TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist2566 "เศรษฐกิจ-การเมืองไทย" บนปากเหว

2566 “เศรษฐกิจ-การเมืองไทย” บนปากเหว

หากไม่มีเหตุการณ์อะไรพลิกผันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ปี 2566 คนไทยจะได้เลือกตั้งใหญ่ คาดว่าราว ๆ ต้นเดือนเมษายน 2566 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น หากเป็นไปตามที่มีการคาดกันว่าอาจจะมีการยุบสภาฯ ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้  

แม้จะได้เลือกตั้งแต่สิ่งที่คนไทยวิตกกังวลค่อนข้างมาก นั่นคือ โฉมหน้าการเมืองไทยหลังเลือกตั้งใหญ่จะเป็นอย่างไร รัฐบาลใหม่จะมีเสถียรภาพมั่นคงหรือไม่ ความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อจะกลับมาอีกไหม ความเป็นห่วงนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นมาแบบลอย ๆ แต่เคยมีบทเรียนในอดีตมาแล้ว 

ดูแนวโน้มการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทย น่าจะมาอันดับ 1 แต่คงไม่ถึงกับแลนด์สไลด์ตามที่ประกาศไว้ เนื่องจากครั้งนี้พรรคของนายพล 2 ป.ที่เคยเป็นเนื้อเดียวกันมีพรรคพลังประชารัฐสนับหนุน เที่ยวนี้ 2 ป.ใส่รองเท้าคอนเวิร์ส ทางใครทางมัน อาจจะเป็นแค่พรรคกลาง ๆ ทั้งคู่ ซึ่งคู่แข่งพรรคเพื่อไทยจริง ๆ จะเป็นภูมิใจไทย 

สมมติว่า พรรคเพื่อไทยที่ได้อันดับ 1 แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้และไม่ได้เป็นรัฐบาล โดนขั้วเก่าที่ได้คะแนนรองลงมาจับมือกันชิงจัดตั้งรัฐบาล เหมือนปี 2562 คนไทยที่เลือกพรรคเพื่อไทยจะรับได้หรือไม่ เพราะเท่ากับครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่พรรคอันดับ 1 ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

นี่คืออีกโจทย์ใหญ่หากไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง จะทำให้การให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาต่าง ๆ มันจะเกิดขึ้นได้ยากความขัดแย้งทางการเมืองก็อาจจะครุกรุ่นและรุนแรงขึ้น 

หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินเชิงบวก SET Index ปี 66 เศรษฐกิจไทยขยายตัว

หลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ใกล้ตัวกว่าที่คิด

ในทางกลับกัน หากพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะบริหารประเทศได้หรือไม่ กลุ่มที่อยู่ตรงข้ามและพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามจะยอมหรือไม่ จะมีการสร้างสถานการณ์ เกิดความวุ่นวายจนเกิดการรัฐประหารอีกหรือไม่

อย่าลืมว่า ประวัติศาสตร์การเมืองในบ้านเราซ้ำรอย ได้เสมอ ตรงนี้เป็นความกังวลของคนไทย เพราะอยากเห็นรัฐบาลที่มั่นคงบริหารประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง อันที่จริง ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่วิตกกังวล แม้แต่นักธุรกิจ นักลงทุน ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มีความเป็นห่วงเช่นเดียวกัน สถานการณ์การเมืองไทยในปีหน้า จึงอยู่ในสภาพที่เปราะบางที่พร้อมจะแตกหักได้ตลอดเวลา

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงและผันผวนมากมาย เหมือนอย่างที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณเตือนหลาย ๆ ครั้งว่า

เศรษฐกิจไทยปีหน้า มีทั้งความเสี่ยงใหญ่จากปัจจัยภายนอก ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คิด ตลาดเงินตลาดทุนโลกที่มีความผันผวนและทำงานผิดปกติ อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นห่วงมากกว่าก็คือ “ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล (ไทย) เอง”

สังเกตจากตอนนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มหาเสียงเลือกตั้งในปีหน้า เสนอนโยบายแปลก ๆ ออกมาโดยเฉพาะนโยบายประชานิยม ประเคนออกมาแบบไม่บันยะบันยัง ล่าสุดรัฐบาลก็ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแพ็คเก็จใหญ่ที่ล้วนเป็นนโยบายระยะสั้น ๆ แต่จะมีผลข้างเคียงในระยะยาว 

อีกทั้งระเบิดเวลาลูกใหญ่จาก “หนี้ครัวเรือน” ที่เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจปีหน้า บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ระบุว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88% ของ GDP (GDP ประมาณ 16.7 ล้านล้านบาท) ไส้ในของหนี้ครัวเรือน 14.7 ล้านบาท ประมาณ 28% เป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค กู้มากินมาใช้ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่อันตราย 

หากมองไปในปี 2566 ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดภาวะถดถอยทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงประเทศจีนที่กำลังเผชิญกับวิกฤติโควิดระลอกใหม่ หลังจากนโยบาย Zero COVID ล้มเหลว หากเศรษฐกิจจีนถดถอยทั้งโลกก็ต้องเผชิญวิกฤติตามไปด้วย โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ต้องพึ่งพาจีนทั้งเรื่องท่องเที่ยวและส่งออก

ขณะเดียวกัน วิกฤติราคาพลังงาน เช่น ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ค่าไฟฟ้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2566 เป็น 5.37 บาทต่อหน่วย ทำให้ต้นทุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะลดลงจากเศรษฐกิจโลกถดถอย หากต้นทุนพลังงานมาซ้ำเติม เครื่องยนต์ส่งออกของไทยคงดับสนิทแน่ ๆ มีเพียงท่องเที่ยวเครื่องยนต์เดียวเท่านั้นที่เป็นความหวังในการสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ยังลูกผีลูกคน เพราะต้องลุ้นนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นสำคัญ ในขณะที่ภาครัฐมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น  

ปี 2566 จึงเป็นปีที่ท้าทายทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจไทยมากที่สุดปีหนึ่ง 

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

AWS แนะวิธียกระดับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้สามารถแข่งขันได้ในเศรษฐกิจดิจิทัล

บีโอไอเปิด 9 มาตรการใหม่ ขับเคลื่อนลงทุนไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ควบคู่ความยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ