TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistแชร์: เมื่อมิตรภาพกับความซื่อสัตย์ คือ หลักประกัน

แชร์: เมื่อมิตรภาพกับความซื่อสัตย์ คือ หลักประกัน

หลังจากห่างหายไปนาน คิดได้ว่าถึงเวลาจะกลับมาชวนเล่าชวนคุยในเรื่อง Personal Finance แต่เชื่อว่าในสถานการณ์แบบนี้ ปัญหาใหญ่ของพวกเรา ก็คือ การขาดรายได้ ในขณะที่รายจ่ายยังพุ่งขึ้นไม่สิ้นสุด เอาง่าย ๆ เรามีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าปกติเพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นหน้ากาก การตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง (ATK: Antigen Test Kit) ค่าแอลกฮอลล์ เดือนหนึ่งคุณคิดว่าสักเท่าไร และการ WFH ที่ยังไม่รู้ว่าเราจะต้อง work นานแค่ไหน มันมีรายจ่ายที่เพิ่มแบบไม่ทันตั้งตัว จะมีประหยัดบ้างก็แค่ค่าเดินทาง แต่เมื่อหักกลบกันแล้ว เรามีค่าใช้จ่ายมากกว่า 

เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาหนี้ก็มักจะตามมา ธนาคารแห่งประเทศไทยออกตัวเลขว่า หนี้ครัวเรือนของคนไทยถึง 90% แล้ว ถ้าแปลกันง่าย ๆ ก็คือ สภาพหนี้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอดแล้วล่ะครับ และสภาพหนี้ท่วมหัวนี่แหละเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การวางแผนการเงินทำได้ยากเหลือเกิน

ถ้าคนมีเงินแล้วมีหนี้ก็คงไม่เท่าไร เพราะการหาสินเชื่อ ไม่ยากนัก มีสิ่งที่จับต้องได้ เช่น หลักทรัพย์ ทรัพย์สินที่สถาบันการเงินมั่นใจได้ว่า มีเงินใช้เขาแน่ (ถ้าใช้ไม่ได้ก็สามารถยึดหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันได้) แต่คนที่ไม่มีหลักทรัพย์อะไรมายืนยันเขาได้ จะมีแต่สิ่งที่เรียกว่านามธรรม เช่น การเป็นคนดี การเป็นคนรับผิดชอบ มันเอามาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ได้เสียด้วยสิว่า เรามีความสามารถจะคืนเงินกู้เขาได้ ยิ่งในปัจจุบัน การจะกู้เงินได้ นอกจากจะต้องมีหลักทรัพย์แล้ว คุณจะต้องมีความสามารถในการทำให้เขาเชื่อว่า คนมีแผนงาน มีโครงการที่น่าสนใจ สามารถนำเสนอให้เขาคล้อยตามคุณได้

ทำให้ผมนึกถึงผู้ใหญ่สมัยก่อน เขามักจะเปรียบเปรยสถาบันการเงินว่า เหมือนกับเอาร่มมาให้ผมทำไม เมื่อฝนไม่ตก ความหมายคือ เมื่อเราไม่เดือดร้อนที่จะใช้เงิน คุณก็ดันกางร่มให้ผม แต่เมื่อเวลาผมเดือดร้อนขึ้นมาจริง ๆ ทำไมคุณไม่เอาร่มให้ผม

ผมนึกต่อเมื่อสัก 40-50 ปีที่แล้ว เวลาพ่อค้า (สมัยนี้ต้องเรียกนักธุรกิจจริงไหม มันฟังดูมี class กว่าคำว่าพ่อค้า) สมัยก่อนขาดเงินหมุนเวียน หรือขาดเงินลงทุน ที่พึ่งสำคัญ ก็คือ การตั้งวงแชร์

ผมไม่รู้หรอกว่า “แชร์” เป็นคำภาษาอะไร แต่การตั้งวงแชร์ คือ การระดมเงินจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะในกลุ่มที่ค้าขายด้วยกัน เพื่อนที่เรียนหนังสือด้วยกันมา หรือแม้แต่ญาติพี่น้องคนในครอบครัว โดยการระดมเงินจากคนในสัดส่วนเท่า ๆ กัน วงแชร์จะมีกี่คนก็ได้ ขึ้นกับว่าต้องการจำนวนเงินขนาดไหน เงินก้อนแรกที่เกิดจากระดมจะให้กับมือแรก คือ “เท้าแชร์” ที่มีความเดือดร้อน สมมุติมือละหมื่น สิบคนก็หนึ่งแสน เท่ากับคนเป็นเท้า จะได้เงินหนึ่งแสนโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย จากนั้น

มือต่อไป หากต้องการก็ต้องใส่ดอกเบี้ย เพื่อให้คนที่จะได้เงินหลัง ๆ ได้เงินแชร์พร้อมดอกเบี้ย  การใส่ดอกเบี้ยนี่แหละที่เขาเรียก “เปียแชร์” ซึ่งมีรายละเอียดอีกเป็นประเภทดอกหัก ดอกตาม กรณีดอกหัก ก็คือ เมื่อตัวเองต้องการเงินเป็นรายต่อไป จะใส่ดอกเบี้ยเพื่อมอบให้มือต่อไป และใส่เต็มจำนวนทุกครั้งจนกว่าจะหมดจำนวนที่เล่นแชร์ เท่ากับตนเองจะได้เงินไม่ครบ เพราะต้องหักดอกเบี้ยออกไป แต่ถ้าเป็นดอกตาม หมายถึงงวดต่อไป ตนต้องใส่เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่ตนเปียได้ไปทุกครั้ง คุณก็จะมีภาระต้องใส่เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปทุกครั้งจนกว่าจะครบ

การเล่นแชร์จะเล่นกันเป็นกลุ่ม ๆ ที่ทุกเดือนจะต้องมีการนัดหมายมาพบกัน เพื่อเปียแชร์นั่นล่ะหนึ่ง เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์สอบถามเรื่องการค้าเรื่องความสัมพันธ์กัน ดังนั้น การเล่นแชร์เรามักจะตั้งวงกันในกลุ่มคนที่สนิท ๆ กัน เพราะไม่มีหลักประกันได้เลยว่าจะไม่เบี้ยว ผมจึงเรียกกันเล่นแชร์ในสมัยก่อนว่าเป็นการให้โอกาสซึ่งกันและกัน โดยอาศัยมิตรภาพและความซื่อสัตย์เป็นหลักประกัน เพราะในทางกฎหมาย แชร์ไม่ได้เป็นที่สิ่งที่ยอมรับว่าถูกต้อง แน่นอนถ้าคุณเบี้ยว ไม่ว่าคนที่เป็นเท้าหรือคนเป็นลูกแชร์ เท่ากับตัดความสัมพันธ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม ถ้าเป็นการค้า คุณก็ทำลายเครดิตในตัวคุณไปแล้ว โอกาสที่จะขอความช่วยเหลือก็จะยากขึ้นหรือไม่มีเลย เรามีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าเท้าแชร์เบี้ยว จะไม่ได้ผุดได้เกิด ไม่มีใครคบ เช่นเดียวกับลูกแชร์ แต่ต่างอยู่นิดหนึ่งตรงที่เท้าแชร์ต้องรับผิดชอบ โดยการต้องจ่ายแทนลูกแชร์รายที่หนีไป เพราะคุณเป็นคนชวนเขามาเล่นแชร์

ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจากวงแชร์สมัยก่อน ทำไมจึงกลายเป็นแชร์ลูกโซ่ขึ้นมาได้ ทำไมคนสมัยนี้จึงเชื่อว่าคนที่ไม่รู้จักกัน มาชวนเล่นแชร์ทำไมถึงกล้า ดอกผลที่เขารับปากคุณจะได้เดือนแรกเท่านั้น เดือนต่อไปเท่านี้ คุณก็เชื่อ ทั้งที่ไม่มีหลักทรัพย์ที่มองไม่เห็นคือ มิตรภาพกับความซื่อสัตย์เลย ก็คุณหลงไปเล่นด้วย

ปัญหาการหาแหล่งเงินกู้ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ยังเป็นเรื่องยากสำหรับการเข้าถึงแหล่งเงิน (ภาษาสมัยนี้เรียกเสียเพราะว่า “การเข้าถึง” ความหมายก็คือการกู้นั่นแหละ) ผมเชื่อว่า คนที่ออกไปกู้เงินนอกระบบ ส่วนใหญ่มักจะรู้ว่าดอกมันโหด (แต่ไม่ค่อยสนใจรายละเอียดนักหรอก เท่ากับเราโดนสองต่อ แค่ดอกโหดก็แย่แล้ว ยังมีการโกงเราอีก ไว้จะกลับมาเล่าว่าพวกหนี้นอกระบบเขาโกงกันอย่างไร และเราป้องกันตัวอะไรได้บ้าง) 

พับผ่า!!! อยากให้มิตรภาพกับความซื่อสัตย์กลับมามีค่าอีกครั้ง

อยากสรุปในตอนท้ายว่า “หนี้” เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เราทำ Personal Finance ได้ยากที่สุด เพราะจะเสียเวลา และอาจจะทำให้เราตั้งเป้าหมายไม่ได้เลย แต่ถ้าต้องเป็นหนี้ ก็พยายามอย่าให้เขาโกงเรา และต้องมั่นใจว่าเรา “เอาอยู่” เพราะจากประสบการณ์ของผมมาสามสิบกว่าปี  ถ้าหากเราแก้หนี้ไม่ได้ เราจะสร้างความมั่นคงให้กับตัวเราไม่ได้เลย และก็อีกนั่นแหละ มีน้อยคนนักที่จะเอาชนะหนี้ได้ “เพราะสิ่งที่เรียกว่าดอกเบี้ยทบต้น ถ้าหากอยู่ในฝั่งลงทุน รายได้เราจะงอกงามตามระยะเวลาเลยทีเดียว เรียกว่าเป็นพลังของดอกเบี้ยทบต้น แต่กลับกัน หากเป็นฝั่งด้านมืด ดอกเบี้ยทบต้นก็จะทำลายโอกาสที่คุณจะเป็นอิสระ!!”

คอลัมน์: Personal Finance ที่ผมรู้จัก (แต่ทำไม่ได้) ตอนที่ 3

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ