TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistตัดสินใจพลาด และดันทุรังเป็นเหตุ ... สังเกตได้

ตัดสินใจพลาด และดันทุรังเป็นเหตุ … สังเกตได้

การบริหารจัดการเรื่องวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มีปัญหามาโดยตลอด นับตั้งแต่ยี่ห้อวัคซีนหลักที่เลือกใช้ การสั่งซื้อวัคซีน โดยกล่าวอ้างว่าเป็นวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่บริษัทผู้ผลิตจะติดต่อกับเฉพาะรัฐบาลเท่านั้น ความล่าช้าในการได้รับวัคซีน จำนวนวัคซีน ตลอดจนการส่งมอบ กระจายไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ ที่สำคัญ คือ การรวบอำนาจจากหลายภาคส่วนเข้ามารวมศูนย์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 – กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการ 

ไม่ว่าจะโดยความรับผิดชอบของใครก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความผิดพลาดล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนทั้งประเทศได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของศบค. การฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่อยากจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ มีการเลื่อนฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งที่รมว.สาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล พยายามออกปฏิเสธตลอดเวลา

ในที่สุด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 …. เพื่อเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ตามวาระแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว เป็นไปตามมาตรการเร่งรัด การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด

โดยได้มีการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิดทั้งหมด 6 ข้อ

ข้อ 1 ให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอ แก่ประชาชนโดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากรห้าสิบล้านคน)

ข้อ 2 ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิต วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

ข้อ 3 ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด

ข้อ 4 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนอาจจัดหา หรือ ขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนามาให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ข้อ 5 โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทาง หรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤตมีความเป็นธรรมมากที่สุด

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวก แก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนรวมของประเทศ

ข้อ 6 ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล กับระบบแพลตฟอร์ม หมอพร้อม ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ถ้ายังจำกันได้ก่อนหน้านี้ มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง พยายามเจรจาสั่งซื้อวัคซีนเข้ามา โดยให้ผ่านองค์การเภสัชกรรมในฐานะตัวแทนรัฐบาล แต่ในที่สุดก็ต้องถูกยกเลิก

เวลานี้จำนวนผู้ฉีดวัคซีนยังไม่มากพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะเดียวกันเกิดคัสเตอร์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก บางแห่งเคยเกิดขึ้นแล้ว จนสถานการณ์ดีขึ้นกลับมาเกิดขึ้นใหม่ การปลดล็อคของศบค. ในครั้งนี้ แม้จะสายไปแต่ก็ถือว่า ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไร เพื่อประชาชนคนไทยเลย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ