TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupจาก CVC สู่ ผู้จัดการกองทุน PE Trust บทบาทก้าวใหม่ของ กรุงศรี ฟินโนเวต ขับเคลื่อนสตาร์ตอัพไทย

จาก CVC สู่ ผู้จัดการกองทุน PE Trust บทบาทก้าวใหม่ของ กรุงศรี ฟินโนเวต ขับเคลื่อนสตาร์ตอัพไทย

กรุงศรี ฟินโนเวต เปิดกองทุนใหม่ ชื่อ Finnoventure Fund I เป็นกองทุนครั้งแรกที่ธนาคารกรุงศรีจัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพร่วมกับเหล่านักลงทุนทั่วไปในกองทุนประเภท Private Equity Trust (PE Trust) (สินทรัพย์ประเภทตราสารทุนนอกตลาด) ซึ่งกองทุน Finnoventure Fund I เป็นกองทุนที่จะสร้างความตื่นเต้นในการลงทุนในกิจการสตาร์ตอัพ ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนี้ไป

หากย้อนเส้นทางธุรกิจสตาร์ตอัพในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2011- 2015 หลายองค์กรให้ความสำคัญกับนวัตกรรม เริ่มจัดตั้งโครงการเร่งและบ่มเพาะสตาร์ตอัพ (accelerator/incubator) จากนั้นช่วงปี 2015 -2019 หลายองค์กรเริ่มตั้ง CVC เพื่อลงทุนในกิจการสตาร์ตอัพ ถัดมาปี 2018 หลายองค์กรพบว่าลงทุนอย่างเดียวไม่พอจะต้องสร้างหุ้นส่วน ซึ่งกรุงศรี เวนเจอร์ผ่านมาทั้ง 3 ช่วง และเป็นหนึ่งใน CVC ที่เข้าใจระบบนิเวศของสตาร์ตอัพมากที่สุดในประเทศ

CVC มี partnership program เพื่อให้ได้เจอและรู้จักกับสตาร์ตอัพมากขึ้น หากสนใจก็ไปสู่ venture capital investment หากสนใจจะทำวิจัยและพัฒนาก็ตั้ง innovation lab เพื่อทดลองสิ่งใหม่ ๆ และหากอยากเติบโตไปด้วยกันก็เกิดการ joint venture (JV) จาก 4 รูปแบบนี้ มี 2 รูปแบบที่สามารถย่นย่อได้ คือ partnership program และการลงทุน 

แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด แบ่งการเติบโตของกรุงศรี ฟินโนเวต เป็น 3 ช่วง คือ ช่วง กรุงศรี ฟินโนเวต 1.0 (2017-2019) เปิดดำเนินการในฐานะบริษัทมาตั้งแต่ปี 2017 เริ่มด้วยบริการศูนย์บ่มเพาะ Krungsri RISE เริ่มลงทุนในสตาร์ตอัพ กรุงศรี ฟินโนเวต 2.0 (2019-2020) จนปี 2020 ได้ลงทุนในสตาร์ตอัพที่ทำให้เกิด strategic investment สตาร์ตอัพต้องสนับสนุนธนาคารกรุงศรีหรือลูกค้าของธนาคาร  

เขา กล่าวว่า ก้าวล่าสุด เรียกว่า กรุงศรี ฟินโนเวต 3.0 (2021) คือ การจัดตั้งกองทุน Private Inquity Trust ชื่อว่า ฟินโนเวนเจอร์ฟันด์ I (Finnoventure Fund I) เพื่อให้นักลงทุนร่วมลงระดมทุนกับกรุงศรี ฟินโนเวต ซึ่งเป็นกองทุนครั้งแรกที่ธนาคารกรุงศรีจัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพร่วมกับเหล่านักลงทุนทั่วไปในกองทุนประเภท Private Equity Trust (PE Trust)

กองทุนฟินโนเวนเจอร์ฟันด์ I กองทุนขนาด 3,000 ล้านบาท โดยมี กรุงศรี ฟินโนเวต เป็นผู้ดูแลกองทุน เน้นลงทุนในสตาร์ตอัพในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีแผนจะมาทำกิจการในประเทศไทย จะลงทุนในสตาร์ตอัพระดับ serires A ขึ้นไป (ปกติระดับ series A มูลค่าทางธุรกิจปกติ 10 ล้านเหรียญฯ หรือ 300 ล้านบาทขึ้นไป) เน้นลงทุนในกลุ่มฟินเทค อีคอมเมิร์ซ ยานยนต์ และกลุ่มสตาร์ตอัพที่อาจฟื้นตัวเร็วหรือได้รับโอกาสทางธุรกิจในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า Post-Pandemic Boom Startup โดยเบื้องต้นแบ่งสัดส่วนการลงทุนเป็นฟินเทค 40% อีคอมเมิร์ซ 30% และอีก 30% ในยานยนต์ แต่ขึ้นกับลักษณะและเวลาของการลงทุน

ด้วยงบ 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีการลงทุนทั้งหมดใน 15-20 สตาร์ตอัพ จะมีการลงทุนไม่เกิน 3-4 ปี กองทุนนี้มีระยะเวลาทั้งหมดไม่เกิน 10 ปี ตราบใดที่สตาร์ตอัพสามารถ exit ได้ ไม่ว่าจะเข้าตลาดฯ มีคนมาซื้อกิจการไป หรือทางกองทุนฯ ขายหุ้นไป (โดยที่มีกำไรเกินครึ่ง) กองทุนจะนำเงินที่ได้จากกำไรนั้นกลับมาคืนนักลงทุนทันที 

“จะคัดเลือกการลงทุนในสตาร์ตอัพ ที่อยู่ในระดับ series A ขึ้นไปถึง H เป็นสตาร์ตอัพที่ค่อนข้างนิ่งแล้วโอกาสรอดค่อนข้างสูง 99% ที่เหลือคือการติดปีก ซึ่งเราจะติดปีกให้สตาร์ตอัพเหล่านี้ไปจน exit ได้ ใครพลาดกองทุนนี้ต้องรออีก 3 ปีถึงจะเปิด กองทุนฟินโนเวนเจอร์ฟันด์ II” 

กองทุนฟินโนเวนเจอร์ฟันด์ I กำหนดสัดส่วนการลงทุนในประเทศ 70% ต่างประเทศ 30% ทั้งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของเทคฯ สตาร์ตอัพนั้น ๆ ในแต่ละช่วง ส่วนในต่างประเทศจะเน้นลงสตาร์ตอัพที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ ​และเวียดนาม

ผลตอบแทนแม้จะไม่สามารถการันตีได้ แต่จากการลงทุนด้วยตัวเองของ กรุงศรี ฟินโนเวต ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาผลตอบแทนต่อปีอยู่ที่ 20.8% ถ้าลงทุนยาวกว่านี้จะเห็นผลตอบแทนที่ก้าวกระโดดขึ้นไปเรื่อย ๆ หากเก็บยาวได้ 10 ปี ผลตอบแทนจะค่อนข้างสูงมาก 

ผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะ VC หรือ private equity ทั่วโลกจะอยู่ที่ 15% กองทุนแบบนี้ใน SEA ยังไม่ค่อยมีเกิดขึ้น ตลาดใน SEA ยังเป็นตลาดเกิดใหม่ กรุงศรี ฟินโนเวต ไม่ได้เป็น CVC อย่างเดียว แต่เป็น CVC ที่มาทำ private equity โดยใช้ความโดดเด่นของเครือกรุงศรี มีลูกค้ารายใหญ่จำนวนมาก และอยู่ภายใต้เครือ MUFG ซึ่งมีลักษณะการลงทุนใน tech startup ทั่วโลก มีศูนย์​ innovtion lab อยู่ที่ซิลิกอน วัลเล่ย์ ที่ลอนดอน และที่สิงคโปร์ มีหน่วยงานที่สามารถสอดส้องเข้าถึงสตาร์ตอัพทั่วโลก ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งมาก ผลตอบแทนการลงทุนมาจากการเติบโตของสตาร์ตอัพในแต่ละซีรีส์ 

การลงทุนในสตาร์ตอัพไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ยาก แต่หากสนใจจะลงทุนในสตาร์ตอัพ มาลงที่ กองทุนฟินโนเวนเจอร์ฟันด์ I จะช่วยทำให้ต้นทุนในการลงทุนเรื่องการศึกษาสตาร์ตอัพ การทำเอกสารทางกฎหมาย ต่ำลง หน้าที่เหล่านั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ trust manager ซึ่งกรุงศรี ฟินนโนเวต ดูแลและลงทุนร่วมด้วย 500 ล้านบาท 

นักลงทุนที่สามารถมาร่วมลงทุนใน กองทุน ฟินโนเวนเจอร์ฟันด์ I มี 2 ประเภท คือ 1. นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ ที่เรียกว่า ultra high network

นักลงทุน ultra high network ตามกำกับของก.ล.ต. คือ รายได้คนเดียว 7 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ถ้ารวมกับคู่สมรส 10 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี 2. เงินฝาก คนเดียว 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือตลาดฟิวเจอร์ฯ 25 ล้านบาท 3. มีสินทรัพย์มูลค่า 70 ล้านบาทขึ้นไป ไม่นับบ้านที่อาศัย อย่างใดอย่างหนึ่งสามารถเป็นลูกค้า ultra high network ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่จำนวนมาก 

“บทบาทของกรุงศรี ฟินโนเวต คือ เป็น trust manager ของกองทุนฟินโนเวนเจอร์ฟันด์ I หลังจากเปิดกองทุนนี้ กรุงศรี ฟินโนเวต จะไม่ลงทุนในสตาร์ตอัพแล้ว การลงทุนในสตาร์ตอัพรายใหม่ จะทำผ่าน กองทุนฟินโนเวนเจอร์ฟันด์ I”​ แซม กล่าว

เป้าหมายในระยะยาวของกองทุนฟินโนเวนเจอร์ฟันด์ I คือ ผลักดันให้สตาร์ตอัพเป็นยูนิคอร์นให้ได้ และหากไม่เป็นยูนิคอร์นธุรกิจจอต้องเติบโตก้าวกระโดดและพร้อมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นหนทางในการ exit ใกล้กับทั้งนักลงทุนและเจ้าของกิจการสตาร์ตอัพเอง การที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ กรุงศรี ฟินโนเวต ไม่ได้ลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่จะเข้าไปช่วยเรื่องการบริหารในฐานะที่ปรึกษาการลงทุน ให้คำปรึกษาธุรกิจ และบางกิจการเข้าไปเป็นกรรมการของบริษัทนั้น ๆ ทำหน้าที่ช่วยดูแล กำกับ และนำพันธมิตรสร้างประโยชน์ให้กับธนาคารกรุงศรีและลูกค้าของธนาคารกรุงศรีทั้งองค์กรขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี

“ขณะเดียวกันก็จะเป็นพันธมิตรกับกองทุนอื่น ๆ VC อื่น ๆ ธนาคารอื่น ๆ เพื่อให้สตาร์ตอัพเหล่านี้เติบโตก้าวกระโดดได้ เราเปิดโอกาสให้เขาได้ร่วมทำงานกับสตาร์ตอัพอื่น รับการร่วมลงทุนจากธนาคารอื่นได้” แซม กล่าว 

ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งกองทุน นักลงทุน ultra high network สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมของบลจ.กรุงศรี ชื่อกองทุน Krungsri Asset Management คาดว่าจะเปิดกองได้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มูลค่าขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนนักลงทุนสถาบันเปิดรับได้ไม่เกิน 10 สถาบันสามารถเข้ามาร่วมทุนได้ การลงทุนใน series A ขึ้นไป เป็นการปิดความเสี่ยงของการลงทุน

“เราไม่ได้ด้ลงทุนในทุกสตาร์ตอัพ series A แต่ต้องเป็นสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพ มี synergy กับกลุ่มธนาคารกรุงศรี หรือกับกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่มาลงทุน หรือกับลูกค้าของธนาคารกรุงศรี สตาร์ตอัพนั้นมีลูกค้าแล้ว เท่ากับปิดความเสี่ยงไปอีกข้อหนึ่ง และเรายังเข้าไปทำ due diligent รวมถึงการเข้าไปเป็นกรรมการบริษัท ล้วนช่วยปิดความเสี่ยงได้” แซม กล่าว

กัมปนาท วิมลโนท Head of Investment & Strategic Partnership ของ กรุงศรี ฟินโนเวต กล่าวว่า กองทุน ฟินโนเวนเจอร์ฟันด์ I สามารถเปิดให้นักลงทุนภายนอกมาร่วมลงทุน โดยใช้ประสบการณ์การทำงานและการเข้าใจสตาร์ตอัพเพื่อให้ได้ผลตอบแทนทั้งในมุมของยุทธศาตร์และมุมของผลตอบแทนทางการเงินที่ย่นย่อกว่า นักลงทุนสามารถสร้างโอกาสในการทำ strategic partnerships ร่วมกับสตาร์ตอัพได้ และช่วงเวลานี้ คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะช่วงโควิดเทคฯ​ยักษ์ใหญ่เข้ามาในภูมิภาคนี้ได้ยากมากขึ้น ทำให้เทคฯ สตาร์ตอัพในภูมิภาคสามารถเติบโตได้รวดเร็ว นอกจากนี้ กรุงศรี ฟินโนเวต มีความเข้าใจความรู้ทางการเงินการธนาคารหากได้ strategic investor มาร่วมลงทุน จะเป็นการช่วยสตาร์ตอัพให้ประสบความสำเร็จได้มากขึ้น 

กรุงศรี ฟินโนเวต เป็นบริษัทลูกของเครือธนาคารกรุงศรี ​ซึ่งมีจุดแข็งเรื่อง consumer finance และเป็นบริษัทลูกของบริษัท มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป มหาชนจำกัด หรือ MUFG ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีเครือข่ายธนาคารลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ กรุงศรี ฟินโนเวตมีความรู้ความเข้าใจและความสามารถในให้บริการทางการเงินต่าง ๆ อาทิ การจ่ายเงิน การบริหารจัการเงินสด การปล่อยกู้ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสร้างให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมากขึ้น

“จะเป็นสะพานเชื่อนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพไทยได้มากขึ้น และสามารถพาสตาร์ตอัพไปต่างประเทศทั้งขยายธุรกิจและไประดมทุน” กัมปนาท กล่าว

ผลงานการลงทุนของกรุงศรี ฟินโนเวต 

Finnomena กรุงศรี ฟินโนเวต เริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2017 ในระดับ series A จนมาปี 2019 ลงในระดับ series B เป็น robo advisor ที่ดูแลเงินลงทุนระดับ 600 ล้านบาบ จนวันนี้ดูแลการลงทุนมากกว่า 30,000 ล้านบาท และอีกไม่เกิน 2 ปีจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 

Omise กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุนในระดับ series B ซึ่งตอนนี้อยู่ในระดับ series C แล้ว ทำเรื่อง payment gateway และกำลังขยายกิจการไปต่างประเทศ 

Baania สตาร์ตอัพจากเชียงใหม่ ทำข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุนในระดับ series  A และ series B และกำลังเจริญเติบโต

Silot สตาร์ตอัพจีน-สิงคโปร์ กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุนในระดับ series A 

ChocoCRM กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุนในระดับ series A+ และ series B ทำ CRM ให้ SMEs 

Grab กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุนร่วมกับ MUFG ใน Grab ตอนนี้เป็น series H กำลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นยูนิคอร์นตัวแรกที่ กรุงศรี ฟินโนเวตลงทุนไป 

ICON Framework กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุนในระดับ series A สตาร์ตอัพที่ทำระบบ ERP และ CRM ให้กับอสังหาริมทรัพย์ 

Ricult สตาร์ตอัพเกษตร กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุนเพื่อช่วยชาวเกษตรกรและโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารกรุงศรี 

Flash Express ปัจจุบันเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของประเทศไทย เป็นธนาคารแรกที่สนับสนุนตั้งแต่ series D และ series E มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต

AppMAN สตารต์อัพสายประกัน กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุนในระดับ series A

Wisesight กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุนในระดับ series B สตาร์ตอัพที่ทำ social media tracking platform 

Builk One Group กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุนในระดับ series B

และมีการลงทุนในกองทุน SBI Investment ที่ลงทุนในกองทุน AI และ blockchain 

“วันนี้ กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ทำงานกับ 63 สตาร์ตอัพ มีโครงการที่ออกมามากกว่า 100 โครงการใน 37 หน่วยงานธุรกิจภายใต้กลุ่มบริษัทกรุงศรี ธนาคากรุงศรีเป็นธนาคารที่ทำงานกับสตาร์ตอัพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แซม กล่าว 

สำหรับแผน exit ของสตาร์ตอัพในพอร์ต คือ Finnomena, Flash Express และ Builk One Group เตรียมแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ

อีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้าจะเห็นสตาร์ตอัพเข้าไปจดทะเบียนในตลาดฯ ไม่ต่ำกว่าว่า 10 สตาร์ตอัพ และน่าจะอยู่ในพอร์ตของกรุงศรี ฟินโนเวตประมาณครึ่งหนึ่ง 

“จังหวะนี้เป็นจังหวะที่น่าลงทุนมาก ตอนนี้มีสตาร์ตอัพอยู่ในรายชื่อที่พิจารณาจะลงทุนแล้วประมาณ 10 ราย ประมาณเดือนธันวาคมจะเริ่มเห็นการลงทุนในสตาร์ตอัพรายแรกของกองทุนนี้” แซม กล่าว

ภูมิทัศน์สตาร์ตอัพในประเทศไทย ในปี 2002 จำนวนเม็ดเงินการลงทุนในสตาร์ตอัพโดยรวมเติบโตจากปี 2019 ถึง 3 เท่า เกิด 35 ดีล มีเม็ดเงินลงทุนรวม 370 ล้านเหรียญฯ ส่วนปี 2021 ครึ่งปีแรก มีดีลเกิดขึ้น 26 ดีล ยอดการระดมทุนรวม 183 ล้านเหรียญฯ เชื่อแน่ว่าทั้งปี 2021 จะมีการระดมทุนรวมเติบโตมากกว่าปี 2020 และในปี 2022 จะเติบโตสูงขึ้นไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่สตาร์ตอัพกำลังจะเติบโต มีสตาร์ตอัพคุณภาพเกิดขึ้น มีนักลงทุนที่พร้อมที่จะลงทุน 

“กองทุนนี้เป็นแห่งในแรกในไทยและใน SEA ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุน ultra high network ให้มาลงทุน โมเดลนี้ไม่ใช่โมเดลใหม่ในโลก ที่ผ่านมาเราแสดงให้เห็นแล้วว่าเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี สร้างพันธมิตรที่ต่อยอดทางธุรกิจได้ พร้อมอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าไปใน tech startup เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทย อยากเห็นคนไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคในเอเชีย อยากเห็นยูนิคอร์นที่มากกว่า 1 ราย สร้างบริษัทเทคของคนไทย อยากให้เด็กที่จบมาแล้วอยากทำงานกับบริษัทเทคของคนไทย กองทุนนี้เราเรียกว่าสร้างเทคฯ เพื่อชาติ สร้างบริษัทเทคคนไทยและสร้างงานให้คนไทย” แซม กล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ