TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeหาก ‘ไทย’ เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของภูมิภาค เพิ่มโอกาสคนไทยเข้าถึงวัคซีน

หาก ‘ไทย’ เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของภูมิภาค เพิ่มโอกาสคนไทยเข้าถึงวัคซีน

ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญหน้ากับการเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทันทีที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า‘วัคซีน’ คือทางออกเดียวจากวิกฤติโควิด-19 โดยจะช่วยยุติปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งในเชิงสาธารณสุขและเชิงเศรษฐกิจ และหมายความว่า ทางออกเดียวของเรื่องนี้ คือการปูพรมฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยฉีดให้ได้มากและเร็วที่สุด

กระนั้นเอง ในความเป็นจริงก็คือ ประเทศที่ได้เปรียบมักเป็นประเทศร่ำรวย เป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีน ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลาง หรือประเทศกำลังพัฒนานั้น ต้องรอจนกว่าประเทศร่ำรวย จะยอมปล่อยวัคซีนให้สามารถส่งออกนอกประเทศได้ รวมถึงมั่นใจว่าประเทศตัวเองจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้มากพอ จนไม่มีการระบาดซ้ำ

สำหรับไทย ได้ตั้งเป้าให้เป็นประเทศที่สามารถคิดค้น ทดลอง วิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนในประเทศได้เอง ตาม ‘ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 2560 – 2569’ โดยตั้งมั่นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มั่นคงและปลอดภัยในการป้องกันเชื้อไวรัส ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นตัวเร่งสำคัญให้การวิจัยและพัฒนาวัคซีนให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ในปี 2563 ปีเดียวกับที่ไทยต้องเผชิญหน้ากับการระบาดรอบแรก ก็เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนอย่างรวดเร็ว เป็นต้นว่า การวิจัยวัคซีนต้านโควิด-19 ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ภายใต้ชื่อ ChulaCov19 และคาดว่าจะเป็น ‘บูสเตอร์โดส’ หรือวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนทั่วไปได้ ภายในเดือน เมษายน 2565 หรือวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ ของบริษัท ใบยาโฟโตฟาร์ม ก็คาดหมายว่าจะออกจำหน่ายให้กับประชาชนได้ในช่วงกลางปี 2565 สะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่เตรียมความพร้อม และสามารถปรับตัวได้เร็ว

ขณะที่ด้านการจัดหาและระดมฉีดวัคซีนนั้น รัฐบาลไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ครอบคลุมคนไทย 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากร ภายในสิ้นปี 2564 หากเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ควบคู่ไปกับการจัดการมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสม ผลการศึกษา ‘ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ’ พบว่า ภายในสิ้นปี ไทยจะเหลือผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงวันละ 2,500 คนต่อวัน และเกิดผู้เสียชีวิตรายใหม่ประมาณ 40 คนต่อวัน ขณะเดียวกัน

การที่ไทยเป็น ‘ศูนย์กลาง’ การผลิตวัคซีนนั้น จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนและทำให้คนไทยเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วมากขึ้น กล่าวคือหากฉีดวัคซีนได้เกิน 50 ล้านคน หรือมากกว่า 70% ของจำนวนประชากร ก็จะสามารถป้องกันการเสียชีวิตของคนไทยได้มากกว่า 4.8 แสนคน ทั้งยังช่วยลดการป่วยหนัก และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งหมายความถึงการลดภาระระบบสาธารณสุขได้อีกมหาศาล

สำหรับวัคซีนที่ไทยเลือกใช้นั้น ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 รัฐบาลได้สรุปแผนการจัดการวัคซีนทั้งหมดว่า จะใช้วัคซีนหลัก 3 ชนิด ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และ ไฟเซอร์ รวม 127.1 ล้านโดส เกินจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ 100 ล้านโดส และหากรวมกับวัคซีนทางเลือก คือ ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา จะอยู่ที่ 179.1 ล้านโดส

วิกฤติที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นว่า ไทยไม่ควรพึ่งพาการ ‘นำเข้า’ วัคซีนจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัคซีนเมื่อประเทศผู้ผลิตจำกัดการส่งออกซึ่งในห้วงเวลาวิกฤตนั้นไทยจึงได้สนับสนุนให้มีการผลิตวัคซีนภายในประเทศ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ผลิตโดยหน่วยงานร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน 2. ผลิตโดยเจ้าขององค์ความรู้ โดยปัจจุบันบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้สร้างโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนเนื้อที่ 1,200 ตาราเมตร มีกำลังการผลิต 1-5 ล้านโดสต่อปี และ 3.การจ้างโรงงานผลิตโดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตแก่โรงงานผู้รับจ้างผลิต ซึ่งเป็นรูปแบบการผลิตหลักที่ใช้ในปัจจุบันในประเทศไทย ทั้งนี้ คาดหมายว่าหากมีการผลิตวัคซีน ‘ChulaCov-19’ในอนาคต จะทำการผลิตผ่านบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิต 50-60 ล้านโดสต่อปี

รูปแบบการจ้างโรงงานผลิตที่เป็นรูปธรรมในปัจจุบัน คือ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า พีแอลซี จ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดไวรัลเวกเตอร์มีกำลังการผลิตวัคซีนอยู่ที่ปีละ185 – 200 ล้านโดสโดยส่งมอบให้ประเทศไทย ในฐานะ ‘ฐานการผลิต’ ราว 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตได้ทั้งหมดและ 2 ใน 3 จะส่งมอบให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศใกล้เคียงเพื่อช่วยป้องกันภูมิภาคนี้จากมหาวิกฤติโควิด-19

หากจำกันได้ ย้อนกลับไป เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ในช่วงเวลาที่กำลังมีการเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนอย่างเข้มข้น แอสตร้าเซนเนก้า ถือเป็นวัคซีนตัวแรกที่ไทยมีข้อตกลงจัดหา และเป็นวัคซีนที่มีจำนวนจัดหามากที่สุด โดยได้มีการลงนามระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข บริษัทเอสซีจี บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในหนังสือแสดงเจตจำนง(Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุด

รัฐบาลได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการเลือกวัคซีนนี้ว่า ผู้ผลิตคือ แอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ได้มีการทดลองในคนหลายพันคน และการฉีดวัคซีนเข็มแรกก็ให้การตอบสนองได้ดีมาก โดยกว่า 90% มีภูมิคุ้มกัน ในส่วนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้น ได้รับเลือกจากแอสตร้าเซนเนก้าในฐานะ ‘พันธมิตรด้านการผลิต’ แห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และดำเนินการผลิตโดยยึดนโยบาย ไม่กำไร ไม่ขาดทุน (no profit/no loss) พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังได้จัดสรรงบประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสายการผลิต ภายใต้เงื่อนไขว่าสยามไบโอไซเอนซ์ต้องซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีมูลค่า 600 ล้านบาท คืนให้รัฐบาล โดยรัฐบาลไทย สั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้วมากกว่า 121 ล้านโดส แบ่งเป็น 61 ล้านโดส ในปี 2564 และ 60 ล้านโดส ในปี 2565

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า มีส่วนสำคัญทั้งในการ ‘กู้วิกฤติ’ โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดหนักอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเป็นวัคซีนหลักฉีดให้กับประชาชน จนสามารถลดการระบาด ทั้งยังช่วยลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และช่วยบรรเทาวิฤตในระบบสาธารณสุข เตียงเต็ม โรงพยาบาลล้น จนสามารถผ่อนคลาย ‘ล็อกดาวน์’ ได้ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การคืนความ ‘ปกติ’ หลังการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง ยังส่งผลดีต่อด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มกว่า 3 แสนคน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 รวมถึงในภาคอุตสาหกรรม ก็พบอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.36 และดัชนีการลงทุนของภาคเอกชน ก็เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6.95 เช่นเดียวกับตัวเลขผู้ว่างงานในระบบประกันสังคม ก็ลดลงถึงร้อยละ 32.23 หรือลดลงเกือบ 4.5 แสนคน ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564

ทั้งหมดนี้ พิสูจน์ได้ว่า การผลิตวัคซีนในประเทศ และการระดมฉีดวัคซีนในประเทศ มีส่วนสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง หลังหยุดชะงักไปนานเกือบ 2 ปี

โอกาสในเชิงเศรษฐศาสตร์ ไทยจะพัฒนาเทคโนโลยีวัคซีน ให้เติบโตได้อีกขั้น

คำถามสำคัญในขณะนี้คือ แล้วการเป็น ‘ฐานการผลิต’ ในประเทศด้วยตัวเองนั้น มีความ ‘คุ้มค่า’ มากขนาดไหน? และหากเปรียบเทียบความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์ และความคุ้มค่าเชิงสังคม ระหว่างรอรับวัคซีนจากต่างประเทศ และสามารถผลิตวัคซีนด้วยตัวเองนั้น เป็นอย่างไร?

ผศ.ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตอนหนึ่งจากการศึกษาเรื่อง ‘ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ’ โดย ผศ.ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า มูลค่าตลาดวัคซีนทั่วโลกนั้น อยู่ที่ 0.9 ล้าน – 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่ามหาศาล และมีโอกาสเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศไทย การผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนในภูมิภาคนั้น ถือเป็นการสร้าง ‘อุตสาหกรรมใหม่’ ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สามารถพัฒนาคน และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ให้ก้าวไปอีกขั้นเท่านั้นยังไม่พอ ยังเป็นหลักประกันความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชน ว่าจะมีวัคซีนใช้เพียงพอ สำหรับรองรับหากเกิดการระบาดครั้งใหม่ของโรคโควิด-19

สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์นั้น คิดเป็นมูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่อยู่ในไทย เกิดการจ้างงาน และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย รวมทั้งสิ้น 1.5 – 1.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า หากประเทศต้อง ‘ล็อกดาวน์’ อีกครั้ง จากระบบสาธารณสุขที่รองรับไม่ไหว จีดีพี อาจติดลบ จนเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดการสูญเสียมากกว่า 1.6 แสนล้านบาท ต่อระบบเศรษฐกิจ และรายได้ต่อหัวประชากรจะตกลงกว่า 2,283 บาท จากการ ‘คลายล็อก’ ช้ากว่ากำหนด ดังนั้น การมีวัคซีนในมือจะสามารถการันตีความมั่นคงได้ เพื่อไม่ให้ประเทศต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องล็อกดาวน์ ปิดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นเพื่อควบคุมโรคระบาดอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ยังมีการประมาณการว่า การที่ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนด้วยตัวเองนั้น จะสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนได้ จากเดิมที่รัฐบาลไทย ต้องใช้เงินมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายด้านวัคซีน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นวงกว้าง จากการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการผลิตการจ้างงานของแรงงานทักษะสูงและเกิดการยกระดับทักษะการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ หากลองนึกภาพ วัคซีนหนึ่งขวด ยังสามารถสร้างมูลค่าต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า ‘บรรจุภัณฑ์’ หรือ ‘โลจิสติกส์’ ก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน และสามารถต่อยอดไปได้อีกไกล โดยหากประเทศไทยสามารถเป็นได้ทั้งผู้คิดค้น ผู้พัฒนา ผู้ผลิต หรือบริษัทชั้นนำมาจ้างผลิต จะส่งผลกับเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาลและแน่นอนว่าการผลิตวัคซีนในปริมาณมาก ๆ นั้น ต้องการกำลังคนจะเกิดการจ้างงานจำนวนมาก ทั้งในอุตสาหกรรมวัคซีน อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ขณะเดียวกัน ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคต

การเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค จะทำให้รองรับ ‘โรคอุบัติใหม่’ ได้ดีมากขึ้น

ในการศึกษาชิ้นเดียวกัน ยังได้มองผลกระทบ ‘เชิงบวก’ ทางสังคม จากการเป็นฐานการผลิตวัคซีนในหลายด้านนอกจากเรื่องความมั่นคงด้านวัคซีน ให้พร้อมรับมือกับทุกภัยคุกคามทางสุขภาพใหม่ ๆ ในอนาคต การมีวัคซีนในมือ ยังสามารถผลักดันให้ไทย เป็นศูนย์กลางในการวิจัย การพัฒนาระบบสาธารณสุข ซึ่งก็สอดคล้องกับการให้ไทย เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในอนาคต

นอกจากนี้ แม้โลกจะพยายามแก้ปัญหาการเข้าถึงวัคซีนและความไม่เท่าเทียม ผ่านโครงการ COVAX นั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือบางประเทศยังได้รับวัคซีนไม่เพียงพอ และมีประเทศที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ซึ่งหากพบการระบาดของไวรัสรอบใหม่ โลกจะเผชิญกับการกักตุนวัคซีนอีกรอบ และประเทศกำลังพัฒนานั้นจะยิ่งเข้าถึงวัคซีนได้ยาก

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ การผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เอง จึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการรับมือกับการระบาดระยะยาว โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 หากไทยสามารถผลิตวัคซีนได้ตามแผน จะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทุกรูปแบบรวมกันมากถึง 260-295 ล้านโดส ซึ่งแสดงถึงความพร้อมในการรองรับกรณีที่ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ทั้งยังพร้อมสำหรับการผลิตบูสเตอร์โดส และสามารถต่อยอดในการผลิตวัคซีนสำหรับโรคอุบัติใหม่อื่น และที่สำคัญยังเป็นหลักประกันว่า หากเกิดการระบาดรอบใหม่ ผลกระทบจะไม่รุนแรงนัก จากการมีวัคซีนในมืออย่างเพียงพอ

“จิรัตน์ ศรีสวัสดิ์” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักพัฒนาซอฟต์แวร์แห่ง KBTG

เศรษฐกิจแบบตัว “เค” และ “โอไมครอน”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ