TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจับจังหวะซื้อหุ้นต่ำสุด ไยผลตอบแทนไม่ปัง เดินหน้า DCA บริหารพอร์ตคุ้มค่าระยะยาว

จับจังหวะซื้อหุ้นต่ำสุด ไยผลตอบแทนไม่ปัง เดินหน้า DCA บริหารพอร์ตคุ้มค่าระยะยาว

วิถีนักลงทุนในตลาดหุ้น คงมองเหมือนผมว่า ไตรมาสแรกผ่านไปอย่างรวดเร็วสำหรับปีเสือ 2565 ท่ามกลางสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านหูผ่านตา พร้อมพลิกผันได้ตลอดเวลา สร้างความผันผวนขึ้น ๆ ลง ๆ ในตลาดหุ้น ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่นักลงทุนทั่วโลกต้องเผชิญ 

ผมคิดว่า วันนี้หากจะมาอัปเดตสถานการณ์โลก ก็เป็นสิ่งที่หลายคนรู้อยู่แล้ว ผมขอพูดแค่กระแสใหญ่ ๆ ร้อน ๆ ก็คงยังเป็นมหาอำนาจโลกอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปแล้ว เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะปรับขึ้นอีกราว 6 ครั้ง โดยระหว่างทางอาจเห็นการปรับขึ้นสูงถึง 0.50% ด้วย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป และอาจกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ

หรือสถานการณ์โลกที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ก็คือ สงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะเป็นอย่างไรต่อไป แม้ทุกคนจะรู้ว่าที่สุดของทุกสงครามต้องมีจุดจบเสมอ แต่ความยากคือ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าเมื่อไรและอย่างไร  

Warren Buffett บอกอย่าถือเงินสดช่วงสงคราม จะยิ่งด้อยค่า

แม้ว่าการหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่จำเป็นมากกว่าคือ หลักการลงทุนที่ถูกต้อง คุณจะมองเห็นโอกาสและเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี ซึ่งนักลงทุนระดับโลกอย่าง Warren Buffett ได้ให้คำแนะนำว่า จงอย่าถือเงินสดเอาไว้ในช่วงสงคราม เพราะจะยิ่งทำให้ค่าของเงินสดที่ถืออยู่ลดลง เพราะฉะนั้นการเลือกลงทุนในหุ้นบริษัทที่ดีเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด 

แต่ก็จะมีคำถามตามมาอีกว่า ควรจับจังหวะเข้าซื้อตอนไหนดี อยากจะรอซื้อหุ้นตอนตกแรง ๆ หรือตอนไหนหุ้นลงต่ำสุด แล้วจะตกต่ออีก? ผมเข้าใจดีครับ ใคร ๆ ก็กลัวขาดทุน ผมจะขอไขคำตอบ เหล่านี้ให้ครับ

ประเด็นแรกสำคัญสุด สิ่งที่จะบอกว่าคุณจะได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ สินทรัพย์ที่ลงทุน ระยะเวลาลงทุน และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพราะหากคุณลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี และลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จะทำให้คุณมีโอกาสสูงที่จะได้ผลตอบแทนที่คาดหวังไว้ 

ประเด็นต่อมา การรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ นั้น คุณควรจะสำรวจพอร์ตของคุณ อยู่เสมอเมื่อเกิดวิกฤติหรือสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น ธุรกิจหรือสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้หรือไม่ หากคุณยังเชื่อมั่นในสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ และยึดหลักการลงทุนระยะยาว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น สินทรัพย์ที่คุณลงทุนจะกลับมาเติบโตได้เหมือนเดิม ดั่งภาษิตไทยที่ว่า จงอดเปรี้ยว ไว้กินหวาน เป็นการอดทนรอในผลตอบแทนที่คุณต้องการ

สิ่งที่จำเป็นที่สุดในโลกการลงทุน คือ จงอย่าพยายามฝืนลงทุนในแผนการลงทุนที่มีความเสี่ยง สูงเกินกว่าที่คุณจะยอมรับได้ เพราะคุณจะรู้สึกไม่สบายใจระหว่างการลงทุนจนส่งผลกระทบต่อพอร์ต ลงทุนให้พลาดเป้าหมายได้

ประเด็นที่สาม ใครที่บอกว่ากำลังหาจังหวะลงทุนอยู่ ผมขอย้ำว่า คุณไม่จำเป็นต้องจับจังหวะตลาดเลยครับ เพราะไม่ว่าคุณจะได้ซื้อที่ราคาต่ำสุด หรือกลายเป็นซื้อในราคาที่สูงสุดของปีนั้น ๆ ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาในรูปของกำไรที่ดีขึ้นก็ไม่ถึง 2% ครับ ขณะที่สิ่งที่ดีกว่าการจับจังหวะตลาด นั่นคือการลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) ซึ่งผมมีงานวิจัยของนักการเงินรุ่นใหม่ที่ได้ทดลองทำวิธีลงทุน วิธีเดียวกับงานวิจัยของ Peter Lynch นักลงทุนระดับโลกที่สามารถอธิบายในประเด็นนี้ครับ

เปิดผลวิจัยลงทุนจุดสูงสุด-ต่ำสุด ผลตอบแทนไม่ต่างมาก

โดยงานวิจัยนี้ได้ใช้ข้อมูลตลาดหุ้น 20 ปีล่าสุด ในการทดลองลงทุน และจัดนักลงทุน 3 คน ให้แต่ละคนมี วิธีการลงทุนดังนี้ คนที่ 1 ลงทุนในวันที่ดัชนีตลาดหุ้นแตะจุด ‘สูงสุด’ ของทุกปี ส่วนคนที่ 2 ลงทุนในวันที่ ดัชนีตลาดหุ้น ‘ลงต่ำสุด’ ของทุกปี และคนที่ 3 ลงทุนในวันที่ตลาดหุ้น ‘เปิดทำการวันแรก’ ของทุกปี 

แต่ละคนจะลงทุนด้วยเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามวิธีของตัวเองผ่าน ETF 3 กองที่มีนโยบายการ ลงทุนอิงดัชนีตลาดหุ้นทั้ง 3 ดัชนีของสหรัฐฯ ในปี 2544-2563 (20 ปี) โดยจะซื้อแล้วถือไว้ ตามนี้ 

1. SPDR S&P 500 ETF Trust (SPY) ลงทุนอิงดัชนี S&P500

2. iShares Russell 3000 ETF (IWV) ลงทุนอิงดัชนี Russell3000

3. Invesco QQQ Trust Series 1 (QQQ) ลงทุนอิงดัชนี NASDAQ100

พูดง่าย ๆ คือเป็นการลงทุนแบบ DCA ปีละครั้ง ติดต่อกัน 20 ปีนั่นเอง จากนั้นนำผลตอบแทนเฉลี่ย 20 ปีของนักลงทุนคนที่ 1 และ 2 จากแต่ละ ETF มาเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่า นักลงทุนคนที่ 1 และ 2 จะได้ผลต่างกัน คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนใน SPY พบว่า นักลงทุนคนที่ 2 (ซื้อที่จุดต่ำสุดทุกปี) ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ ‘สูง’ กว่านักลงทุนคนที่ 1 (ซื้อที่จุดสูงสุดทุกปี) อยู่ที่ 1.76% 

ส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนใน IWV ก็พบว่า นักลงทุนคนที่ 2 ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ ‘สูง’ กว่านักลงทุนคนที่ 1 อยู่ที่ 1.80% ตัวเลขใกล้เคียงกับของ SPY 

ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนใน QQQ พบว่า นักลงทุนคนที่ 2 ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ ‘สูง’ กว่านักลงทุนคนที่ 1 อยู่ที่ 2.99% ซึ่งสูงกว่า SPY และ IWV   

จะเห็นว่าความต่างของผลตอบแทนเฉลี่ยที่นักลงทุนคนที่ 1 และ 2 ทำได้จาก SPY และ IWV ช่วง 20 ปี ใกล้เคียงกับที่นักลงทุนระดับโลกอย่าง Peter Lynch ค้นพบว่าการซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุดและสูงสุดของทุกปี ให้ผลตอบแทนต่างกันเพียง 1.1% ต่อปีในระยะเวลา 30 ปี

ส่วนความแตกต่างของผลตอบแทนจาก QQQ จะสูงกว่าที่ Peter Lynch บอกไปมาก เนื่องจาก QQQ ลงทุนตามดัชนี NASDAQ100 ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำอยู่มาก ทำให้ความแตกต่างระหว่าง ราคาสูงสุดและต่ำสุดตอนเข้าลงทุนจึงสูงขึ้น

มาดูความแตกต่างของผลตอบแทนเฉลี่ยระหว่างนักลงทุนคนที่ 2 (ซื้อที่จุดต่ำสุดของทุกปี) และนักลงทุนคนที่ 3 (ซื้อตอนต้นปี) อยู่ระหว่าง 1.00-1.65% นั่นเป็นเพราะการลงทุนทุกต้นปี ทำให้นักลงทุนคนที่ 3 ได้ ‘เงินปันผลทุกปี’ และไม่พลาดช่วงตลาดหุ้นขาขึ้นในบางปีด้วย

ข้อมูลงานวิจัยนี้ ยังเฉลยด้วยว่า ทำไมการซื้อหุ้นที่จุดต่ำสุดทุกปี ถึงทำผลตอบแทนเฉลี่ย ‘สูงกว่าเพียงเล็กน้อย’ เมื่อเทียบกับการซื้อหุ้นที่จุดสูงสุดทุกปี นั่นเป็นเพราะวิธีการคำนวณ หาผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาว ซึ่งโดยธรรมชาติของการหาผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนระยะยาว หรือ Compound Annual Growth Rate (CAGR) ยิ่งจำนวนปีที่ลงทุนยาวนานขึ้น ผลตอบแทนเฉลี่ยที่คำนวณได้จะยิ่งต่ำลง ถึงแม้ว่าต้นทุนเฉลี่ยตลอด 20 ปี จากการลงทุนที่จุดสูงสุดและต่ำสุดในทั้ง 3 ETF จะห่างกันอยู่ 30-45% แต่พอลงทุนกันยาว ๆ 20 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยที่คำนวณออกมาได้จึงใกล้เคียงกัน

สำหรับผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนใน SPY และ IWV นั้น จะมีกำไรต่างกันอยู่ราว 200,000 ดอลลาร์สหรัฐทั้งคู่ หรือถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ การซื้อที่จุดต่ำสุดจะได้กำไรมากกว่าการที่ซื้อที่จุดสูงสุดอยู่ 33.51% และ 34.36% ตามลำดับจากการลงทุน 20 ปี

ส่วน QQQ ที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีมาก ความแตกต่างของกำไรจากการซื้อที่จุดสูงสุด-ต่ำสุดตลอด 20 ปี จะสูงถึงราว 530,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ การซื้อที่จุดต่ำสุดจะได้กำไรมากกว่าอยู่ 49.55% ดังนั้น แม้ว่าผลตอบแทนเฉลี่ยจะต่างกันอยู่แค่ 1.76-2.99% ตลอด 20 ปี ซึ่งดูเหมือนไม่เยอะมาก แต่พอมาคิดเป็นผลตอบแทนหรือกำไรในรูปตัวเงิน จะเห็นความแตกต่างชัดเจนครับ

แต่เมื่อต้องการรู้ว่าการจับจังหวะตลาดให้ผลตอบแทนมากขึ้นแค่ไหน ในงานวิจัยนี้จึงสมมติ ให้ลงทุนที่จุดต่ำสุดและสูงสุดแบบ ‘สุดขั้ว’ ติดต่อกัน 20 ปี ซึ่งในโลกความจริง ไม่มีมนุษย์เดินดินคนไหน ทำได้แบบในงานวิจัย

มาดูนักลงทุนคนที่ 3 ที่ลงทุนทุกต้นปี งานวิจัยนี้ใช้การลงทุนแบบ DCA เป็นประจำปีละครั้ง ติดต่อกัน 20 ปี ซึ่งทำให้ต้นทุนการเข้าซื้อที่แตกต่างกันของนักลงทุนทั้ง 3 คนในปีหลัง ๆ มีผลต่อมูลค่าพอร์ตน้อยลง

เช่น เงินลงทุน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐที่ลงทุนในปี 2563 (ปีสุดท้าย) ในแต่ละ ETF จะมีน้ำหนักเท่ากับ 5% ของเงินลงทุนทั้งหมดหรือเพียง 1 ปีจากทั้งหมด 20 ปีที่ลงทุน (รวมเป็นเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ)

ดังนั้น แม้ราคา ETF ที่จุดสูงสุดและต่ำสุดในปี 2563 จะต่างกันเกือบเท่าตัวเพราะสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ Covid-19 แต่มูลค่าพอร์ตสูงขึ้นเป็นหลักแสนหลักล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว การที่ลงทุนเพิ่มด้วยเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐจึงแทบไม่มีผลต่อมูลค่าพอร์ตครับ

และในช่วง 20 ปีของงานวิจัยนี้ ก็มีอยู่ 5 ปีที่ราคา ณ จุดสูงสุดและต่ำสุดห่างกันเกิน 50% แต่ก็มีอีก 6 ปี เช่นกันที่ราคาทั้ง 2 จุดห่างกันไม่ถึง 20% ดังนั้นเมื่อลงทุนแบบ DCA ต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุนทั้ง 3 คน จริง ๆ แล้วจะห่างกันอยู่ 30-45% เพราะถูกถัวเฉลี่ยในปีที่ราคาห่างกันมากและห่างกันน้อยตลอด 20 ปี

ลงทุนแบบ DCA ต้นทุนเฉลี่ย ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าได้

และนี่จึงเป็นข้อดีของการลงทุนแบบ DCA ที่จะทำให้ต้นทุนถัวเฉลี่ยไปได้ เพราะในชีวิตจริง บางปีคุณอาจดวงดีซื้อหุ้นได้ที่จุดต่ำสุด ปีถัดมาซื้อได้ที่ราคากลาง ๆ บ้าง หรือซื้อแล้วติดดอยทันทีบ้าง ปะปนกันไป 

สิ่งที่ดีต่อใจจากการลงทุนแบบ DCA คือคุณได้เก็บออมเงินและลงทุนเป็นประจำอย่างมีวินัย เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตัวคุณเองและคนที่คุณรัก 

เพราะฉะนั้น งานวิจัยนี้ทำให้เราเห็นว่าการลงทุนเป็นประจำแบบ DCA ในระยะยาวก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ โดยไม่ต้องมานั่งจับจังหวะตลาดหุ้นให้เหนื่อยและเสียเวลาเกินจำเป็น เพราะในระยะยาวมูลค่าพอร์ตของคุณก็ยังเพิ่มขึ้น อย่างการลงทุนที่จุดสูงสุดติดกัน 20 ปีในงานวิจัยนี้ก็ยังทำผลตอบแทนได้ราว 5% และ 13% ต่อปี

ยิ่งถ้าคุณสามารถหาหุ้นหรือสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในระยะยาว เพื่อลงทุนแบบ DCA ได้ เท่ากับว่า คุณก็ประสบความสำเร็จในการลงทุนไปแล้วครึ่งทาง ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง คือการมีวินัยในการลงทุนตามแผน DCA ที่วางไว้ และโฟกัสกับหลักการลงทุน โดยคุณไม่ต้องมานั่งวิตกกังวล กับอารมณ์ของตลาดจนเกินไป ก็จะทำให้คุณสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจ ได้รับกำไรอย่างยั่งยืนยาว ๆ

ส่วนใครที่ยังไม่ได้เริ่มลงทุนเลย หรือมั่วแต่จด ๆ จ้อง ๆ คิดไม่ตกว่าจะ ‘เริ่มต้นลงทุนตอนไหนดี’ ผมมีคำตอบดี ๆ ให้คุณ นั่นคือ ‘เวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มลงทุน ก็คือ วันนี้’ เพราะถ้าหากคุณลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว ไม่ว่ายังไงคุณก็จะได้เจอทั้งปีที่ผลตอบแทนดีมาก ๆ และปีที่ผลตอบแทนติดลบแน่นอน ขณะที่ความผันผวนระยะสั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่คุณต้องการอย่างแน่นอน 

บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

Perfect Storm สงครามรัสเซีย–ยูเครน โจมตีไซเบอร์พุ่ง ส้มหล่นธุรกิจ ‘Cybersecurity’ ทางเลือกลงทุนเพื่อพอร์ตเติบโตระยะยาว

เคล็ด (ไม่) ลับ พิชิตตลาดหุ้น ‘ไม่เป็นใจ’ รอดได้อย่างไร

New Year Resolution ลงทุนอย่างมีเป้าหมาย พอร์ตแกร่งพิชิตผลตอบแทนรับปีเสือนอนกิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ