TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessรัฐ-เอกชน ร่วมนำพา อากาศสะอาด สู่ภาคการขนส่งไทย ยกระดับชีวิตคน

รัฐ-เอกชน ร่วมนำพา อากาศสะอาด สู่ภาคการขนส่งไทย ยกระดับชีวิตคน

Techsauce ร่วมกับ Bosch Thailand จัดงานเสวนา Roundtable Talk: How To Make Clean Public Transport Possible? ร่วมระดมกำลังและหาทางออกจากทั้งภาครัฐและเอกชน “นำพาอากาศสะอาดสู่ภาคการขนส่งไทย” เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของประชากรในประเทศให้กลับมาสูดอากาศบริสุทธิ์ได้อีกครั้ง 

พันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศมีแหล่งกำเนิดจากหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรม, การจราจร, การเผาในที่โล่ง ดังนั้น สัดส่วนความหนาแน่นจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ และเวลา เพราะแต่ละแหล่งกำเนิดนั้นจะเกิดในช่วงเวลาที่ต่างกัน เช่น มลพิษแบบข้ามพรมแดนมักจะเกิดขึ้นในช่วงมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง และมักจะมาจากประเทศเพื่อนบ้านแถบทางใต้  เช่นเดียวกันกับในประเทศไทยที่มักจะมีการเผาวัตถุที่เหลือทิ้งทางการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ส่วนมลพิษที่ประชาชนอาศัยอยู่ในตัวเมืองต้องพบเจอตลอดเวลาจะมาจากการจราจรเป็นส่วนใหญ่ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้มีการแจกจ่ายระบบวัดดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) Data ผ่านทางกรมควบคุมมลพิษกว่า 70 แห่ง ใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายในการตรวจสอบ อย่างในกรุงเทพฯ กว่า 50 สถานี ซึ่งจะมีหน้าที่คอยการติดตาม ตรวจสอบสภาพอากาศ โดยข้อมูลทุกอย่างจากแต่ละสถานีจะถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล เพื่อนำเอามาใช้รายงานให้แก่ผู้ศึกษาวิจัย หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ใช้ในการประเมินคุณภาพโครงการของการใช้รถ EV รวมทั้งใช้รายสภาพอากาศรายวันให้กับประชาชนทุกคนที่คอยติดตามสภาพอากาศ โดยข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศจะถูกรายงานไปในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งแอปพลิเคชัน เฟซบุ๊กแฟนเพจของกรมควบคุมมลพิษ และของหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ในแบบรายชั่วโมง หรือ Near Real-time ฉะนั้นก็สามารถพูดได้ว่าข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลของประชาชนด้วยเช่นกัน

ด้าน จักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนใหญ่ด้านการพัฒนาการขนส่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (2560-2580)” เพื่อยกระดับการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือต้องมีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเสริม ที่สำคัญประชาชนต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

สำหรับบทบาทในการจัดการมลพิษทางอากาศในภาคการขนส่งทางถนนของกรมการขนส่งทางบกนั้นจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ

1.ช่วงก่อนที่รถจะจดทะเบียน : ทางกรมควบคุมมลพิษ และ สมอ. จะมีการกำหนดมาตรฐาน และตรวจสอบระดับมลพิษในเครื่องยนต์แต่ละประเภท รวมทั้งมีการตรวจสภาพรถด้วยเช่นกัน

2.ช่วงหลังจากมีการจดทะเบียน : ทางกรมการขนส่งทางบกจะคอยตรวจวัดค่าควันดำจากยานพาหนะ โดยเฉพาะรถที่ใช้ในการบรรทุกสินค้า ซึ่งทำได้ทั้งที่กรมการขนส่งทางบก และ  สถานตรวจสภาพรถต่าง ๆ ริมถนน และจะมีการดำเนินคดีสำหรับรถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานกำหนด

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังออกมาตรการขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (EV)  โดยได้มีการปรับปรุงเรื่องของการคิดอัตราภาษีประจำปี ซึ่งจะมีการลดอัตราภาษีให้ตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ cc ของเครื่องยนต์ ดังนั้น ถ้ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อย หรือมี cc ต่ำ อัตราภาษีก็จะต่ำ โดยภาษีตรงนี้จะนำไปใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมถนนส่วนที่มีความเสียหายจากการเดินรถ หรือจะกล่าวโดยง่าย คือ ถ้ารถมีการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือถนน ก็จะมีการเก็บภาษีแพงขึ้นไปตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถข้ามขั้นจากการเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาป หรือ Internal Combustion Engine: ICE ไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้เลยทันที  เนื่องจากมีกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและผลิตรถยนต์ที่ยังต้องอาศัยกันและกัน 

ซึ่งกรมขนส่งทางบก ก็ได้วางแผนเบื้องต้นว่า ในช่วง 3-5 ปีแรกของการซื้อรถ EV จะมีการลดภาษีให้กับรถประเภทนี้ (จะต้องมีการจดทะเบียนในช่วงก่อนปี 2573) ซึ่ง ณ ตอนนี้มีการเร่งแก้ไข พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564-2565 ทั้งนี้ เพื่อต้องการสนับสนุน และกระตุ้นให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประชาชนทั่วไป และในภาคของการขนส่งสาธารณะด้วยเช่นกัน

ด้าน วฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการ EGAT Proventure การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งบอร์ด EV แห่งชาติ ได้มีการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการขนส่งที่เน้นในส่วนของพลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้มีการทำงานวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเน้นหลักความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการทำงานวิจัยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการดัดแปลงรถเก่า และเปิดอบรมให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ 

อีกทั้ง มีการจัดทำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เป็นผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงานเบอร์ 5 นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มจุด Swap Battery ในพื้นที่ใกล้เคียง และมีการเพิ่มสถานีชาร์จที่ชื่อว่า “EleX by EGAT” โดยแบ่งผู้ใช้งานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่ม Network คือ เมื่อผู้ใช้งานเดินทางไกล ในทุก ๆ 200 กิโลเมตรจะมีจุดชาร์จให้บริการ โดยจะวางในสถานที่ เช่น ปั๊มน้ำมัน หรือพื้นที่ของพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ 
2. กลุ่ม Community คือ การจัดทำ และพัฒนาจุดสถานีชาร์จจากหลาย ๆ ฝ่าย
3. กลุ่ม Freight Operator คือ กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องการจะเปลี่ยนไปใช้งานรถ EV และทาง EGAT ก็จะไปช่วยให้บริการสถานีชาร์จ

นอกจากนี้ทาง EGAT ยังเป็นผู้จัดจำหน่าย และติดตั้งหัวชาร์จของบริษัท Wallbox ซึ่งจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะชาร์จรถที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการพัฒนาหัวชาร์จอยู่ ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้จะมีการนำเอาหัวชาร์จตัวนี้ออกมาใช้อย่างแน่นอน 

อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ มากที่สุดคือ ส่วนการผลิตไฟฟ้า โดยในอนาคตเมื่อมีการปรับเปลี่ยนไป ทางภาคของการขนส่งก็จะมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะมาเพิ่มที่ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงต้องมีการนำเอาพลังงานทดแทนเข้ามา ซึ่งทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้มีการดำเนินการ 3 ส่วน คือ

1. เพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยจะเพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าบริเวณอ่างเก็บน้ำ 
2. สร้าง Ecosystem แบบ Grid Modernization คือ การทำให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่น โดยจะมีการตั้งศูนย์พยากรณ์พลังงานหมุนเวียนที่ผันผวน ปรับแหล่งผลิตไฟฟ้าให้พร้อมรับกับความผันผวนต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนา Energy Storage และในอนาคตจะมีการศึกษาเรื่องการ Reuse แบตเตอรี่เก่าของรถยนต์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า
3. สร้าง Ecosystem เชิงการบริหารจัดการ โดยจะสร้างกลไกให้กับบริษัทจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในบ้านเราได้ซื้อไฟจากเราไปใช้

ด้าน คุณชยุตม์ จัตุนวรัตน์ Investment Manager & Venture Lead-Incubation, PTT Public Company Limited กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ต้องการจะใช้พลังงานสะอาด แต่ยังหาไม่ได้ ทาง ปตท. จึงจัดโครงการ ReAcc – Renewable Energy Acceleration Platform ขึ้นมาเพื่อให้สามารถหาพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการให้ผู้ซื้อสามารถเลือกได้ด้วยตนเองว่าจะซื้อจากแหล่งไหน และเป็นพลังงานสะอาดหรือไม่

อีกทั้ง ปตท. ก็หวังว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการนี้ก็จะมีการต่อยอดไปถึงการให้คนเลือกได้ว่าต้องการชาร์จไฟ EV จากแหล่งใด เป็นพลังงานสะอาดหรือไม่ เพราะในปัจจุบันนี้ยังไม่มีความหลากหลายพอให้คนเลือกได้ แต่ในอนาคตเราหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนให้วงการใช้ EV และพลังงานสะอาดขยายกว้างขึ้น

นฤมล นวลปลอด Head of Strategy, Marketing and Sales, BOSCH Mobility Solutions SEA กล่าวว่า ทาง BOSCH Thailand ก็ได้สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BOSCH ก็ได้ทุ่มเงินลงทุนกว่า 5 พันล้านยูโร เพื่อศึกษาและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า และได้มีการทำโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับระบบส่งกำลังไฟฟ้ามาแล้วกว่า 90 โครงการ ทำให้ปัจจุบันนี้มีรถยนต์ที่ใช้ระบบส่งกำลังไฟฟ้าของ BOSCH วิ่งอยู่บนถนนกว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลก

นอกจากระบบส่งกำลังแล้ว ระบบเบรกในรถยนต์ก็ทำให้เกิด PM 2.5 เช่นกัน จากตรงนี้ก็ได้มีการนำเอาเทคโนโลยี Regenerative Breaking System เข้ามาพัฒนา โดยเทคโนโลยีตัวนี้จะใช้งานในยานยนต์ที่เป็น Hybrid และ EV ทำให้ระบบเบรกเป็นระบบชาร์จไฟ และช่วยลดค่าการเกิดฝุ่นได้ถึง 95% 

นอกจากนี้ก็ยังมีโปรเจกต์อื่น ๆ ที่มาเป็นตัวช่วยในการลดมลภาวะ ด้วยการนำ AI และ IoT เข้ามาผนวกทำให้มีการคิดค้นนวัตกรรมอย่าง กล่องตรวจสอบสภาพมลภาวะ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประมวล วิเคราะห์และใช้ระบายรถในที่ที่มีมลภาวะสูง จากการศึกษาพบว่าทั่วโลกมีตัวเลขเฉลี่ยการวนหาที่จอดรถประมาณ 30 นาที

ความท้าทายจุดแรกของการเปลี่ยนผ่านไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาจากความต้องการการใช้รถใช้ถนนที่หลากหลาย ทั้งรถโดยสารสาธารณะ การใช้รถส่วนตัว หรือการใช้ยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการเปลี่ยนผ่านในแต่ละภูมิภาคใช้ระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน มาจากปัจจัยทั้งการบังคับใช้กฎหมาย สภาพเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการขอความร่วมมือกับภาคการขนส่งเอกชนให้มีการเปลี่ยนผ่านทันทีเลยอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย  

ดังนั้น ภาครัฐต้องเตรียมการ รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์แผนงานต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความชัดเจนในวงกว้าง เช่น แผนการใช้งานยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือการคาดการณ์ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้ฝั่งของผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการได้มีการเตรียมตัว และมีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ด้วย นฤมล  กล่าวทิ้งท้าย 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ