TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessโควิด-19 กระทบสตาร์ตอัพทั้งอีโคซิสเต็มส์ ‘เงินทุน-บุคลากร-ตลาด’

โควิด-19 กระทบสตาร์ตอัพทั้งอีโคซิสเต็มส์ ‘เงินทุน-บุคลากร-ตลาด’

วิกฤติโควิด-19 กระทบทุกธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่สตาร์ตอัพที่แม้จะมีความคล่องแคล่วปราดเปรียวในการดำเนินธุรกิจ

สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ซีอีโอ KT Ventures กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อ startup ecosystem มี 3 ส่วน คือ ส่วนของเงินทุน (capital) บุคลากร (talent) และตลาด (market)

ส่วนเงินทุน คือ 41% ของสตาร์ตอัพ รันเวย์จะหมดถ้าไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร ซึ่งในนั้นเจาะเข้าไปดูพบว่า 30% ของกลุ่มซีรีส์ A,B,C มีรันเวย์อยู่ได้ 6 เดือน

ข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุว่า ประมาณ 41% ของสตาร์ตอัพทั่วโลกอยู่ใน red zone หมายถึงมีเงินอยู่รอดได้อีก 3 เดือน ซึ่งทำสำรวจตั้งแต่ปลายมีนาคม นั่นคือ หลังจากเดือนมิถุนายน 41% ของสตาร์ตอัพจะหายไปจากโลกใบนี้ เป็นตัวเลขที่น่ากลัว หากเขาไม่มีวิธีที่ pivot รูปแบบธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงได้

“ประมาณ 1 ใน 3 ของสตาร์ตอัพ growth stage คือ ตั้งแต่ซีรีส์ A และ B ขึ้นไป จะมีรันเวย์อยู่ได้ 6 เดือน หมายความว่า อยู่ได้ถึงราว ๆ กันยายน หรือตุลาคม หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็อาจจะล้มหายตายจากไปอีก สถานการณ์น่ากลัวมาก”

ในส่วนซีรีส์ pre-seed ถึง pre-Series A พบว่า ประมาณ​ 20% แม้ว่าจะได้เอกสารระบุข้อกำหนดและเงื่อนไขของข้อตกลงทางธุรกิจ (term sheet) แล้ว VC ตัดสินใจหยุดการลงทุนไว้ก่อน ยังไม่ลงเงิน และเกินครึ่ง (53%) จะชะลอการลงทุน

สถานการณ์แบบนี้สตาร์ตอัพที่เคยวางแผนการเติบโต รายได้ไม่เข้า เงินลงทุนรันเวย์ที่จะวางไว้ 12-18 เดือนก็ลดเหลือ 3-6 เดือน

ในส่วนของ talent มีตัวเลขที่น่าตกใจ คือ ประมาณ​ 75% ของสตาร์ตอัพจะมีการ layoff พนักงาน และประมาณ ​25 -30% ของสตาร์ตอัพต้องให้พนักงานกว่า 60% ต้องออกจากบริษัท

“อย่าง Airbnb ที่ระดมทุนระดับพันล้านดอลลาร์ ที่จ่อ ๆ จะเข้า IPO ก็มีการปลดพนักงานประมาณ ​25%”

ในส่วนของตลาด ถ้าดูตัวเลขการลดลงของรายได้ของสตาร์ตอัพรายอุตสาหกรรม ประมาณ 75% รายได้ตกหมด ประมาณ ​16-20% รายได้ตกเกินกว่า 80% หมายความว่ารายได้จาก 100 บาทตกลงเหลือ 0 บาท หรือมากสุดคือ 20 บาท

สามส่วนประกอบกัน (เงินทุน-บุคลากร-ตลาด) ทำให้สตาร์ตอัพทั่วโลกตอนนี้ เหนื่อยหน่อย ต้องหาทางเอาตัวรอดกันอุดตลุด

สตาร์ตอัพไทยยังมีโอกาส

สำหรับสตาร์ตอัพในประเทศไทย มีบางอุตสาหกรรรทมที่โหดกว่านี้ อาทิ กลุ่มอีเวนต์ ท่องเที่ยว อาหาร โดยทั่วไปแล้วโหดใกล้เคียงกันกับสถานการณ์สตาร์ตอัพทั่วโลก

สตาร์ตอัพไทยในกลุ่มท่องเที่ยวนี่ไปหมด คือ รายได้เป็นศูนย์เลย ไม่ใช่รายได้ลดเหลือ 50% แต่รายได้เป็นศูนย์เลย ต้องมีการ layoff พนักงาน ต้องขายสินทรัพย์ทิ้ง เพื่อเก็บ core team ไว้ อย่างสตาร์ตอัพซีรีส์ A จาก เดิมมี 80-100 คน เหลือ 10-20 คน

ก่อนหน้าวิกฤติโควิด อุตสาหกรรมไหนที่ไทยเก่ง อาทิ ท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรม สตาร์ตอัพไทยในสายนั้นจะเติบโตค่อนข้างดี แต่พอเจอวิกฤติโควิดสตาร์ตอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการที่ต้องเคลื่อนย้ายคน กว่า 80% รายได้หายหมด

“ส่วนฟินเทคเป็นคลื่นลูกหลัง ๆ ที่มาแรง ประเทศไทยน่าจะมียูนิคอร์นจากฟินเทคได้ ฟินเทคกรายได้ก็หายเหมือนกันแต่ไม่ได้หายเหมือนกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ แต่เป็นการเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ เงินที่เคยใช้บริการฟินเทคอาจจะน้อยลงแต่ไม่ได้หายไปเลย เดี๋ยวจะกลับมาใหม่”

ฟินเทค อินชัวร์เทค ไม่ได้โดนกระทบหนัก ๆ แต่กำลังซื้อ กำลังเงินออมอาจจะลดลง แต่ไม่ได้โดยหนักมาก แต่เชื่อสตาร์ตอัพกลุ่มนี้จะสามารถปรับตัวให้รับกับความคุ้นชินใหม่ของผู้บริโภคที่เริ่มชินกับการออนไลน์มากขึ้น น่าจะทำให้สามารถเติบโตได้ดีขึ้นหลังจากโควิดแม้ว่าตอนนี้จะทรง ๆ ไม่ได้บวก ไม่ได้ลบมาก

หากมองลึก ๆ แอบมีบางสายที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ที่อาจไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรกให้เป็นแบบนี้ แต่พอโควิดมาทำให้เจอรูปแบบธุริจที่เหมาะสมพอดี อาทิ EdTech

ก่อนหน้านี้ การให้เด็กไทยไปเรียนออนไลน์ ผู้ใหญ่ไปเรียนออนไลน์ เหนื่อยมาก คนจะไม่เรียน แต่พอมีโควิดเข้ามา ดีมานด์ในการเรียนออนไลน์เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด เด็กอายุเกิน 7 ขวบอยู่บ้านจำนวนเกินหลักแสนคน โอกาสทางการตลาดขยายตัวเยอะมาก

สมโภชน์ ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันบริษัทครึ่งหนึ่งของ Fortune 500 ที่เป็นยูนิคอร์นเป็นบริษัทที่เกิดหลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ (Subprime Mortgage Crisis) หมายความว่าจะมีบริษัทที่เกิดใหม่หลังวิกฤติเสมอ และจะเป็นบริษัทที่เติบโตแบบมหาศาล ซึ่งถ้าถามว่าเมืองไทยน่าจะมีโอกาสแบบนั้นไหม คำตอบคือ EdTech และ TeleMed น่าจะมีโอกาส

“คงถึงเวลาของบางธุรกิจที่เวลาปกติมันโตไม่ได้ มันต้องมาโตตอนยุคที่ถูกกระตุ้นแบบช่วงนี้ มีตัวจุดระเบิดให้ติด ถ้าสตาร์ตอัพสามารถหารูปแบบธุรกิจที่เติบโตได้ และหา S-Curve ใหม่ได้”

ด้วยธรรมชาติของสตาร์ตอัพที่ดี ต้อง lean และ agile ตลอดเวลา แต่โควิดมาอาจจะต้องทำเร็วขึ้นจากเดิมอาจจะทุกสัปดาห์แต่ตอนนี้ต้องทำทุก 2 วัน ต้องประคองตัวเองให้รอด

สิ่งแรกต้องดูว่า capital มีไหม มีรันเวย์แค่ไหน จากนั้นต้องเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ถ้าเพิ่มรายได้ไม่ได้ ต้องพลิกหารายได้ใหม่ ซึ่งอาจจะไม่เท่าเดิม แต่อย่างน้อยต้องพอประคองให้สามารถเลี้ยงพนักงานไปก่อนอย่างน้อย 3-6 เดือน และอาจจะต้องควักเนื้อเพื่อให้ไปต่อไปจนกว่าจะถึงรอบการระดมทุนหน้า

นักลงทุนรอลงทุนในสตาร์ตอัพที่รอดจากโควิด

สำหรับ founder สตาร์ตอัพไทยระดับซีรีส์ A ขึ้นมา สมโภช์ มองว่า เขามีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง เป็น founder ที่เก่งมาก เขารอด แต่จะเจ็บตัวมากน้อยแตกต่างกันไป แต่กลุ่มที่ต่ำกว่าซีรีส์ A ลงมา เกินครึ่งจะหายไป ทั้งเงินทุน บุคลากร และตลาด ไปหมด ไม่สามารถประคองได้ คงไปอย่างรวดเร็ว

“VC ต่าง ๆ ทั่วโลกและใน SEA คงต้องแย่งกันลงในดีลซีรีส์​ A,B,C เพราะหลังวิกฤติโควิดจำนวนดีลคงลดน้อยลงมหาศาล”

อย่างไรก็ตาม VC เองก็ได้รับผลกระททบจากการที่ผลตอบแทนจากกลงทุนในกองแรก ๆ ไม่เป็นไปดังคาด ทำให้การระดมทุนในกองหลัง ๆ จะระมัดระวังมากขึ้น และค่อนข้างยากที่จะขอเงินบอร์ด นักลงทุน หรือ LP มาลงทุนในสตาร์อัพ การตั้งกองใหม่อาจจะเหนื่อย วิธีการลงทุนจะช้าลง

“ส่วนตัวมองว่าไม่เหมือนกับยุคดอทคอม หรือยุคซับไพร์ม ยุคนั้นเอาเงินมาจากประชาชนทั่วไปแล้วลงทุน แต่ด้วยความที่เป็น LP และ VC เงินเป็นเงินที่ limited รู้อยู่แล้วว่าเงินก้อนนี้จะลงในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เงินกลุ่มนี้เขาใส่ risk ไว้สูงกว่าตลาดอยู่แล้ว VC เองคงเจ็บในส่วนที่ว่า return ที่ควรจะได้กลับไม่ได้ เงินใหม่ที่อยากจะลงก็ต้องตอบโจทย์นักลงทุนให้ได้ดี แต่คงไม่ได้เจ็บถึงขนาดว่า VC จะล้มหายตายจากไป หรือว่าต้องปิดกอง เพราะเงินส่วนนี้เขาชัดเจนอยู่แล้วว่าเขามีความเสี่ยงอยู่ที่เท่าใด”

สมโภชน์ ประเมินสถานการณ์ภูมิทัศน์สตาร์ตอัพในไทยว่า ต้องมาดูหลังโควิดว่าสตาร์ตอัพที่เหลือรอดออกไปจะปรับตัวเองได้มากน้อยขนาดไหน จะดึงแรงผลักดันกลับมาได้ไหม ชีวิตหลังโควิดไม่เหมือนเดิม โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะมีแรงตีกลับมาแรงกว่าปกติ อาทิ ในกลุ่มท่องเที่ยว หลายคนอาจจะอยากท่องเที่ยว คนที่มีกำลังอาจจะซื้อเพิ่ม 3 เท่าก็เป็นได้

ดีเลย์/ปรับทฤษฎีการลงทุน

ใน SEA และในไทย เม็ดเงินลงทุนในสตาร์ตอัพไม่ได้หายไปมาก แต่อาจจะมีการชะลอการลงทุน ยืดระยะเวลาออกไป แทนที่จะลงทุนในปีนี้ก็ยืดไปปีหน้า

“เขารอดูว่าสตาร์ตอัพไหนรอด เขาอยากลงสตาร์ตอัพที่รอด ซีรีส์ A,B,C ส่วนนักลงทุนที่จะลง seed นี่ดึงกลับเลย เพราะ seed-stage สตาร์ตอัพนี่การลงทุนมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว ยิ่งเจอโควิดเข้าไป 99% ตาย การหา 1% ยากมาก ตาต้องแหลมคมมหาศาล”

โมเดลจีน เงินลงทุนหายไปจากระบบ 28% คือ นักลงทุนมีการชะลอการลงทุน ซึ่งสมโภชน์มองว่า หายไปน้อยกว่าที่คิด เพราะคิดว่าน่าจะหายไปสัก 40% แต่ทว่า 28% ของเงินในจีนก็มากพอสมควร ในตลาด SEA ราคาสตาร์ตอัพเมื่อเท่ียบกับโซนยุโรป อเมริกา หรือจีน ราคาจะค่อนข้างถูกกว่า เพราะฉะนั้นสตาร์ตอัพใน SEA ยังเป็นของดีราคาถูก

โควิดทำให้การหมุนก้าวของสตาร์ตอัพจากซีรีส์ seed ไปซีรีส์ A,B,C ขาดช่วงลง เพราะ 40% ของซีรีส์ seed จะหายไป หมายความว่า อีก 2 ปีข้างหน้าจะไม่เห็นซีรีส์ A ใหม่ในจำนวนมากเท่าเดิม

Venture Capital ซึ่งมี 2 แบบใหญ่ ๆ คือ VC ที่มี VC ซึ่งมี LP หนุนหลัง กับ corporate​ VC VC ซึ่งมี LP หนุนหลัง ตั้งกองมาลงทุน อาจจะเห็นการดีเลย์และการ shift ทฤษฎีการลงทุน ที่เดิมอาจจะลง seed และ pre-series A 50% ที่เหลือเป็นซีรีส์ A อาจจะลดสัดส่วนการลงซีรีส์ seed และ pre-serires A น้อยลง แล้วมาลงในสตาร์ตอัพซีรีส์​ A มากขึ้น แต่จำนนวนเงินเท่าเดิม

ส่วน CVC ถ้าเป็นคอร์ปอเรตใหญ่ ๆ ต้องมาพิจารณาดูว่าทฤษฎีการลงทุนคืออะไร คือ เพื่อ synergy เพื่อ return พอมีโควิดมา เขาคงต้องทบทวนวิธีการลงต่าง ๆ และรีโฟกัส

KT Ventures พร้อมลงทุน

สำหรับ KT Ventures โควิดยังไม่กระทบทฤษฎีการลงทุนที่ต้องการลงทุนในสตาร์ตอัพที่จะช่วยติดปีก SME ด้วยดิจิทัล

ยิ่งเกิดโควิด ยิ่งอยากลงทุนมากขึ้น ทันทีที KT Ventures จัดตั้งเสร็จตามกฎหมาย จะเร่งการลงทุนให้เร็วขึ้น

“เราให้จัดตั้งบริษัทเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 และเริ่มลงทุนในไตรมาสที่ 4 อาจจะไม่เหมือนการจัดตั้ง VC อื่น ๆ หรือของธนาคารท่ัว ๆ ไป เม็ดเงินลงทุนรวมไม่ได้ลด เงินเราไม่ได้ใช้เลย ถึงเวลาที่เราลงทุนได้จริง ๆ เวลานั้นจะเหลือสตาร์ตอัพที่อยู่รอดมา และเราจะเอาเม็ดเงินไปลงทุนในสตาร์ตอัพเหล่านั้น โอกาสและอนาคตของสตาร์ตอัพในไทยยังมีอยู่ เพราะไทยยังเป็นข่วงเริ่มตัน ยังมีอนาคตจะได้เห็นยูนิคอร์น (unicorn) ไม่ก็เซนทอร์ (centaur) หรือ exit ไม้ใหญ่ ๆ ได้”

ปีที่แล้วมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพไทย 100 กว่าล้านเหรียญ หากรวมการลงทุนตั้งแต่ 2012 มา รวมแล้วประมาณ​ 400 ล้านเหรียญ ไทยยังเป็นสตาร์ตอัพอีโคซิสเต็มที่ยังเด็กอยู่ ยังมีอนาคตอีกไกล …..

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ