TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessอว.-กอช.-ก.ล.ต. พัฒนาทักษะบริหารจัดการเงิน แก่ นิสิต นักศึกษา

อว.-กอช.-ก.ล.ต. พัฒนาทักษะบริหารจัดการเงิน แก่ นิสิต นักศึกษา

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)  และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมส่งเสริมการออมให้นิสิต นักศึกษา บุคคลากรในสถานศึกษาได้เข้าใจการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล (personal financial planning) บริหารจัดการเงิน ทั้งการออม การลงทุน การเพิ่มทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลเพื่ออนาคตอย่างยั่งยืน

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในครั้งนี้ เป็นการยกระดับการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงาน ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ ในกลุ่มนิสิต นักศึกษา ผ่านสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้รู้จักวางแผนทางการเงิน และการออมเงิน ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ก่อนเริ่มต้นชีวิตการทำงาน พร้อมทั้งสามารถวางแผนการลงทุน บริหารสินทรัพย์ ให้งอกเงยในรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง เท่าทันภัยทางการเงินและสามารถให้ข้อมูล ความรู้ แนะนำผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม ให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ สามารถพึ่งตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตระหนักถึงการออมเพื่ออนาคต สร้างหลักประกัน และความมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ

กอช. ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมให้ประชาชนออมเงินเพื่ออนาคต สร้างเงินออม บริหารจัดการเงินออมให้เหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนวัยเกษียณ ออมระยะยาวด้วยจำนวนเงินน้อย ๆ ก็สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิต การวางแผนทางการเงินถือเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินชีวิต หากนิสิต นักศึกษา นำความรู้ที่ได้รับ มาประยุกษ์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงริเริ่มที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยการทำบัญชีครัวเรือน การบันทึกรายรับ-รายจ่าย ที่เกิดขึ้นในครัวเรือน และให้มีการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งออมไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินและยามเกษียณเพื่ออนาคตของตนเอง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการส่งเสริมการออม ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับกองทุนการออมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โครงการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่งที่ได้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างกันของหน่วยงานหลักที่เป็นภาคีเครือข่ายชั้นนำของประเทศด้านการออม และการลงทุนของภาครัฐ ที่จะเข้ามาช่วยให้ความรู้และส่งเสริมวินัยด้านการออมและการวางแผนทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่งคงให้กับชีวิตในอนาคตให้แก่นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งประโยชน์ของการออมนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินออมไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำรองที่จำเป็นต้องใช้ตามโอกาส การสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด รวมถึงการออมไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทางด้านวิกฤติเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในด้านเศรษฐกิจและสังคมกับประชาชนทุกระดับ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสถานการณ์ปัจจุบันย่อมส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ ปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีเงินออมน้อยลง และไม่มีแรงจูงใจในการออมเงินและ การลงทุนมากนัก

ปัญหาด้านการออมของคนไทย เกิดจากคนไทย ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ไม่มีความมั่นคงทางอาชีพ จึงมีรายได้น้อย และไม่แน่นอน รวมทั้งประชาชนยังขาดความรู้เรื่องการออมและการลงทุน ไม่มีความรู้ในการจัดทำบัญชีครัวเรือน ไม่มีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ

ดังนั้น คนที่จะประสบความสำเร็จในงานแต่การเงินแย่ชีวิตจะไม่สมดุล การวางเป้าหมายทางการเงินจะต้องมีการลงมือออมโดยไร้เป้าหมาย จึงเป็นการยากที่จะสัมฤทธิ์ผล คนที่ประสบความสำเร็จในการออมและการลงทุน เขาจะตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าควรจะออมเท่าไหร่ และนำเงินออมไปลงทุนเท่าไร ซึ่งการลงทุนไม่ใช่หวังแค่ผลกำไรเท่านั้น แต่การลงทุนในรูปแบบการออมสะสมจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในอนาคตได้ การเรียนรู้และศึกษาการต่อยอดทางการเงินจึงเป็นเรื่องที่ควรจะให้ความสำคัญ จึงอยากสนับสนุนและฝากให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งช่วยกันผลักดันและส่งเสริมการปลูกฝังวินัยด้านการออมและการวางแผนทางการเงินให้แก่นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันของท่าน ให้ได้เรียนรู้และเห็นถึงความสำคัญของประโยชน์จากการออมเพื่อชีวิตที่ดีใน อนาคต 

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนบำนาญพื้นฐานภาคประชาชน ดูแลแรงงานนอกระบบ สำหรับคนไทยทุกคน ตั้งแต่วัยเรียนอายุ 15 ปี จนเริ่มวัยทำงานถึงอายุ 60 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมทางการเงินในอนาคต โดยให้ประชาชนเกิดความตระหนัก สร้างความตระหนักในการวางแผนชีวิต และได้รับสิทธิรับบำนาญการออมกับ กอช. เพื่อได้มีเงินใช้จ่ายในการดำรงชีวิตหลังอายุ 60 ปี เป็นรายเดือน โดยการสมัครออมเงินเริ่มต้นเพียง 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ได้เงินสมทบเพิ่มตามช่วงอายุของสมาชิก

  • อายุ 15 – 30 ปี           รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมสะสมสูงสุด 600 บาทต่อปี
  • อายุ >30 – 50 ปี         รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมสะสมสูงสุด 960 บาทต่อปี
  • อายุ >50 – 60 ปี         รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมสะสมสูงสุด 1,200 บาทต่อปี

สำหรับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุน อาทิ การระดมทุน สินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การกระทำอันไม่เป็นธรรมในตลาดทุน เพื่อให้ตลาดทุน เป็นกลไกหลักในการรวบรวม จัดสรร ติดตามดูแลการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงและเคลื่อนย้ายเงินทุน ระหว่างกิจการที่ต้องการเงินทุน  ทั้งภาครัฐและเอกชนและผู้ออมเงินที่ต้องการลงทุน ทำให้มีทางเลือกในการระดมทุนและลงทุนมากขึ้น เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนกิจการให้เติบโต กระจายความเสี่ยงและสร้างความสมดุลของระบบการเงินโดยรวม และเป็นองค์กรกำกับหลักของตลาดทุนในการเกื้อหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ