TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessมาสเตอร์การ์ด ขยาย Pay Later หรือ “จ่ายทีหลัง” สู่ประเทศไทย

มาสเตอร์การ์ด ขยาย Pay Later หรือ “จ่ายทีหลัง” สู่ประเทศไทย

ธุรกิจผ่อนชำระกำลังอาศัยการเติบโตของการใช้จ่ายออนไลน์และการเลือกใช้บัตรเดบิตแทนบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายอย่างประหยัดในสภาวะเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้ ในการขยายตัว

ซานดีฟ มาลโฮทรา รองประธานกรรมการผู้บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์และนวัตรกรรม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ The Story Thailand ถึงแผนการขยายโซลูชั่น Pay Later หรือ “จ่ายทีหลัง” สู่ประเทศไทย

Q: การผ่อนชำระถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยความแตกต่างของโซลูชั่นนี้ Pay Later กับสิ่งที่มีอยู่แล้วในตลาดมีความแตกต่างกันอย่างไรและความแตกต่างนี้จะส่งผลอย่างไรต่อผู้บริโภคและร้านค้าในประเทศไทย

A: จริงอยู่ที่การผ่อนชำระสินค้ากำลังได้รับความนิยมในประเทศไทยและทั่วทั้งเอเชีย แต่ส่วนมากจะเป็นการผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของธนาคาร หรือของบริษัทฟินเทค

สิ่งที่ต่างกันออกไปคือ โซลูชันจากมาสเตอร์การ์ดและไพน์ แล็บเป็นการนำเทคโนโลยี “Pay by Account” มาใช้เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถผ่อนชำระสินค้ากับร้านค้าทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ได้ไม่ว่าจะผ่านทางบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือแม้แต่บัญชีธนาคาร เป็นการเพิ่มทางเลือกในการชำระสินค้าและช่วยให้ผู้บริโภคสามารถจัดการกระแสเงินสดได้ดีขึ้น

สำหรับร้านค้า โซลูชั่นของเราจะช่วยเพิ่มยอดขายต่อบิลและลดการทิ้งตะกร้าสินค้า ทำให้ยอดขายสูงขึ้น จากการศึกษาของมาสเตอร์การ์ดพบว่า 43% ของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มอย่างน้อย 15% หากพวกเขาสามารถผ่อนชำระสินค้าได้ จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าโซลูชั่นการผ่อนชำระจะเป็นประโยชน์ต่อร้านค้าอย่างมาก

Q: ทำไมคุณถึงมั่นใจว่าคนไทยต้องการโซลูชั่นผ่อนชำระสินค้าและโซลูชั่นนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนเนื่องจากไทยเป็นสังคมที่ใช้เงินสดเป็นหลัก

A: กลุ่มชนชั้นกลางในประเทศไทยและทั่วทั้งเอเชียมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นกลุ่มที่ต้องการทางเลือกในการชำระสินค้าและความสะดวกสบายในการใช้จ่าย โซลูชัน “จ่ายทีหลัง” ของเรายังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันอีเพย์เมนต์เพื่อก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอีกด้วย

นอกจากนี้ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลและไม่อาจกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก ตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลที่เห็นได้ชัดเจน คือ ปริมาณการชำระเงินแบบคอนแทคเลส  ของมาสเตอร์การ์ดเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดย 41% ของการชำระเงินที่หน้าร้านเป็นแบบคอนแทคเลส เพิ่มขึ้น 37% จากไตรมาสที่ 2 และเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผลสำรวจของเราพบว่าแนวโน้มนี้จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ

ผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ดในเดือนเมษายนปี 2563 พบว่า คนในประเทศไทย:

  • 59% ใช้เงินสดน้อยลง
  • 18% ใช้บัตรเครดิตแบบคอนแทคเลสมากขึ้น
  • 15% ใช้บัตรเดบิตแบบคอนแทคเลสมากขึ้น
  • 43% ช้อปออนไลน์มากขึ้น และ 43% สั่งซื้ออาหารและของชำให้มาส่งที่บ้านมากขึ้น – เมื่อเทียบกับ 37% ในเดือนมีนาคมปีที่แล้วสำหรับทั้ง 2 หมวดหมู่

ไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นดิจิทัลสูงมากอยู่แล้ว โดยเจพี มอร์แกน ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ คาดการณ์ว่าดิจิทัลเพย์เมนต์ในไทยจะมีมูลค่ามากกว่า 2.7 แสนล้านบาทในปีนี้ (9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) 

Q: ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มเป็นอย่างไร? ตลาดการผ่อนชำระมียอดมูลค่าเท่าไหร่และแนวโน้มการผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นอย่างไร

A: รูปแบบของตัวเงินในอนาคตจะเป็นแบบดิจิทัล และจำนวนการถอนเงินจากตู้ ATM จะลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ดพบว่า 70% ของผู้บริโภคทั่วโลกจะยังคงซื้อหรือซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่ผู้คนในเอเชีย 46% คาดว่าจะใช้เงินสดน้อยลง และประชากรส่วนมากกล่าวว่าการชำระเงินแบบคอนแทคเลสจะยังคงมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 71% ของประชากรในออสเตรเลีย 77% ในอินเดีย 73% ในจีน และ 62% ในญี่ปุ่น

อาเซียน คือ ตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไป

ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังคุ้นชินกับความสะดวกสบายของการสั่งซื้อสินค้าและบริการตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นบริการส่งอาหาร คอร์สออกกำลังกาย ระบบแพทย์ทางไกล หรือความบันเทิง โดยคาดหวังให้มีตัวเลือกและความยืดหยุ่นมากที่สุดในการชำระเงิน รวมถึงระยะเวลาในการชำระเงิน

โซลูชั่น “จ่ายทีหลัง” สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของเราที่ต้องการนำเสนอเครือข่ายชำระเงินระดับโลกที่มีหลากช่องทางให้กับธุรกิจดิจิทัลคอมเมิร์ซอย่างครบวงจร ตั้งแต่การชำระเงินระหว่างบุคคล การชำระเงินระหว่างบัญชี ไปจนถึงการชำระเงินแบบเรียลไทม์

Deutsche Bank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี คาดการณ์ว่าตลาดการผ่อนชำระจะมีมูลค่าราว 23.9 ล้านล้านบาท (8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในปี 2566 คิดเป็น 13% ของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับมูลค่าในปัจจุบัน (มูลค่าตลาดการผ่อนชำระต่อมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2563 อยู่ที่ 10%)

ข้อมูลของมาสเตอร์การ์ดแสดงให้เห็นว่า หากธุรกิจหรือร้านค้าที่ให้บริการโซลูชั่นผ่อนชำระ “จ่ายทีหลัง” ในภูมิภาคเอเชียรวมตัวกัน พวกเขาจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจหรือร้านค้า 5 อันดับแรกที่ได้ให้บริการผ่อนชำระจากการผ่อนชำระด้วยบัตรทั้งหมดในตลาดในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเรามองว่าแนวโน้มนี้มีแต่จะเติบโตหากโซลูชั่น “จ่ายทีหลัง” ของเราได้ขยายมายังประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาค

ผู้บริโภคเลือกผ่อนชำระกับสินค้าหลากหลายประเภท แต่สิ่งที่มาสเตอร์การ์ดและไพน์ แล็บเห็นคือ รถยนต์และสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นประเภทสินค้าที่มีการผ่อนชำระมากที่สุด ยกตัวอย่างประเทศอินเดียในเดือนตุลาคมปีนี้ที่การผ่อนชำระสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 37% รถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 980% และรถจักรยานยนต์สามารถขายได้ 30,000 คัน จาก 0 คัน ในปีก่อนหน้า

เรามองตลาดการผ่อนชำระในปี 2564 เป็นเชิงบวก เนื่องจากเราคาดว่าจะได้เห็นผู้คนออกมาจับจ่ายมากขึ้นหลังจากที่อัดอั้นมานาน รวมถึงการเติบโตของธุรกิจจากการเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในพฤติกรรมของผู้บริโภคและความชอบในการชำระเงินแบบดิจิทัลและคอนแทคเลส รวมถึงอีคอมเมิร์ซและการมีทางเลือกอื่นอย่างการผ่อนชำระ

Q: โซลูชั่นนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพราะโควิดหรือได้มีการพัฒนามาตั้งแต่ก่อนที่โควิดจะแพร่ระบาด

A: การขยายโซลูชั่น “จ่ายทีหลัง” ของมาสเตอร์การ์ดและไพน์แล็บสู่ประเทศไทยและอีก 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นการต่อยอดความสำเร็จของโซลูชั่นที่ได้เปิดตัวไปแล้วเมื่อต้นปีนี้ (2563) ที่ประเทศอินเดียและมาเลเซีย

แม้ผู้คนจะเริ่มก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังขาดคือการผ่อนชำระ ณ จุดขาย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการให้บริการ

การผ่อนชำระส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยทำให้คนกด “เพิ่มในตะกร้า” หรือใช้จ่ายมากขึ้น

เราต้องการช่วยให้ร้านค้าและผู้ออกบัตรสามารถให้บริการผ่อนชำระแบบต่างสถาบันการเงินได้ทุกที่ที่รับชำระด้วยมาสเตอร์การ์ด

Q: โซลูชั่น Pay Later “จ่ายทีหลัง” ถูกพัฒนามาเพื่อธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะหรือไม่ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถใช้ได้หรือไม่มีฟังก์ชันสำหรับธุรกิจ SMEs ไทยโดยเฉพาะหรือไม่

A: ไม่ว่าธุรกิจใดก็จะได้ประโยชน์จากโซลูชั่น “จ่ายทีหลัง” ของเรา เนื่องจากการผ่อนชำระมีอิทธิพลโดยตรงต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่แล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาด การที่ธุรกิจ SMEs สามารถรับผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัญชีธนาคารเพื่อเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้แก่ผู้บริโภคได้จึงเป็นหนึ่งในแนวทางการปรับตัวที่น่าสนใจ ดังนั้นโซลูชั่น “จ่ายทีหลัง” ของเราจึงเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจสำหรับทุกธุรกิจ SMEs 

จากการศึกษาโดย International Data Corporation แสดงให้เห็นว่าการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลของธุรกิจ SMEs จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกราว 78 ล้านล้านบาท (2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ถึง 93 ล้านล้านบาท (3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในปี 2567 และราว 70% ของธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคจะช่วยเร่งการพัฒนาสู่ความเป็นดิจิทัลเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สิ่งที่เราได้เห็นจากความร่วมมือกับไพน์ แล็บจนถึงทุกวันนี้คือ ยอดปริมาณธุรกรรมจากโซลูชัน “จ่ายทีหลัง” สูงขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด และการซื้อแบบผ่อนชำระเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมในปีที่แล้ว

นอกจากนี้โซลูชั่นของเรายังขยายผลประโยชน์ไปสู่ร้านค้าและผู้บริโภคในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งตอนนี้มูลค่าธุรกรรมในเมืองรองและเมืองขนาดเล็กคิดเป็นสัดส่วนถึง 54% ของมูลค่าธุรกรรมโดยรวมของการซื้อภายใต้โซลูชั่น “จ่ายทีหลัง”

Q: เข้าใจว่าโซลูชันนี้จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจและกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคคุณคาดว่าโซลูชันนี้อาจทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นหรือไม่?

A: โซลูชันของเราเป็นการขยายการเข้าถึงโปรแกรมผ่อนชำระให้แก่ธุรกิจทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจ SMEs รวมถึงช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเสนอกลยุทธ์การตลาดที่ตรงใจผู้บริโภคไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกชำระด้วยบัตรหรือผ่านบัญชีธนาคารก็ตาม

โซลูชันมีความโปร่งใสและให้ความยืดหยุ่นทางการเงินแก่ผู้บริโภค ร้านค้า และสถาบันการเงิน และยังช่วยในเรื่องการบริหารกระแสเงินสด ช่วยให้เข้าถึงสินค้าและบริการ และเพิ่มยอดให้กับร้านค้าขนาดเล็ก

เราสนับสนุนให้ทุกคนใช้จ่ายอย่างมีวินัยและความรับผิดชอบ สิ่งสำคัญ คือ ผู้บริโภคต้องตระหนักและศึกษาผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่พวกเขาใช้ให้เข้าใจ ความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้มั่นใจว่าเงื่อนไขการชำระเงินยุติธรรมและผู้บริโภคเข้าใจถึงเงื่อนไขนั้น ๆ

Q: ร้านค้าสามารถนำการเข้าถึงเครือข่ายของผู้ให้บริการผ่อนชำระผ่านจุด ๆ เดียวซึ่งมีการใช้งานง่าย” ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่ามาสเตอร์การ์ดทำให้ระบบนี้ง่ายต่อการจัดการได้อย่างไรรวมถึงจะสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจว่าลูกค้าจะชำระเงินครบได้อย่างไร

A: โซลูชันของเราเป็นระบบที่เชื่อมโยงระบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน (Omni-channel solution) และมีความเรียบง่ายทางเทคนิคและการดำเนินงาน จึงง่ายต่อการนำมารวมเข้ากับระบบของผู้ใช้งาน

ร้านค้าและผู้ออกบัตรสามารถเข้าถึงเครือข่ายของผู้ให้บริการผ่อนชำระได้จากจุดเดียว โซลูชันของเราเชื่อมต่อกับเครือข่ายบัตรและบัญชีต่าง ๆ ใช้ระบบ API และไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในการขอคำอนุมัติ ดำเนินการซื้อขายสินค้า หรือชำระสินค้า

ผู้ออกบัตรสามารถนำโซลูชันไปติดตั้งและใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การตั้งค่า การวางแผนโครงการ การประมวลผลธุรกรรม การฝึกอบรมพนักงาน การทดสอบ ตลอดจนการติดตั้งในขั้นตอนสุดท้าย ในขณะที่ทางฝั่งแบรนด์โซลูชันนี้จะช่วยลดความยุ่งยากในการทำข้อตกลงแบบทวิภาคีกับร้านค้าและผู้ออกบัตรจำนวนมาก

Q: มุมมองและบทบาทของมาสเตอร์การ์ดต่อการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างไร

A: การผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าด้วยกันโดยบริษัทฟินเทคกำลังขับเคลื่อนให้เกิดโซลูชันใหม่ ๆ แก่ผู้คนนับล้านที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ทั้งยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต

มาสเตอร์การ์ดทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทฟินเทคและพันธมิตรในหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสถาบันการเงินและธุรกิจต่าง ๆ. ช่วยกันผลักดันโซลูชันต่าง ๆ เพื่อนำผู้คนเข้าสู่ระบบการเงินเช่นการชำระเงินแบบเรียลไทม์และแพลตฟอร์มดิจิทัลแบงกิ้งซึ่งฟินเทคเป็นผู้เล่นที่มีศักยภาพในการมอบบริการทางการเงินที่ทั่วถึงโดยการตอบสนองความต้องการทางการเงินของธุรกิจ SMEs

ในประเทศไทยมีโซลูชันพร้อมเพย์อยู่แล้ว ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถโอนเงินระหว่างผู้บริโภคและธุรกิจได้โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชน

นอกจากนี้รัฐบาลไทยกำลังส่งเสริมการค้าดิจิทัลด้วยการทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อติดตั้งเครื่อง EDC หลายแสนเครื่องตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการชาระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ

ในการผลักดันบริการทางการเงินและดิจิทัลที่มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์อย่างเท่าเทียมต่อทุกคนในสังคมเราต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเป็นอันดับแรก. ความต้องการของผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินมีมากกว่าการเข้าถึงบัญชีและการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงการทำให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายผ่านผลิตภัณฑ์การให้ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบมาอย่างดีคือกุญแจสำคัญ

มาสเตอร์การ์ดและพันธมิตรของเรามุ่งเน้นไปที่การสร้างโซลูชั่นเพื่อการชำระเงินแบบหลากหลายช่องทางแพลตฟอร์มแบบเปิด (Open Banking) และบริการทางการเงินระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองให้ตรงความต้องการของกลุ่มตลาดเกิดใหม่และตลาดที่พัฒนาแล้วในเอเชียในเรื่องแนวโน้มการชำระเงินและโครงสร้างพื้นฐาน

เนื่องจากเทคโนโลยีและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การสร้างพันธมิตรเพื่อร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่การเป็นพันธมิตรที่จริงใจกับทุกคนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมาสเตอร์การ์ดในการเร่งพัฒนานวัตกรรมการชำระเงิน และสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมทั่วเอเชีย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ