TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeโปรเจกต์ Mamma Mia the Musical 2023 บทเรียนล้ำค่าของนักเรียนสายดนตรีจากละครเพลงในตำนาน

โปรเจกต์ Mamma Mia the Musical 2023 บทเรียนล้ำค่าของนักเรียนสายดนตรีจากละครเพลงในตำนาน

วินาทีแรกที่แสงไฟบนเวทีค่อยสว่างขึ้นช้า ๆ แสงไฟฟอลโล่จับที่คอนดัคเตอร์ที่ออกมาโค้งทักทายคนดู ก่อนจะเริ่มพาวงสตริงคอมโบบรรเลงเพลงเปิดฉาก บนเวทียังไร้การเคลื่อนไหว ทำให้คนดูมีเวลารอคอยและจินตนาการไปก่อนว่าอะไรจะเกิดขึ้นบนเวที แสงไฟสลัวทำให้พอมองเห็นฉากหลัง ว่าน่าจะเป็นวิลล่าริมทะเล ในหมู่เกาะสักแห่งของประเทศกรีซ

จนเมื่อเพลงโหมโรงจบลง ตัวละครหลักปรากฏตัวขึ้นภายใต้แสงเลื่อมพรายดุจแสงดาวที่เกิดจากการสะท้อนแสงไฟจากดิสโก้บอล ไฟฟอลโล่จับที่ร่างของ โซฟี เด็กสาวผมบลอนด์ สีหน้าและแววตาของเธอเต็มไปด้วยความหวังบางอย่าง เริ่มขับขานเพลง I Have a Dream ด้วยน้ำเสียงหวานใส แต่อัดแน่นไปด้วยความรู้สึกภายใน ก่อนจะขานชื่อที่จ่าหน้าบนจดหมาย 3 ซองในมือของเธอ “แซม คาร์ไมเคิล, บิล แอนเดอร์สัน และแฮร์รี่ ไบรท์” แล้วหย่อนมันลงในตู้จดหมายทีละซองด้วยสีหน้าและอาการตื่นเต้น

นั่นคือฉากแรกของ Mamma Mia the Musical 2023 ที่จัดแสดง ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม -2 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา

หลายคนบอกว่าไม่น่าเชื่อว่าผู้สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ใช่นักศึกษามหาวิทยาลัย เอกละครเวที แต่เป็น “เพียง” เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสายดนตรี ที่เรียนเอกขับร้องและเอกเครื่องดนตรีอื่นๆ แต่เมื่อได้ชมละครความยาวกว่าสามชั่วโมงจนจบแบบลืมเวลา พร้อมติดตามเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานโปรดักส์ชั่นของเด็กมัธยมปลาย 60 กว่าชีวิต คำว่า “เพียง” จะถูกลบไป และความเข้าใจกับคำว่า “เด็กมัธยม” จะเปลี่ยนไป ไม่สามารถใช้เป็นคำกำหนดหรือตัดสินมาตรฐานการทำงานได้อีกต่อไป

‘Mamma Mia’ ละครเพลงในตำนาน สู่ The Musical ฝีมือเด็กเตรียมอุดมดนตรี มหิดล

จากละครเพลงในตำนาน สู่ Project Based Learning

ย้อนกลับไปในปี 1995 บทเพลงของ ABBA วงดนตรีสัญชาติสวีเดน ยุค 70s ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ โดย จูดี้ เครมเมอร์ โปรดิวเซอร์ผู้ให้กำเนิดละครเพลงที่ตั้งชื่อตามเพลง Mamma Mia ซึ่งมีที่มาจากการได้ฟังเพลง The Winner takes it all ที่เธอสัมผัสได้ถึงอารมณ์อันเต็มเปี่ยมของบทเพลง และเมื่อได้ลองไล่ฟังบทเพลงทั้งหมดจากอัลบั้มของ ABBA เธอก็พบว่าแต่ละเพลงมีความโดดเด่นที่แตกต่าง และมีศักยภาพมากพอที่จะร้อยเรียงให้เป็นละครเพลงในรูปแบบ Jukebox Musical แม้ตอนแรก Björn Ulvaeus และ Benny Andersson สมาชิกวงซึ่งเป็นผู้แต่งเพลงจะไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้นักแต่ก็ไม่ได้คัดค้าน

ในปี 1997 บทเพลงจากอัลบั้มของ ABBA จึงถูกนำมาร้อยเรียงกันอย่างมีเส้นเรื่องชัดเจน มีตัวละคร มีเนื้อเรื่องที่เขียนขึ้นมาเพื่อเชื่อมเพลงทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยฝีมือของ แคทเธอรีน จอห์นสัน นักเขียนบทละครชาวอังกฤษ เล่าเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก่อนวันแต่งงานของ โซฟี เมื่อเธอแอบส่งการ์ดเชิญไปหาชาย 3 คนที่เธอสงสัยว่าจะเป็นพ่อผู้ให้กำเนิดเธอ จนนำมาสู่เรื่องราวความรักครั้งเก่าที่ปะทุขึ้นใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางฉากหลังที่มีมนต์เสน่ห์ของวิลล่าในหมู่เกาะของประเทศกรีซ

จนปี 2020 ริชาร์ด ราล์ฟ อาจารย์ใหญ่ หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี Young Artists Music Program (YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล ตัดสินใจนำละครเพลง Mamma Mia ในตำนาน มาทำเป็นโปรเจกต์ให้นักเรียนฝึกฝนและเรียนรู้การผลิตละครเพลง ผ่านการซื้อลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Music Theatre International ด้วยเห็นว่าเนื้อหาของเรื่องไม่ลึกซึ้งและเข้มข้นมากเกินไป เหมาะสำหรับนักเรียนระดับมัธยมปลาย มีกำหนดการแสดงในเดือนมีนาคม ปี 2021 ซึ่งงานละครเพลงประจำปีเป็นหนึ่งในเวทีการแสดงความสามารถของนักเรียนสาขาขับร้องและสาขาอื่นๆ ที่ต้องการเรียนรู้กระบวนการจัดการแสดงละครเพลง

แต่หลังจากผ่านการคัดเลือกผู้แสดงและฝึกซ้อมนานกว่าสามเดือน คงเหลือเพียงการซ้อมจริงในหอแสดง โครงการก็ถูกประกาศเลื่อนและยกเลิกการแสดงไปในที่สุดเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และส่งผลให้นักเรียนรุ่นต่อมาที่เข้าเรียนชั้น ม.4 ในปี 2021 ต้องเรียนออนไลน์ตลอดปีการศึกษา จนปี 2022 นักเรียนได้กลับมาเรียนแบบปกติ โครงการละครเพลง Mamma Mia ที่ยังไม่มีโอกาสออกโรง ถูกนำมาสานต่ออีกครั้งเป็น Mamma Mia the Musical 2023 กำกับการแสดงโดยอาจารย์อาจารย์ใหญ่ผู้มีดีกรีทางด้านการศึกษาและการแสดงละคร

Mamma Mia the Musical 2023 มีองค์ประกอบหลักของงานโปรดักส์ชันครบเครื่อง ทั้งงานเบื้องหน้า ร้อง เล่น เต้น แสดง และงานเบื้องหลัง เวที ฉาก ประกอบฉาก แสงสีเสียง เสื้อผ้าหน้าผม รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ การตลาดและการขาย ประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยทีมงานนักเรียนมัธยมปลายกว่า 60 ชีวิต จนเรียกว่าเป็นการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรี หลังจากหายจากเวทีแสดงไปเกือบสามปี

เมื่อเด็ก ม.ปลาย ต้องแสดงเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว สาวแซ่บ และมนุษย์ป้าผู้น่ารัก

“Ooh You can dance. You can jive. Having the time of your life. Ooh, see that girl. Watch that scene. Digging the dancing queen”

บทเพลง Dancing Queen ดังขึ้นจากสามสาว Donna & The Dynamos วงดนตรีในท้องเรื่อง ที่มี ดอนน่า แม่ของโซฟี เป็นนักร้องนำร่วมกับ โรซี่ และทันย่า เพื่อนรักของเธอ ในฉากที่เพื่อนๆ พยายามปลอบใจดอนน่าที่กำลังเศร้าและสับสนกับอดีตของตัวเองให้เริงร่าขึ้น เป็นฉากหนึ่งที่ตรึงใจผู้ชมด้วยมิตรภาพระหว่างเพื่อน ที่นักแสดงหลักทั้งสามแสดงด้วยกันได้อย่างน่ารักอบอุ่น และดูเคมีเข้ากัน 

ลิลลี่ – อลินลดา ลิลลี่ แว็คยอคสกี นักเรียน ม.6 เอก Voice Classical เมเปิ้ล – ศรุตา เจิมจุติธรรม นักเรียน ม.6 เอก Voice Popular และ เพลง-ญาดา รังษีเทียนไชย  นักเรียน ม.5 เอก Voice Classical จะมาบอกเล่าถึงการทำงานทั้งเบื้องหน้าในส่วนของบทบาทนักแสดงหลัก และงานเบื้องหลังที่ต้องทำควบคู่กันไป  และประสบการณ์ที่ทั้งสนุกและเหนื่อยหนักกับการทำงาน กว่า 4 เดือนเต็ม กับละครเพลงเรื่องนี้

ลิลลี่ – อลินลดา และเมเปิ้ล – ศรุตา เคยผ่านการทำงานละครเพลงเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2020 ขณะนั้นทั้งคู่ยังเรียนอยู่ชั้น ม.4 ลิลลี่ ได้รับบทบาท โซฟี ตัวเอกของเรื่อง การแสดงท่ามกลางนักแสดงรุ่นพี่ ทำให้ลิลลี่ค่อนข้างตื่นเต้นและกดดัน เพราะรู้สึกว่าตัวเองอ่อนกว่าทุกคน ทั้งในเรื่องการร้อง การแสดง การเต้น ส่วนเมเปิ้ล รับบทนักแสดงประกอบหรือ Ensemble และยังไม่ได้รู้สึก “อิน” กับการแสดงมากนัก แต่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจและได้กลายเป็นแพสชั่นให้เธอในละครเพลงเรื่องนี้ คือ บทเพลงของ ABBA 

เพลง-ญาดา เข้าเรียนที่ YAMP ในปี 2021 ภายหลังจากโปรเจกต์ Mamma Mia ครั้งแรกถูกยกเลิกไป ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักเรียนรุ่นเธอ ต้องเรียนระดับชั้น ม.4 ผ่านช่องทางออนไลน์อยู่นาน 1 ปี ก่อนจะได้กลับมาเรียนออนไซต์ ชั้น ม.5 ในปี 2022  และรับหน้าที่เป็นทั้งโปรดิวเซอร์ และเป็นนักแสดงหลัก รับบท ทันย่า โดยออดิชั่นเป็นกลุ่มร่วมกับลิลลี่ และเมเปิ้ล และผ่านการคัดเลือกได้แสดงในชุดการแสดงเดียวกัน

Mamma Mia the Musical 2023 ลิลลี่ รับบท ดอนน่า แม่เลี้ยงเดี่ยวสายสตรอง สิ่งที่ยากสำหรับเธอ ทำยังไงให้คนดูเชื่อทั้งเรื่องอายุและการมีลูก เธอพยายามหาวิธีการเข้าถึงความรู้สึกของตัวละคร โดยการสร้างความเชื่อมโยงกับตัวละคร “ต้องคิดว่าลูกเรา เราเลี้ยงมายังไง เรารู้สึกอย่างไรกับลูก ความสนิทระหว่างแม่กับลูกมันขนาดไหน เราเจอผู้ชายแต่ละคนได้ยังไง มีประสบการณ์อะไรกับเรา เรารักเค้ามากแค่ไหน ก็จะทำให้เรารู้สึกกับแต่ละคนต่างกันไป”

เมเปิ้ล เลือกออดิชั่นบท โรซี่ ซึ่งเธอคิดว่าเป็นตัวละครที่เข้ากับตัวเองที่สุด แต่ก็ยังต่างกับชีวิตจริงอยู่ดี เมเปิ้ลใช้วิธีตีความบทบาทของโรซี่ ในความหมายของเธอเอง ชีวิตจริงเขาคือใคร วิธีการเดิน วิธีการพูดเขาเป็นอย่างไร รวมถึงการแต่งกาย “โรซี่ มีความเป็นป้าที่ทั้งหวานและเชย ผลก็คือแทบจะต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ยกเซท ที่ยากกว่าการเล่นเป็นป้าแก่ คือการต้องเล่นเข้าคู่กับผู้ชาย กว่าจะเล่นซีนกุ๊กกิ๊กขำขันอย่างที่ทุกคนเห็นกัน ต้องผ่านการคิดและปรับจูนกันค่อนข้างมาก”

เพลง รองประธานนักเรียนผู้มีบุคลิกเรียบร้อย รับบท ทันย่า สาวเปรี้ยวแซ่บ ต่างจากชีวิตจริงสิ้นเชิง เธอเลือกออดิชั่นบทนี้เพราะยังไม่มีประสบการณ์การแสดงจึงอยากลองบทรองที่ไม่ต้องแบกเรื่องมากนัก และเลือกระดับเสียงของตัวละครในระดับที่เธอถนัดร้องได้สบาย  “เราต้องทำการบ้านว่า เขาแอคชั่นยังไง มีจริตจะก้านยังไง การร้องค่อนข้างยากเพราะมีไลน์ประสานเยอะมาก บางเพลงมีถึง 6-7 ไลน์ ซีนที่ยากสำหรับหนู คือตอนที่มีชายหนุ่มมาตามจีบ แล้วเราต้องแสดงความไม่แคร์ มีใส่ชุดว่ายน้ำนอนอาบแดด ยิ่งไม่ใช่ตัวเองเข้าไปใหญ่ แต่ก็พยายามทำเต็มที่ จนเริ่มพอใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ” 

ลิลลี่ เล่าถึงสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดกับตัวเธอ ซึ่งในการแสดงรอบพรีวิวสำหรับสื่อมวลชน ไมโครโฟนของเธอมีปัญหา ทำให้เสียงร้องของเธอดังบ้าง ไม่ดังบ้าง และบางเพลงเสียงหายไปเลย แม้เวลานั้นเธอตกใจมากแต่ the show must go on “ตอนนั้นคิดว่าไมค์ไม่ติดก็ต้องร้องให้ดังขึ้น ซึ่งการใช้เสียงสดมันใช้ได้ ถ้าเป็นท่อนที่ร้องคนเดียว ในช่วงเสียงที่เราถนัด แต่ถ้าเสียงต่ำหรือมีการร้องของ Ensemble เข้ามา เสียงเราจะถูกกลบ แล้วมีเพลงหนึ่งที่เราต้องร้องเป็นไลน์หลัก คือเพลง Super Trooper น้องเพลงกับเมเปิ้ลร้องเป็นไลน์ประสาน แต่พอไมค์เราไม่ดัง เสียงไลน์หลักหาย ทำให้ Ensemble ก็รวนไปด้วย แล้วเมเปิ้ลก็มาช่วยร้องไลน์หลักแทน เราตื้นตันแทบจะร้องไห้ หันไปมองหน้าเมเปิ้ล อยากบอกว่า ขอบคุณมาก” ลิลลี่แชร์ความประทับใจ

เรียนรู้ทุกศาสตร์ของกระบวนการจัดการแสดง

การทำงานพรี-โปรดักส์ชัน เริ่มต้นจากการคัดเลือกนักแสดง ในช่วงเดือนธันวาคม 2022 เปิดรับนักเรียนจากทุกสาขาทั้งจากเอกขับร้อง และเอกอื่นๆ โดยอาจารย์มีข้อมูลของตัวละครว่ามีคาแรคเตอร์เป็นอย่างไร รวมถึงเพลงและซีนที่ใช้ออดิชั่น และเงื่อนไขอื่นๆ ทำการคัดเลือกนักแสดงด้วยกันสองชุด คือ Red Cast Group และ Yellow Cast Group เพื่อสลับกันเล่นในแต่ละรอบ โดยนักแสดงหลักของชุดหนึ่งจะเล่นเป็น Ensemble ของอีกชุดหนึ่ง

นอกจากมีนักแสดงหลัก ยังมีนักแสดงประกอบ หรือ Ensemble ที่มีบทบาทสำคัญมาก ๆ ในบริบทของละครเพลง ในการทำให้โชว์นั้น “ว้าว” ไม่ว่าจะเป็นร้อง เต้น แสดง เสริมพลังให้นักแสดงหลัก Ensemble แต่ละคนจะมีสตอรี่ของตัวเองที่คิดขึ้นมาว่าเขาเป็นใคร มาทำอะไรที่นี่ เหมือนนักแสดงคนหนึ่ง เพียงแต่ไม่ได้มีบทพูดหลักออกมา แต่จะต้องแสดงให้สอดคล้องและส่งเสริมบทบาทและอารมณ์ของตัวละครหลักในแต่ละฉาก

หนึ่งในความท้าทายของละครเพลงเรื่องนี้คือ บทละคร ที่ใช้บทภาษาอังกฤษต้นฉบับเป็นสำนวนแบบบริติชที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1997 มุขตลกบางมุขมีความเก่าเข้าใจยาก ทำอย่างไรจะให้คนดูเข้าใจและรู้สึกตลกไปด้วย ซึ่งอาจารย์ริชาร์ด ในฐานะผู้กำกับได้ช่วยอธิบายให้ทุกคนเข้าใจ และเป็นผู้วางตารางการฝึกซ้อมทั้งในและนอกเวลา ทั้งร้อง เต้น แสดง

ระบบการซ้อม แบ่งเป็นการรัน 3 รอบ รอบแรก คือการบล็อคกิ้ง นักแสดงสามารถถือบทได้ พูดทีละประโยค และอาจารย์จะหยุดเพื่อกำหนดการเคลื่อนไหว และอธิบายช้า ๆ นักแสดงต้องจดรายละเอียดไว้ รอบที่สอง ยังถือบทได้ แต่ปล่อยรันยาวบทพูดและการเคลื่อนไหว และรอบที่สาม คือ เล่นรันยาวแบบเอาบทออก จะทำอย่างนี้ในแต่ละฉากจนครบทุกฉาก แล้วจึงรันยาวต่อเนื่องกันทุกฉาก 

“ในช่วงแรกอาจารย์จะดูเรื่องบล็อคกิ้งมาให้ทั้งหมด เริ่มจาก ผู้กำกับ 80 เปอร์เซ็นต์ พวกเรา 20 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเริ่มอยู่กับตัวละครไปนานๆ ซ้อมไปนานขึ้น เราจะมีประสบการณ์และมีความคิดของตัวเอง ที่เรารู้สึกว่าอยากเดินไปตรงนี้มากกว่า อาจารย์จะเปิดรับไอเดียของพวกเราและปล่อยให้เราลองทำ ทำให้สัดส่วนของผู้กำกับจะลดลง จนสุดท้ายเป็นประมาณ 50-50” ลิลลี่อธิบาย

การซ้อมร้อง เริ่มจากการซ้อมร้องกับเปียโนแอคคอม  และมีการปรับจูนพลังของเพลงให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางที่เสริมกัน ระหว่างนักแสดงที่ร้องไลน์หลัก กับ Ensemble ซึ่งร้องไลน์ประสาน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการซ้อมกับวงดนตรี ในช่วงเวลา 2 เดือนก่อนการแสดง โดยเริ่มจากซ้อมร้องเฉยๆ เพื่อจูนกันก่อน แล้วจึงมาจัดบล็อคกิ้ง ซ้อมร้องควบคู่กับการแสดง  

อีกองค์ประกอบที่เป็นสีสันของละครเพลง คือ การเต้น นักแสดงได้รับการสอนและฝึกซ้อม โดย อาจารย์อัศกร ศิริสุจริตธรรม นักออกแบบท่าเต้น หรือ choreographer ซึ่งเมเปิ้ล สะท้อนความรู้สึกหลังจากได้เห็นท่าเต้นที่อาจารย์ออกแบบว่า “นับตั้งแต่เห็นครั้งแรก ก็รู้สึกว่าเป็นท่าที่เราสัมผัสได้ตั้งแต่เรายังไม่ได้ขึ้นไปอยู่บนเวทีว่า ถ้ามองจากมุมคนดู จะต้องอิมแพคมาก และน่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่เวลาเมเปิ้ลกลับห้องมา จะต้องซ้อมเต้นก่อน แล้วค่อยไปนอน ชอบมากๆ”

วงสตริงคอมโบ ลมหายใจของละครเพลง

กร – กรพล ฉันทสกุลเดช นักเรียนชั้น ม.5  เอกเพอร์คัสชั่น หรือเครื่องกระทบ นอกจากตำแหน่งประธานนักเรียนที่เพิ่งได้รับมาหมาดๆ ในโปรดักส์ชันครั้งนี้ เขารับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายไลท์ติ้ง และยังเป็นส่วนหนึ่งของวงสตริงคอมโบ ซึ่งเป็นลมหายใจที่อยู่คู่การแสดง ตั้งแต่วินาทีแรกจนวินาทีสุดท้ายที่แสงไฟบนเวทีดับลง ทำหน้าที่บรรเลงบทเพลงทั้งหมด 29 เพลง เป็นเพลงร้อง 20 เพลง นอกนั้นเป็นเพลงที่ใช้ในการเปิดฉาก เปลี่ยนฉาก ประกอบฉาก และปิดฉาก

กรอธิบายว่า ส่วนใหญ่ดนตรีของละครเวทีมักเป็นวงออร์เคสตร้า แต่ด้วยความที่ละครเพลงเรื่องนี้เป็นเพลงป๊อบ จึงใช้วงสตริงคอมโบ แต่จะมีความอลังการตรงที่ใช้กีตาร์ 2 ตัว เบส 1 ตัว กลองชุด เพอร์คัสชั่นชุดใหญ่พร้อมผู้เล่น 2 คน และมีคีย์บอร์ด 4 ตัว ที่เล่นแทนออร์เคสตร้าทั้งวง โดยใช้เสียงเอฟเฟคต่างๆ คีย์บอร์ดแต่ละตัวจะเล่นไลน์ดนตรีต่างกัน แต่ละคนก็จะแบ่งหน้าที่กันไป ทำให้เวลาหลับตาฟังจะนึกถึงภาพออร์เคสตร้า ที่มีเครื่องเป่า เครื่องสาย เครื่องเป่าลม เครื่องทองเหลือง และเสียงเปียโนหลัก

การคัดเลือกนักดนตรีและการจัดวงเป็นไปโดยระบบสมัครใจ โดยมี อาจารย์ยุทธพล ศักดิ์ธรรมเจริญ เป็นผู้ดูแลการจัดวง การฝึกซ้อม และเป็นคอนดัคเตอร์กำกับดนตรีในการแสดง โดยในช่วงแรกอาจารย์จะให้นักดนตรีฝึกซ้อมให้เล่นเพลงได้ก่อน จากนั้นก็มาสู่ช่วงการซ้อมร่วมกับนักแสดง เพื่อให้ได้ฝึกร้องกับวง พอขยับเข้าสู่ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการแสดง จะเป็นทั้งการซ้อมและการนัดคิวให้สอดคล้องระหว่างบทพูดและดนตรี ซึ่งจะซ้อมรวมถึงการเช็คระบบเสียงในหอแสดงจริง

กร คิดว่าสิ่งที่เป็นความท้าทายในการทำงาน คือเรื่องการจัดการเวลา ด้วยกิจกรรมที่อัดแน่น ไม่ว่าจะเป็นสอบปลายภาค กิจกรรมคอนเสิร์ตต่างๆ ในแต่ละงานก็ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ส่วนการเล่นบนเวที ความยากอยู่ตรงที่ต้องเล่นไปด้วย ฟังการร้องของนักแสดงด้วย และคอยดูจังหวะจากคอนดัคเตอร์ให้ดี ภาระหนักจึงอยู่กับคอนดัคเตอร์ที่ต้องนัดคิวระหว่างนักดนตรีและนักแสดง และกำกับให้เข้าให้ตรง 

“การนัดคิวจะดูที่ไดอะล็อค พอถึงประโยคนี้นักดนตรีจะเข้า แล้วนักร้องก็ร้องท่อนนี้เลย แต่ในการแสดงจริง นักแสดงอาจจะพูดช้าเร็ว หรือมีลูกเล่น เราก็ต้องลุ้น เช่น ฉากขอแต่งงาน ดนตรีจะต้องเข้าตรง คำว่า do แต่นักแสดงมีลีลาการพูด I…ในขณะที่เราเตรียมตัวเข้าตรงคำว่า do แล้ว แต่เขาพูด I do อีกรอบก็ทำเราหัวทิ่มกัน แต่โดยรวมผมคิดว่า วงเราก็เล่นได้ดี ตรงตามคิวที่ซ้อมกับนักแสดง มีพลาดเพราะเหนื่อยบ้างก็เป็นปกติ ก็ช่วยกันประคองกันไป” กรอธิบายให้เห็นภาพการทำงานร่วมกันระหว่างนักดนตรี คอนดัคเตอร์ และนักแสดง

Producer & Production งานหน้าบ้านกับงานเบื้องหลัง

นอกจากบทบาทนักแสดงหลัก หรือนักแสดงประกอบ แต่ละคนยังต้องรับงานเบื้องหลังควบคู่กันไป ตามความถนัดและสนใจอยากเรียนรู้ เพลง-ญาดา รังษีเทียนไชย ซึ่งเข้ามารับงานสภานักเรียนหมาด ๆ ช่วงต้นปี 2023 ในตำแหน่งรองประธานนักเรียน นอกจากรับบทหลักเป็น ทันย่า แล้วยังรับหน้าที่โปรดิวเซอร์ของละครเพลง Mamma Mia the Musical 2023

“งานเบื้องหลังจะแบ่งเป็น โปรดิวเซอร์ กับ โปรดักส์ชัน พูดง่ายๆ ก็คือ โปรดิวเซอร์ เป็นเหมือนหน้าบ้าน ส่วนโปรดักส์ชัน คือ งานหลังบ้าน โปรดิวเซอร์จะดูแลงานประชาสัมพันธ์ งานมาร์เก็ตติ้ง งานไรท์เตอร์ งานมีเดีย ดูแลเรื่องการขายทั้งหมด ต้องไปดีลงานขายบัตรกับทิคเก็ตเมล่อน เรื่องของชำร่วยช่วยกันเลือก พีอาร์ก็ต้องโปรโมท ทำยังไงให้คนสนใจเรามากขึ้น” เพลงอธิบาย

นัย – นิตินันท์ ธรรมปัญญา นักเรียนชั้น ม.5 สาขา Music Production เครื่องมือเอกเปียโนแจ๊ส หนึ่งในกรรมการสภานักเรียนชุดใหม่ ในตำแหน่ง Head Production คือผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญในการดูแลงานเบื้องหลังเกือบทั้งหมด ในหน้าที่โปรดักส์ชันเมเนเจอร์ มีหน้าที่หลักในการควบคุมงานหลังบ้านทั้งหมด ได้แก่ ไลท์ติ้ง ซาวนด์ สเตจ พรอพ คอสตูม มีเดีย และไรเตอร์ 

นัยอธิบายว่า การทำงานในช่วงพรีโปรดักส์ชัน เขาจะต้องประชุมงานกับเพื่อนที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของแต่ละฝ่าย หารือเรื่องงบ การจัดหาอุปกรณ์ต้องใช้อย่างไร การขอสปอนเซอร์บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในงานด้านนั้น ๆ มาช่วย เช่น ด้านไลท์ติ้ง หรือซาวนด์ มีการประชุมกันทุกสัปดาห์ ๆ ละครั้ง พอถึงงานจริงก็จะแยกไปเป็นแต่ละฝ่ายและมีอาจารย์ช่วยดูแล 

เมื่อถึงช่วงสองสัปดาห์ก่อนแสดง จะเป็นช่วงการเตรียมงานในหอแสดง นักแสดงจะเริ่มซ้อมตั้งแต่วันแรก บางวันที่ไม่ได้ซ้อมคือ เป็นวันที่เอาของมาลง เพื่อเซ็ทฉาก เซ็ทแสง หรือเช็คอุปกรณ์ ไมค์ เครื่องเสียง นัยและหัวหน้าแต่ละทีมจะเข้ามาดูแลคุมงาน สลับไปกับการดูแลการซ้อม คอยอำนวยความสะดวก และดูแลปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น 

เมื่อถึงวันแสดงจริง ทุกอย่างเตรียมการได้ลงตัวหมดแล้ว นัยจะอยู่บนบริเวณที่นั่งแถวบนซ้ายสุด ที่มีประตูเปิดเพื่อเดินเข้าไปหลังเวทีได้ เพื่อคอยดูภาพรวม เรียกคิวการแสดง การเปลี่ยนฉากและเซ็ท ส่วนเรื่องไลท์ติ้ง ไฟฟอลโล่วที่ฉายตรงตัวนักแสดง หรือการคุมซาวนด์ คุมคิวไมค์ จะเป็นหัวหน้าของฝ่ายนั้น ๆ เป็นคนควบคุม ซึ่งนอกจากงานดังที่กล่าวมา เขายังมีหน้าที่สำคัญมากคือ การตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

“การแสดงรอบพรีวิว มีปัญหาไมค์ของดอนน่าเสียงหาย ผมตกใจมาก รีบเดินไปคุยกับพี่ที่คุมซาวนด์ ถามว่า มันเกิดจากอะไร ต้องทำยังไง ลองเปลี่ยนตัวรับสัญญาณ ก็ยังดับอีก ก็เปลี่ยนตัวใหม่ไปเลย สุดท้ายก็ติด ทำให้ องค์สองรอดทั้งหมด ส่วนองค์หนึ่งรวนมาก แต่ตอนนั้น นักแสดงเค้าไม่รู้เอาพลังเสียงมาจากไหน ร้องจนได้ยิน โปรเจกต์เสียงดีมาก พอจบงานแล้วผมก็เดินไปขอโทษนักแสดง ดีว่าเป็นรอบแรก ๆ หลังจากนั้นก็เข็ดเลย เตรียมไมค์ลอยมาสำรองไว้รอเลย” นัย ล่าถึงปัญหาเฉพาะหน้าที่พบเจอตอนหน้างานจริงในการแสดงรอบพรีวิวสำหรับสื่อมวลชน

ประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

สิ่งที่คนดูเห็นคือหน้าฉากที่ดูสวยงาม การออกแบบแสงที่ให้ฟีลของแสงแดดส่องผ่านใบไม้เป็นเงากระทบวิลล่าสไตล์กรีซ เสื้อผ้าหน้าผมที่ช่วยให้เรื่องราวดูสมจริง การแสดงที่เป็นธรรมชาติ ท่าเต้นที่เสริมพลังกันระหว่างนักแสดงหลักและนักแสดงประกอบ ไปจนถึงการร้องที่ไพเราะเข้าถึงอารมณ์ ทั้งอบอุ่น เริงร่า สับสน และจบด้วยความรู้สึกคลี่คลายและเติบโตของตัวละคร แต่สิ่งที่อยู่หลังฉากที่คนดูไม่เห็น เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ทั้งการฝึกซ้อมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความพยายามในการพัฒนาตนเองของแต่ละคน ความผิดพลาดที่กลายมาเป็นบทเรียน และมิตรภาพที่ก่อตัวท่ามกลางการทำงาน

นัย สรุปหัวใจหลักของงานโปรดักส์ชันเมเนเจอร์ ว่าคือการทำให้โชว์ไปต่อได้จนจบ ไม่สะดุด ไม่ผิดพลาดหรือผิดพลาดน้อยที่สุด การจะทำเช่นนั้นได้ ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ถ้าผิดพลาดหรือเริ่มละเลยหน้าที่ ต้องคุยตักเตือนกันโดยพูดกันดี ๆ รวมถึงให้กำลังใจกันด้วย แต่ถ้าปัญหาเริ่มหนักขึ้น ก็ต้องคุยกันจริงจัง ชัดเจนและเด็ดขาด หลัก ๆ คือ เริ่มจากการคุย ถามหาเหตุผล และแก้ปัญหาให้งานเดินต่อไป

เขาแบ่งปันภาพฝันของตนว่า ส่วนที่เขาชอบที่สุดคือประสบการณ์จากการลงมือทำจริง ๆ ได้ทำงานกับทีมงานระดับประเทศ ทำให้ความฝันในการเป็นซาวนด์เอนจิเนียร์ของนัยชัดเจนขึ้นอีก ในอนาคตเขาอยากทำ Studio และมีบริษัทที่ทำด้านโปรดักส์ชัน จัดอีเวนท์คล้ายกับมิสเตอร์ทีม ก่อนจะทิ้งท้ายฝากความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนๆ และอาจารย์ว่า

“ทุกคนทำเต็มที่และดีที่สุดในแบบของเด็กมัธยมปลายแล้ว ทุกคนมีส่วนร่วม จริงจัง ตั้งใจเต็มที่กับมัน อาจจะมีที่เหนื่อยแต่ก็มีลูกฮึดขึ้นมาในที่สุด พองานนี้จบลง รู้สึกว่าเราสนิทกันมากขึ้นเพราะผ่านอะไรมาด้วยกันเยอะ และอยากบอกกับอาจารย์ริชาร์ดว่า แม้จะรู้สึกว่าอาจารย์คอยเคี่ยวเข็ญ กดดัน แต่ทุกอย่างที่อาจารย์สอนให้ประโยชน์กับพวกเราล้วน ๆ รู้สึกขอบคุณมากจริง ๆ”

เพลง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องบทเรียนจากการทำงานว่า ความยากสำหรับเธอคือ การแบ่งเวลาในการทำงาน กับการที่เธอได้ทำงานเต็มตัว ทั้งดูแลในหน้าที่ โปรดิวเซอร์ และเรื่องการแสดง “นอกจากต้องซ้อม 6 โมง – 3 ทุ่ม แล้ว หลัง 3 ทุ่ม ก็ยังต้องมีประชุมอีก บางวันเหนื่อยจนออกมาทางสีหน้า แต่ก็เรียนรู้ได้ว่า นี่เราจะหาประสบการณ์แบบนี้ได้จากที่ไหน ได้เรียนรู้จากพี่ๆ และอาจารย์หลายๆ คน แล้วในอนาคตก็ไม่มีรุ่นพี่แล้ว เรากลายเป็นรุ่นพี่แทน ต้องไปบอกต่อกับรุ่นน้องได้ และส่วนตัวหลังจากที่ได้ทำงานงานนี้ ทำให้รู้ตัวว่าชอบงานทั้งสองด้านคือ ทั้งด้านละครเพลง และด้านธุรกิจดนตรี ก็ยังมีเวลาอีก 1 ปี ต้องค้นหาตัวเองต่อไป”

เมเปิ้ล บอกเล่าถึงอิมแพคของการทำงานละครเพลงครั้งนี้ที่เติมเต็มภาพในอนาคตของเธอว่า “Mamma Mia ทำให้เมเปิ้ลเห็นภาพตัวเองในอนาคต รู้ว่าเราอยากทำอะไรต่อไป เรามีความสุขกับการทำตรงนี้ เราชอบในการวิเคราะห์บท ชอบในการสร้างเรื่องราว สร้างคาแรคเตอร์ เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก สำหรับเด็ก ม.6 ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสได้ทำโปรดักส์ชันใหญ่ขนาดนี้” เมเปิ้ลกล่าว

“สำหรับหนู มิวสิคัลมันเป็นอะไรที่หน้าเวทีสนุกมาก เราเต็มที่ เราปล่อยสุดได้ แต่หลังเวทีเครียดมาก เครียดทุกเรื่อง ถ้าเห็นข้างหลังจริงๆ จะเห็นว่าเละเทะมาก ของหาย เสื้อผ้าหาย ประตูหัก ลูกบิดหลุด ตกร่อง นักแสดงล้ม ฉากเกือบจะพัง เปลี่ยนชุดไม่ทัน ลืมคิว” ลิลลี่ พรั่งพรูถึงภาพความทรงจำการทำงานที่เพิ่งผ่านพ้นมาหมาด ๆ ก่อนจะสรุปบทเรียนของตัวเธอเองว่า เธอได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการจัดการเวลา และการหาสมดุลในการพัฒนาตัวเองให้ข้ามพ้นข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องการร้องเพลง บางเพลงค่อนข้างยากสำหรับเธอมาก ทั้งการร้องและอารมณ์

“เมื่อก่อนหนูเป็นคนร้อง โดยที่ไม่ได้คิดหรือรู้สึกว่าอินกับเพลง จะคิดถึงแต่เทคนิคการร้อง แต่การทำงานครั้งนี้ รู้สึกว่าตัวเองก้าวข้ามมาอีกขั้น รวมถึงความผูกพันระหว่างคนทำงานด้วยกัน เป็นโปรดักส์ชันที่ให้อะไรหลายๆ อย่างจนพูดได้ไม่หมด” ลิลลี่กล่าว

กร แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในมุมของนักดนตรีว่า เขาได้เรียนรู้การจัดสรรเวลา การทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการฝึกสื่อสารกับคนภายนอกด้วย ส่วนเรื่องการนำไปใช้ในอนาคตคิดว่าต้องมีโอกาสได้เล่นประกอบการแสดงแบบนี้อีกแน่นอน การทำงานครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์แรกที่ดีมาก ในการเล่นเพอร์คัสชั่นในวงสตริงคอมโบเพื่อประกอบละครเพลง

“อยากจะขอบคุณอาจารย์ ขอบคุณรุ่นพี่ เพื่อนๆ รุ่นน้องทุกคน ขอบคุณทีมงานทุกๆ คน ที่เหนื่อยมาด้วยกัน ทำให้งานชิ้นนี้ออกมาสวยงามและประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน ขอบคุณจริงๆ ในการทำงานครั้งต่อๆ ไปก็อยากจะพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น สื่อสารได้ดีขึ้น และรวดเร็วขึ้น” ประธานนักเรียนคนล่าสุดฝากทิ้งท้ายถึงทีมงาน Mamma Mia the Musical 2023 ทุกคน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

คนไทยยังรักการอ่าน งานหนังสือ ยอดขายทะลุ 351 ลบ. การ์ตูน-วัยรุ่น ครองแชมป์ขายดี

Hack Thailand 2575 สร้างต้นแบบนโยบายจากประชาชน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ