TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessThailand Taxonomy ระยะที่ 2 กับ 4 อุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง

Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 กับ 4 อุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง

ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น เป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่โลกต้องเผชิญ มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 หรือ Thailand Taxonomy นโยบายและเครื่องมือที่ช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันการณ์

มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 1 ที่ได้เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ครอบคลุมกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) ในภาคพลังงานและขนส่ง 

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 คณะทำงาน Taxonomy ได้เริ่มจัดประชุมเพื่อเริ่มจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ซึ่งระยะนี้จะขยายขอบเขตภาคธุรกิจเพิ่มเติมโดยให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคการจัดการของเสีย และภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ โดยยังคงมุ่งเน้นวัตถุประสงค์ด้านการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหมือนในระยะที่ 1 คาดว่าขอบเขตของกิจกรรมในแต่ละภาคธุรกิจจะคำนึงถึงนโยบายและบริบทของประเทศเป็นสำคัญ ตลอดจนยังคงคำนึงถึงความสอดคล้องกับมาตรฐานของต่างประเทศด้วย

บทความนี้จะนำเสนอการคาดการณ์การพัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 ของแต่ละภาคอุตสาหกรรมว่ามีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาในรูปแบบใด

ภาคอุตสาหกรรมการผลิต

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงและมีความท้าทายในการลดการปลดปล่อยอย่างมีนัยสำคัญ (hard-to-abate sector) รวมถึงมีต้นทุนสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีการลดการปล่อยของก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต คาดว่าการจัดทำ Taxonomy ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะคำนึงถึงบริบทของประเทศเป็นหลักและพิจารณากลุ่มกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการหรือนโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสากลร่วมด้วย

เมื่อพิจารณา Taxonomy ที่เริ่มบังคับใช้และเป็นที่ยอมรับระดับสากล เช่น EU Taxonomy, Singapore-Asia Taxonomy และ CBI Taxonomy พบว่าครอบคลุมอุตสาหกรรมหนักที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงและมีความท้าทายในการลด รวมถึงกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการผลิตในรูปแบบต่างๆ  โดยเงื่อนไขและตัวชี้วัดจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของ Taxonomy และบริบทของประเทศที่จัดทำ

ดังนั้น คาดการณ์ว่าสำหรับภาคอุตสาหกรรมชมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 จะให้ความสำคัญกับการพัฒนากฎเกณฑ์ เงื่อนไขและตัวชี้วัดที่มุ่งเน้นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อ้างอิงจากคำอธิบายของธปท. Thailand Taxnomy ก็คือ มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมสำหรับประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับสถาบันการเงินหรือนักลงทุนในการใช้อ้างอิงสำหรับการพิจารณาให้บริการและเครื่องมือทางการเงินในการสนับสนุนให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องเหมาะสมกับระเบียบสากลโลก

เรียกได้ว่าเป็นระบบการจำแนกประเภท และการจัดทำรายการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยให้น้ำหนักด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อทำความเข้าใจแต่ละประเภทธุรกิจว่ามีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนและการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว

โดยกรอบของ Thailand Taxnomy สอดคล้องกับหลักการของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกและจำกัดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกไม่ให้ขยับขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยให้ความสำคัญหลักก็คือการกำหนดกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เพื่อให้บรรลุการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายสากล ดังนั้นวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในกรอบการพิจารณาจึงต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยด้วย

โดยใช้วิธีการจำแนกและจัดหมวดหมู่กิจกรรมแบบระบบไฟจราจร (Traffic Light System) ซึ่งประเมินระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของแต่ละกิจกรรมไว้ 3 ระดับตามสีไฟจราจรคือ แดง เหลือง (อำพัน) เขียว ทำให้องค์กรต่าง ๆ ได้รับการกระตุ้นเตือนให้เริ่มปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือกระบวนการดำเนินงานเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหมายถึงกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่บริษัทหรือองค์กรนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการออกมาสู่สังคม โดยครอบคลุมถึงกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นที่ให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการนั้น ๆ ออกมา

ภาคการเกษตร

ภาคการเกษตรไทยมีความเปราะบางสูงมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็นร้อยละ 15.23 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทย

Taxonomy ระดับภูมิภาคหรือประเทศอื่น ๆ ในปัจจุบัน มักครอบคลุมพืชยืนต้น พืชล้มลุก และปศุสัตว์โดยที่ไม่ระบุเจาะจงพันธุ์พืชหรือสัตว์ อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ประเทศที่มีสัดส่วนการทำเกษตรกรรมสูงเริ่มมีการระบุเงื่อนไขและตัวชี้วัดของพืชเศรษฐกิจรายตัว Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 มีแนวโน้มที่จะผสมผสานการระบุเงื่อนไขและตัวชี้วัดทั้ง 2 แบบ ทั้งเกณฑ์ภาพรวมและเกณฑ์แยกของพืชเศรษฐกิจสำคัญรายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา และอ้อย

นอกจากนี้ อาจพิจารณาขยายขอบเขตการเลี้ยงสัตว์ให้รวมสัตว์น้ำที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change adaptation) เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมหรือการดำเนินงานที่ช่วยลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคตไว้ด้วย

ภาคการจัดการของเสีย

ภาคการจัดการของเสียมีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ปัจจุบันไทยยังประสบปัญหามีขยะมูลฝอยที่กำจัดอย่างไม่ตามหลักปฎิบัติการ และมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกวิธีรวมถึงเตาเผาขยะที่ไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศและจุดเผากำจัดกลางแจ้ง

สำหรับการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 คาดว่าจะมีการพิจารณาระบุขอบเขตของกิจกรรมที่สอดคล้องไปกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และไปในแนวทางเดียวกับ Taxonomy ระดับสากล อาทิ การจัดเก็บและขนส่งขยะไม่อันตราย การบำบัดขยะด้วยวิธีการเชิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบคัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิล รวมถึงการจัดตั้งโรงบำบัดน้ำเสียและระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

การเปรียบเทียบมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นความท้าทายเมื่อต้องพัฒนา Taxonomy เพราะในแต่ละมาตรฐานใช้ตัวชี้วัดที่ต่างกัน  ทำให้บางมาตรฐานอาจเน้นตัวชี้วัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยตรง Taxonomy ที่จัดทำในระยะหลังจึงแก้ปัญหาด้วยการกำหนดรายชื่อมาตรฐานที่สามารถใช้อ้างอิงได้ เช่น ใน Singapore-Asia Taxonomy กำหนดให้อ้างอิงมาตรฐานที่ Climate Bonds Initiative ให้การรับรอง โดยมีครอบคลุมการก่อสร้างอาคารใหม่ การปรับปรุงอาคารเดิม การซื้อหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ และการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียน ดังนั้น จึงสามารถใช้วิธีการดังกล่าวในการจัดทำรายชื่อกิจกรรม เงื่อนไข และตัวชี้วัดเพื่อลดความลักลั่นระหว่างมาตรฐานได้เช่นกัน

คณะทำงานฯ จะเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างเอกสารมาตรฐานฯ จากสาธารณชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2024 และคาดว่าจะเผยแพร่ภายในปีถัดไป

ระหว่างนี้ ธุรกิจใน 4 ภาคเศรษฐกิจที่กล่าวถึงข้างต้น ควรติดตามการพัฒนาขอบเขตและหลักเกณฑ์ผ่านสมาคมหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เช่น ร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องปรับกระบวนการผลิต เก็บข้อมูลเพื่อรับสิทธิประโยชน์ หรือจัดทำรายงานที่อาจเกิดขึ้นเป็นภาคบังคับในอนาคต

ธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการ Thailand Taxonomy ยืนยันว่า เกณฑ์ของ Thailand Taxonomy ที่สร้างขึ้นมานี้ไม่ได้มีเจตนาทำลายภาคเศรษฐกิจ ดังนั้น ข้อกำหนดที่เกิดขึ้นจึงเน้นย้ำให้ภาคธุรกิจดำเนินการตามความสมัครใจ ดังนั้นจึงไม่บังคับให้นักลงทุนต้องลงทุนในกิจกรรมสีเขียวหรือบังคับบริษัทในการกำหนดประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ Taxonomy เป็นเพียงระบบการติดฉลากเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางเศรษฐกิจและการเงินว่ากิจกรรมใดเป็นสีเขียวและกิจกรรมใดไม่ใช่เท่านั้น โดย Taxonomy อาจนำไปสู่การที่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายดำเนินมาตรการเพิ่มเติมบางอย่างเพื่อสนับสนุนกิจกรรมสีเขียวและขัดขวางการพัฒนากิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกัน และเนื่องจากไม่มีมาตรฐานการลงทุนบังคับทั่วโลก นักลงทุนจึงมีอิสระในการกำหนดวิธีการลงทุนและลำดับความสำคัญ

ทั้งนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการ หรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (คณะทำงานฯ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนรวม 26 หน่วยงาน จัดประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1/2567 เพื่อร่วมขับเคลื่อนการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2

หน่วยงานภาครัฐและเอกชน 26 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

2. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

3. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

4. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

5. กรมโรงงานอุตสาหกรรม

6. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

7. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

8. กรมวิชาการเกษตร

9. กรมการข้าว

10. กรมป่าไม้

11. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

12. กรมปศุสัตว์

13. กรมประมง

14. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

15. กรมโยธาธิการและผังเมือง

16. กรมควบคุมมลพิษ

17. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

18. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

19. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมฯ

20. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

21. สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย

22. สมาคมอาคารชุดไทย

23. สภาวิศวกร

24. สมาคมธนาคารไทย

25. สมาคมธนาคารนานาชาติ

26. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

บทความโดย ดร. บดินทร์ วงศ์วิทยาภิรมณ์ ผู้จัดการอาวุโส และธนิดา ลอเสรีวานิช ผู้ช่วยผู้จัดการ Sustainability & Climate CoE ดีลอยท์ ประเทศไทย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Thailand Taxonomy มาตรฐานกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สู่สังคมสีเขียวยั่งยืน

ทีทีบี เปิดกลยุทธ์ปี 67 ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ digital bank โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ