TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview“บัญชีนวัตกรรมไทย” ดันนวัตกรรมไทยทัดเทียมโลก

“บัญชีนวัตกรรมไทย” ดันนวัตกรรมไทยทัดเทียมโลก

“ผมมีความเชื่ออย่างจริงใจ และมักจะตั้งคำถามเป็นโจทย์ให้คนรอบข้างได้คิดอยู่เสมอว่า ถ้าวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ดีจริง ประชาชนคนไทยทั่วไปต้องได้ประโยชน์” ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการงานวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์(A-MED) และที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวตอบแนวคิดในการอุทิศตัวทำงานเพื่อวงการวิจัยไทยมาอย่างยาวนานหลายสิบปีจนได้รับการยอมรับจากวงการทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างเปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับทาง The Story Thailand ในฐานะผู้ที่วางรากฐานและปลุกปั้น สวทช. ตลอดจน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จนกลายเป็นองค์กรหน่วยงานที่มั่นคง รวมถึงอยู่เบื้องหลังผลักดันงานวิจัยที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมไทย โดยเฉพาะการแพทย์และการสาธารณสุข 

ศ.ดร.ไพรัช ยอมรับว่า แนวคิดดังกล่าวอาจเป็นความเชื่อส่วนตัว แต่การทำงานวิจัยโดยยึดโจทย์ดังกล่าวไว้ ก็ช่วยให้ทีมงานนักวิจัยมีเป้าหมายที่เห็นภาพได้ชัดเจน คือรู้ว่าควรจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร ทำกับใครหรือหน่วยงานใด 

ทั้งนี้ เป็นที่ประจักษ์กันดีแล้วว่า การวิจัยและพัฒนา (Research & Development : R&D) ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงคือ หนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของแต่ละประเทศ ยิ่งประเทศไหนมีงานวิจัยและพัฒนาที่แข็งแกร่งและเป็นประโยชน์กับประชาชน ประเทศนั้น ๆ ก็จะยิ่งเติบโตเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว แถมยังเป็นความก้าวหน้าที่มั่นคงและยังยืนต่อประเทศในระยะยาว 

ในฐานะคนวงในที่ทำงานวิจัยด้วย “ความชอบด้วยจิตใจ” แบบที่ ศ.ดร.ไพรัช ให้นิยามว่าเป็น passion ที่ไม่มีวันและไม่มีทางน้อยลง มีแต่มากขึ้นตามอายุ นักวิจัยอาวุโสรายนี้กล่าวว่า งานวิจัย ก็คือ ด่านแรกในการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นชาติที่พึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี หรือ Technology Independent ได้อย่างแท้จริง ซึ่งคำว่า พึ่งพาตนเอง หรือ ยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองนี้ ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะต้องยึดติดกับความดั้งเดิมที่ว่า ต้องงานวิจัยที่คนไทยเป็นคนแรกของโลกที่คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้น แต่หมายถึง การเพียรพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ของคนไทยทำให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอสะสมความรู้ความชำนาญเพื้นฐานเพิ่มพูนให้แข็งแกร่งขึ้นทุกวันอาศัยการศึกษาหาความรู้จากงานวิจัยที่มีมาก่อนทั้งในและนอกประเทศ 

“ประเทศไทยชินกับการ Modernization without Development คือเรามุ่งแต่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่พัฒนาตัวของเราเอง เราสนใจที่จะซื้อมากกว่าทำเองในประเทศ”

ผลลัพธ์ที่เน้นแต่การเห็นผลเร็ว ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในระยะยาว เพราะไม่ต่างอะไรกับเอาเงินประชาชนไปอุดหนุนคนของประเทศอื่นให้เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมของเขาเอง 

เครื่องมือแพทย์ยึดตามความต้องการของสังคมเป็นหลัก 

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ไพรัช ย้ำว่า ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าไทยขาดแคลนนักวิจัยหรืองานวิจัย ตรงกันข้าม ไทยมีคนวิจัยที่เก่ง และงานวิจัยที่เด่น โดยผลงานวิจัยหลายชิ้นได้รับตีพิมพ์เผยแพร่ และอีกหลายชิ้นก็ได้รับการติดต่อจากเอกชนในต่างประเทศนำไปผลิต ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้ ศ.ดร.ไพรัช ตระหนักว่า ปัญหาในงานด้านวิจัยและพัฒนาของไทยนั้นอยู่ที่นักวิจัยทำงานวิจัยในหัวข้อหรือประเด็นที่ไม่ได้ตอบโจทย์หรือสอดคล้องกับบริบทความต้องการของไทย 

และด้วยความโชคดีที่ประจวบเหมาะ ศ.ดร.ไพรัช กล่าวว่าได้รับโอกาสจากรัฐบาลให้เข้ามาดูแลโครงการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ตนเองมีความถนัดส่วนหนึ่งอยู่แล้ว ทำให้ตระหนักดีว่า งานวิจัยเครื่องมือแพทย์หากต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยมากที่สุด ต้องยึดเอาความต้องการของผู้ใช้งาน หรือ คนในสังคมเป็นหลัก 

เมื่อตั้งโจทย์ไว้ที่ความต้องการของสังคมเป็นหลัก และอาศัยความช่วยเหลือร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ และเอกชน เช่น โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ เพื่อพิจารณาหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไทยมีความต้องการใช้งานสูงได้แล้ว ขั้นต่อมาก็คือหาผู้สนับสนุนงานวิจัย พร้อมกำหนดให้งานวิจัยทุกชิ้นต้องขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งบ่งชี้ว่า งานวิจัยนวัตกรรมที่นำไปผลิตในไทยนั้นต้องมีคุณสมบัติที่ไม่ด้อยกว่าของต่างประเทศ ต้องได้มาตรฐานความปลอดภัยอย่างสากล ราคาแข่งขันได้ รวมถึงเป็นข้อบังคับให้รัฐต้องซื้องานวิจัยนี้ที่สัดส่วน 30%

ถามว่าทำไมต้องบังคับให้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ศ.ดร.ไพรัชอธิบายว่า สาเหตุเป็นเพราะต้องการผลักดันให้งานวิจัยที่คิดค้นได้ ไม่เป็น “ของดีขึ้นหิ้ง” แต่เป็น “ของดีที่ได้ใช้” จริง 

“แน่นอนว่า การผลิตออกมาเพื่อสู้กับของในตลาดที่มีอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่ทำ เราก็จะก้าวไปไหนไม่ได้ และผมก็มีความเชื่อว่า ถ้าเราฉลาดอดทน หมั่นเพียร ก็จะทำให้เกิดวิวัฒนาการ เกิดมาตรฐาน เมื่อถึงจังหวะ ถึงเวลา คนก็จะหันมาหาเรา”

ด้วยแนวคิดและความเชื่อในข้างต้น จึงไม่น่าแปลกที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางศูนย์ A-MED จะมีงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยออกมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องซีที สแกนเนอร์, เครื่องเดนตี สแกน, เครื่องเอ็กซ์เรย์ และล่าสุด เครื่องบอดี เรย์ ที่ได้ใช้งานและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรับมือสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในห้วงเวลานี้ 

เครื่องมือแพทย์ความมั่นคงและเท่าเทียมของสังคมไทย 

ความก้าวหน้าและล้ำหน้าทางเทคโนโลยีก็คืออาวุธของแต่ละประเทศที่จะนำมาใช้แข่งขัน 

การที่ไทยหันมาพึ่งพาตนเองในการทำเครื่องมือแพทย์ ก็ทำให้เกิดความมั่นคงและเท่าเทียม ซึ่งความมั่นคงในที่นี้ ก็คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ไทยไม่ต้องเสียเงินตราให้กับต่างชาติ สามารถนำเงินมาหมุนเวียนภายในประเทศ นำไปใช้พัฒนาในด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ 

ขณะที่ในส่วนของความเท่าเทียม หมายถึงการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปรายได้ไม่สูง รวมถึงคนยากไร้ทั้งหลายได้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งความเท่าเทียมที่ว่านี้ ก็ส่งผลต่อความมั่นคงของสังคมไทยในระยะยาวด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ในฐานะของนักวิจัยอาวุโส ศ.ดร.ไพรัช ยังแสดงความเห็นว่า 

“มันเหมือนกับการที่เราทำอาหารกินเองภายในบ้าน ทำให้เราสามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้ทั่วถึง แต่ถ้าเราต้องไปสั่งซื้ออาหารจากข้างนอก ถ้างบไม่พอ ก็ไม่ทั่วถึง ไม่อิ่ม” ศ.ดร.ไพรัช เปรียบเทียบก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือตัวอย่างที่สะท้อนถึงความจำเป็นในการที่ไทยต้องมีเทคโนโลยีของตนเองใช้ พึ่งพาตนเองให้ได้ และทำให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงในราคาที่เอื้อมถึง

ทั้งนี้ ในฐานะนักวิจัยรุ่นพี่ที่คลุกคลีวงในมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ศ.ดร.ไพรัช อยากฝากถึงนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทยให้คิดอยู่เสมอ ก็คือ การนึกถึงประเทศไทยเป็นหลัก 

“จะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องนึกถึงว่าประเทศไทยจะได้อะไรเป็นสำคัญ ซึ่งคำว่าประเทศไทยได้อะไรนี้ ผมอยากจะให้คิดไปจนถึงขั้นสุดท้ายว่าประชาชนคนไทยทั่วประเทศได้อะไร ลดช่องว่างสังคมได้อย่างไร” 

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ