TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyมาเข้าใกล้ ทำความเข้าใจ และยกระดับศักยภาพธุรกิจไทย ด้วย Space Technology

มาเข้าใกล้ ทำความเข้าใจ และยกระดับศักยภาพธุรกิจไทย ด้วย Space Technology

“อวกาศ” อาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ที่อยู่เลยชั้นบรรยากาศของโลกออกไป เป็นที่อยู่ของดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ หลายๆ อวกาศรวมกันเป็นจักรวาล ช่างเป็นนิยามที่ฟังดูห่างไกล และหากกล่าวถึง “เทคโนโลยีอวกาศ” คนส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอีกเช่นกัน อาจจะมองว่าเป็นสนามแข่งขันของชาติมหาอำนาจ เป็นเรื่องความท้าทายในย้ายถิ่นฐานไปยังดาวดวงอื่น หรือกระทั่งมองว่าเป็นแค่เทคโนโลยีที่ใช้ต่อกรกับมนุษย์ต่างดาวในภาพยนตร์ 

ศูนย์วิจัยกรุงไทย Krungthai COMPASS ชวนคนไทยมาเข้าใกล้และทำความเข้าใจ เทคโนโลยีอวกาศหรือ Space Technology” หนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลกอนาคต ที่จะขับเคลื่อนตั้งแต่ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และโลกใบนี้ ไปสู่ Digital Transformation 

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย ให้มุมมองว่า หากเรากำลังมองลงมาจากอวกาศ จะเห็นว่า มีดาวเทียมที่สามารถส่งสารพัดข้อมูลดิจิทัล ทั้งภาพ เสียง ทั้งข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ลงมาให้เรา ทุกเช้าก่อนเราจะออกจากบ้าน ต้องเปิดแอปดูพยากรณ์อากาศ อุณหภูมิเท่าไร แดดจะแรงหรือฝนจะตกหรือไม่ ค่าฝุ่น PM 2.5 กี่ AQI ข้อมูลเหล่านี้ล้วนได้มาจาก Space Technology ซึ่งในประเทศไทยมีการใช้อยู่แล้ว ในด้านอุตุนิยมวิทยาและการเตือนภัยธรรมชาติ เช่น การประเมินสถานการณ์น้ำท่วม หรือตรวจจับไฟป่า 

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกมีการพัฒนา Space Technology และนำมาใช้ในภาคธุรกิจอย่างแพร่หลายมากขึ้น เช่น การใช้ข้อมูลระยะไกลจากดาวเทียมเพื่อวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ระบบนำทางจากดาวเทียมกับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ การนำข้อมูลดาวเทียมมาใช้ในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งทางอวกาศเป็นการท่องเที่ยวในอวกาศได้

ปัจจุบัน เทคโนโลยีอวกาศจึงไม่ใช่ Alien Technology หรือสิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ ที่สังคมไทยควรทำความเข้าใจและภาครัฐไทยควรส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านอวกาศ มาเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เพิ่มศักยภาพของธุรกิจไทยในการแข่งขัน ตอบโจทย์ด้าน Productivity และใช้ในการรับมือกับปัญหา Climate Change 

เข้าใกล้ Space Technology เข้าใจให้ชัดเจนกว่าเดิม

อภินันทร์ สู่ประเสริฐนั กวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้อธิบายถึงความหมายของ Space Technology ว่าคือ การนำเอาองค์ความรู้ด้านอวกาศ ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์มาพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์การใช้ของผู้บริโภคในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงความต้องการใช้ของภาคธุรกิจ 

ห่วงโซ่อุปทานของ Space Technology  นั้นประกอบด้วย อุตสาหกรรมต้นน้ำ คือ ระบบและโครงสร้างพื้นฐาน อย่าง ดาวเทียม กระสวยและจรวด ระบบบริการภาคพื้น สถานีอวกาศและยานอวกาศ ส่วน อุตสาหกรรมปลายน้ำ จะอยู่ในรูปของการประมวลผลข้อมูล ได้แก่ บริการข้อมูลดาวเทียม เช่น ข้อมูลภาพถ่าย หรือระบบการนำทาง เป็นต้น และส่วนสุดท้าย ผู้ใช้งานหรือกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้บริโภคทั่วไป และภาคธุรกิจ 

บริการข้อมูลดาวเทียม คือ ส่วนของอุตสาหกรรมที่มีการนำมาประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงและเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกล (Smart Remote Sensing) ซึ่งปัจจุบันมีคุณภาพสูงขึ้น ความละเอียดมากขึ้น และให้ข้อมูลที่มีมิติที่หลากหลายมากขึ้น ภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 

อีกหนึ่งเทคโนโลยีในส่วนของบริการข้อมูลดาวเทียม ได้แก่ เทคโนโลยีระบบนำทางดาวเทียมจากเดิมที่ใช้ระบบ GPS  พัฒนามาเป็นระบบ GNSS ซึ่งมีการใช้ดาวเทียมหลายดวงในหลายประเทศ ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อระบุพิกัดในการส่งข้อมูล เป็นประโยชน์ในการระบุพิกัดตำแหน่ง ยกตัวอย่าง เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ การระบุพิกัดตำแหน่งที่มีความแม่นยำ ช่วยในเรื่องความปลอดภัยของระบบการขนส่ง 

อภินันทร์ ยก 3 ปัจจัยหลัก ที่ยืนยันว่า Space Technology นั้นมีความจำเป็นต่อภาคธุรกิจ 

ปัจจัยแรก คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ช่วยให้ภาคธุรกิจรับมือกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Digital Transformation ได้ง่ายขึ้น ทำให้ความต้องการใช้บริการ Space Technology ของภาคธุรกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว 

ตัวอย่างเช่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สามารถให้ภาพถ่ายดาวเทียมมีความละเอียดคมชัดมากขึ้น ประกอบกับ การผนวกเทคโนโลยีที่มีความหลากหลาย มีการเชื่อมโยงแบ่งปันข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ IOT เทคโนโลยีการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ 

ปัจจัยที่ 2 เทคโนโลยีอวกาศช่วยยกระดับศักยภาพในการแข่งขันโดยช่วยลดต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ต้นทุนของเทคโนโลยีดาวเทียมก็มีแนวโน้มถูกลง โดยคาดว่าต้นทุนเฉลี่ยในการนำส่งดาวเทียมในปี 2050 จะลดลงเกือบ 100 เท่า  

และปัจจัยที่ 3 ช่วยรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยสามารถใช้เทคโนโลยีอวกาศในการติดตาม และบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความโปร่งใสด้านข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค 

ยกระดับ 3 ภาคธุรกิจด้วยการประยุกต์ใช้ Space Technology

กฤชนนท์ จินดาวงศ์ นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เผยถึง 3 ธุรกิจที่จะสามารถนำ Space Technology มาประยุกต์ใช้ได้อย่างแน่นอน ได้แก่ ภาคเกษตร ภาคก่อสร้าง และภาคขนส่ง โดยพิจารณาจาก กรณีศึกษาที่เป็นที่แพร่หลายทั้งในไทยและต่างประเทศ และเป็นธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานสูง จึงพิจารณาว่าเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะต้องนำ Space Technology มาปรับใช้ในการดำเนินงาน

ภาคการเกษตรสามารถนำเทคโนโลยีภาพถ่ายทางดาวเทียมความเร็วสูง และระบบสำรวจระยะไกล มาปรับใช้จะทำให้มีต้นทุน ค่าแรงงานและพลังงานลดลง การบริหารวัตถุดิบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและมีความแม่นยำในการดำเนินงาน ช่วยในการรับมือกับ Climate Change 

กรณีศึกษา

  • บริษัท Farmonaut สตาร์ตอัพของอินเดีย มีการร่วมมือกับเกษตรกรนำเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกล มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยการผลิตในการเพาะปลูก ทำให้สามารถใช้ปัจจัยการผลิตในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลดีต่อต้นทุน นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง มาช่วยในการติดตามการเจริญเติบโตของพืช คาดการณ์ภัยธรรมชาติ ช่วยลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหาย 
  • บริษัท SatAgro สตาร์ตอัพของโปแลนด์ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียม และ IOT ในการตรวจสอบคุณภาพของดิน สามารถควบคุมปริมาณการใช้ปุ๋ย ได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอตามช่วงอายุของข้าว ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงได้ ถึง 20%  ควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติ โดยมีการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเพิ่มสูงขึ้น 15% 
  • ธุรกิจข้าวในไทย หากมีการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายทางดาวเทียมความละเอียดสูงมาปรับใช้ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนในการเพาะปลูก รวมถึงการบริหารจัดการปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ช่วยลดความเสียหายของผลผลิต ที่เกิดจากปัญหาด้านสภาพอากาศ ได้ประมาณ 2,354 ล้านบาท ต่อปี  

ภาคก่อสร้าง สามารถนำเอาภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง รวมถึงระบบการสำรวจระยะไกล มาใช้ในการวางแผน และประเมินการก่อสร้าง ช่วยให้มีต้นทุนค่าแรงงาน และ พลังงานลดลง อีกทั้งการบริหารวัตถุดิบยังมีประสิทธิภาพ และความแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย  

กรณีศึกษา

  • Bechtel ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ มีการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการวางแผนการก่อสร้าง ให้มีความแม่นยำมากขึ้น ลดต้นทุนในเรื่องของค่าแรง การสำรวจ และเรื่องการบริหารจัดการวัสดุวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย 
  • โครงการในจังหวัดสระแก้ว มีการนำเทคโนโลยี Smart Remote Sensing มาใช้ร่วมกับโดรน ในการสำรวจปริมาณการใช้ดินถมพื้นที่ก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้าง โดยเมื่อเทียบกับการสำรวจโดยคน จะได้ปริมาณดินถมอยู่ที่ 99,800 ลูกบาศก์เมตร แต่พอใช้เทคโนโลยี Smart Remote Sensing มาใช้ร่วมกับโดรน จะใช้ปริมาณดินถมอยู่ที่ 90,030 ลูกบาศก์ ใช้ปริมาณดินน้อยกว่าและแม่นยำมากขึ้น ลดต้นทุนในการก่อสร้างลงได้ราว 10% 

ภาคขนส่ง ระบบนำทางรูปแบบใหม่ GNSS จะช่วยให้มีต้นทุนที่ลดลง โดยเฉพาะต้นทุนค่าแรงงาน ด้านพลังงาน และช่วยให้มีความแม่นยำในการกำหนดระยะทางในการขนส่งมากยิ่งขึ้น

กรณีศึกษา

  • บริษัท UPS ผู้บริการขนส่งรายใหญ่ของโลก นำเทคโนโลยีกลุ่มโดรน มาร่วมกับเทคโนโลยีระบบนำทางในการขนส่งสินค้า แทนรูปแบบเดิมที่ส่งทางรถ ทำให้ช่วยลดต้นทุนค่าแรง ต้นทุนเชื้อเพลิง ที่สำคัญตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 
  • ภาคขนส่งของไทย หากมีการใช้เทคโนโลยีระบบนำทางจากดาวเทียม แบบ GNSS  ซึ่งมีสัญญาณครอบคลุมและแม่นยำ จะลดการสูญเสียของผลผลิตที่เกิดจากการเน่าเสียในระหว่างการขนส่งสินค้าส่งออกในกลุ่มผักและผลไม้ได้ราว 3000 ล้านบาทต่อปี

กฤชนนท์ ได้ให้มุมมองถึงความเป็นไปได้ หากประเทศไทยต้องการจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ Space technology โดยอธิบายว่า ภาคการผลิตแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือภาคการนำส่งวัตถุอวกาศ ภาคการผลิตดาวเทียม และภาคอุปกรณ์ภาคพื้นดิน  ซึ่งจากการวิเคราะห์ในมิติของความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  และมิติการแข่งขันของตลาดในด้านความซับซ้อนของเทคโนโลยี พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการลงทุนกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตดาวเทียมขนาดเล็ก กลุ่มอุปกรณ์ภาคพื้นสำหรับผู้บริโภค และกลุ่มภาคบริการสำหรับดาวเทียมขนาดใหญ่   

บทบาทภาครัฐในการส่งเสริมระบบนิเวศเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย  

ปราโมทย์ วัฒนานุสาร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า หากต้องการให้ภาคธุรกิจในประเทศไทย ใช้ประโยชน์จาก Space Technology ได้อย่างเต็มที่ ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี และสนับสนุนภาคธุรกิจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการลงทุนเทคโนโลยีด้านนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดการสร้างงานและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

จากปัจจุบันที่ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่กิจการอวกาศ หากต้องการยกระดับความก้าวหน้าทาง Space Technology  จากการศึกษาพบว่าต้องใช้เงินลงทุนอย่างน้อยอีกประมาณ 200,000 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 10 ปี  โดยเงินลงทุนอาจจะแบ่งเป็น 3 ด้าน อ้างอิงสัดส่วนเงินลงทุนจากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอวกาศในระดับสูง อย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ได้แก่

การส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยรวม คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 92,000 ล้านบาท ช่วยส่งเสริมเงินทุนของผู้ประกอบการ หรือสตาร์ตอัพ เพื่อให้มีโอกาสในการเข้ามาดำเนินกิจการด้านอวกาศ ส่งเสริมให้กิจการด้านอวกาศ เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง กระจายการเติบโตไปสู่กิจการ SME 

การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี คิดเป็นเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 64,000 ล้านบาท เช่นการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การเทคโนโลยี ไม่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ 

การพัฒนาบุคลากร เป็นเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 44,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเงินลงทุนสำหรับภาคการศึกษา ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านอวกาศ เนื่องจากประเทศไทย ในปัจจุบันยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านและความรู้ในเชิงเทคโนโลยีขั้นสูง 

นอกจากการส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีด้านอวกาศ ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอวกาศ โดยเฉพาะการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ด้าน Space Technology ทั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทสตาร์ตอัพ เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีไปต่อยอดธุรกิจได้ง่ายขึ้น 

หน่วยงานภาครัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทย ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ GISTDA องค์กรชั้นนำของไทยในการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ ตลอดจนเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้านดาวเทียม และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศ ที่จะสร้างโอกาสในการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม ต่างๆ รวมถึง ช่วยให้สตาร์ตอัพเข้าถึงเงินลงทุน 

นอกจากนี้ ไทยยังมีบริษัทสตาร์ทอัพชั้นนำด้านอวกาศ ที่หลายๆ ท่านอาจจะรู้จัก ได้แก่ mu Space ซึ่งในปัจจุบันสามารถผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอวกาศ รวมถึงให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม มีการจำหน่ายเทคโนโลยีที่เป็นผลิตภัณฑ์ด้านการบินและอวกาศ NB Space สตาร์ตอัพหนึ่งในกำลังสำคัญร่วมพัฒนาดาวเทียม KNACKSAT ดาวเทียมดวงแรกที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นในประเทศไทย และยังมี SPACE ZAB สตาร์ตอัพซึ่งนำเอาเทคโนโลยีอวกาศมาใช้กับภาคเกษตรกรรม  

GISTDA ชูเศรษฐกิจอวกาศ สร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-ฝรั่งเศส

GISTDA จับมือ อบก. เตรียมใช้เทคโนโลยีอวกาศ จัดทำบัญชีคาร์บอนครั้งแรกให้ประเทศไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ