TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeSEAC ตั้งเป้าปั้น 12 โรงเรียนต้นแบบ สร้างคนอนาคต ถอดหลักสูตรฟินแลนด์ ติดอาวุธพัฒนาครู

SEAC ตั้งเป้าปั้น 12 โรงเรียนต้นแบบ สร้างคนอนาคต ถอดหลักสูตรฟินแลนด์ ติดอาวุธพัฒนาครู

เพราะเครื่องมือสำคัญในการสร้างคนให้มีคุณภาพก็คือ “ครู” ด้วยเหตุนี้ SEAC หรือ ซีแอค องค์กรด้านการพัฒนาทักษะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงได้เปิดตัวโครงการนำร่องพัฒนาการสอนของครูด้วยหลักสูตรจาก Code School Finland ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนจากสถานทูตฟินแลนด์ โดยมี 12 โรงเรียนทั่วประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ ตั้งเป้าสร้าง ครู ให้ทักษะที่พร้อมพัฒนาถ่ายทอดให้เยาวชนไทยมีศักยภาพที่ตลาดต้องการในศตวรรษที่ 21

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการซีแอค Chief Capability Officer and Managing Director, SEAC กล่าวถึงความพิเศษของหลักสูตรจาก Code School Finland นี้ว่า เป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับวิธีการสอนเป็นหลัก โดยถ้าเป็นหลักสูตรอื่น ๆ โดยทั่วไปส่วนใหญ่ ครูที่สอนต้องมีระดับความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เช่น เอไอ การเขียนโปรแกรม คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์อย่างดีมาในระดับหนึ่ง แต่สำหรับหลักสูตรของฟินแลนด์นี้ ครูไม่ต้องเก่งเรื่องนั้น ๆ หรือแทบไม่ต้องรู้เรื่องนั้น ๆ เลยก็ได้ แต่ต้องรู้วิธีการสอน คือสอนในเด็กรู้ว่าจะหาคำตอบด้วยตนเองได้อย่างไร ไปตรงไหน เสิร์ชอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร เอาข้อมูลตรงนั้นมาคุยอย่างไร

“หลาย ๆ ประเทศ เวลาที่เขากำลังยกระดับการศึกษา ส่วนใหญ่จะวิ่งไปที่ครูหรืออาจารย์ที่มีความรู้แล้ว แล้วก็ไปเติมเครื่องมือบ้างเล็กน้อย แต่สำหรับหลักสูตรนี้ของฟินแลนด์ เกิดขึ้นภายใต้การคิดแบบใหม่ โดยมองว่า ไม่ใช่ครูทุกคนที่จะสามารถเข้าใจทักษะใหม่ในโลกปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว การจะเข้าใจในเรื่องของเอไอ โคดดิ้ง ต้องใช้เวลา ซึ่งฟินแลนด์ออกมาแบบให้ครูไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่ง หรือมีความรู้ความชำนาญในเรื่องเอไอ แต่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการสอนมากพอที่จะถ่ายทอดให้เด็กไปต่อยอดเองได้”

ขณะเดียวกัน ในมุมมองของอริญญา หากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว การพัฒนาครู หรือ พัฒนากระบวนการเรียนการสอนของครูให้สามารถถ่ายทอดความรู้พื้นฐานทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนในโรงเรียนไทย คือกุญแจสำคัญที่สุด

ทั้งนี้ สิ่งที่ทางซีแอคคาดหวังจากโครงการในครั้งนี้ก็คือการทำให้โครงการนำร่องดังกล่าวกลายเป็นโครงการในการเรียนรู้ คือเป็นนำเอาหลักสูตรระดับโลกจากต่างประเทศอย่างฟินแลนด์มาปรับให้เข้ากับบริบทการเรียนการสอนของไทยในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อให้เด็กไทยเกิดการเรียนรู้จริง ๆ ซึ่งในระหว่างนั้น ทางซีแอค กับโรงเรียนทั้ง 12 โรงเรียน และ CODE School Finland โดยการสนับสนุนของสถานทูตฟินแลนด์ ก็จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าจะต้องนำหลักสูตรมาประยุกต์ ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนอย่างไรจึงจะสอดคล้องเหมาะสมกับบริบททางสังคมของไทย และวัฒนธรรมของไทยให้มากที่สุด ก่อนที่จะมีการขยายไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศไทยต่อไป

ถามว่าทำไมต้องพัฒนา “ครู” ไม่เน้นให้ความรู้ที่เด็กโดยตรง อริญญาอธิบายว่า ซีแอคก็มีหลักสูตรที่สอนกับทางเด็กโดยตรงเช่นกัน แต่เด็กที่เข้ามาเรียนได้คือเด็กที่พ่อแม่มีกำลังทรัพย์ที่จะสนับสนุน ในทางกลับกัน หากสอนครูให้มีความสามารถในการสอน ทักษะกระบวนการสอนของครูดังกล่าวจะกระจายเข้าถึงตัวนักเรียนได้มากกว่า และกว้างกว่า เป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กไทยทุกคน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะอยู่ระดับชั้นไหน เรียนที่ไหน หรืออยู่พื้นที่ใดของประเทศ

Code School Finland เป็นสถาบันที่สอนเกี่ยวกับทักษะแห่งอนาคตแบบเต็มรูปแบบจากประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็น Hard Skills หรือทักษะเชิงเทคนิค และ ‘Soft’ Transversal Skills หรือทักษะจำเป็นที่่นำไปใช้ต่อยอดได้ โดยซีแอคคือผู้ได้รับสิทธิ์ในการเปิดคอร์สเรียน Code School Finland ในไทยแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งหลักสูตรนี้มีทั้งแบบคอร์สที่นำไปปรับใช้ในโรงเรียน และสำหรับนักเรียนทั่วไปที่สามารถสมัครเรียนได้โดยตรงกับ YourNextU by SEAC

“เรามองว่าประเทศไทยของเราทุกวันนี้ ไม่สามารถรอจากกระทรวงศึกษาธิการแต่เพียงอย่างเดียวได้ แล้วก็ประเทศอื่นไปไกลมากแล้วเกี่ยวกับเรื่องของทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งสำหรับหลักสูตรที่นำมาใช้นี้ เราได้ทดลองทำกับเด็กทั่วไปก่อน เด็กเป็นฝ่ายเดินเข้ามาเรียนที่ซีแอคเอง แล้วเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพ ถ้าเด็กได้รับการสอนที่ใช่ เมื่อได้ผลเป็นที่ประจักษ์ว่าดีแล้ว เราจึงวิ่งเข้าหาโรงเรียน ประเด็นของพี่ก็คือเวลาที่เด็กจบหลักสูตร เรียนหนังสือกับคุณครูแล้ว เด็กสามารถที่จะมีแนวคิด มีทักษะ และมีรูปแบบของเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะเอามาปรับใช้ได้ ที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าการสร้างเด็กของประเทศไทยเราไม่ได้มีน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ”

สำหรับโรงเรียน 12 แห่งที่จะเริ่มนำร่องใช้ในการเรียนการสอนของ 12 โรงเรียนต้นแบบชั้นนำของไทย ประกอบด้วย โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนซ์, โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย, โรงเรียนอัสสัมชัญ หลักสูตรภาษาอังกฤษ, โรงเรียนหัวหินวิทยาลัย, โรงเรียนสารสิทธิ์วิทยา, โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี, โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร, โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา, โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย, โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย, โรงเรียนดอนบอสโกวิทยา, และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 นี้เป็นต้นไป

“การพัฒนานักเรียนของเราในวันนี้ให้มีพื้นฐานทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) จะช่วยให้พวกเขามีที่ยืนในโลกอนาคต ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตนเองได้ โดยจุดเริ่มต้นสำคัญคือการปลูกฝังอุปนิสัยที่รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยี มีความสามารถในการสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และมีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหาโดยมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง SEAC ยังคงเดินหน้าพัฒนาการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรของ Code School Finland ด้วยการประสานความร่วมมือกับโรงเรียนไทยทั่วประเทศต่อไป ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในการตอกย้ำวิสัยทัศน์ Empowering Lives Through Learning ของซีแอค ที่มุ่งยกระดับศักยภาพคนและองค์กรผ่านการเรียนรู้ และการสร้างอิมแพ็คให้เกิดขึ้นจริง ทั้งในระดับสังคมและระดับประเทศ พร้อมเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มทักษะคนไทยมากกว่า 1 ล้านคน ภายในปี 2568 อีกด้วย”

ด้าน ไคซู พัลลาสกัลลิโอ (Ms. Kaisu Pallaskallio) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของสถาบัน Code School Finland กล่าวว่า รูปแบบของการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นความรู้ด้านวิธีการสอน (Pedagogical Model) ของ Code School Finland ได้รับการพิสูจน์แล้วถึงผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยมต่อผู้เรียน ในประเทศสวีเดน สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอื่น ๆ การสร้างทักษะแห่งอนาคต คือ การสอนให้นักเรียนมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในด้านการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) โดยเข้าใจถึง 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือการเขียนโปรแกรม (Coding) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) รวมไปถึงมีทักษะที่ดีด้านการใช้คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ผนวกรวมเข้ากับทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นแห่งอนาคต ทั้งการสร้างความร่วมมือ ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ไขปัญหา ทักษะการสื่อสารและการคิดอย่างผู้ประกอบการ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นทักษะที่จะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จกับการทำงานในโลกอนาคตต่อไปได้

ทั้งนี้ ในการบริการการเรียนการสอนหลักสูตร Code School Finland ในโรงเรียนไทยต้นแบบทั้ง 12 แห่ง SEAC จะคอยดูแลให้ความช่วยเหลือและโค้ชทีมผู้ฝึกสอนระหว่างการฝึกอบรม และการวางแผนหลักสูตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ โดยช่วยเหลือครูผู้สอนให้เข้าใจการส่งต่อความรู้และประสบการณ์ ช่วยเหลือนักเรียนโดยแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับเป็นประจำทุกภาคเรียน ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง เพื่อสร้างผลลัพธ์สูงสุดจากการเรียนรู้หลักสูตร

สุภลักษณ์ ชัยสถาน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย หนึ่งใน 12 โรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมคาดหวังว่าตัวครูเองจะได้รับการพัฒนา และพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งแต่เดิมทางโรงเรียนก็มีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยมาโดยตลอดอยู่แล้ว

“เราจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันเด็ก ๆ หลายคนเก่งมาก แต่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไม่เป็น เพราะเราขาดทักษะการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยจึงมีการสอนในการสอดแทรก ซอฟท์สกิล เช่น ความรับผิดชอบ มีวินัย รู้กาลเทศะ รู้บทบาทการเป็นผู้นำผู้ตาม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดถูกหล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้อยู่แล้ว แล้วเราก็ได้กระบวนการเรียนรู้จากโครงการครั้งนี้ เราก็จะนำมารวมกัน เพื่อจะหลอมเป็นเนื้อเดียวกันในการที่จะฝึกเด็กของเราให้เป็นกุลสตรีที่มีคุณธรรม เป็นผู้นำในศตวรรษใหม่ นั่นคือเป้าหมายที่เราคิดว่า เราจะนำพาโรงเรียนของเราไปภายใต้โครงการครั้งนี้ไปด้วยกัน” สุภลักษณ์ กล่าว

อริญญาแสดงความเชื่อมั่นปิดท้ายว่า ด้วยจุดแข็งของฟินแลนด์ในฐานะประเทศซึ่งถือเป็นแม่แบบแห่งความสำเร็จของระบบการศึกษาในระดับโลก กับ Code School Finland สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านการเขียนโปรแกรมเป็นอันดับต้นของโลก ด้วยหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าดีที่สุดในโลก จะช่วยพัฒนาและเสริมสร้างทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นให้กับเด็กไทย เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและพร้อมในทุกมิติสำหรับโลกแห่งการทำงานในอนาคต ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Google ร่วมกับ YouTube ครีเอเตอร์ จัดกิจกรรม “Safer Songkran” เพื่อช่วยคนไทยให้ปลอดภัยในโลกออนไลน์และรับมือข่าวลวง

พื้นที่ออนไลน์ไม่ปลอดภัย เด็กและผู้หญิงยังเผชิญ ทั้งการข่มขู่และล่วงละเมิด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ