TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"ไร่กล้วย" โผล่กลางกรุง ... เมื่อ "กฎหมาย" บกพร่อง

“ไร่กล้วย” โผล่กลางกรุง … เมื่อ “กฎหมาย” บกพร่อง

สวนเกษตรกลางกรุงได้สร้างความฮือฮาในสื่อโซเชียลและเป็นข่าวในสื่อใหญ่ ๆ หลายสำนักเมื่อหลายวันก่อน โดยเป็นภาพไร่กล้วย ย่านเมืองทองราว ๆ 50 ไร่ บนที่ดินราคาแพงริมทะเลสาบ ซึ่งมีที่มาจากเพจเฟซบุ๊ก IMPACT Arena, Exhibition and Convention Center ได้เผยแพร่ภาพพื้นที่บริเวณริมทะเลสาบเมืองทองธานี จำนวน 50 ไร่ ที่เต็มไปด้วยต้นกล้วยกำลังผลิบานกว่า 10,000 ต้น พร้อมระบุว่าข้อความว่า

“จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เข้าสู่ฤดูฝนต้นไม้ใบหญ้าก็เขียวขจี หลาย ๆ ท่านที่เดินทางผ่านถนนทางออกติวานนท์คงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี ฝั่งตรงข้ามดับเบิ้ลเลค คอนโดมิเนียม เดิมทีเป็นพื้นที่รกร้าง แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นสวนเกษตรขนาดใหญ่ ปลูกกล้วยกว่า 10,000 ต้น”

เพจดังกล่าว ยังได้ชี้แจงอีกว่าวัตถุประสงค์ก็เพื่อเป็นวัตถุดิบสนับสนุนครัวอิมแพ็คและแบ่งปันช่วยเหลือสังคมในโอกาสต่าง ๆ รวมถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เมืองทองธานีน่าอยู่

ทันทีที่ข่าวนี้ออกมาก็มีการสำรวจพบพื้นที่รกร้าง ที่ดินเปล่าในกทม.ที่เคยถูกปล่อยทิ้งร้างอีกหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นย่านรัชดา ทองหล่อ สาธร รวมถึงย่านชานเมือง เขตปริมณฑลรอบ ๆ กรุงเทพฯ ต่างพากันเนรมิตที่ดินราคาแพงดุจทองคำเป็นพื้นที่การเกษตร พืชยอดนิยมส่วนใหญ่จะเป็นกล้วย มะนาว และมะพร้าว เป็นต้น

น่าสังเกตว่าสวนเกษตรเหล่านี้เมื่อปลูกแล้วกลับถูกปล่อยทิ้งไร้คนดูแล อย่างกรณีที่ดินย่านพระราม 9 พบว่ามีพื้นที่หลายไร่ มีการขุดบ่อน้ำ ปลูกกล้วย ปลูกยูคาลิปตัส บางพื้นที่นำวัวมาเลี้ยงเป็นสิบ ๆ ตัวล้วนแต่ไร้คนดูแล 

สาเหตุเกิดปรากฏการณ์แฟชั่นสวนเกษตรกลางกรุง เนื่องจากในปีนี้เป็นปีแรกที่จะมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบเต็มอัตรา หลังจากที่ได้รับการยกเว้นงดเก็บมา 2 ปี อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด

อันทีจริงเรื่องนี้เคยเป็นกระแสฮิตโด่งดังมาแล้วเมื่อครั้งก่อนที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะบังคับใช้ในปี 2563 บรรดาเศรษฐีตระกูลดังเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศ แห่จดทะเบียนตั้งบริษัททำนา บริษัททำสวน กันครึกโครม

กรณีที่ฮือฮาที่สุดคงจะเป็น ไร่มะนาวบนที่ดินย่านรัชดาภิเษกหลายสิบไร่ ราคาซื้อขายที่ดินคาดว่าประมาณ กว่า 6,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเสียภาษีที่ต้องเสียในกรณีที่ดินว่างเปล่าเกือบ 40 ล้านบาทต่อปี 

แต่เมื่อพลิกโฉมเป็นสวนเกษตร ปลูกกล้วย ปลูกมะนาว อัตราการเสียภาษีจะเหลือเพียง 6 ล้านกว่าบาทต่อปี หรือลดไปประมาณ 7 เท่าเลยทีเดียว  ความแตกต่างที่ห่างกันมากขนาดนี้ จึงทำให้บรรดานักธุรกิจ เหล่าเศรษฐี เจ้าของที่ดิน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คุ้มที่จะเสี่ยงในการเลี่ยงภาษี

มิหนำซ้ำยังมีการลงทุนตั้งในรูปบริษัททำนาทำสวนยังได้ 2 เด้งทันที เด้งแรก หากพื้นที่ดังกล่าวถูกปล่อยรกร้างว่างเปล่าจะเสียภาษีเริ่มต้น 0.3% และปรับเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 ปี เพดานสูงสุด 3% แต่ในกรณีที่ดินเพื่อการเกษตร หากมูลค่า 0-75 ล้านบาท เสียภาษีเพียง 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% และมูลค่า 100-500 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% เท่านั้น

สมมติว่าที่ดินมูลค่า 75 ล้านบาท หากทำการเกษตรจะเสียภาษี 7,500 บาท แต่หากเป็นที่ดินรกร้างไม่ได้ทำประโยชน์จะเสียภาษี 225,000 บาท แตกต่างกันถึง 30 เท่า และถ้าที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท ทำการเกษตรเสียภาษี 30,000 บาท ถ้าเป็นที่ดินไม่ได้ทำประโยชน์จะเสียภาษี 300,000 บาท หรือต่างกัน 10 เท่า เจ้าของที่ดินจึงต้องหาวิธีทำอย่างไรจะเสียภาษีน้อยที่สุด

เด้งที่ 2 หากตั้งเป็นบริษัทจะเสียภาษีรูปแบบนิติบุคคลจะเสียแค่ 20% แต่ถ้าทำสวนในรูปแบบบุคคลธรรมดาจะเสียภาษีสูงถึง 35% นอกจากนี้ การทำธุรกิจในรูปนิติบุคคลจะปลอดภัยกว่า เพราะเวลาเจ๊งก็รับผิดไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ลงไป

แต่ไม่รู้ว่าเศรษฐีหลายคนจะรู้หรือไม่ว่า ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่จะปลูกอะไร และปลูกกี่ต้นก็ได้ หากดูข้อบังคับจะพบว่ามีการกำหนดสัดส่วนและประเภทของพืชที่ต้องปลูกอย่างชัดเจนว่ามีทั้งหมด 51 ชนิด และต้องเข้าหลักเกณฑ์สัดส่วนเท่าไรต่อไร่ ตัวอย่างเช่น กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า 200 ต้นต่อไร่

หากปลูกมะม่วง ต้องปลูก 20 ต้นต่อไร่ มะพร้าวแก่ 20 ต้นต่อไร่ มะพร้าวอ่อน 20 ต้นต่อไร่ มะนาว 50 ต้นต่อไร่ มะปราง 25 ต้นต่อไร่ มะขามเปรี้ยว 25 ต้นต่อไร่ และมะขามหวาน 25 ต้นต่อไร่ เป็นต้น ทั้งเจ้าของที่ดินที่ปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งจากพืช 51 ชนิดดังกล่าว จะเสียภาษีในอัตราของประเภทที่ดินเกษตรกรรม 

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้น นับเป็นความไม่รอบคอบหรือจะด้วยการเร่งรัดให้ออกกฎหมายนี้ก็ตาม วิธีการนี้จึงทำให้เกิดช่องว่างของความเข้าใจในตัวกฎหมายรวมทั้งการเลี่ยงภาษีของเศรษฐีบางคน 

จึงอยากเสนอแนวคิดว่า ถ้าให้เกิดประโยชน์จากที่ดินเปล่าจริง ๆ แทนที่จะให้นายทุน เศรษฐีเลี่ยงภาษีด้วยการทำสวนเกษตรแบบลวก ๆ ควรเปลี่ยนใหม่ ให้ทำเป็นพื้นที่สีเขียวตามไอเดีย “ดร.ชัชชาติ สุทธิพันธ์” ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ยิ่งถ้าจะให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่โลกประสบปัญหาโลกร้อน รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการใช้พื้นที่เปล่า โดยทุกคนต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐ สามารถนำพื้นที่มาปลูกป่า แล้วนำคิดคำนวณเป็นปริมาณคาร์บอน เพื่อตอบโจทย์เกี่ยวกับการลดปัญหาสภาวะโลกร้อนอีกด้วย 

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

“วิกฤติอาหาร” หายนะรอบใหม่

“ค่าเงินบาทอ่อน” … ดาบสองคม

นโยบายรถ EV ปลุกผี … “ดีทรอยด์เอเชีย” .. ?

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ