TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyวิศวะมหิดล คิดค้น 'เรียนรู้' อุปกรณ์บำบัดผู้ป่วยทางสมองยุคดิจิทัล คาดส่งมอบ 100 รพ. ภายในสิ้นปี

วิศวะมหิดล คิดค้น ‘เรียนรู้’ อุปกรณ์บำบัดผู้ป่วยทางสมองยุคดิจิทัล คาดส่งมอบ 100 รพ. ภายในสิ้นปี

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นพัฒนานวัตกรรม “เรียนรู้” อุปกรณ์บำบัดผู้ป่วยทางสมองยุคดิจิทัลสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสมองผ่านการเล่นเกม คาดส่งมอบแก่ 100 โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการนี้ในช่วงสิ้นปี 2565

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยมีคนไข้ทางสมองสะสมรวม 7-9 แสนคน โดยเป็น เด็กกว่า 5 แสนคน ซึ่งอยู่ในวัยก่อนเข้าเรียนและมักมีอุปสรรคทางสุขภาพที่ทำให้เรียนรู้ช้า หรือบกพร่องทางการเรียนรู้ น้อง ๆ จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทักษะพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคปกติ เราจึงมุ่งเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสช่วยให้เด็กไทยเหล่านี้ ได้พัฒนาการเรียนรู้ เป็นที่มาของนวัตกรรมที่ชื่อว่า “เรียนรู้” คิดค้นพัฒนาโดย ผศ.ดร.เซง เลิศมโนรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ออกแบบพัฒนาขึ้นตามความต้องการของนักกิจกรรมบำบัด หรือผู้ดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเด็กพิเศษและผู้ป่วยทางสมองได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศไทยยังขาดแคลน นักกิจกรรมบำบัดอีกมาก 

นวัตกรรม “เรียนรู้” พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมไม่ซับซ้อน ใช้ง่าย มีต้นทุนต่ำ สามารถผลิตได้ภายในประเทศและนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ทดแทนการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ราคาสูงมากจากต่างประเทศ ช่วยสนับสนุนภารกิจอันเหน็ดเหนื่อยของบุคคลากรทางการแพทย์  ลดความเหลื่อมล้ำช่วยน้องเด็กพิเศษและผู้ป่วยทางสมองได้เข้าถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ โดยมี รพ.และศูนย์สุขภาพชุมชนจากทั่วประเทศอีก 100 แห่ง เข้าร่วมโครงการนี้

ผศ.ดร.เซง เลิศมโนรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าลักษณะนวัตกรรม “เรียนรู้” เป็นโมบายแอปพลิเคชั่นที่ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ภายนอก (ปุ่มกด) ออกแบบในรูปของเกมที่สนุก เพื่อใช้บำบัดเด็กพิเศษ เช่น เด็กสมาธิสั้น และเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นต้น

เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้นักกิจกรรมบำบัดนำไปใช้พัฒนาน้องผู้ป่วยทางสมอง แทนการบำบัดแบบเดิมได้ ช่วยลดภาระงานและเพิ่มประสิทธิภาพของการบำบัดได้อย่างมาก ข้อดีของ “เรียนรู้” จะกระตุ้นให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้มากขึ้นจากการเล่นเกมผ่านแอพพลิเคชั่น “เรียนรู้” ในรูปแบบแท็บเลต ทำงานร่วมกับอุปกรณ์เสริมภายนอก(ปุ่มกด) เพื่อใช้ในการตอบคำถาม ปุ่มนี้ช่วยเพิ่มความหลากหลายในการออกแบบการฝึก นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยฟื้นฟูผู้ใหญ่ที่ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาตได้

ส่วนประกอบนวัตกรรม “เรียนรู้” มี 1. แท็บเล็ต หรือ กล่องแอนดรอยด์+ทีวี  และ 2. ปุ่มกด 3 ปุ่ม สำหรับกดคำตอบ วิธีการใช้งาน นั้นสามารถทำได้ง่าย เพียงเข้าไปในแอพพลิเคชั่น “เรียนรู้” ในแท็บเล็ต และเลือกหมวดการเรียนที่ต้องการ โดยจะออกแบบเป็น 6 หมวด ให้เลือกโดยเรียงลำดับตามหลักการจากความง่ายไปยาก ดังนี้

  1. หมวดเสียง จะมีเสียงของสัตว์นานาชนิด ๆ ให้เลือกว่าเสียงที่ได้ยิน เป็นเสียงของสัตว์อะไร
  2. หมวดสี ให้แยกสี จับคู่สี
  3. หมวดรูปทรง จะเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม
  4. หมวดแยกแยะ โดยให้จับกลุ่ม สัตว์ สิ่งของ หรือ ผลไม้
  5. หมวดจำนวน เป็นตัวเลข โดยให้บวก ลบ
  6. หมวดเขียน เป็นการฝึกเขียนตัวอักษร ก-ฮ ซึ่งในอนาคตก็จะมีการพัฒนาหมวดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก

นันทวรรณ รุ่งวิริยะวงศ์ นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลนครปฐม กล่าวว่า รพ.นครปฐม ได้นำนวัตกรรม “เรียนรู้” มาประยุกต์ใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยเด็กพิเศษ โดยเฉพาะในเด็กสมาธิสั้นซึ่งมักจะมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น คุมตัวเองไม่ค่อยได้ ขาดสมาธิ ไม่จดจ่อกับกิจกรรม ทำให้ส่งผลต่อการเรียนรู้ โดยแต่ก่อนจะสอนเด็กพิเศษโดยการใช้ Flash Cards หรืออุปกรณ์ ซึ่งมีข้อด้อย คือต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมอุปกรณ์ สำหรับเรียนรู้ หมวดหมู่ต่าง ๆ และในหมวดตัวอักษร รวมถึงการเลียนเสียงสัตว์ ซึ่งเป็นการเลียนเสียงสัตว์ที่ทำโดยเสียงคนซึ่งไม่เหมือนของจริง

เมื่อได้ลองใช้ นวัตกรรมใหม่ “เรียนรู้” กับเด็กพิเศษพบว่าเด็กได้ฝึกการสังเกตรวมถึงฝึกการควบคุมตนเอง เนื่องจากลักษณะของ “เรียนรู้” เป็นบทเรียนที่สอดแทรกในรูปแบบเกม มีลูกเล่นต่างๆ ที่ดึงดูดความสนใจ ทำให้เด็กรู้สึกสนุกอยากติดตามต่อเนื่องและเพลิดเพลิน เป็นการฝึกฝนให้เด็กๆสามารถรอได้ นอกจากนี้มีผู้ปกครองหลายท่านสนใจ “เรียนรู้” อยากได้กลับไปให้บุตรหลานเล่นที่บ้าน นับว่าเป็นการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประโยชน์มากค่ะ

ราเมศร์ เรืองอยู่ นักกิจกรรมบำบัดศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นศูนย์ชำนัญพิเศษของสภากาชาดไทย ซึ่งให้บริการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีความบกพร่องหรือความพิการทางร่างกาย หรือผู้ที่มีสภาวะถดถอยเรื่องความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง จากภาวะโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก ตัน  ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองหรือไขสันหลัง ภาวะโรคเรื้อรังทางอายุรกรรมต่าง ๆ

“สำหรับนวัตกรรม “เรียนรู้” นี้ เราใช้บำบัดในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีปัญหาด้านการรับรู้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาการรับรู้ ซ้าย ขวา ตำแหน่ง การนับจำนวน การแยกรูปทรง การแยกหมวดหมู่ จากการที่ใช้นวัตกรรม “เรียนรู้” บำบัดผู้ป่วย เราพบว่า ตอบโจทย์ทางบำบัดทางการแพทย์เป็นอย่างมาก มีรายละเอียดการบำบัดเบื้องต้นครบถ้วนและสามารถใช้งานได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยได้ฝึกสมอง ฝึกการแยกแยะ ออกมาในรูปแบบเกม ทำให้ได้ฝึกคิดก่อนตอบ ช่วยให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยทางสมองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ ในช่วงแรกคณะวิศวะมหิดล ได้ส่งมอบต้นแบบแก่ 2 รพ. คือ รพ. นครปฐม โดยมี แพทย์หญิง ภัสรี พัฒนสุวรรณา แพทย์ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมฟื้นฟู และ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย ซึ่งมี แพทย์หญิง ขวัญยุพา สุคนธมาน รองผู้อำนวยการ เป็นผู้รับมอบ โดยมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดและศูนย์สุขภาพชุมชนจากทั่วประเทศอีก 100 แห่ง เข้าร่วมโครงการด้วย ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบ นวัตกรรม “เรียนรู้” ได้ในช่วงปลายปี 2565

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Bitkub ร่วมกับ KOI นำบล็อกเชนและ NFT จัดกิจกรรมแลกรับเครื่องดื่มสูงสุดถึง 30 แก้ว

ดอลฟิน จับมือ PYK CARS เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าชำระเงินผ่านดอลฟิน วอลเล็ท

บี. บราวน์ เปิด ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องมือแพทย์สนับสนุนระบบสุขภาพไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ