TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistธุรกิจการบินยังมีอนาคต ในสายตาผู้ผลิตบุคลากรป้อนธุรกิจ

ธุรกิจการบินยังมีอนาคต ในสายตาผู้ผลิตบุคลากรป้อนธุรกิจ

ต้นน้ำของธุรกิจการบิน คือ สถาบันการศึกษา ในสมัยที่ธุรกิจการบินรุ่งเรือง มีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบินมากถึง 26 แห่ง ผลิตบุคลากรป้อนให้กับธุรกิจดังกล่าว เมื่อประมาณปี 2559 ประเทศไทยมีนักบินจำนวน 2,500-3,000 คนในแต่ลปีต้องการนักบินใหม่ 400 -500 คน แต่สถาบันการศึกษาสามารถผลิตนักบินป้อนได้เพียง 200 กว่าคน

กลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน มีประมาณ 8,000-9,000 คน ในแต่ละปีผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินเพิ่ม 300 กว่าคน ทั้งที่ความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปี ส่วนลูกเรือที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่อง ทั้งแอร์โฮสเตสหรือสจ๊วต มีความต้องการเป็นระยะแล้วแต่การบริหารจัดการของสายการบินที่มีความต้องการและจัดสอบ

มาในยุค 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่มีการะบาดของโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ทำให้ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการปิดน่านฟ้าในหลายประเทศ ส่งกระทบกับการเรียนการสอนด้านธุรกิจการบินในประเทศไทย มีบางสถาบันได้ปิดการเรียนการสอนไปแล้ว ในขณะที่บางสถาบันมีจำนวนนักเรียนสมัครเข้ามาเรียนน้อยมาก

-เบียร์ช้างไทย จะไปสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดทุนต่างประเทศ อีกแล้ว?
-Art Marketing ตัวช่วยสร้างความแตกต่าง และสร้างเม็ดเงินของแบรนด์

สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เป็นสถานบันการศึกษาที่ใคร ๆ หลายคนใฝ่ฝัน เพื่อจะได้ทำงานเกี่ยวกับด้านการบิน  เมื่อก่อนมีคนสมัครเรียนจำนวนเยอะประมาณ 4,000 คน สอบแข่งขันให้เหลือ 500 – 550 คน ปัจจุบันจำนวนผู้สมัครลดลงอย่างมาก

ภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผยว่า ปีการศึกษา 2564 จะเปิดรับสมัคร 3 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 portfolio ปิดรับสมัครแล้ว รอบที่ 2 โควตา รับสมัครวันที่ 18 ม.ค.-25 ก.พ. 2564 และรอบที่ 3 รับตรงวันที่ 16 ธ.ค. 2563-1 เม.ย. 2564 โดยปีนี้จะรับสมัครนักเรียน 550 คน

ปกติรายได้หลักของสถาบัน จะเป็นหลักสูตรนักบิน เพราะมีค่าเรียนคนละ 2.6 ล้นบาท ใช้ระยะเวลาเรียน 1 ปี เดิมมีผู้เรียนเยอะสามารถผลิตนักบินออกสู่ตลาดได้ 100 คนต่อปี แต่ขณะไม่มีคนสมัครมาเรียนทำให้ขาดรายได้ ดังนั้นจึงมีการหลักสูตรนักบินส่วนบุคคล ที่เป็นเครื่องบิน ค่าเรียนคนละ 400,000 บาท มีคนสมัครเรียน 4 คน

“เดิมเราเป็นที่ฝึกอบรมการบิน ของ การบินไทย เมื่อปี 2562 หลังเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องก็หยุดส่งคนมา จนเกิดโควิดในเดือน มี.ค. 2563 จึงเรียกพนักงานที่กำลังฝึกกลับทันที และยังค้างชำระอีก 10 ล้านบาท ซึ่งได้ยื่นให้ชำระในแผนฟื้นฟู”

ด้านมหาวิทยาลัยรังสิตที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรการบินมากว่า 15 ปี  พลอากาศเอกคธาทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา คณบดีสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดเผยว่า จากเดิมรับนักศึกษามากที่สุดประมาณปีละ 150 คน โดยการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ปี 2563 มีนักศึกษาสมัครเรียนเพียง 20 คนเท่านั้น และเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ปี 2564 ที่เริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ขณะนี้มีนักศึกษาเข้ามาสมัครเรียนเพียง 4 คนเท่านั้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสวัตติ์ สุติญญามณี หัวหน้าสาขาวิชาธุรกิจการบิน (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า ปีการศึกษานี้แม้จะได้รับผลกระทบจากกรณีอุตสาหกรรมการบินมีปัญหาเรื่องการปิดน่านฟ้า เรื่องสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ทำให้มีนักศึกษาเข้ามาเรียนน้อยเนื่องจากไม่มั่นใจอนาคตการทำอาชีพดังกล่าว แต่เชื่อว่า อีก 1 -2 ปีข้างหน้าธุรกิจการบินจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อถึงเวลานั้นการจ้างงานก็จะกลับมา ความต้องการในการจ้างงานก็เพราะอุตสาหกรรมการบินมีความสำคัญกับเศรษฐกิจระดับประเทศ ระดับโลก จะเห็นได้จากแผนการขยายธุรกิจการบิน สนามบิน เช่น มีการขยายสนามบินออกไปยัง อู่ตะเภา และสนามบินแห่งที่ 4 ของกรุงเทพที่มีแผนจะสร้างสนามบินที่ นครปฐม ในขณะที่ส่วนภูมิภาคเอง ก็มีแผนจะสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของเชียงใหม่ หรือสนามบินภูเก็ตที่จะมีการสร้างเพิ่มที่ พังงา เป็นต้น

จริง ๆ แล้วนับเป็นโอกาสดีของสถานศึกษาในการใช้ช่วงเวลานี้ ที่จะทบทวนหลักสูตร พิจารณาสถานการณ์ ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนการเรียน การสอน ให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น เป็นที่ประจักษ์ว่า ในปัจจุบันการผลิตบัณฑิตเพียงศาสตร์เดียวไม่ได้ นักศึกษาต้องมีการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ การเรียนรู้ต่อยอด บูรณาการ  เช่น เรียนเรื่องการบินก็ต้องเรียนรู้เรื่องบริหารธุรกิจการบิน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงจะสามารถอยู่รอดในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“สถานการณ์ปัจจุบันลักษณะเหมือนเที่ยวบิน ในการบินแต่ละครั้งก็ไม่ได้ราบรื่นตลอดทริป บางทีก็ตกหลุมอากาศบ้าง แต่ตราบใดที่การเดินทางไปลอนดอน 13 ชั่วโมง ไม่สามารถเดินทางโดยรถยนต์ เรือสำราญ หรือรถไฟ ได้อุตสาหกรรมการบินก็ยังมีความจำเป็น” 

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ให้ข้อมูล “เหตุผลที่ยังควรเลือกเรียนการบินในยุควิกฤติโควิด-19” ว่า การเดินทางด้วยเครื่องบินยังคงเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในบรรดาการเดินทางทุกชนิดบนโลกใบนี้ นอกจากความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการเดินทางที่ใช้เวลาสั้นกว่าการเดินทางแบบอื่น ๆ นอกจากนี้การเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ หรือด้านการท่องเที่ยว ก็ยังคงเป็นกิจกรรมที่จำเป็นของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกใช้การเดินทางด้วยเครื่องบิน เกือบ 5,000 ล้านคน ส่วนประเทศไทยนั้นมีผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเครื่องบินในทุกสนามบินจำนวน มากกว่า 150 ล้านคน โดยมีปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดจำนวน 1,045,741 เที่ยวบิน ที่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ให้บริการในปี พ.ศ. 2562

ดังนั้นสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่เปิดการเรียนการสอนด้านการบินจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม สำหรับให้การศึกษาและพัฒนาบุคลากรด้านการบินในช่วงวิกฤตินี้ และสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองว่า เรียนการบินไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาการตกงาน ตราบใดที่ผู้โดยสารยังต้องการเดินทางด้วยเครื่องบิน และนับวันจะมีความต้องการเดินทางทางเครื่องบินเพิ่มมากขึ้น

ภาพประกอบจาก facebook.com/catcthailand

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ