TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessธุรกิจขนส่งพัสดุ อาจเป็นวิกฤติ จากที่เติบโตแบบพุ่งทะยานมาตลอด

ธุรกิจขนส่งพัสดุ อาจเป็นวิกฤติ จากที่เติบโตแบบพุ่งทะยานมาตลอด

ช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 พฤติกรรมลูกค้าเรื่องการซื้อสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงมาก คนส่วนใหญ่เริ่มใช้บริการซื้อของออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมทั้งซื้อโดยตรงกับผู้ผลิต ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซ เติบโตขึ้นเยอะมาก 

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการ “Priceza” เผยว่า ช่วงสถานการณ์โควิด19 ของตลาด B2C และ C2C ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น 81% จาก 163,300 ล้านบาท เป็น 294,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2563  สอดคล้องกับที่บรรดาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น  Shopee, JD CENTRAL, Lazada  ต่างมีร้านค้าและจำนวนสินค้าเพิ่มมากขึ้น ในขณะดียวกันจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

ด้านสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA  มีข้อมูลว่า มูลค่า e-Commerce ไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 (COVID-19) คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งในปี 2563 จากพฤติกรรม new normal ที่คนไทยซื้อ-ขายของออนไลน์มากขึ้น อีคอมเมิร์ซไทย แบบ B2C (Business to Customer ธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการระหว่างเจ้าของธุรกิจและผู้บริโภครายบุคคล) สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย พุ่งทะยานแตะ 4.02 ล้านล้านบาทในปี 2562

ในขณะที่ Hootsuite ระบุว่า ในปี 2563 คนไทยทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้ง (Mobile Banking) เป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 68.1% ต่อเดือน คนไทยซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซผ่านสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 74% สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เผยว่า คนไทยมีการเข้าถึงบัญชี Mobile Banking มากถึง 67,710,451 บัญชี (ข้อมูล ณ พ.ย. 2563) และมีจำนวนธุรกรรมใน 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย. 2563) 8,239.75 ล้านครั้ง มูลค่าธุรกรรม 30.50 ล้านล้านบาท  ตัวอย่างเช่น ยอดผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่น K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย จำนวนมากถึง 5 ล้านรายต่อวัน มีจำนวนธุรกรรม 1.45 หมื่นล้านรายการ เติบโตขึ้น 71% 

การระบาดหนักในปี พ.ศ. 2564 นี้ ประชาชนทั่วไปยิ่งเข้มงวดและมีการระมัดระวัง เลี่ยงจับเงินสด ลดการเดินทางออกนอกบ้าน การซื้อของออนไลน์ยิ่งทวีการเติบโต ทำให้ Ecosystem  ของการซื้อของออนไลน์อย่างการส่งของให้ลูกค้าพลอยได้รับอานิสงส์  เติบโตตามไปด้วย เพราะผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ใช้บริการ ทั้งไปรษณีย์ไทย, DHL, Nim Express, FedEx, Kerry, Flash Express, SCG Express และบริษัทจัดส่งสินค้าอื่น ๆ 

บริษัทขนส่งพัสดุ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีช่วงอายุ 5-6 ปี ยกเว้นไปรษณีย์ไทยที่ประกอบการนานมาก ผลประกอบการบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขที่หลายหน่วยงานระบุไว้ เช่น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ในปี พ.ศ. 2563 มูลค่าตลาดขนส่งพัสดุ 66,000 ล้านบาท พัสดุขนส่ง 4 ล้านชิ้นต่อวัน

Euro monitor ระบุว่า ตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ มีการเติบโตต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560-2563 ขยายตัวเฉลี่ย 40% ต่อปี 

ในปี พ.ศ. 2564 นี้ คาดว่ามูลค่าตลาดรวมการส่งพัสดุสูงกว่า  70,000 ล้านบาท โดย ไปรษณีย์ไทย ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด มองว่า ธุรกิจขนส่งพัสดุจะเติบโตขึ้นมาก มีการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่องจะมีผู้ประกอบการเจ้าใหม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงมีการเตรียมการรองรับการให้บริการอย่างเต็มที่  

คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Flash Express คาดการณ์ว่ารายได้ต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท และมีจำนวนพัสดุเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2 ล้านชิ้น ซึ่งเติบโตเกินกว่า 2 เท่าจากเดิมที่มียอดส่งพัสดุเฉลี่ยอยู่ 1.3 ล้านชิ้น ต่อวัน

อิศรินทร์ ภัทรมัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการลงทุนบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผยว่า ช่วงไตรมาสแรกของ ปี พ.ศ. 2564 มีรายได้รวม 4,215.32 ล้านบาท ปริมาณขนส่งสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รายได้ไตรมาส 2 ปี 2564 จะเติบโตต่อเนื่อง รายได้ไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้คาดว่าจะเติบโตดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก 

ทันทีที่มีการประกาศ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศมาตรการฉบับใหม่ คุมเข้มการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งพัสดุ 

แฟลซ เอ็กซ์เพรส หยุดให้บริการนำจ่ายพัสดุในบางพื้นที่ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ปิดศูนย์กระจายพัสดุวังน้อย ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (เฉพาะเขตปทุมวัน สัมพันธวงศ์และสาทร) , กาญจนบุรี , ฉะเชิงเทรา , นครนายก , นครปฐม , นนทบุรี , ปทุมธานี , ปราจีนบุรี , พระนครศรีอยุธยา , ลพบุรี , สระแก้ว , สระบุรี , สิงห์บุรี , สุพรรณบุรี , อ่างทอง

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีการปิดให้บริการรับฝากชั่วคราว หรืองดนำจ่ายชั่วคราว หรือนำจ่ายล่าช้า รวมทั้งการปิดทำการของไปรษณีย์ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ปิดชั่วคราว สาขานอกห้างสรรพสินค้าบางสาขา ประกาศปิดเคาน์เตอร์ชั่วคราว เช่น สาขาสามแยก สาขาอุรุพงษ์ สาขาบางกรวย ฯลฯ และขอระงับการฝากส่งผลไม้สด ต้นไม้ กล้าพันธุ์ไม้ และของเน่าเสียง่ายเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 – 31 กรกฎาคม 2564 

เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส มีการปิดสาขาส่วนใหญ่ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าเช่นกัน

พัสดุที่ถูกส่งก่อนหน้าวันที่ 20 กรกฎาคม จึงได้รับผลกระทบมีการตกค้างเยอะมาก ซึ่งพัสดุเหล่านั้นรวมถึงอาหาร ขนม ผลไม้ ต้นไม้ และอื่น ๆ  ที่สามารถเน่า เสียได้ โดยที่ผู้ให้บริการส่งพัสดุบางรายไม่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบ บรรดาผู้ใช้บริการพยายามตรวจสอบพัสดุ สิ่งที่ปรากฎ คือ พัสดุแน่นิ่งอยู่ ตามรายทาง ทั้งศูนย์กระจายพัสดุ ศูนย์คัดแยกสินค้า จุดรับพัสดุบ้าง เมื่อโทรสอบถามก็มีการให้ตรวจสอบสถานะในแอปฯ รวมไปถึงไม่มีผู้รับสาย

การเพิ่มความเข้มข้นในการเข้า ออก จังหวัดสีแดงเข้ม ที่หมายรวมถึง กรุงเทพมหานครด้วยนั้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการส่งพัสดุหนีไม่พ้นผลกระทบในครั้งนี้ ไม่นับบรรดาพนักงานที่มีการติดโควิด -19 จนต้องมีการปิดศูนย์ฯ บางศูนย์ ว่ากันว่าบางรายเสียหายหนักพอสมควร แต่การเยียวยาผู้ใช้บริการก็ยังไม่ชัดเจน 

นึกเล่น ๆ ถ้าสถานการณ์แบบนี้ยังคงเป็นเช่นนี้ หรือยกระดับเป็น อู่ฮั่นโมเดล อย่างที่ ศบค. เตรียมแผนการไว้นั้น ทำใหเการจัดส่งพัสดุไม่รวดเร็ว ถึงขั้นจัดส่งไม่ได้ ผู้ให้บริการบางรายขาดทุนย่อยยับแน่

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ