TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyนูทานิคซ์เผย องค์กรภาครัฐเป็นผู้นำในการใช้มัลติคลาวด์

นูทานิคซ์เผย องค์กรภาครัฐเป็นผู้นำในการใช้มัลติคลาวด์

นูทานิคซ์ ผู้นำด้านไฮบริด มัลติคลาวด์ คอมพิวติ้ง เผยข้อมูลเกี่ยวกับภาครัฐ จากรายงานการสำรวจดัชนีการใช้คลาวด์ระดับองค์กร (Enterprise Cloud Index – ECI) ประจำปี 2565 ซึ่งประเมินความคืบหน้าขององค์กรต่าง ๆ ในการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ รวมถึงหน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ และสถาบันการศึกษาของรัฐทั่วโลก รายงานดังกล่าวชี้ว่า องค์กรภาครัฐใช้มัลติคลาวด์เป็นรูปแบบหลักงานด้านไอที โดยอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และคาดว่าการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 39% เป็น 67% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

มัลติคลาวด์ได้รับการยอมรับและนำมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกลายเป็นสถาปัตยกรรมด้านไอทีที่มีการใช้งานอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาครัฐ ผลสำรวจ ECI พบว่ามีการใช้มัลติคลาวด์มากที่สุดในส่วนภาคการศึกษาของรัฐในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยอยู่ที่ 69% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบ 2 เท่า นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ยังมีการใช้มัลติคลาวด์สูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกัน อยู่ที่ 47% อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนในการจัดการคลาวด์หลายระบบยังคงเป็นปัญหาท้าทาย
ที่สำคัญสำหรับองค์กรภาครัฐ 85% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความเห็นว่า การที่องค์กรต่าง ๆ จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการคลาวด์หลาย ๆ ระบบให้ง่ายมากขึ้น  นอกจากนั้น ในการแก้ไขปัญหาท้าทายที่สำคัญในเรื่องที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ความปลอดภัย การใช้งานร่วมกัน และการบูรณาการข้อมูล 75% มีความเห็นว่า รูปแบบไฮบริดมัลติคลาวด์ (Hybrid Multicloud) ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินงานด้านไอทีที่ใช้ระบบคลาวด์หลายประเภท ทั้งไพรเวทคลาวด์และพับลิคคลาวด์ โดยมีการทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ชิป จอร์จ รองประธานกลุ่มธุรกิจภาครัฐของนูทานิคซ์ กล่าวว่า “ประเทศทั่วโลกกำลังพัฒนาไปใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบมัลติคลาวด์ที่มีการผสมผสานไพรเวทคลาวด์และพับลิคคลาวด์เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาครัฐซึ่งมีการนำไปใช้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาที่ว่านี้จำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นในการสร้างแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งและปลอดภัย เพื่อให้สามารถใช้มัลติคลาวด์ได้อย่างเต็มศักยภาพและขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุมทั้งส่วนแกนหลัก (Core) และส่วนขอบ (Edge) ของเครือข่าย องค์กรภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมองหาโซลูชันไฮบริดมัลติคลาวด์ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านความปลอดภัย รวมถึงการตรวจสอบอย่างทั่วถึง การจัดการที่มีประสิทธิภาพ การบังคับใช้นโยบายที่สอดคล้องกัน และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมบนทุกสภาพแวดล้อม”

ผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนของภาครัฐได้ตอบคำถามเกี่ยวกับความท้าทายด้านระบบคลาวด์ที่เผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน รวมไปถึงวิธีการรันแอปพลิเคชันทางธุรกิจ และแอปพลิเคชชันที่สำคัญต่อการดำเนินงานในปัจจุบัน และแผนการรันแอปพลิเคชันดังกล่าวในอนาคต  นอกจากนั้น ยังมีการสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานไอทีในปัจจุบัน ในอนาคต และเร็วๆ นี้  รวมถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านไอทีและภารกิจสำคัญอันเนื่องมาจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ระบุไว้ในรายงานฉบับล่าสุดมีดังนี้:

  • หน่วยงานภาครัฐเผชิญความท้าทายเกี่ยวกับมัลติคลาวด์ เช่น การปกป้องข้อมูลบนคลาวด์หลายระบบ (49%), การใช้งานแอปพลิเคชันที่ใดก็ได้ (47%), การรักษาความปลอดภัย (46%) และการจัดการค่าใช้จ่าย (45%)  นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด (97%) รวมไปถึง 86% ของสถาบันการศึกษาของรัฐ และ 87% ของหน่วยงานภาครัฐทั่วโลก กำลังประสบปัญหาขาดแคลนทักษะด้านไอทีสำหรับการตอบสนองความต้องการทางธุรกิจในปัจจุบันและโฟกัสหลักสำหรับหลาย ๆ องค์กรในช่วงหนึ่งปีนับจากนี้คือ การลดความยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินงาน  อย่างไรก็ดี ผู้บริหารฝ่ายไอทีตระหนักว่าในการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ ไม่มีแนวทางแบบครอบจักรวาลที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ดังนั้นไฮบริดมัลติคลาวด์จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดตามความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (75%)  โดยไฮบริดมัลติคลาวด์จะช่วยแก้ไขความท้าทายที่สำคัญบางประการให้กับการใช้งานมัลติคลาวด์ ด้วยการจัดหาสภาพแวดล้อมคลาวด์แบบครบวงจรเพื่อรองรับการปรับใช้นโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยและการกำกับดูแลข้อมูลอย่างสอดคล้องกัน
  • หน่วยงานภาครัฐมีความเห็นในแง่บวกเกี่ยวกับการที่แอปพลิเคชันสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ (application mobility) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการใช้คลาวด์อัจฉริยะและมัลติคลาวด์ และถึงแม้ว่า 75% ขององค์กรภาครัฐโยกย้ายแอปพลิเคชันอย่างน้อยหนึ่งแอปพลิเคชันไปยังสภาพแวดล้อมด้านไอทีใหม่เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ (91%) โดยองค์กรที่ทำการโยกย้ายดังกล่าวระบุถึงปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการตัดสินใจได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยและ/หรือการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (33%), การเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุม (31%) และประสิทธิภาพ (30%)  นอกจากนั้น 76% มีความเห็นว่าการย้ายเวิร์กโหลดไปยังคลาวด์ระบบใหม่อาจต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เปรียบเทียบกับ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าองค์กรภาครัฐมองว่าการเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชันเป็นปัญหาที่น้อยกว่า ส่วนสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งมีการใช้มัลติคลาวด์มากที่สุด ก็มีความเห็นในแง่บวกมากยิ่งขึ้น โดยมีเพียง 56% เท่านั้นที่ประสบปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชัน ขณะที่หน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ มีความกังวลใจในเรื่องนี้มากที่สุด โดยอยู่ที่ 77%
  • ภารกิจสำคัญสูงสุดด้านไอทีของภาครัฐในช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย (46%), การจัดเก็บข้อมูล (41%), การปรับใช้ 5G (39%) และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมัลติคลาวด์ (39%) นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามภาครัฐยังระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้องค์กรต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านไอทีในบางแง่มุม เช่น การเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการรักษาความปลอดภัย (55%), การปรับใช้เทคโนโลยีการบริการตนเองโดยใช้ AI (50%) และการอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่มีอยู่ (40%)

สำหรับประเทศไทย ได้มีการสร้างบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ หรือ GOV Cloud เพื่อเป็นศูนย์รวมอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการรวมศูนย์การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือนที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสูงให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ขาดความพร้อมด้านการดูแลศูนย์ข้อมูลและขาดบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะ ทั้งนี้ยังให้การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความสามารถด้าน Cloud computing เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานและวิธีการใช้งาน Cloud ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

อีลอน มัสก์ ขอซื้อ ทวิตเตอร์ …. กลยุทธ์ทางธุรกิจหรือแค่การสร้างข่าว?

Google ประกาศความสำเร็จโครงการ “Saphan Digital” อบรม SME กว่าแสนราย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ