TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessEIC คาดเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย

EIC คาดเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย

ธปท. ส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลง และไม่ทั่วถึงจากการระบาดระลอก 3 EIC คาด เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย และ ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปีนี้และปีหน้า

· กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงมาเป็นการขยายตัวที่ 1.8% ในปีนี้ ใกล้เคียงกับที่ EIC ประเมินไว้เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ 1.9% พร้อมส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลงและไม่ทั่วถึงจากผลกระทบของการระบาดระลอก 3 โดยโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันคือ การจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมให้เพียงพอและทันการณ์

· กนง. ประเมินว่าสภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกที่สาม ซึ่งความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่

·EIC คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2021 และปี 2022 โดยถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อไทยจะมีสัญญาณเร่งตัวขึ้น แต่ EIC ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2021 จะอยู่ที่ราว 1.3% ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% อย่างไรก็ดี สภาพคล่องในระบบที่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง จะยังเป็นความท้าทายสำคัญที่ ธปท. ต้องเร่งแก้ไข ซึ่ง EIC มองว่า ความสำเร็จของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูในระยะต่อไป ขึ้นอยู่กับการติดตามปัญหาและอุปสรรคเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

·อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินบาทเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ EIC มองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มีโอกาสปรับสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และการออกพันธบัตรรัฐบาลไทยที่คาดว่าจะมีมากขึ้น ด้านเงินบาทอาจยังเผชิญกับแรงกดดันด้านอ่อนค่าในไตรมาสที่ 3 ได้ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มชะลอลงในช่วงปลายปี EIC จึงคงประมาณการเงินบาท ณ สิ้นปี 2021 ที่กรอบ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวที่ 1.8% และ 3.9% ในปีหน้า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 23 มิถุนายน 2021 กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี โดยประเมินว่าการระบาดระลอกที่สามของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้นเทียบกับประมาณการเดิม อีกทั้ง ในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันคือการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมให้เพียงพอและทันการณ์ นอกจากนี้ การเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 1.8% และ 3.9% ในปี 2021 และ 2022 ใกล้เคียงกับที่ EIC ได้ประเมินไว้ โดย ธปท. ปรับลดประมาณการตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงเหลือ 7 แสนคนในปี 2021 และ 10 ล้านคนในปี 2022 (จากเดิมที่ 3 ล้าน และ 21.5 ล้านคนตามลำดับ) และจากอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่สาม ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

โดยปัจจัยในประเทศจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะถัดไปมากกว่า เช่น ขนาดของ output gap, ขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นในธนาคารกลาง และความไม่สมดุลของอุปสงค์-อุปทานในแต่ละประเท

สำหรับในระยะต่อไป คาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทยอยหมดอายุลง อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามราคาที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านค่าจ้างที่คาดว่าจะชะลอลงหลังจากแรงงานกลับเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

EIC คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2021 และปี 2022 โดยถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อไทยจะมีสัญญาณเร่งตัวขึ้น แต่ EIC ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2021 จะอยู่ที่ราว 1.3% ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่คลี่คลายและมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับมีความล่าช้าในการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้แก่ประชาชน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ดังนั้น กนง. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลดอกเบี้ยในตลาดการเงินให้อยู่ในระดับต่ำและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกได้อย่างเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 เนื่องจาก EIC ประเมินว่า GDP ไทยทั้งปีจะยังไม่กลับไปสู่ระดับ 2019 จนกว่าจะถึงครึ่งแรกของปี 2023 ประกอบกับ GDP น่าจะต่ำกว่าระดับศักยภาพตลอดปี 2023 (ยังคงมี output gap) นอกจากนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเป็นไปอย่างช้า ๆ และจุดสูงสุด (peak) จะอยู่ต่ำกว่าวัฏจักรครั้งก่อน ๆ เนื่องจาก potential growth มีแนวโน้มลดลง และนโยบายการเงินต้องสนับสนุนภาระการชำระหนี้ที่สูงขึ้นของทั้งภาคครัวเรือนและรัฐบาล

นอกจากนี้ คาดว่า ธปท. จะเน้นการใช้มาตรการเฉพาะจุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสภาพคล่องและช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ธปท. ได้ทบทวนแนวนโยบายในการส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกหนี้

โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2021 ธปท. ได้ขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้ SMEs และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถเช่าซื้อรถ และสินเชื่อบ้าน ออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2021 (จากเดิมที่จะสิ้นสุดอายุลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2021) ตลอดจนกำลังพิจารณาความจำเป็นในการต่ออายุมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF

ทั้งนี้สภาพคล่องในระบบที่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง จะยังเป็นความท้าทายสำคัญที่ ธปท. ต้องเร่งแก้ไข สะท้อนจากสินเชื่อ SMEs ที่ยังคงหดตัวแม้จะมีฐานที่ต่ำ ขณะที่สินเชื่อที่ได้รับอนุมัติผ่านโครงการสินเชื่อฟื้นฟูมีมูลค่าเพียง 4 หมื่นล้านบาท จากวงเงินรวมทั้งหมด 2.5 แสนล้านบาท (ข้อมูลวันที่ 14 มิถุนายม 2021) ซึ่ง EIC มองว่า ความสำเร็จของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับการติดตามปัญหาและอุปสรรคเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 16 มิถุนายน 2021 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงเล็กน้อย ตามทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยในการประชุมดังกล่าว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP และเงินเฟ้อปี 2021 มาอยู่ที่ 7% และ 3.4% ตามลำดับ และได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น จากเดิมคาดว่าจะปรับขึ้นครั้งแรกในปี 2024 เป็นปรับขึ้น 2 ครั้งในปี 2023 ซึ่งหลังจบการประชุม FOMC อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ได้ปรับเพิ่มขึ้น 8 bps สู่ระดับ 1.58% หลังจบการประชุม แต่ต่อมาได้ปรับลดลงสู่ระดับ 1.49% ในปัจจุบัน ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1.81% ในปัจจุบัน

EIC คาดว่า ณ สิ้นปี 2021 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อาจปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 1.80-1.90% โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา คือ 1) Average inflation targeting (AIT) framework ที่ Fed ได้นำมาใช้ในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยจะคำนึงถึงค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อ แทนที่จะคำนึงแค่อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ซึ่งการดำเนินนโยบาย AIT นี้ประกอบกับการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 ทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อปรับลดลงและมีแนวโน้มอยู่ใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% และ 2) การจ้างงานสหรัฐฯ ที่ยังคงต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ ซึ่งเป็นผลจากแรงงานยังไม่กลับเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี EIC มองว่า ณ สิ้นปี 2021 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อาจปรับสูงขึ้นได้จาก 1) เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในปีนี้คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับตัวเลขการจ้างงานที่คาดว่าจะปรับดีขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีก และ 2) การสื่อสารถึงการทำ QE Tapering ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้EIC คาด ณ สิ้นปี 2021 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อายุ 10 ปี ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามสหรัฐฯ เล็กน้อย และคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.0-2.10% โดยในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ส่งผลซ้ำเติมต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม จึงเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดี EIC คาดว่า ณ สิ้นปี 2021 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อายุ 10 ปี ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามสหรัฐฯ เล็กน้อย และคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.0-2.10% เนื่องจาก คาดว่ารัฐบาลไทยมีแนวโน้มออกพันธบัตรเพิ่มเติมตามความต้องการระดมทุนของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทยตามทิศทางการทำ QE taper ของสหรัฐฯ ก็อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับสูงขึ้นได้อีกด้วย 

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ