TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessศูนย์ฯ สิริกิติ์ พร้อมเปิดให้บริการ 12 ก.ย. นี้ มั่นใจยกระดับมาตรฐานสถานที่จัดอิเวนต์ไทย สู่ผู้นำเอเชีย

ศูนย์ฯ สิริกิติ์ พร้อมเปิดให้บริการ 12 ก.ย. นี้ มั่นใจยกระดับมาตรฐานสถานที่จัดอิเวนต์ไทย สู่ผู้นำเอเชีย

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประกาศความพร้อมสู่การเป็น “ที่สุดของอิเวนต์แพลตฟอร์ม” ตั้งเป้ามีผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคนต่อปี เผยทัพอิเวนต์ระดับอินเตอร์ให้ความสนใจ ย้ายสถานที่จัดงานจากต่างประเทศมาสร้างอิเวนต์โปรไฟล์ใหม่ในไทย มั่นใจสามารถช่วยยกระดับภาพลักษณ์ธุรกิจอิเวนต์ไทยสู่ความเป็นผู้นำในเอเชีย

ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า “การกลับมาของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ พร้อมด้วยศักยภาพที่จะรองรับการจัดงานในทุกรูปแบบและผู้ใช้บริการทุกไลฟ์สไตล์ คาดว่ามีผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคนต่อปี เพิ่มจากช่วงก่อนปิดปรับปรุงที่มีผู้เข้าใช้บริการ 6 ล้านคนต่อปี ด้วยความตั้งใจว่าเราจะไม่ใช่เป็นเพียงศูนย์ประชุม แต่จะก้าวเป็นที่สุดของอิเวนต์แพลตฟอร์ม โดยหลังจากศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้ เชื่อมั่นว่าจะมีรูปแบบและโปรไฟล์อิเวนต์ใหม่ ๆ เข้ามาจัดงานที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและยกระดับธุรกิจอิเวนต์ของไทยให้มีศักยภาพในระดับสากล”

“บริษัทฯ มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาศูนย์ฯ สิริกิติ์แห่งนี้ ให้เป็นพื้นที่ที่สร้างผลเชิงบวกให้กับคนไทยทั้งประเทศ นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งธุรกิจอิเวนต์ โรงแรม ศูนย์การค้า ระบบขนส่งสาธารณะ ที่ต่างได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ ด้วยจำนวนของผู้จัดงานและผู้เยี่ยมชมงานที่จัดขึ้นภายในศูนย์ฯ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และเกิดการจัดจ้างที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดคุณค่ากับชุมชนโดยรอบ ซึ่งสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้ได้หลากหลายรูปแบบ ”

ด้วยเป้าหมายของการเป็นมากกว่า “ศูนย์การประชุม” และรองรับงานมากกว่า “ไมซ์” (MICE) ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่
จึงถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่น รองรับการจัดงานทุกรูปแบบได้พร้อม ๆ กันและเอื้อต่อการจัดการด้านโลจิสติกส์และขนย้ายสินค้าจัดแสดงทุกประเภท พร้อมเชื่อมตรงกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เข้าสู่พื้นที่จัดงาน

ดึงงานระดับโลกใหม่เข้าไทย

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อความปลอดภัย คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล ด้วยศักยภาพของศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ จึงได้รับความไว้วางใจจากผู้จัดงานระดับอินเตอร์ นำอิเวนต์โปรไฟล์ใหม่ ๆ จากหลากหลายประเทศ เข้ามาจัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก อาทิ

  • Asia Pacific Leather Fair หรือ APLF งานแสดงสินค้าเครื่องหนังชั้นนำของโลก ปกติแล้วจะจัดอยู่ที่ประเทศฮ่องกง จะจัดในวันที่ 19 – 21 ตุลาคม 2565
  • ASIA FRUIT LOGISTICA งานแสดงสินค้านานาชาติด้านผักและผลไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเคยจัดอยู่ที่ฮ่องกงเช่นกัน จะจัดในวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2565
  • Jewellery & Gem ASEAN Bangkok (JGAB) งานจัดแสดงสินค้าอัญมณีครั้งยิ่งใหญ่ รวบรวมทั้งการค้าขาย สัมมนา และกิจกรรมเสริมความรู้ด้านอัญมณี เพื่อผู้ซื้อและซัพพลายเออร์จากทั่วโลก เดิมจัดที่ประเทศสิงคโปร์ จะจัดในวันที่ 2 – 5 พฤศจิกายน 2565

นอกจากนี้ ยังมีงานอิเวนต์ทั้งในและต่างประเทศ คอนเฟิร์มมาจัดงานที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์กว่า 160 งาน ตั้งแต่ศูนย์ฯ เปิด จนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งมีทั้งงานไมซ์ (MICE) และงานไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นงานคอนเสิร์ต อย่าง “T-Pop Concert Fest” รวมศิลปินเพลงป๊อปแนวหน้าชั้นนำของไทย เช่น พีพี บิวกิ้น, ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ป “4EVE”, โบกี้ ไลอ้อน ในวันที่ 29-30 ตุลาคม 2565 และงานมหกรรมเกมที่ยิ่งใหญ่ทีสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “Thailand Game Show” ในวันที่ 21-23 ตุลาคม 2565

และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในการเป็นสถานที่จัดงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ในวันที่ 13-18 พฤศจิกายน 2565

เปิดโซนค้าปลีก ในคอนเซ็ปต์ ‘Bangkok Active Lifestyle Mall’

และอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในการก้าวสู่การเป็น The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All คือ พื้นที่โซนรีเทล ภายใต้คอนเซ็ปต์ “แอคทีฟไลฟ์สไตล์มอลล์” เต็มรูปแบบแห่งแรกของกรุงเทพฯ (BALM – Bangkok Active Lifestyle Mall) บนเนื้อที่กว่า 11,000 ตารางเมตร BALM จะเป็นตัวสร้างสีสันและเติมเต็มให้กับศูนย์ฯ สิริกิติ์โฉมใหม่ใจกลางกรุงเทพ ที่ดึงดูดทุกกลุ่มไลฟ์สไตล์ทั้งในและต่างประเทศ ช่วยให้ย่านพระราม 4 – รัชดา กลายเป็นอีกหนึ่งที่พบปะสังสรรค์พูดคุยและใช้ชีวิตที่เนืองแน่นไปด้วยร้านค้ารีเทลหลากหลายหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ร้านอุปกรณ์กีฬา ร้านขายสินค้าไอที เป็นต้น

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”

จุดเริ่มต้นของศูนย์การประชุมแห่งแรกของไทย

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือกำเนิดจากการที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของธนาคารโลกและ       กองทุนการเงินระหว่างประเทศครั้งที่ 46 รัฐบาลจึงได้มีคำสั่งให้ก่อสร้างศูนย์การประชุมที่จะรองรับงาน   ดังกล่าวได้  โดยเริ่มวางแผนก่อสร้างเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532 ด้วยความทุ่มเทแรงกายแรงใจของทุกฝ่าย ทำให้การก่อสร้างสามารถแล้วเสร็จได้ในระยะเวลาเพียง 20 เดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ถึง 40 เดือน และเปิดให้บริการ วันแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2534 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระนามในขณะนั้น) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์การประชุม ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อของศูนย์การประชุม เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในเดือนสิงหาคม 2535

ศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้นำการจัดวางแผนผังหมู่อาคารของเรือนไทยภาคกลางมาประยุกต์ จากเดิมที่เป็น      หมู่เรือนหลายหลัง นำมาตั้งอยู่บนพื้นยกเดียวกัน ใช้วัสดุสีแดง ส้ม เขียว เหลือง ทอง นำมาตัดกันเพื่อเพิ่มมิติ เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย – ไฮเทค โดยแรกเริ่ม มีพื้นที่โดยรวม 65,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับจัดงานอิเวนต์ 25,000 ตารางเมตร รวมถึงพื้นที่จอดรถที่จอดได้ถึง 600 คัน และรองรับคนเข้าใช้บริการได้กว่า 5,000 คน

ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ทำหน้าที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงเป็นสถานที่ที่บันทึกเรื่องราวความทรงจำของงานประชุมและอิเวนต์สำคัญๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติกว่า 20,000 งาน ก่อนจะประกาศปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ ในเดือนเมษายน 2562 โดยปัจจุบัน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อยู่ภายใต้การการกำกับดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งบริหารงานโดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด

การปรับปรุงพื้นที่ครั้งใหญ่

ในวันที่ 12 เมษายน 2562 ศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้ทำการหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อทำการปรับปรุงสภาพพื้นที่ของศูนย์ในรูปแบบใหม่ด้วยงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท ขยายพื้นที่รวมให้มากขึ้นถึง 5 เท่า เป็น 300,000 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่จัดงานอิเวนต์ 78,500 ตารางเมตร พื้นที่สำหรับร้านค้าปลีก 11,000 ตารางเมตร สามารถรองรับการจัดงานได้ทุกรูปแบบอย่างไร้ขีดจำกัด ด้วยจำนวนฮอลล์จัดนิทรรศการ 8 ห้อง ห้องเพลนารี 4 ห้อง ห้องบอลรูม 4 ห้อง และห้องย่อย 50 ห้อง รองรับผู้เข้าใช้บริการได้มากถึง 100,000 คน/วัน พร้อมลานจอดรถใต้ดินที่สามารถจอดรถยนต์ได้มากถึง 3,000 คัน

ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทำหน้าที่เสมือนห้องรับรองแขก ทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ ดังนั้น การออกแบบตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในของศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่ จึงออกแบบโดยมุ่งเน้นการนำเสนอความเป็นไทยที่ผสมผสานกับยุคสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ภายใต้แนวคิด ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชน
กาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร(รัชกาลที่ 9) มาสร้างสรรค์ให้แต่ละชั้นภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์ มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก ได้แก่

  • ชั้น LG ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ และเป็นศูนย์รวมร้านค้า บริการ รวมถึงผลงานแสดงศิลปะชั้นครูของไทย ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้อย่างครบครัน อีกทั้งยังเป็นชั้นที่เชื่อมต่อกับทางเข้าจากรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ทำให้การออกแบบในชั้นนี้เน้นบรรยากาศการต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ภายใต้แนวคิด ‘ชุดไทยลำลอง’ หรือ ‘Casual Thai’  ให้ความรู้สึกถึงเสน่ห์ของผ้าไทยอย่าง ผ้าขาวม้า ผ้าถุง การจับจีบผ้า การซ้อนเกล็ด มาใช้ในการประดับตกแต่งส่วนต่าง ๆ 
  • ชั้น G ประกอบไปด้วยพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ศูนย์อาหาร และพื้นที่รีเทล การออกแบบในชั้นนี้ยกระดับจากคอนเซ็ปต์ชุดไทยลำลองให้ทางการขึ้นมาเล็กน้อย กลายเป็น ‘ชุดทางการแบบไทยประยุกต์’ หรือ ‘Formal Thai’ ได้รับแรงบันดาลใจจากโจงกระเบน มีการจับจีบผ้าและผนังให้เกิดรูปเว้าโค้งแบบลายไทย โดยโถงนิทรรศการหลักได้รับการตกแต่งด้วยวัสดุสีทองแดง รวมถึงประตูกัลปพฤกษ์ซึ่งเป็นประตูลายรดน้ำ ปิดทองที่ให้อารมณ์หรูหรา อันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยสมัยก่อน 
  • ชั้น 1 เป็นที่ตั้งของ Ballroom, Plenary Hall และห้องประชุม ห้องบอลรูม พื้นที่ส่วนนี้ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบมาจาก ‘ชุดชาวเขาไทย’ ที่เล่าเรื่องราวของธรรมชาติในรูปแบบลายเส้น รูปทรงเรขาคณิต และการใช้วัสดุตกแต่ง สีเงินจากเครื่องเงิน ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่ชาวเขานิยมสวมใส่ เพลนารีฮอลล์ (Plenary Hall) – ได้รับแรงบันดาลใจจากในการออกแบบจาก ‘ชุดไทยจักรี ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดไทยประจำชาติพระราชนิยม 8 ประเภท’ โดยเลือกลายพื้นฐานอย่าง ลายประจำยาม มาลดทอนรายละเอียด ขยายสัดส่วนให้ใหญ่ขึ้น และหยิบบางส่วนของเส้นสายในชุดไทยจักรีมาตกแต่งบรรยากาศให้ดูร่วมสมัย
  • ชั้น 2 ประกอบไปด้วยห้องประชุมย่อย พื้นที่รับรองแขก และร้านอาหาร ชั้นนี้ใช้การตกแต่งแบบเรียบหรู โปร่งโล่งด้วยผนังกระจกใสติดกับสวนเบญจกิติ และสามารถเดินออกไปยังระเบียงเพื่อมองวิวทิวทัศน์ของสวนได้ถึง 180 องศา

ที่สุดของอิเวนต์แพลตฟอร์ม

ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปรับปรุงศูนย์ฯ สิริกิติ์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คือการยกระดับศูนย์การประชุมแห่งชาติ สู่การเป็น The Ultimate Inspiring World-Class Event Platform หรือสุดยอดแพลตฟอร์มระดับโลกที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับทุกงานอิเวนต์เพื่อคนทุกคน บนแนวคิดหลักทั้ง 5 ประการ ได้แก่

  1. ที่สุดของการเข้าถึงง่าย (Ultimate Accessibility) เพราะตั้งอยู่กลางเมืองบนถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อแยกพระราม 4-รัชดา สามารถเข้าออกได้จาก 4 เส้นทาง ได้แก่ ถนนพระราม 4, ถนนสุขุมวิท, ถนนรัชดาภิเษก และถนนดวงพิทักษ์ พร้อมด้วยทางเชื่อมตรงรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สู่พื้นที่การจัดงาน เพื่อความสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับทุกคน
  2. ที่สุดของความปลอดภัย (Ultimate Safety) รักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด ดำเนินงานโดยบริษัทรักษาความปลอดภัย Certis Security ตามมาตรฐานการดำเนินงานระดับสากล
  3. ที่สุดแห่งเทคโนโลยีขั้นสูง (Ultimate Technology) ใช้งานอินเทอร์เน็ต (5G), สนับสนุนการจัดอิเวนต์รูปแบบออนไลน์และไฮบริด, เข้าใช้งานพื้นที่แบบไร้สัมผัส,ใช้ระบบบริหารอาคารอัจฉริยะ 
  4. ที่สุดแห่งความยืดหยุ่นเพื่อการจัดงานทุกรูปแบบ (Ultimate Flexibility) ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูง ไม่มีเสาค้ำยัน ทำให้สะดวกต่อการจัดการระบบโลจิสติกส์ และขนย้ายสินค้าจัดแสดงเข้าในพื้นที่ช่วงก่อนการจัดงาน และรองรับการจัดประชุมรวมถึงนิทรรศการหลากหลายรูปแบบได้พร้อม ๆ กัน
  5. ที่สุดแห่งความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี (Ultimate Sustainability) ก่อสร้างตามมาตรฐานอาคารเขียว LEED ระดับ Silver เน้นใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% และวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 75% นอกจากนั้น ยังมีแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์โดยรอบโครงการในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

ความพิเศษครั้งยิ่งใหญ่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ คือการยกระดับพื้นที่รีเทลให้กว้างขวางขึ้นถึง 11,000 ตารางเมตร และเปิดตัว BALM หรือ Bangkok Active Lifestyle Mall แหล่งรวมแอคทีฟไลฟ์สไตล์ครั้งแรกของกรุงเทพฯ พร้อมตอบโจทย์นักท่องเที่ยว คนรักสุขภาพ ครอบครัว คนทำงาน และผู้ใช้บริการ MRT ด้วยร้านค้าหลากหลายหมวดหมู่ ได้แก่

  • ร้านอาหาร  อิ่มอร่อยกับแบรนด์ดังขวัญใจมหาชน ไม่ว่าจะเป็น Food Street, KFC, Zen, Man Fu Yan, Tim Hortons, On The Table ฯลฯ
  • เครื่องดื่มและของหวาน ชาร์จพลังเติมความสดชื่น กับเครื่องดื่มจากแบรนด์ที่หลายคนคุ้นเคย เช่น Starbucks, TRUE COFFEE, Café Amazon, Seven Suns, Bake A Wish, After You, Krispy Kreme ฯลฯ
  • แอคทีฟไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์สายรักสุขภาพและออกกำลังกาย กับร้านสายแอคทีฟไลฟ์สไตล์ชั้นนำ เช่น Warrix, For U Pharma ฯลฯ
  • ร้านสะดวกซื้อและค้าปลีก เติมเต็มความสะดวกสบาย กับหมวดหมู่สินค้าที่ครบครันจากร้านสะดวกซื้อและค้าปลีกชั้นนำ ได้แก่ Lawson Station, 7-11, Mini Big C, Lemon Telecom, Asia Book X Wawee ฯลฯ

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดโลก ‘เมตาเวิร์ส’ และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ในงาน ‘THAILAND METAVERSE EXPO 2022’

ไทยพาณิชย์ – ศิริราช ลงนามความร่วมมือสนับสนุนหลักสูตรการเรียนรู้เสริมศักยภาพ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ