TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyAIS อุ่นใจไซเบอร์ ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐสร้างพลเมืองดิจิทัล ยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลเยาวชนไทย

AIS อุ่นใจไซเบอร์ ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐสร้างพลเมืองดิจิทัล ยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลเยาวชนไทย

สังคมไทยยุคปัจจุบัน ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตเราอย่างเกือบจะขุดรากถอนโคน ทั้งทางด้านวัฒนธรรมการใช้ชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตคนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ผู้คนต้องต่อสู้ดิ้นรนกับวิถีเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ครอบครัวสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์มากกว่าการได้ใช้เวลาร่วมกันจริง

คุณจะรู้สึกอย่างไร เมื่อสบตาเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง แล้วมีแต่สายตาที่ว่างเปล่าให้เรา ความสนใจของเขาอยู่แค่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือเป็นไปได้ว่าจะพบแววตาที่เกรี้ยวกราด เมื่อพยายามดึงเขาออกจากการเล่นเกมส์ หรือการใช้เวลากับหน้าจอสมาร์ทโฟนตลอดเวลา แน่นอนว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเด็กวัยรุ่น ทว่าพบได้ในคนทุกเจเนอเรชัน

การที่คนในสังคมจะเป็นอิสระจากพันธนาการของโลกออนไลน์ จำเป็นต้องมีความเข้มแข็งในทักษะทางด้านดิจิทัล ทั้งการรู้จักใช้เทคโนโลยี และความสามารถในจัดการเทคโนโลยี ซึ่งน่าจะเป็นความท้าทายของสังคมไทยในยุคนี้ ที่หลายภาคส่วนตั้งเป้าหมายและพยายามไปถึงร่วมกัน หลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในความพยายามเหล่านั้น ผ่านความร่วมมือระหว่าง AIS และภาคีเครือข่ายภาครัฐ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับการศึกษายุคดิจิทัลสู่การสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์

กทม. จับมือ AIS ร่วมสร้างพลเมืองดิจิทัล ผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์

AIS อุ่นใจไซเบอร์ ผนึกกำลังพันธมิตรภาครัฐสร้างพลเมืองดิจิทัล ยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลเยาวชนไทย รู้เท่าทันภัยไซเบอร์

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยถึงภารกิจร่วมกับ AIS ในการยกระดับระบบการศึกษาให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนเร็ว ตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัล ให้นักเรียนในในโรงเรียน สังกัด กทม. ซึ่งมีมากถึง 250,000 คน จาก 437 โรงเรียน รวมถึง ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครอง มีทักษะดิจิทัล สามารถใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม ผ่านการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอน เพิ่มความรู้ความเข้าใจทักษะทางดิจิทัลและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์

โดยเบื้องต้นสิ่งแรกที่ทาง กทม. พยายามทำ คือ การปรับโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนในสังกัด กทม.ให้มีความทันสมัย ทุกห้องเรียนจะกลายเป็น Digital Classroom มีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้แบบ Active Learning และกำลังจะมีห้องแล็บคอมพิวเตอร์ครบทุกโรงเรียน โดยทางกทม. ได้มีโครงการรับบริจาคคอมพิวเตอร์เพื่อให้เพียงพอต่อการนำมาใช้ในทุกห้องเรียน และห้องแล็บคอมพิวเตอร์ 

กทม. ยังพยายามปรับกรอบคิดด้านการเรียนรู้ คือ ให้หลักสูตรแกนกลางกับหลักสูตรนอกห้องเรียนบูรณาการเข้าหากันมากขึ้น และเปิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ว่าไม่ใช่อยู่ในตำราและในห้องเรียนเท่านั้น แต่สามารถออกมาสู่วันเสาร์อาทิตย์ ออกไปสู่สถานที่และเครื่องมืออื่นๆ ที่ไม่ใช่ตำราเรียน การใช้คอมพิวเตอร์ทำให้เนื้อหาการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น ลดคอขวดจากการเรียนผ่านตำรา  มาเป็นผ่าน Digital Device มีเนื้อหาหรือคอนเทนต์ดีๆ จากภาคีเครือข่าย โดยมีคุณครูซึ่งปรับบทบาทมาเป็น facilitator ที่ทำให้เด็กเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาที่ดี

ศานนท์ อธิบายเพิ่มเติมว่า หลักสูตรทางด้านภัยไซเบอร์ที่นำมาใช้กับโรงเรียนในสังกัด กทม. นั้นมีมากมาย และทาง กทม.ให้เสรีภาพกับแต่ละโรงเรียนในการนำหลักสูตรไปออกแบบปรับใช้ ไม่จำเป็นต้องใช้ในรูปแบบที่เหมือนกัน บางโรงเรียนก็เอาไปใช้ในวิชาวิทยาการคำนวณ บางโรงเรียนใช้เป็นหลักสูตรนอกห้องเรียน บางโรงเรียนจะใช้ในห้องคอมพิวเตอร์ในวันเสาร์  หรือเป็นนอกห้องเรียนช่วงเวลาหลังเลิกโรงเรียน เป็นต้น

“หนึ่งในเรื่องที่คิดว่า ไม่ใช่แค่เด็ก แต่เป็นผู้ใหญ่ด้วยที่ต้องเรียนรู้ คือ ด้านมืดของโลกดิจิทัล คอนเทนต์ต่างๆ ที่อาจนำพาเราไปสู่โลกอีกด้าน หรือแม้แต่การหลอกลวง การสร้างความเข้าใจเรื่องดิจิทัลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องขอบคุณ AIS ที่ทำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ขึ้น ทาง กทม.จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ทางเลือก ที่นำเข้าไปไว้ในหลักสูตร ให้คุณครูและเด็กใช้ในการเรียนรู้ต่อไป จากนั้นเราจะถอดบทเรียนจากการออกแบบปรับใช้หลักสูตร เพื่อนำมาเป็นทางเลือกให้โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป

หัวใจของการวัดผลน่าจะเป็นเรื่อง Impact ที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ว่าเด็กเกิดภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์อย่างไรบ้าง มีวิธีการวัดผลอย่างไรได้บ้าง นอกจาก Impact ต่อเด็กนักเรียน เราต้องทำให้ครูได้เลือก ได้ทดลองและได้รู้ว่าเขาถนัดแบบไหน เพราะเท่าที่เห็น หลักสูตรต่าง ๆ ที่เข้ามามีประโยชน์หมดเลย หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ทำมาค่อนข้างดีมาก ยิ่งมีการพิสูจน์มาแล้วจากทาง สพฐ. ยิ่งทำให้ง่ายขึ้น กทม. แทบไม่ต้องทำอะไรใหม่ ต้องขอบคุณเอไอเอส ที่เป็นผู้ริเริ่ม และให้เรานำมาปรับใช้”ศานนท์กล่าว

บูรณาการองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตกับเทคโนโลยีดิจิทัล   

แพทย์หญิงวิมลรัตน์ จันทร์เพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า การส่งเสริมให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดี คือ เป้าหมายสูงสุดของกรมสุขภาพจิต แต่ความสุขของคนในทุกวันนี้ ชีวิตครึ่งหนึ่งของคนรุ่นใหม่วนเวียนอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งมีความจริงทั้งสองด้านขนานกันไป ไม่ต่างกับโลกความจริง ทั้งสุขและทุกข์ ความจริงและการหลอกลวง การรังแกและความเอื้ออาทร

กรมสุขภาพจิต จึงร่วมกับ เอไอเอส ในการผลักดันให้ไทยมีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ โดยบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพจิต กับความรู้ทางด้านดิจิทัลจากทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) เกิดเป็นหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีเป้าหมายให้ทุกคนป้องกันตัวเองได้ ปลอดภัยทั้งในชีวิตจริงและโลกดิจิทัล ในรูปแบบที่ทุกเพศทุกวัยเข้าถึงง่าย เรียนรู้สบาย มีความสนุกสนาน มีแบบทดสอบเพื่อให้รู้ว่าเราเข้าใจถูกหรือไม่ เรียนผ่านออนไลน์เมื่อไหร่ก็ได้

แพทย์หญิงวิมลรัตน์ เผยถึงภัยไซเบอร์ที่เด็กพบเจอ 3 อันดับแรก คือ หนึ่ง การเสพติดเกมส์ และติดโลกออนไลน์ (Game & Internet Addiction) หลายคนไม่ได้เล่นเกมส์ แต่ดูคลิปทั้งวัน ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตเยอะ ซึ่งทุกบ้าน ทุกครอบครัวล้วนมีปัญหาด้านการใช้เวลากับเกมส์ กับอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเล่นเกมส์นานเกิน 2 ช.ม. ก็จะมีแนวโน้นที่จะติดเกมส์ต่อไป การเล่นเกมส์ต่างกับการดูคลิป เพราะการเล่นเกมออนไลน์มักเล่นเป็นกลุ่ม ร่วมหัวจมท้ายกัน ถ้าหลุดออกไปก็จะโดนเพื่อนว่า แต่การดูคลิปสามารถหยุดแล้วค่อยกลับมาดูได้

ภัยไซเบอร์ อันดับสองคือ ไซเบอร์บุลลี่ เพราะทุกอย่างทำได้ง่ายผ่านออนไลน์ โพสต์รูปก็ง่าย พิมพ์คุยอะไรแย่ๆ ผ่านมือถือได้ง่าย ไม่ต้องรู้จักกันแต่เพื่อนในกลุ่มบอกให้ไม่ชอบคนนี้ เราก็พร้อมจะไม่ชอบเค้าได้ ทั้งที่ชีวิตจริงเจอกันหน้าก็ไม่มีปัญหาอะไรกัน แต่ในออนไลน์ คือ ฉันดีดเธอออกจากกลุ่ม จากแก๊ง หรือ ตั้งกลุ่มใหม่-ลบกลุ่มเก่าก็ง่าย

ส่วนอันดับสาม มีตั้งแต่การหลอกลวง เช่น ส่งลิงค์หลอกให้โอนเงิน หลอกให้ถ่ายรูปเห็นสัดส่วนส่งไปให้ และไม่น่าเชื่อว่าก็มีเด็กที่ยอมส่งไป และไม่ใช่เด็กในกลุ่มที่ด้อยโอกาส แต่เป็นเด็กที่มีการศึกษาและมีฐานะด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการนัดพบคนไม่รู้จัก แค่รู้จักกันออนไลน์ที่ไม่ใช่ตัวตนจริง ส่วนหนึ่งเพราะเวลาโพสต์ก็ต้องเช็คอิน โพสต์บ่อยๆ เช็คอินบ่อยๆ คนที่ตั้งใจหลอกลวงก็เข้าถึงติดตามเราได้ง่าย ถึงเวลาโทรหาเราก็เหมือนรู้จักตัวเราดี ทำให้เราหลงเชื่อได้ง่าย

รศ.ดร.ณรงค์ มั่งคั่ง รองอธิบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม KMUTT เสริมมุมมองจากการมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ว่า เรียกได้ว่าเกิดจาก เอไอเอสเข้าใจ กทม.เข้าถึง กรมสุขภาพจิตพัฒนา และ KMUTT ร่วมบูรณาการทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้น บางทีกว่าที่ผู้ใหญ่จะรู้ก็สายเสียแล้ว แต่หลักสูตรนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะช่วยทุเลาสถานการณ์ไม่ให้สายจนเกินไป

“ผู้ใหญ่อาจจะต้องเท่าทันโลกดิจิทัลเสียก่อน ต้องศึกษาและนำไปสื่อสารกับเด็ก ใช้ความใจเย็นในการพูดคุยและหายุทธวิธีในการสอน เพราะฉะนั้นนอกจากครู บุคลากรการศึกษา ขั้นต่อไปควรทำงานกับพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย เพราะเด็กทุกยุคมักเชื่อทุกคน ยกเว้นพ่อแม่ บางทีพ่อแม่ต้องใช้ทางอ้อมในการเข้าถึงลูกหลาน ถ้ายิ่งดุก็หนี ถ้าบังคับก็หนี โกรธหรือดีใจก็ต้องเก็บอาการ ต้องหาวิธีในการสอน ใช้จิตวิทยา คุยเหมือนเพื่อน ทำยังไงให้เขายอมรับ คนเราต้องศรัทธาถึงจะยอมเชื่อ” รศ.ดร.ณรงค์กล่าว

แพทย์หญิงวิมลรัตน์ให้คำแนะนำเพิ่มเติมกับพ่อแม่ผู้ปกครองว่า ผู้ปกครองอาจจะต้องมีข้อตกลงหรือกฎที่สร้างร่วมกันกับบุตรหลานว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน แต่แน่นอนว่า มีกฎก็ต้องแหกกฎ เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองต้องมีสองอย่างควบคู่กันไป คือ ระเบียบก็ต้องมี ความสัมพันธ์ที่ดีก็ต้องได้ เพื่อให้เด็กอยากทำตามระเบียบ  

“เราพยายามสอนทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก คือ ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและสร้างกฎระเบียบที่ชัดเจน ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดี แต่กฎระเบียบไม่ชัดเจนก็ลำบาก ถ้าบอกว่ากฎ คือ อย่าเล่นเกมส์เยอะ แต่เยอะของเด็ก คือ 4 ช.ม. ของพ่อแม่ คือ 2 ช.ม. นี่คือกฎไม่ชัด ถ้ากฎชัดว่า เล่มเกมส์ไม่เกินวันละ 2 ช.ม. แต่งอนกันเช้าเย็น เรางอนใครอยู่อยากทำตามมั้ยล่ะ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่กฎระเบียบอย่างเดียวที่ทำให้เด็กควบคุมตัวเองได้ แต่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์หรือกระบวนการที่ทำให้เกิดความอยากทำตามสิ่งที่อีกคนหนึ่งบอก” แพทย์หญิงวิมลรัตน์กล่าว

AIS กับความมุ่งมั่นยกระดับสุขภาวะทางดิจิทัลของสังคมไทย

สายชล ทรัพย์มากอุดม  รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS อธิบายถึงที่มาของความร่วมมือ ระหว่าง AIS กทม. กรมสุขภาพจิต และ KMUTT ว่า AIS ในฐานะผู้ให้บริการ Digital Service Provider ได้ปักหมุดหมายมาตั้งแต่ปี 2019 เริ่มต้นจากการเห็นความสำคัญของผู้คนในสังคมไทยที่ควรจะมีสิ่งที่เรียกว่า สุขภาวะทางดิจิทัล หรือ Digital Wellness ทั้งในแง่การรู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัล คือ Digital Literacy ซึ่งสาระสำคัญคือ เมื่อรู้จักใช้แล้ว เราสามารถจัดการเทคโนโลยีได้ดีแค่ไหน ต้องไม่ปล่อยให้เทคโนโลยีมาทำร้ายเรา ‘เพราะเทคโนโลยีไม่ใช่พระเจ้า’

หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ จึงเกิดขึ้นจากการระดมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยกรมสุขภาพจิตให้คำปรึกษาด้านเนื้อหาผ่านองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิต และได้คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม KMUTT นำเนื้อหามาแปลงเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ในรูปแบบที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ไหลไปตามจริตและพฤติกรรมของคนปัจจุบัน แปลงร่างองค์ความรู้ ออกมาเป็นบทเรียนในรูปแบบวีดีโอ โรลเพลย์ ละคร หรือการ์ตูนอนิเมชัน ที่สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ โดย “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์”  นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ  4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้

  1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
  2. Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
  3. Protection:  เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
  4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
AIS learndi aunjai cyber

ปัจจุบัน มีผู้เข้ามาเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แล้วกว่า 3 แสนคน บนแพลตฟอร์ม LearnDi ของ AIS ที่ผ่านมา มีการพยายามนำหลักสูตรนี้ให้เข้าถึงคนไทย โดยนำร่องกับเยาวชนในเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต รวมกว่า 29,000 โรงเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเริ่มต้นการเรียนการสอนไปแล้วภายในภาคต้นของปีการศึกษา 1/2566 รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หลักสูตรสำหรับประชาชนทั่วไป และมีการส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)

“วันนี้ เราดีใจที่หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์กำลังจะเข้าสู่โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่มีน้องๆ นักเรียนกว่า 250,000 คน 437 โรงเรียน ก้าวต่อไปเรายังได้มีการพูดคุยกันไว้ ในส่วนของโรงเรียนเทศบาล สังกัดกระทรวงมหาดไทย และสถานศึกษาของกรมอาชีวศึกษาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เรายังมีหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุด้วย เราอยากให้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้ เป็นเหมือนวิชา Cyber Wellness 101 โดยคอนเทนต์ต้องปรับไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและจริตของผู้คน เรียนแล้วเข้าใจและสนุก นี่คือสิ่งที่ AIS ปวารณาตัวเองในการจะพัฒนาหลักสูตรให้เข้าถึงผู้คนในสังคมไทย”

นอกจากนี้ เมื่อเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา AIS ได้เปิดตัว “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index” ซึ่งถือว่าเป็นส่วนต่อขยายจากการพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เพื่อเป็นการประเมินการเรียนรู้ด้านดิจิทัลว่าอยู่ในระดับไหน โดยเอไอเอสจึงร่วมกับ KMUTT กรมสุขภาพจิต ตำรวจทุกภาคส่วน และผู้เชี่ยวชาญมากมาย ในการออกแบบแบบสอบถามใช้กับกลุ่มตัวอย่างในแต่ละภาคของประเทศ

“ผลการสำรวจดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล พบว่า ค่าของคนไทยอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่จะมีบางภูมิภาคเช่น ภาคเหนือและภาคอีสาน จะมีตัวเลขค่อนข้างต้องการการปรับปรุง และเด็กใน กทม.ก็อยู่ในอัตราต้องการการปรับปรุง เราสามารถใช้การเรียนรู้ผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของกลุ่มนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ และกลุ่มอื่นๆ ให้มีอยู่ในระดับ “รู้เท่าทัน” ได้ และก้าวต่อไปเราได้ไปคุยกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในความเป็นไปได้ที่จะนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล เข้าไปสู่การเป็นดัชนีชี้วัดระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย สู่จังหวัด สู่ภูมิภาค นี่คือฝันของเรา แต่เราเดินคนเดียวไม่ได้ เราต้องเดินไปกับพันธมิตรทุกภาคส่วน” สายชลกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Generative AI ความหวังใหม่ของนักการตลาด

บิทคับ เวนเจอร์ จับมือ ThaiGPT เปิดตัว Bitkub AI ชู 3 บริการหลัก Consultation, Tech Partner และ Turnkey Solution

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ