TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness"อีเวนต์" ปรับไซส์ รอวันกลับสู่วิถี Old Normal

“อีเวนต์” ปรับไซส์ รอวันกลับสู่วิถี Old Normal

“อีเวนต์” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักมากจากวิกฤติโควิดครั้งนี้ เนื่องจากวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ หรือ New Normal ไปกันไม่ได้กับการจัดอีเวนต์ในรูปแบบเดิม ผู้ประกอบการต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่ออยู่รอด เพื่อรอวันกลับสู่วิถี Old Normal อีกครั้ง

ธุรกิจอีเวนต์ในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ไม่นับรวมกลุ่มธุรกิจการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือไมซ์ (MICE) ที่มีมูลค่าสูงและได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดครั้งนี้เช่นเดียวกัน

บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าแม้จะมีการคลายล็อคดาวน์แล้ว มูลค่าธุรกิจในปีนี้จะหายไปอย่างน้อย 70%

สาเหตุที่อินเด็กซ์ฯ คาดการณ์ว่า อย่างไรธุรกิจอีเวนต์จะไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ หากยังอยู่ภายใต้วิถี New Normal สิ่งสำคัญอันดับแรกเลย คือ อีเวนต์ เป็นการสร้างประสบการณ์ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นวิถีแบบ Old Normal ที่แม้จะมีเทคโนโลยีดิจิทัล เทคนิคการสร้างภาพเสมือนจริงเข้ามาช่วย แต่ยังไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่สมบูรณ์แบบได้

บริษัท เอ็นไวโร ประเทศไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้บริโภคเพียง 15% ที่เข้าร่วมอีเวนต์ออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจนวาย อีก 85% ที่ไม่เข้าร่วม เพราะไม่เชื่อว่าการจัดอีเวนต์ออนไลน์จะทดแทนอีเวนต์ออนกราวนด์ได้ และมีผู้บริโภค 93% ที่คิดว่าอีเวนต์ออนไลน์ทดแทนอีเวนต์ออนกราวนด์ได้ นอกจากนี้ มีเพียง 12% ที่รู้สึกชอบกับการเข้าร่วมอีเวนต์ออนไลน์ ขณะที่ 88% ที่เข้าร่วมกลับไม่ชอบ

“ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่ต้องการงานอีเวนต์ที่ยกจากออนกราวนด์ มาสู่ออนไลน์ แตกต่างจากการช้อปปิ้ง ที่ผู้บริโภคยินดีที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ เพราะเกิดความสะดวก แต่อีเวนต์เป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ ซึ่งไม่สามารถทดแทนได้” สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร ประเทศไทย จำกัด วิเคราะห์ผลสำรวจที่เกิดขึ้นต่อการปรับตัวของธุรกิจอีเวนต์ในภาวะวิกฤตินี้

ในช่วงของมาตรการกักตัวที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการเสพความบันเทิงในรูปแบบใหม่ อาทิ เกมส์ E-Sport ทดแทนการทำกิจกรรมแบบเดิม การไปดูคอนเสิร์ต ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์แบบ Second Life

ในฐานะผู้จัดอีเวนต์ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ให้เป็น Online Entertainment หรือ Online Activity เพื่อสร้างประสบการณ์แบบ Virtual ในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่การทดแทนประสบการณ์ออนกราวนด์

ในความเป็นจริง การจัดกิจกรรมบนออนไลน์ ไม่สามารถทดแทนมูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจอีเวนต์แบบเดิมได้ เพราะการทำธุรกิจอีเวนต์มีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง การทำอีเวนต์ออนไลน์ตัดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกไปเป็นจำนวนมาก เช่น การจัดกิจกรรมแข่งรถอย่างโมโต จีพีครั้งหนึ่ง จะมีธุรกิจหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายตั๋ว ธุรกิจโรงแรม ที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

“ดังนั้นอีเวนต์จึงต้องรอวันที่จะกลับสู่วิถี Old Normal เท่านั้น” สรินพรย้ำ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครั้งนี้ พอเห็นโอกาสรอดอยู่บ้าง หากจะทำกิจกรรมค้าขาย หรือการจัดอีเวนต์ สำหรับกลุ่มเจนแซด และเจนวาย เพราะคนสองกลุ่มนี้มีความกังวลกับโควิดน้อยกว่ากลุ่มอื่น และพร้อมที่จะออกมาใช้ชีวิต เห็นได้จากกิจกรรมมิตติ้งงานหนึ่งที่มีแฟนคลับจำนวนมากเข้าร่วมหลังคลายมาตรการล็อคดาวน์ไม่กี่วัน จนเจ้าของสถานที่ต้องถูกสั่งปิด คนเหล่านี้ล้วนเป็นคนเจนแซดและเจนวายที่ต้องการใช้ชีวิต แตกต่างจากกลุ่มเจนเอ็กซ์ และเบบี้ บูมเมอร์ ที่ไม่พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวอย่างน้อย 3 – 6 เดือนข้างหน้า

สรินพร แนะนำว่า สำหรับผู้ประกอบธุรกิจอีเวนต์ในช่วงนี้คงต้องปรับตัว จัดกิจกรรมในลักษณะซอยย่อยอีเวนต์ในช่วงแรก แต่ต้องเพิ่มความถี่ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ ลดจำนวนคนต่อรอบให้น้อยลง หรือสร้าง Online Entertainment หรือ Online Activity ที่สำคัญต้องเป็นการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอีเวนต์ ที่เข้ามาช่วยกันประคับประคองให้อีเวนต์เดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการหลายค่าย พยายามลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมในลักษณะ Online Entertainment หรือ Online Activity อย่างน้อยเพื่อเป็นทางรอดของธุรกิจในช่วงที่เหลืออยู่ ซึ่งสำหรับ สรินพร มองว่าหากไม่คิดใหม่ ทำใหม่ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นแค่แฟชั่นเท่านั้น

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ