TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityบางจากฉลองความสำเร็จ Carbon Markets Club ปีที่ 3 ชวนคนไทย ลด ละ เริ่ม หนทางสู่โลกไร้คาร์บอน

บางจากฉลองความสำเร็จ Carbon Markets Club ปีที่ 3 ชวนคนไทย ลด ละ เริ่ม หนทางสู่โลกไร้คาร์บอน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 คือจุดเริ่มของความร่วมมือที่มีเป้าหมายในการร่วมกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มบางจาก โดยบางจาก บีซีพีจี และบีบีจีไอ เชิญชวนพันธมิตรรวม 11 องค์กรชั้นนำ ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในรูปแบบออนไลน์ขึ้นในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 โดยมีสมาชิกตั้งต้นเป็น 11 องค์กรชั้นแนวหน้าของประเทศ

ประกอบด้วย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัท เต็ด ตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน)

จากจุดเริ่ม 11 องค์กร ขยายสู่สมาชิกปัจจุบันมากกว่า 300 ราย

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้ริเริ่มก่อตั้ง Carbon Markets Club กล่าวถึงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยกันสนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และสร้างกลไกในการซื้อขายคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ เครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย 

“ปัจจุบัน Carbon Markets Club ดำเนินการมาครบสองปีแล้ว เรามีสมาชิกทั้งประเภทองค์กรและบุคคลมากกว่า 300 ราย มีการซื้อขาย TVER กว่า รวมกว่า 3 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ RECs รวมกว่า 1 ล้านเมกะวัตต์ชั่วโมง หรือรวมกันเทียบเท่า 8 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ที่มีอายุ 10 ปี กว่า 90 ล้านต้น โดยเป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างองค์กร

ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาเครื่องมือประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และแพลตฟอร์มศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิต คาดว่าจะใช้งานได้ในเร็ว ๆ นี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่หวังว่าจะมีโอกาสขยายวง สร้างความยั่งยืน โลกอันเป็นที่รักของเราต่อไป ขอแสดงความยินดีกับ สมาชิกผู้ก่อตั้งทุกท่าน และขอต้อนรับสมาชิกใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ มาร่วมเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันประเทศไทยเข้าสู่สังคม Net Zero ต่อไป” ชัยวัฒน์กล่าว

นอกจาก การซื้อขายของสมาชิกแบบองค์กร ในช่วงเริ่มต้นยังมีบุคคลจากแวดวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล คุณท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และ คุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกร และผู้ผลิตสื่อ beartai ร่วมซื้อคาร์บอนแบบบุคคล เพื่อเป็นการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง

เป็นการร่วมสร้างการตระหนักรู้ให้สังคมว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ไม่จำกัดอยู่เพียงในรูปแบบขององค์กรหรือ บริษัทเท่านั้น ทุกคนล้วนมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ชีวิตประจำวัน และทุกคนสามารถมีส่วนช่วยลดผลกระทบได้ เริ่มจากการใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ และยังสามารถชดเชยผ่านการซื้อคาร์บอนได้

สัญญาณเตือนภัยจากโลก ภาวะโลกร้อนจะทะลุวิกฤติในอีก 5 ปีข้างหน้า

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชั้นแนวหน้าของประเทศและคอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ Carbon Markets Club เผยข้อมูลจากรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ซึ่งคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2023 – 2027 มีโอกาสที่อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม และมีความเป็นไปได้สูงที่เราต้องเจออากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้อาจเป็นภาวการณ์ชั่วคราว แต่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเร่งความเร็วขึ้น 

ปรากฏการณ์เดิม ๆ ที่เคยเกิดขึ้นเป็นระยะอย่าง เอลนีโญ ที่ผ่านมาปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงมากในปี 2558 ตามมาด้วยการที่ปี 2559 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ นั่นหมายถึงอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มจะสูงขึ้นหลังจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเอลนีโญในปีนี้จะรุนแรงมาก และกำลังจะเริ่มต้นประมาณเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมนี้ และอาจทำให้ปี 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

ในขณะที่ปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ยังไม่ทันได้เริ่มต้น ทุกคนบ่นว่าค่าไฟเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนับจากเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ไปจนไตรมาสแรกของปี 2567 ทุกชีวิตจะเจอวิกฤตทวีคูณจากภาวะโลกร้อนปะทะกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงกว่าทุกปี อุณหภูมิจะสูงกว่าปรกติ ค่าไฟจึงเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน  นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ แต่ชัดเจนของผลกระทบโลกร้อนที่มีต่อธุรกิจและชีวิตความเป็นอยู่ ดังนั้น ความเสี่ยงโลกร้อน เท่ากับ ความเสี่ยงของทุกธุรกิจ

ภาวะโลกร้อนไม่ใช่แค่อากาศร้อน แต่ยังมีวิกฤติอื่น คือ น้ำทะเลร้อนจัด ซึ่งตอนนี้มีศัพท์ใหม่ Ocean Warming เป็นกันทั่วโลก น้ำร้อนส่งผลร้้ายแรงต่อปะการัง ปรากฏการณ์ฟอกขาวซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วง 3-4 ปี ทำให้ปะการังตายลงไปเรื่อย ๆ เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้น สัตว์น้ำก็หนีหายลงไปอยู่น้ำลึก และเมื่อน้ำร้อน น้ำจะขยายตัว ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น และยังหมายถึงประสิทธิภาพในการเก็บคาร์บอนของทะเลลดลง 

ผลกระทบเกิดรุนแรงกับคนที่ไม่มีทางเลี่ยง เช่น สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงขึ้น เมฆมีน้ำมากขึ้น ฝนตกรุนแรงขึ้น อาหารทะเลจะหายากขึ้น/แพงขึ้น เพราะปลาหนีน้ำร้อนลงไปน้ำที่ลึกขึ้น ซึ่งเรือประมงขนาดเล็กไม่สามารถออกไปจับปลาในระดับน้ำลึกเช่นนั้นได้ รวมไปถึงชาวบ้าน เกษตรกรที่หาอยู่หากิน ทำการเกษตรในท้องถิ่นกับภาวะที่ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล รวมไปถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

ดร.ธรณ์ อธิบายไว้ในบทความ “กลุ่มบางจากฯ กับเส้นทาง Blue Carbon ในทะเลตะวันออก” ว่า วิธีช่วยโลกร้อนจริง ๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ลดคาร์บอน กับ กักเก็บคาร์บอน ลดคาร์บอนก็มีกิจกรรมมากมายที่ทำได้ ทั้ง ประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานสะอาด แยกขยะ ฯลฯ แต่การกักเก็บคาร์บอนเป็นเรื่องใหม่ และการกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลที่จัดเป็นระบบนิเวศ Blue Carbon ถูกกล่าวถึงทั่วโลกภายหลังการประชุม COP26

หญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัวจึงมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกหลายเท่าตัว นอกจากจะมี Blue Carbon เป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องจับตา ยังต้องอาศัยการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด เพื่อจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายได้ ซึ่งในปี 2565

ที่ผ่านมา คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบางจากฯ ศึกษาความสามารถในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังผืนใหญ่ของภาคตะวันออกในบริเวณเกาะหมาก และเกาะกระดาด จังหวัดตราด

“Road to Decarbonization เรายังต้องมีหวัง ความหวังจะเริ่มด้วยความรู้ ตามด้วยการตัดสินใจกระทำในส่วนที่เราเกี่ยวข้อง ลด/รับ/ปรับตัว องค์กรใหญ่ ๆ จะ “ลด” ก๊าซเรือนกระจกได้ง่ายกว่าชาวบ้านในชนบทที่ไม่ค่อยใช้พลังงานอยู่แล้ว แต่ชาวบ้านก็ “รับ” ประโยชน์ได้ง่ายกว่า ด้วยการรักษาระบบนิเวศใกล้บ้านไว้ให้มากขึ้น 

ทุกอย่างเริ่มด้วย “รู้สถานการณ์” และทำอย่างไรให้คนที่ได้รับผลกระทบอย่างชาวบ้าน ชาวประมงรู้ถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับเขาโดยตรง และหันมาปรับเปลี่ยน การ “ปรับตัว” ทำเพื่อหาหนทางช่วยเหลือตัวเองและไปต่อได้ในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงรุนแรง ขอเชิญชวนทุกท่านมาหาความท้าทายใหม่ๆ ในชีวิต โดยใช้ความสามารถรักษ์โลกให้เกิดผลกันดีกว่า” ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว

“ลด ละ เริ่ม” เพื่อลดโลกร้อน กับ ECOLIFE for CMC

Bangchak-Carbon-Markets-Club

กลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น ในฐานะประธาน CMC กล่าวว่า นอกจากภารกิจด้านการสื่อสาร ซึ่งมีการเผยแพร่ชุดข้อมูล Did You Know? The Series ในเฟซบุค สัมมนาออนไลน์รายเดือน Did You Know Webinar และบทความรายเดือน Road to Decarbonization the Series ในเว็บไซต์ www.carbonmarketsclub.com โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์

CMC ยังได้รับความร่วมมือจาก พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร กรรมการผู้จัดการบริษัท คิดคิด จำกัด ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน ECOLIFE ขึ้นสำหรับสมาชิก Carbon Markets Club ทั้งประเภทองค์กรและประเภทบุคคล สามารถใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และ ไอโอเอส ตั้งใจเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนในสังคมนำแอปพลิเคชันนี้ไปใช้ประโยชน์ในการลดโลกร้อน โดยแอพพลิเคชั่นได้จัดแสดง Eco Map เครือข่ายสีเขียวที่รวบรวม Eco Destinations ได้แก่ร้านค้า สถานีบริการ และพื้นที่ที่ร่วมกิจกรรมรักษ์โลกในรูปแบบต่าง ๆ “ลงมือ-สแกน-รับพอยท์”  

Bangchak-Carbon-Markets-Club

เริ่มต้นจากร้านกาแฟอินทนิล จุดชาร์จรถ EV ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก สถานีสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าวินโนหนี้ จุดรับกล่องเครื่องดื่มของโครงการเก็บกล่องสร้างบ้านเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก จุดรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel – SAF) จุดรับขยะกำพร้าสัญจรในปั๊มบางจาก ฯลฯ และจะทยอยเพิ่มเติมจุดหมายปลายทางอื่นๆ ต่อไป สมาชิกประเภทบุคคลสามารถสะสม Eco Points นำไปแลกของที่ระลึกหรือร่วมปลูกต้นไม้ดูดซับคาร์บอนช่วยโลก หรือซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่วนบุคคล

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ หรือ “หนุ่ย แบไต๋” เผยว่า สมาชิกประเภทองค์กรสามารถนำแอปพลิเคชันไปใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ภารกิจรักษ์โลกภายในองค์กรได้ ตัวอย่างได้แก่ บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ผู้ผลิตสื่อแบไต๋ ก็ได้สมัครเป็นสมาชิกประเภทองค์กรกับ CMC และเป็นหน่วยงานแรกที่นำแอปพลิเคชัน ECOLIFE ไปทดลองใช้ในบริษัทและได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากผู้บริหารและพนักงาน โดยสำนักงานใหญ่ และอาคารโปรดัคชันทุกอาคาร ดำเนินการแยกขยะทุกชั้น พนักงานสนุกกับการแสกนเก็บ point เห็นประโยชน์ของการจัดการขยะ ทำให้สิ่งที่เรียกว่าขยะกำพร้าหาที่ลงได้แล้ว และสามารถใช้ point แลกของรางวัลของบริษัทได้

นักแบดมินตันไร้คาร์บอน ต้นแบบการลดการปล่อยคาร์บอนส่วนบุคคล

ในโอกาสฉลองครบรอบ 2 ปี Carbon Markets Club เมย์ – รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันหญิง อันดับ 7 ของโลก วิว – กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันชาย อันดับ 3 ของโลก และ น้จิว – ภัทรสุดา ไชยวรรณ นักแบดมินตันหญิง อันดับ 36 ของโลก ได้ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ในการ ‘ลด ละ เริ่ม’ ลดรอยเท้าคาร์บอน ละการสร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม และ เริ่มได้วันนี้และทุก ๆ วัน กับภารกิจ Climate Action บรรเทาภาวะโลกร้อน

“ตอนเด็ก ๆ เคยเรียนเรื่องโลกร้อน แต่ไม่คิดว่ามันจะเกิดหรือส่งผลกระทบกับเรา โลกมันจะร้อนได้ยังไง แต่เริ่มมาสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมจากการที่ได้ไปแข่งที่ยุโรป เห็นนักกีฬาเขาเน้นในเรื่องของการใช้ถุงผ้า มันก็ทำให้ตัวเราเองก็เริ่มจะพกถุงผ้าไปไหนมาไหน เวลาไป Supermarket รวมถึงการพกขวดน้ำแบบใช้ซ้ำเวลาฝึกซ้อมหรือไปแข่งขัน” รัชนก กล่าว พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกคน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกของเรา โดยเริ่มต้นจากการทำอะไรง่าย ๆ อย่างการการใช้ถุงผ้า การแยกขยะ การใช้ขวดน้ำแบบใช้ซ้ำได้ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันทุก ๆ วัน ซึ่งอาจจะดูเล็กน้อย แต่หากสะสมมากเกินไปก็ย่อมส่งผลกับโลกเรา

ในปี 2566 นี้ บางจากฯ ซึ่งสนับสนุนนักกีฬาบ้านทองหยอดต่อเนื่องสู่ปีที่ 9 พร้อมต่อยอดการสนับสนุนนักกีฬาของบ้านทองหยอดที่จะเดินทางไปแข่งขันแบดมินตันยังประเทศต่าง ๆ รวมประมาณ 20 รายการ โดยจะชดเชยคาร์บอนฟรุตพริ้นท์จากการเดินทาง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของนักกีฬาแบดมินตันทั้งสามคนตลอดทั้งปี ด้วยคาร์บอนเครดิตผ่านการซื้อขายใน Carbon Markets Club นับเป็นจุดเริ่มต้นในการลดการปล่อยคาร์บอนส่วนบุคคลของนักกีฬา สอดคล้องตามแนวทางความยั่งยืน ที่ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

กลอยตา กล่าวเชิญชวนทุกท่านสมัครสมาชิก Carbon Markets Club ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งนอกเหนือจากจะได้รับข้อมูลความรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว สมาชิกประเภทบุคคลยังสามารถร่วมปฏิบัติภารกิจรักษ์โลก ผ่านแอปพลิเคชัน ECOLIFE for CMC หรือซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ส่วนบุคคล 

ในขณะที่สมาชิกประเภทองค์กรที่กำลังดำเนินการตามแผนงาน เพื่อลดหรือชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของหน่วยงานสามารถแสดงความจำนงซื้อคาร์บอนเครดิตหรือ RECs หรือนำมาเสนอขายใน Marketplace ของ CMC รวมถึงร่วมนำเสนอข้อมูลความรู้ผ่านบทความในเว็บไซต์ หรือแบ่งปันความรู้ด้วยการเป็นวิทยากรในการสัมมนาออนไลน์หรือร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ตามความเหมาะสม 

นอกจากนี้ เรายังขอเชิญชวนให้สมาชิกองค์กรเสนอพื้นที่ต่าง ๆ มาร่วมเป็น Eco Destination และนำแอปพลิเคชัน ECOLIFE for CMC ประเภทองค์กรไปจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ภายในองค์กร CMC ยินดีต้อนรับทุกท่าน มา ‘ลด รอยเท้าคาร์บอน ละ การสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม เริ่ม ได้วันนี้และทุก ๆ วัน’ เพื่อความยั่งยืนของโลกไปด้วยกัน โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.carbonmarketsclub.com” กลอยตา กล่าวทิ้งท้าย  

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

SCGC ผนึก Avantium นำก๊าซ CO2 มาผลิตพอลิเมอร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นลบ

Toyota เตรียมเดินหน้าผลิตไฮโดรเจน ใช้ขยะเศษอาหารจากเครือ CP และพันธมิตร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ