TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเศรษฐกิจกำลังผ่านจุดต่ำสุด

เศรษฐกิจกำลังผ่านจุดต่ำสุด

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 กระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจ ปีที่แล้วจีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ติดลบประมาณ 6% สูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ จากเดิมคาดกันว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่โหมดฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ (ปี 2564) และยังคาดหวังด้วยว่าอย่างน้อย จีดีพี ปีนี้น่าจะขยายตัวสัก 4% ตามเป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ 

แต่ภาพเศรษฐกิจข้างต้นเลือนหายไปทันที เมื่อโควิด-19 ระบาดระลอก 3 ที่กระทรวงสาธารณสุขถือเอาวันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นวันเริ่มต้นของการระบาดระลอก 3 ตามด้วยการปรากฎตัวของไวรัสโควิดกลายพันธุ์เดลต้าที่มี รายงานอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน ก่อนสายพันธุ์เดลต้าผงาดขึ้นมาเป็นสายพันธุ์หลักในเดือนกรกฎาคม (ผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่าเป็นการระบาดระลอก 4)   

คุณสมบัติที่โดดเด่นของ “เดลต้า” ที่ระบาดง่ายและลามลงปอดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าและสายพันธุ์อู่ฮั่น นำไปสู่วิกฤติด้านสาธารณสุขครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ เมื่อจำนวนผู้ป่วยรายวันทำนิวไฮต่อเนื่องในช่วงเดือนกรกฎาคม ก่อนทะลุหลักสองหมื่นขึ้นไปที่ระดับ 20,200 คน ในวันที่ 4 สิงหาคม 2564 และยังเพิ่มขึ้น ๆ ต่อเนื่องไปอีก จนจำนวนผู้ป่วยล้นเกินศักยภาพระบบสาธารณสุขจะรองรับและมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยรอเตียงจนตาย

การออกมาตรการเพื่อยับยั้งสถานการณ์รระบาดในเดือนกรกฎาคม แม้รัฐบาลเลี่ยงใช้คำว่า “จำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มขั้นสูงสุด” แทนล็อกดาวน์ แต่โดยพฤตินัย คือ การล็อกดาวน์แม้ไม่เข้มข้นเหมือนปี 2563 ก็ตาม การจำกัดการเคลื่อนย้ายผู้คน กระทบธุรกรรมทางเศรษฐกิจ และทุบจีดีพีปี้นี้ให้มีขนาดเล็กลง  

การระบาดระลอก 3 เปลี่ยนภาพเศรษฐกิจไปอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เดือนเมษายน หลายหน่วยงานเริ่มออกมาพูดถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งทำหน้าที่ดูและเสถียรภาพการเงินของประเทศผ่านการชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยออกรายงานว่า เศรษฐกิจระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการ 3% โดยรายงานชิ้นดังกล่าว ยกข้อจำกัดเรื่องวัคซีนเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่มีผลค่อความเป็นไปทางเศรษฐกิจ ขณะที่กระทรวงการคลังปรับคาดการณ์จีดีพีใหม่ (ครั้งที่ 2) เหลือ 2.3% (จากเดิม 2.8%)                

ฉากเศรษฐกิจที่ถูกเข็นออกมาแทนฉากเดิม เหมือนภาพวาดที่ใช้โทนสีหม่น ๆ โดยในช่วงเดือนสิงหาคม สำนักต่าง ๆ เรียงแถวกันออกมาประกาศปรับคาดการณ์ เช่น กนง.ปรับคาดการณ์อีกครั้ง เหลือ 0.7% จากเดิม 1.8% โดยให้เหตุว่า “เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 มากกว่าที่ประเมินไว้” (4 ส.ค. 64)   ขณะที่ภาคเอกชนมองเลวร้ายกว่านั้น กกร.ประเมินใหม่ว่า จีดีพี ปี 2564 จะติดลบ 1.5-0% จากเดิมที่คาดว่าจีดีพีจะอยู่ระหว่าง 0 – บวก 1.5 % เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่หั่นคาดการณ์ จีดีพี ปี 2564 แบบไม่ลังเลจากเดิมวางไว้ 1 % เป็นติดลบ 0.5 %

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ที่กำลังเผชิญอยู่ มีแนวโน้มรุนแรงและลากยาวขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะแตะระดับสูงสุดในเดือนกันยายน และจะค่อย ๆ ลดจำนวนลง แต่กว่าสถานการณ์จะควบคุมได้ หรือจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน คาดว่าไม่เร็วไปกว่าไตรมาสที่ 4 ในปี 2564 นี้  “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (16 ส.ค.64) ให้เหตุผลไว้ตอนหนึ่ง 

สถานการณ์เศรษฐกิจมาถึงจุดพลิกกลับ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันขึ้นสู่จุดสูงสุด 23,418 ราย (14 ก.ย. 64)  น.พ.เกียรติ ภูมิวงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันว่า “ … ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อรายวันเลยจุดสูงสุดมาแล้ว “(26 ส.ค. 64) ผนวกกับกระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันแผนจัดหาวัคซีน 137.5 ล้าน โดสปีนี้   หลัง สถานการณ์วัคซีนอยู่ในสภาพสับสนในช่วงก่อนหน้านี้ และศบค.เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมพื้นที่สีต่าง ๆ ในเดือนกันยายน โดยเลี่ยงไปใช้คำว่า “ปรับมาตรการ” แทน ล็อกดาวน์

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่ผ่านจุดสูงสุด คือ ข่าวที่ภาคเศรษฐกิจคอยอยู่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ออกมายืนยันว่า “รัฐบาลจะไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบตามที่บางสำนักวิจัยเศรษฐกิจคาดการณ์ไว้ รัฐบาลจะเดินหน้าเพิ่มการใช้จ่ายให้ประชาชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่อง ผ่านมาตรการที่จะอออกมาเพิ่มเติมในช่วง 1-2 เดือนนี้ และยาวไปถึงปีใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้มีเงินในการใช้จ่าย ขณะที่ปี 2565 แม้สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจหลายที่คาดว่า จีดีพี ไทย จะขยายตัวเพียง 3-4% ต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ 4-5% แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังเป็นบวก แม้จะบวกลดลงก็ตาม เชื่อว่าหลังจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะค่อยๆพื้นตัวดีขึ้น (มติชน 30 ก.ย. 64)  

ที่น่าสนใจ คือ ทิตยนันทิ์  มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน แบงก์ชาติ ออกมาแถลงหลังการประชุม กนง. ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5 % ประเมินเศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัว 0.7% (ไม่เปลี่ยนจากครั้งก่อนหน้า) ส่วนปี 2565 ปรับคาดการณ์ เป็น 3.9% (เดิม 3.7%)

โดย กนง.มองว่า “เศรษฐกิจในระยะต่อไปจะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้นและผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าที่คาดไตรมาส 3 ของปีนี้จะเป็นจุดต่ำสุดของการชะลอของเศรษฐกิจไทยในรอบปีนี้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า”

จุดต่ำสุดทางเศรษฐกิจกำลังจะมาถึง ไล่หลังสถานการณ์ระบาดผ่านเลยจุดสูงสุดไปแล้วมาติด ๆ แม้ถือเป็นสัญญาณบวกที่อย่างน้อยให้ความอุ่นใจว่า “สถานการณ์จะไม่เลวร้ายไปกว่านี้“ แต่อย่าเพิ่งดีใจ เพราะจุดจบของวิกฤติรอบนี้ยังอยู่อีกยาวไกล ประเมินกันว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับจากนี้ไปหรือปี 2567 เศรษฐกิจไทยจึงจะกลับไปอยู่ ณ จุดก่อนวิกฤติโควิดมาเยือนในปี 2562 ที่ จีดีพี เติบโต 2.4 % และที่สำคัญใช่ว่าเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป ทุกกิจการ และผู้สูญเสียตำแหน่งงาน จะได้กลับมา  

วิกฤติ เหมือนหนังชีวิตต้องดูกันยาว ๆ ….

ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ ที่ผ่านทั้งช่วงเวลา เฟื่องฟู โรยรา จนถึง ถดถอย จากวิกฤติค่าเงินปลายทศวรรษ 2530   
วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และล่าสุดวิกฤติโควิด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ