรมให้แพทย์ทั่วไปทำอัลตราซาวด์ได้ดีขึ้น และเพื่อเป็นการเพิ่มความเชี่ยวชาญให้กับแพทย์ เรามีการจัดอบรมระยะสั้นให้กับแพทย์ทั่วประเทศ โดยมีโครงการระยะยาว 5 ปี ผลิตแพทย์ทั่วประเทศที่อยู่ในสังกัดราชการ จำนวน 1,250 คน ซึ่งแพทย์เหล่านี้กระจายอยู่ตามโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัดที่อยู่ห่างไกล สิ่งที่ทำการวินิจฉัยได้ดีมาก ๆ คือการอัลตราซาวด์ ซึ่งหลักสูตรแพทย์ปกติการเรียนอัลตราซาวด์ยังน้อยอยู่ เราก็จะทำให้แพทย์ได้ฝึกทักษะเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญ เพราะเครื่องอัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือที่ต้องใช้ทักษะ ต้องฝึกทำเยอะ ๆ ถึงจะทำได้ดี

โอกาสในการทำงานหลังสำเร็จการศึกษา

เนื่องจากเป็นสาขาวิชาชีพที่เปิดใหม่ ดังนั้นบัณฑิตที่มาต้องได้งาน 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเข้าทำงานในองค์กรที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพได้ อันดับแรกเลยคือโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ต้องการขยายงานทางด้านอัลตราซาวด์ ซึ่งมีความต้องการนักอัลตราซาวด์อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น รังสีแพทย์ อยากให้มีคนมาช่วยทำอัลตราซาวด์ เพื่อแพทย์จะได้รับคนไข้ได้มากขึ้น หรือ ถ้าจบปริญญาโท ก็มีโอกาสเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ เพราะโรงเรียนฯ กำลังจะขยายเพื่อผลิตแพทย์ที่จะช่วยงานด้านวิชาการต่าง ๆ ในโรงเรียนฯ ให้มากขึ้น  นอกจากนั้นยังสามารถทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ หรือทำงานบริษัทเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะเครื่องอัลตราซาวด์ก็ได้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่สนใจเรียนสาขานี้ ต้องมีความรู้ด้านใดบ้าง

เนื่องจากการอัลตราซาวด์ถือเป็นศาสตร์หนึ่งที่ใช้ในการแพทย์ ดังนั้นคนที่จะมาเรียนด้านนี้ต้องมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องใช้ในโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กายวิภาค สรีระวิทยา ต้องมีความรู้ว่าแต่ละอวัยวะทำหน้าที่อะไร แล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และอาจจะต้องช่วยดูแลคนไข้ด้วย ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ในการวินิจฉัยและการรักษานั่นเอง รวมถึงต้องเป็นคนที่ขยันหาความรู้ใหม่ ๆ เพราะความรู้ทางด้านการแพทย์มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ อยู่เสมอ

 ทิศทาง อนาคต ของบัณฑิต หากเรียนจบแล้วสามารถต่อยอดอะไรได้อีก  

นักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตรปริญญาโทแล้วจะมีความก้าวหน้าทางวิชาชีพอย่างมาก เพราะความต้องการตามโรงพยาบาลในประเทศมีความต้องการมาก ด้วยเหตุผลคือคิวการตรวจอัลตราซาวด์ในโรงพยาบาลนั้นยาวมากต้องรอนาน โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ ตอนนี้โรงเรียนฯ ของเรากำลังขยาย ถ้าเรียนจบแล้วจะได้บรรจุเป็นอาจารย์ แต่ถ้าไม่ชอบงานวิชาการก็สามารถทำงานบริการในโรงพยาบาลได้ด้วย

ท้ายสุดข้อดีที่มี “นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์” กับเคสที่เกิดขึ้นจริง

ถ้าถามว่านักอัลตราซาวด์มีส่วนร่วมกับการแพทย์อย่างไรบ้าง คือ เกือบทั้งระบบของร่างกายเลย  เพราะสามารถตรวจอัลตราซาวด์ ยกเว้นอวัยวะที่มีลมอยู่มักตรวจได้ไม่ดี ซึ่งการอัลตราซาวด์ที่ใช้บ่อยคือแผนก สูติศาสตร์ ส่วนใหญ่ใช้การอัลตราซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ และตรวจดูการแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ บางทีเราเจอภาวะรกเกาะต่ำ คือตั้งครรภ์แล้วรกไปอยู่ใกล้ทางช่องคลอดทำให้คลอดไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้แม่หรือเด็กเสียชีวิตได้ หรือใช้การตรวจอัลตราซาวด์ในช่องท้อง โดยบ้านเราจะใช้การอัลตราซาวด์ในตรวจหามะเร็งตับซึ่งเกิดมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้ชาย ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก ทั้งนี้การอัลตราซาวด์ในช่องท้องเราสามารถทำได้บ่อย เพราะเป็นระบบเบสิกขั้นต้นที่ต้องทำได้อยู่แล้ว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ