TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเคล็ด (ไม่) ลับ พิชิตตลาดหุ้น ‘ไม่เป็นใจ’ รอดได้อย่างไร

เคล็ด (ไม่) ลับ พิชิตตลาดหุ้น ‘ไม่เป็นใจ’ รอดได้อย่างไร

ปีเสือเดือนแรกก้าวผ่านไปอย่างรวดเร็ว ใครที่เป็นคอหุ้นได้ติดตามสถานการณ์ในตลาดหุ้นทั่วโลก น่าจะเห็นภาพเดียวกับผมนั่นคือ ตั้งแต่เปิดปี 2565 ตลาดหุ้นดูจะไม่เป็นใจเท่าไหร่นัก            

ย้อนดูเมื่อปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นปีแรก แม้ตลาดหุ้นมีความผันผวนในทิศขาลง แต่สุดท้ายก็ปรับตัวกลับขึ้นมาได้ และในปี 2564 ก็มีความผันผวนเช่นกัน ช่วงต้นปีหุ้นตกรุนแรง แล ะปลายเดือนมกราคมก็สามารถเด้งกลับมาได้ แม้จะไม่เท่าระดับเดิม แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับตัวขึ้นมากันได้

แต่พอมาปีนี้ สถานการณ์โควิด-19 น่าจะกลับมาปกติแล้ว และทุกคนตั้งความหวังไว้ว่า ปีนี้น่าจะเป็นเสือนอนกิน ช่วงต้น ๆ เดือนมกราคมดัชนีหลาย ๆ ตลาดค่อย ๆ ดีขึ้น แต่พอผ่านไปไม่ทันจะถึงครึ่งเดือนแรก ก็กลับทิศเหมือนหนังคนละม้วนทีเดียว ดัชนี Nasdaq ดัชนี Dow Jones ดัชนี S&P 500 ร่วงกันระเนระนาดเกือบ ๆ 20% ในช่วงพีก (Peak) ทีเดียว

กลายเป็นอีกเดือนที่มีเหตุการณ์มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศที่คอยสร้างความกังวลใจให้นักลงทุนทั่วโลก เพราะบางทีภาพใหญ่ก็จะมีบางสิ่งที่ทำให้เราไม่แน่ใจว่าจะกระทบการลงทุนของเราหรือไม่ โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดหุ้นจะไม่ชอบความคลุมเครือ ในเรื่องหลัก ๆ ที่วิเคราะห์กันข้ามปีจนถึงปีนี้ อย่างเรื่องปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐจะสูงต่อไปแค่ไหน เรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้งในปีนี้กันแน่? เมื่อมีภาพที่ไม่ชัดเจนก็ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลขึ้นมานั่นเอง

ล่าสุด ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เมื่อวันที่ 25-26 มกราคมที่ผ่านมาส่งสัญญาณเตรียมจบมาตรการ QE ในเดือนมีนาคมนี้ พร้อมกับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดขนาดงบดุลลง กลายเป็นว่าท่าทีของ Fed ได้สร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม แต่หลังจากนั้นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ตลาดก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา

ทั้งนี้ Fed มีเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน คือ กระตุ้นให้ภาคแรงงานกลับมาคึกคักอีกครั้ง รวมไปถึงการรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้า โดย Fed มีมุมมองว่า ใกล้ถึงเวลาเหมาะสมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อสูงในสหรัฐฯ ในส่วนของการปรับลดขนาดงบดุลจะเกิดขึ้นหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว อย่างไรก็ตาม Fed มีความจำเป็นในการคงสินทรัพย์ส่วนหนึ่งไว้ เพื่อเป็นเงินทุนสำรองและรักษาสภาพคล่อง ซึ่ง Fed จะหารือกันอีกครั้งก่อนดำเนินนโยบาย เพื่อประเมินสถานการณ์และจังหวะที่เหมาะสม

แม้ว่าผลประชุม Fed จะออกมาตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่อย่างที่ผมบอก นักลงทุนต้องการความชัดเจน แม้จะพอมองเห็นภาพเงินเฟ้อสูงขึ้น  ดอกเบี้ยจะต้องปรับตัวขึ้น เพราะเศรษฐกิจฟื้นปรับตัวดีขึ้น และเข้าใจได้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้แย่ และอาจเป็นไปในมุมที่ดีก็ได้   

แต่อย่างไรก็ตาม Sentiment ตลาดหุ้นยังมีความผันผวนอยู่ เนื่องจากตลาดยังรอ Fed จะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้งในปีนี้ จากที่คาดกันว่าจะปรับขึ้น 4 ครั้ง ท่ามกลางการจับจ้องตัวเลขเงินเฟ้อและหลาย ๆ ดัชนีทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาในแต่ละเดือน นอกจากนี้ยังต้องติดตามท่าทีธนาคารกลางของประเทศหลัก ๆ ในโลกว่าจะปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวเร็วกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งหากมีข้อมูลต่าง ๆ มากางบนโต๊ะให้ได้วิเคราะห์กันต่อว่าจะเกิดผลกระทบอะไรต่อไป ก็จะช่วยลดความกังวลให้คลี่คลายลงได้

ถ้าดูช่วงเดือนแรกที่เกิดขึ้นในปีนี้ ตลาดหุ้นผันผวนทั่วโลก แต่หลังผลการประชุม Fed ออกมา ตลาดหุ้นก็ปรับตัวกลับมาเป็นขาขึ้นได้ เป็นภาพความผันผวนระยะสั้น ๆ เพราะธรรมชาติของตลาดหุ้นมี Dynamic นะครับ ถูกล้อมรอบด้วยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องจากทั่วโลก

ผมอยากให้นักลงทุนเข้าใจและมองความผันผวนเป็นเรื่องปกติ ยิ่งเวลาผันผวนขาลงย่อมกระทบต่อพอร์ตลงทุนให้ติดลบระยะสั้นด้วย แน่นอนครับ เรื่องแบนนี้เป็นใครก็ต้องวิตกกังวลและเครียดกันทั้งนั้น แต่ก็อย่าตื่นตระหนกตกใจเกินเหตุ จนกลายเป็นทำพอร์ตเสียหายนะครับ

ทุกคนคงเคยได้ยินกันว่า ตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลง ขึ้นอยู่กับความคิดของนักลงทุนเป็นสำคัญ ส่วนตัวผมมองว่าจิตวิทยาของการลงทุนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ และอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ของนักลงทุนคือ ‘ตัวของนักลงทุน’ เอง เพราะเชื่อว่าทุกคนมีหลักการลงทุนกันอยู่แล้ว แต่ว่าเรื่องของ ‘อารมณ์ จิตใจ ความคิด’ ของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน สุดท้ายจึงทำให้ผลตอบแทนแตกต่างกันไป ยิ่งเวลาเห็นพอร์ตขาดทุน บางคนอาจจะทนถือหุ้นได้ บางคนทนถือหุ้นไม่ได้ เรียกว่า แต่ละคนจะรับความผันผวนได้มากน้อยแตกต่างกันไป

เปิดประสบการณ์…ฝ่าตลาดหุ้นไม่เป็นใจ ‘รอด’ ได้อย่างไร

ส่วนตัวผมเองได้ผ่านการลงทุนต่าง ๆ มาหลายสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ และในฐานะที่ผมเป็นนักลงทุนกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและ ETF มานาน ยังต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นมีความผันผวนขึ้นและลงท่ามกลางข่าวสารมากมายตลอดเวลา ซึ่งถ้าคุณไม่เรียนรู้การ Handle หรืออยู่กับมันภายใต้สถานการณ์ตลาดที่แตกต่างกันไป ก็อาจทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ได้ไม่ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ตาม

ผมจึงอยากจะมาแชร์ประสบการณ์ในเวลาที่เจอสถานการณ์ตลาดหุ้นไม่เป็นใจ แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างและควรทำอย่างไรดี

ข้อแรก ‘เข้าใจทรัพย์สินลงทุน’ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในโลกของการลงทุนทรัพย์สินต่าง ๆ ว่า จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป รวมถึงแนวทางการทำกำไรที่แตกต่างกันในแต่ละรูปแบบด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น หุ้น อสังหาฯ พันธบัตร เงินฝากต่าง ๆ

และสำหรับผมมีความมั่นใจว่า หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนได้สูงที่สุดในระยะยาว แต่ลักษณะสำคัญของหุ้นที่แตกต่างจากทรัพย์สินอื่น ๆ คือ ความผันผวนของราคาหุ้นที่วิ่งออกจากมูลค่าที่แท้จริง เพราะการลงทุนในหุ้นหนึ่ง ๆ ในบางช่วงเวลา (บางทีอาจจะหลักเดือนหรือหลักปีก็ได้) พบว่าราคาอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริง 50% หรือมากกว่าก็เป็นได้ทั้งนั้น

ข้อสองที่สำคัญมาก คือ ‘ลดการดูพอร์ตทุกวัน’ สำหรับคนที่ลงทุนระยะยาว เวลาที่เห็นราคาหุ้นวิ่งขึ้น ๆ ลง ๆ ทุกวัน ทำให้ในหลาย ๆ ครั้ง ถ้าหากเราไม่รู้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นจะส่งผลให้จิตใจของเรา แกว่งขึ้นลงตามราคาทุก ๆ วัน แม้แต่ผมเองในช่วงที่เริ่มลงทุนแรก ๆ จะดูพอร์ตบ่อย ๆ อารมณ์ก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามหุ้นที่อยู่ในพอร์ตเหมือนกันครับ สิ่งที่ต้องทำคือ ถ้าเราไม่ใช่นักลงทุนระยะสั้น แนะนำลดการดูพอร์ตให้น้อยลงหรืออยู่ให้ห่างจากตลาดหุ้นเลยครับ

ด้วยลักษณะของหุ้นที่มีความผันผวนมาก ดังนั้นแนวทางการลงทุนที่ ‘ทำกำไรได้ดี’ คือ การมองที่มูลค่าของหุ้นที่ได้ลงทุนไป ‘มากกว่า’ ราคาหุ้นที่เราลงทุน และมองดูด้วยแนวคิดกรอบการลงทุนในเวลาที่ยาวนานขึ้น เพราะยิ่งเวลานานมากขึ้นเท่าไหร่ ความผันผวนจะยิ่งน้อยลงเท่านั้น

ข้อสาม ‘ศึกษาหาข้อมูลและดูสถิติ’ ในช่วงที่พอร์ตติดลบ เป็นช่วงเวลาสำคัญของการทำการบ้านอย่างมาก ในภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวน คุณจำเป็นต้องติดตามข่าวเศรษฐกิจและข่าวต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงบางสถานการณ์ที่อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สถานการณ์ทางการเมือง ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังยืดเยื้อ ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับยูเครน เป็นต้น หรือเรื่องราวดราม่าที่กระทบต่อสินค้าและบริการของกิจการหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนนั้น ๆ หรือกระทบทั้งกลุ่มหุ้น ซึ่งถือเป็นบริบททางสังคมและเศรษฐกิจการเมืองที่มีมิติเชื่อมโยงกันและกัน 

และที่สำคัญ ควรจะต้องกลับมาดูหลักการลงทุนของเรา และข้อมูลสถิติการลงทุนระยะยาว สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้มองภาพที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น และมีความมั่นใจในการรับมือหรือจะ Handle การลงทุนได้นิ่งขึ้น จนนำไปสู่ความสำเร็จในการลงทุนได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมไม่ได้หมายความว่า ข้อมูลผลตอบแทนในอดีต จะสามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต เพราะเรื่องของการลงทุนมักมีความเสี่ยงแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ผมพูดถึงการดูสถิติวัฏจักรของตลาดหุ้นว่า โดยเฉลี่ยทุก ๆ 10 ปี จะมีปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนเป็นบวกประมาณ 7 ปี เป็นลบ 3 ปี ทำให้พอจะคาดการณ์ได้ว่า สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะต้องเจอระหว่างทางลงทุน คือ พอร์ตหุ้นติดลบติดต่อกัน 3 ปี ดังนั้นการลงทุนในหุ้น จึงควรจะมีเวลาลงทุนอย่างน้อย ๆ ราว 5 ปี เพื่อให้หลักการลงทุนนั้น ๆ ได้พิสูจน์ตัวเองทั้งในปีที่ดีเป็นบวกและปีที่แย่หรือติดลบ ซึ่งถ้าหลักการลงทุนถูกต้องจริง ๆ ควรจะต้องกลับมามีกำไรภายใน 5 ปี

ขณะที่ในปีที่แย่มาก ๆ บางครั้งราคาหุ้นก็ลดลงมากกว่ามูลค่าได้มาก ต่อให้เรามีหลักการเลือกหุ้นที่ดีแค่ไหนก็ตาม ราคาหุ้นก็จะลดลงอยู่ดี แต่ถ้าหากเวลาที่มูลค่าของหุ้นเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อถึงเวลาตลาดกลับมาดี ราคาหุ้นจะวิ่งกลับขึ้นมามากตามมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในระหว่างทางนั้น ซึ่งสุดท้ายคือ การได้ผลตอบแทนทบต้นตามที่ควรจะเป็นตั้งแต่แรกที่ลงทุน

ส่วนคนที่อยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการลงทุนและสถิติต่าง ๆ สามารถอ่านบทความได้ใน passiveway.com โดยเริ่มจากบทความนี้ก่อนครับ https://passiveway.com/best-time-to-invest/ รวมทั้งลองเข้าไปดู  Youtube Jitta 101 ในส่วนของหลักการลงทุนได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=GbsHel3qicw… 

อย่างที่ผมบอกไว้ว่า หุ้นเป็นทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนได้สูงที่สุดในระยะยาว แต่การที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี สิ่งที่จะต้องแลกมา นั่นคือ ต้องทนเห็นความผันผวนของพอร์ตในระยะสั้น ที่บางปีอาจจะติดลบ 20% บางปีติดลบ 50% เลยก็ได้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากสถิติ อีกอย่างการที่ตลาดหุ้นจะติดลบ 20-50% นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่บ่อย และเกิดขึ้นน้อยกว่าปีที่ตลาดหุ้นขึ้น 20-50% ด้วยซ้ำ

Warren Buffett ได้บอกไว้อยู่แล้วว่า ถ้าเราทนเห็นหุ้นติดลบ 50% ไม่ได้ แสดงว่าเราอาจจะไม่เหมาะสมกับการลงทุนในหุ้น เนื่องจากเวลาที่ลงทุนระยะยาวจริง ๆ อาจจะมีบางปีที่จะได้เห็นการติดลบแบบนั้น ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงแรก ๆ ที่เกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นติดลบหนัก ๆ ราว 30-40% ภายใน 1 เดือนช่วงต้นปีดังกล่าว

ผมจึงอยากย้ำว่า นักลงทุนจะต้องเข้าใจเรื่องของราคาหุ้นที่อาจจะติดลบ 50% ได้ แต่ถ้ามีความมั่นใจใน ‘มูลค่าของหุ้น’ ที่ลงทุนว่ายังคงเหมือนเดิม หรือมีแนวโน้มจะดีกว่าเดิม นักลงทุนก็ควรจะสบายใจและถือครองหุ้นต่อไปได้ หรือจะเฉลี่ยลงทุนเพิ่ม (Dollar Cost Averaging: DCA) เมื่อเห็นเป็นโอกาสก็ได้ อย่างเช่น ในช่วงหลังเกิดโควิด-19 ที่ตลาดหุ้นกลับมาขึ้นติดต่อกันหลายเดือน พบว่าหุ้นหลายตัวที่กิจการไม่ได้รับผลกระทบ และราคาหุ้นก็จะกลับมาสูงกว่าก่อนช่วงเกิด โควิด-19 ด้วย

สำหรับคนที่ทำใจกับความผันผวนของราคาหุ้นที่ลดลงมากไม่ได้นั้น ผมแนะนำว่า อาจจะต้องปรับไปลงทุนในทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีความผันผวนของราคาต่ำกว่า แต่ขณะเดียวกัน โอกาสได้รับผลตอบแทนก็จะต่ำกว่าในระยะยาว

ปลดทุกข์พอร์ตติดลบ แค่ทบทวนถามตัวเอง ‘3 ข้อ’

นอกจากที่เล่าประสบการณ์การลงทุนของผมแล้ว ผมอยากจะขอแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมในมุมของ Jitta Wealth เพราะมีลูกค้าบางรายก็กังวลต่อพอร์ตลงทุนติดลบ รู้สึกว่าไม่ได้ผลตอบแทนดั่งใจหวังไว้ ผมจึงต้องขยายภาพให้เห็นชัดเจน เพื่อที่คุณจะได้ตอบคำถามตัวเองได้ถูกว่า จะเดินต่อไปหรือควรทำอย่างไรต่อดี

1.  ‘เข้าใจระบบการลงทุนหรือไม่’ Jitta Wealth มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนตามหลักการได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจริง ๆ หลักการลงทุนในหุ้นให้ได้กำไรนั้นมีแนวทางที่พิสูจน์มาอยู่แล้ว แต่ว่าคนทั่วไปจะลงทุนตามหลักการนี้ได้ยาก เพราะต้องยึด ‘วินัยการลงทุน’ อย่างสูง รวมทั้งต้องมีทัศนคติที่ดี มองความผันผวนของหุ้นเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วในทุก ๆ ปี ซึ่งจะมีเพียงหุ่นยนต์หรือ AI เท่านั้นที่ทำได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะตัดเรื่องของอารมณ์ต่าง ๆ ออกไปหมด ทำงานตามโปรแกรมหรืออัลกอริทึมที่สร้างขึ้นมาอย่างขยันขันแข็ง

2. ‘เข้าใจหลักการลงทุนระยะยาวแค่ไหน’ Jitta Wealth ได้นำหลักการต่าง ๆ มาใช้ในการเลือกหุ้น เลือกธีมต่าง ๆ ที่ลงทุนผ่าน ETF (Exchange-Traded Fund) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการลงทุนแบบ VI (Value Investing) หลักการลงทุนแบบ Passive การกระจายความเสี่ยง การปรับพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการคิดค่าธรรมเนียมต่ำ ๆ เพราะหากจัดการทุกอย่างให้เป็นไปตามหลักการลงทุนที่ถูกต้องแล้ว ในะระยะยาวย่อมจะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง ก็คือผลตอบแทนระยะยาวที่เหมาะสมกับแต่ละกลยุทธ์การลงทุน และสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่ลงทุนนั้น ๆ ซึ่งปกติ เวลาจะวัดผลว่าหลักการใดให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดนั้น มักจะวัดกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เพื่อให้ผ่านทุกวัฏจักรของตลาดหุ้น

3. ‘เชื่อมั่นพอร์ตอยู่หรือไม่’ ผมมักแนะนำลูกค้าเสมอว่า ก่อนที่จะลงทุนขอให้อ่านข้อมูลและหลักการลงทุนต่าง ๆ ที่ Jitta Wealth นำมาใช้ เพื่อให้มั่นใจก่อนว่าเหมาะกับตัวคุณจริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนสูงมาก และถ้าหากคุณมั่นใจแล้ว จะทำให้สามารถลงทุนระยะยาวได้อย่างสบายใจ และผลลัพธ์ที่ถูกต้องในระยะยาวจะกลับมาหาเราเอง

ส่วนในช่วงที่พอร์ตติดลบหนัก ๆ คุณอาจจะรู้สึกไม่สบายใจ ผมแนะนำให้ย้อนกลับฟังหลักการลงทุนต่าง ๆ ในกลยุทธ์ที่ได้เลือกลงทุน เพื่อจะได้ทบทวนให้มั่นใจอีกครั้งว่าแนวทางการลงทุนทุกอย่างยังเหมือนกับที่ได้ตัดสินใจลงทุนตั้งแต่แรกหรือไม่ และหากแนวทางนั้นสมเหตุสมผล คุณคิดว่าน่าจะสร้างผลตอบแทนระยะยาวกลับมาให้ได้จริงอยู่ไหม?

หากคำตอบคือ ‘ใช่’ คุณก็ยังคงลงทุนต่อไปได้ หรืออาจจะลงทุนเพิ่ม หรือ DCA ก็ได้ เพราะสิ่งที่เปลี่ยนไปคงมีเพียงแค่เรื่องของ ‘ราคา’ ที่ลดลงเท่านั้น แต่ ‘มูลค่า’ ยังคงเหมือนเดิม (ตามหลักการลงทุน) ดังนั้นในเวลาที่ราคาปรับตัวลดลงมา นั่นคือโอกาสที่สามารถลงทุนเพิ่มได้เรื่อย ๆ เพื่อให้พอร์ตเติบโตขึ้นได้อีกในระยะยาวตามสินทรัพย์ที่ Jitta Wealth ลงทุนให้

เพราะฉะนั้น ถ้าในอนาคต ‘มูลค่า’ หุ้นปรับตัวเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่า ‘ราคา’ ก็จะต้องวิ่งกลับมาที่มูลค่าเองครับ

อีกสิ่งที่ผมอยากแนะนำให้นักเล่นหุ้นต้องทำอย่างมาก ๆ คือ การจดบันทึกการซื้อขายหุ้น เพราะจะช่วยสะท้อนความคิดของตัวคุณ และทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น และจะช่วยให้คุณรู้ว่า ครั้งต่อไป คุณควรคิดแบบนี้หรือทำแบบนี้ หรือไม่ควรทำแบบนี้ เพราะจะเกิดผลอะไรตามมา เป็นต้น บทเรียนต่าง ๆ จะส่งผลดีตามมา ที่แน่ ๆ ก็คือ คุณจะสามารถควบคุมอารมณ์และอคติต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น แม้แต่ตัวผมเองทุกวันนี้ก็นั่งทำข้อมูลทำบันทึกการลงทุนต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกันครับ

ดั่งที่ Warren Buffett บอกไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการเล่นเบสบอล ไม่ได้อยู่ที่คะแนน แต่อยู่ที่ว่า เขาเล่นกันอย่างไร ถ้าทีมไหนเล่นบนสนามได้ดี สุดท้ายจะชนะเอง การจ้องคะแนนอยู่ตลอดไม่ได้ช่วยอะไร

ผมขอฝากทิ้งท้ายว่า การลงทุนในตลาดหุ้น คุณควรโฟกัสในสิ่งที่คุณควบคุมได้ นักลงทุนระยะยาวระดับโลก ไม่ได้สนใจปัจจัยระยะสั้นที่จะทำให้ราคาหุ้นของพวกเขาขึ้นหรือลงเป็นรายวัน แต่มุมมองของพวกเขา คือ หุ้นพื้นฐานดี ราคาเหมาะสม พวกเขาเลือกจะลงทุนในหุ้นแบบนี้ เพราะเชื่อว่ามันจะก้าวข้ามผ่านความผันผวนระยะสั้นต่าง ๆ ไปได้ ขอให้ทุกคนโชคดีกับการลงทุนปีเสือนอนกินครับ

ผู้เขียน: ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO จาก Jitta Wealth

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

New Year Resolution ลงทุนอย่างมีเป้าหมาย พอร์ตแกร่งพิชิตผลตอบแทนรับปีเสือนอนกิน

ธุรกิจเกมและอีสปอร์ต เครื่องยนต์แรงม้าสูง ขับเคลื่อนเทรนด์ Metaverse

จับตา Thematic Investment สไตล์การลงทุนสุดฮอต

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ