TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyกูรูแนะเปิดใจรับ ปรับมายด์เซ็ต ใช้งาน Generative AI เครื่องมือเพิ่มมูลค่าผลงานของเหล่าครีเอเตอร์ยุคดิจิทัล

กูรูแนะเปิดใจรับ ปรับมายด์เซ็ต ใช้งาน Generative AI เครื่องมือเพิ่มมูลค่าผลงานของเหล่าครีเอเตอร์ยุคดิจิทัล

ด้วยประสิทธิภาพในการทำงานและความสามารถที่หลายหลาย บวกกับความฉลาดในการเรียนรู้ ส่งผลให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้รุกล้ำก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตการทำงาน และการใช้ชีวิตของคนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้หลายต่อหลายคนโดยเฉพาะเหล่าครีเอเตอร์ อดกังขาระคนกังวลไม่ได้ว่า งานและตัวตนของตนเองยังจำเป็นอยู่อีกหรือไม่ และหากจะต้องเดินหน้าไปต่อ ตนเองจะอยู่รอดท่ามกลางกระแส AI ที่นับวันจะยิ่งฉลาดขึ้นทุกที

งานนี้ หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง  บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด, ผู้ผลิตสื่อ Beartai และ ผู้จัดงาน Thailand Game Show และ โชค วิศวโยธิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Debuz & GAMEINDY และผู้ร่วมแต่งหนังสือ ChatGPT: AI ปฏิวัติโลก ในฐานะกูรูผู้เชี่ยวชาญที่คว่ำหวอดในวงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และเผชิญกับการดิสรัปชั่นเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีมาหลายครั้ง จึงได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ มุมมองและแนวคิดกับการอยู่ร่วมกับ AI ในงาน Thailand Influencer Awards 2023 ที่ทาง Tellscore จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ทั้งสองได้พูดคุยภายใต้หัวข้อ “Generative AI, How Can Creator Survive the Disruption and CoCreate” ที่ต่างฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว AI เป็นเทคโนโลยีที่ต้องเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างกลมกลืน เหมือนคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมนุษย์ก่อนหน้า

ดังนั้น ในเมื่อไม่สามารถยับยั้งได้ การปรับแนวคิด (mindset) เปิดใจรับ เข้าใจกลไกและกระบวนการทำงานของ AI เพื่อนำมาใช้งานให้เหมาะสมจึงกลายเป็นแนวทางสำคัญสำหรับแรงงานในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเหล่าครีเอเตอร์ ที่การสร้างสรรค์ผลงานต้องมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในเวลาที่เท่าเดิม หรือต่อให้มูลค่าไม่เพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องใช้เวลาในการทำงานสร้างสรรค์ผลงานน้อยลง

AI คือเครื่องมือที่ต้องทำงานร่วมกับคน

หนุ่ย พงศ์สุข ชี้ว่า ใครก็ตามที่กำลังมองว่า AI เป็นภัยคุกคามต้องรีบปรับมายด์เซ็ตของตนเองโดยด่วน แต่ให้มองเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนว่า หลายคนมักกลัวการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง แต่ขอให้คิดว่า ถ้าไม่เปลี่ยนก็ไม่เกิดอะไรใหม่ ถ้าไม่เปลี่ยนก็ไม่มีการนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

หนุ่ยได้เล่าถึงกรณีของตนเองที่เปิดใจน้อมรับเอาเทคโนโลยี AI อย่าง Generative AI มาใช้ในการทำงานในฐานะเครื่องมือในการประหยัดเวลา และทำให้กระบวนการทำงานสั้นลง หมายความว่า จากเดิมที่บางงานต้องใช้เวลาในการทำหลายวันกว่าจะเสร็จ กลายเป็นว่า Generative AI  ทำให้การทำงานเสร็จภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือกี่นาที

ทั้งนี้ หนุ่ยชี้ว่า “เวลา” คือค้นทุนที่สำคัญและแพงที่สุดสำหรับธุรกิจ ดังนั้น หากสามารถลดทอนขั้นตอนการทำงานลงได้ย่อมเป็นผลดีต่อธุรกิจมากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ตนเอง หรือพนักงานคนอื่นสามรถเอาเวลาไปทำงานอย่างอื่นที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโลกมากกว่า

อย่างไรก็ตาม หนุ่ย แสดงความเห็นว่า ต่อให้ปล่อยให้ AI ทำงาน แต่ก็ต้องพึงตระหนักว่า AI เป็นแค่เครื่องมือเท่านั้น โดยที่ยังต้องมี “คน” เข้ามากำกับดูแล ป้อนข้อมูล หรือสั่งการ AI อีกทีหนึ่ง เพื่อให้ AI สร้างมูลค่าและความคุ้มค่าให้กับธุรกิจมากที่สุด

“แบไต๋ใช้ Generative AI ในการขยายตลาดคอนเทนต์สู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ด้วยการใช้ AI แปลงคลิปจากต้นฉบับภาษาไทยให้เป็นภาษาท้องถิ่นของ 4 ประเทศ โดยที่ตัวครีเอเตอร์ไม่ต้องพากษ์เสียงหรือมีความรู้ในภาษานั้น ๆ เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการป้อนข้อมูลประโยคให้กับ Generative AI เพื่อให้ช่วยแปลงข้อความเป็นเสียงพูดด้วยเครื่องมือสร้างเสียงพากย์แทน” หนุ่ยยกตัวอย่างถึงการนำ Generative AI มาใช้ประโยชน์ในธุรกิจของตนเอง

นอกจากนี้  หนุ่ยยังเผยว่า แบไต๋ยังวางแผนนำ Generative AI มาพัฒนางานคอนเทนต์ในไทย โดยได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยพัฒนาชั้นนำ ในการอัดเสียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างละ 2,000 คำ ที่จะกลายเป็นคลังคำให้ AI เรียนรู้และนำมา “สร้างใหม่” สำหรับพากษ์เสียงคลิปในอนาคตได้ เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการทำงานให้เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์นำเวลาไปทำคอนเทนต์เชิงลึกที่ต้องใช้คนทำเท่านั้น อย่าง การสัมภาษณ์ หรือ ทำสารคดีเชิงสิ่งแวดล้อม ทำให้คอนแทนต์นั้น ๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

หนุ่ยย้ำปิดท้ายว่า สิ่งที่ครีเอเตอร์ต้องมีก็คือ Growth mindset  เพื่อให้สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้การใช้งานเครื่องมือใหม่ ๆ ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ก็ต้องตระหนักว่า AI ไม่ได้ฉลาดเกินสมองของมนุษย์ เพราะสิ่งที่ AI รู้เกิดจากข้อมูลที่มนุษย์เป็นผู้ป้อนเข้าไป ดังนั้น AI จึงไม่สามารถมาแทนที่คนได้ 100% อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของคนที่จะต้องเรียนรู้เพื่อให้รู้เท่าทัน AI

“AI สำหรับผมก็เหมือนกับปุ่ม ๆ หนึ่ง ที่จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมนุษย์เป็นผู้กดปุ่มนั้น ดังนั้น มนุษย์ในวงการคอนเทนต์จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมเพื่อให้อยู่รอดในฐานะผู้ค้าแรงนิ้ว ที่เป็นกดปุ่มสั่งงาน AI ให้ได้” หนุ่ยกล่าว

เข้าใจและใช้เป็น แนวทางการอยู่ร่วมกับ AI ให้สุดปัง

โชค ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Debuz & GAMEINDY และผู้ร่วมแต่งหนังสือ ChatGPT: AI ปฏิวัติโลก กล่าวว่า กุญแจสำคัญของการนำ AI มาใช้เพิ่มมูลค่าของผลงานของเหล่าครีเอเตอร์ได้ดีที่สุดก็คือการเข้าใจและใช้เป็น

โดยเข้าใจ คือการทำความเข้าใจขอบเขตความสามารถของ AI  และตระหนักให้ได้ว่า Generative AI มีความสามารถในการสร้าง แต่การสร้างนั้นไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการสร้างภายในขอบเขตข้อมูลที่ AI ถูกมนุษย์ป้อนหรือรวบรวมไว้ให้เท่านั้น ดังนั้น หน้าที่ “ครีเอท” หรือสร้างสรรค์ จึงยังคงเป็นหน้าที่ของครีเอเตอร์ที่ AI ไม่สามารถมาแทนได้ และเป็นตัวครีเอเตอร์ที่จะต้องใช้ “ความสร้างสรรค์” ของตนเองมาสร้างความแตกต่างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองมากพอที่จะอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา

ในส่วนของการ ‘ใช้เป็น’ หมายความว่า ครีเอเตอร์ จำเป็นต้องสร้างผลงานร่วมกับ AI อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่ง โชค ได้แนะ 3 ขั้นตอน ในการทำงานร่วมกับ AI สำหรับเหล่าครีเตอร์ คือ  1) Idea หรือการระดมความคิด, 2) Produce หรือกระบวนการสร้างผลงาน และ 3) Optimize หรือการใช้ประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ การระดมความคิดหมายความว่า ครีเอเตอร์ สามารถใช้ AI เป็นเครื่องมือช่วยกรองข้อมูล หรือค้นหาข้อมูลเบื้องต้นแบบง่าย ๆ เพื่อช่วยให้ครีเอเตอร์มีไอเดียคร่าว ๆ ว่า ผลงานที่กำลังจะทำจะมีหน้าตาอย่างไรเป็นในทางไหน

ในส่วนของการสร้างผลงาน โชค นิยามว่าเป็นกระบวนการทำงานที่ AI draft, Human Craft ซึ่งหมายความว่า ครีเอเตอร์สามารถใช้ AI เพื่อร่างผลงานที่จะทำขึ้นมา ขณะที่คนจะเข้ามาจัดการใช้ความสร้างสรรค์ของตนเองรังสรรค์ออริจินัลคอนเทนต์

“AI ก็เหมือนเครื่องจักรชิ้นใหญ่ที่ทลายภูเขาสกัดเอาหินแร่เป็นก้อน ๆ ออกมา แล้วครีเอเตอร์ก็นำเอาหินแร่ที่ได้มาเจียรไนเป็นผลงานชิ้นงาม” โชคอธิบาย ก่อนชี้ว่า กระบวนการทำงานดังกล่าวยังทำให้งานของครีเอเตอร์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของลิขสิทธิ์

สำหรับ Optimize หรือการใช้ประโยชน์สูงสุด หมายถึงการอาศัยความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ (Human Insight) ควบคู่ไปกับความแม่นยำของ AI (AI precision) โดย โชค ยกตัวอย่างการทำ SEO ที่ครีเอเตอร์ใช้ AI มาช่วยปรับ ขณะเดียวกัน ครีเอเตอร์ ก็ต้องอาศัย “ความเป็นมนุษย์” เข้ามาปรับแต่ง เพื่อให้งานนั้นดูเป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับตรรกะความคิดและพฤติกรรมของคน ซึ่งจะทำให้ผลงานที่สร้างสรรค์ออกมามีประสิทธิภาพและกลายเป็นสุดยอดผลงานที่เป็นหนึ่งไม่มีสอง

ทั้งนี้ โชค ย้ำปิดท้ายว่า ท้ายที่สุด AI จะก้าวเข้ามาอย่างที่ครีเอเตอร์ไม่มีสิทธิ์ปฎิเสธ เพราะฉะนั้น การเข้าใจและใช้เป็นเพื่อให้อยู่ร่วมกับ AI จึงจำเป็นมากที่สุดในเวลานี้ ซึ่ง ครีเอเตอร์ต้องเข้าใจว่ากำลังใช้เครื่องมืออะไรอยู่ มีข้อจำกัดอะไรและจำกัดอย่างไร ส่วนใช้เป็นหมายความว่าจะใช้ AI ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้งานได้อย่างไร ขณะเดียวกัน เมื่อคิดจะอยู่ร่วมกับ AI สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเปลี่ยนความคิดหรือ Mindset ของตนเองก่อน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงานร่วมกัน ระหว่างคนและ AI เพื่อให้สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพ มีคุณค่า มีมูลค่า และมีความหลากหลายที่มากขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่คอนเทนต์ท่วมท้นนี้

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

TELLSCORE ประกาศรางวัลอินฟลูเอนเซอร์แห่งปี ‘THAILAND INFLUENCER AWARDS 2023’

เรเว่ ออโตโมทีฟ ลงทุน 100 ล้านบาท ใน Sharge Management ปูพรมขยาย Rêver Sharger 1,110 จุดปี 66

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ