TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอาหารเสริม เสริมรายได้ผู้ผลิต หรือ เสริมสุขภาพคนกิน

อาหารเสริม เสริมรายได้ผู้ผลิต หรือ เสริมสุขภาพคนกิน

ช่วงวิกฤติโควิด – 19 เมื่อปีที่ผ่านมา อาหารเสริม ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจและนิยมอย่างมาก เห็นจากโฆษณาในโทรทัศน์ทีวี  ที่มีความถี่สูง ในทุกช่อง ทุกช่วงรายการ หรือแม้กระทั่งมีการ Tie -in ในรายการ มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากมาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าศิลปินดารา ซุปตาร์ ที่ต่างพาเหรดลงทุนเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารเสริม จำนวนมาก 

อาหารเสริมเป็นธุรกิจที่มีเม็ดเงินหอมหวานอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)  ค่อนข้างสูงประมาณ 50% ของรายได้ เรียกว่า กำไรครึ่ง ครึ่ง  การออกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใหม่ ๆ ทำง่าย มีโรงงานรับผลิต ประเภท OEM  และมีทีม R&D ประจำโรงงาน ที่สามารถเลือกวัตถุดิบบางอย่างที่แตกต่างผสมเป็นสูตรของตนเอง

มีตัวเลขอ้างอิงถึง มูลค่าตลาดรวมอาหารเสริมของไทย เมื่อปี 2560 โดยกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มีบริษัทที่จดทะเบียนกับ กระทรวงพาณิชย์เพื่อธุรกิจอาหารเสริมของไทย พบว่า มีผู้ประกอบการจำนวนกว่า 6,300 ราย มีรายได้รวมประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาท มีผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่เป็นเจ้าตลาดไม่ถึง 10 ราย แต่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 60%

ส่วนในปี 2562 บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก  EURO Monitor มีตัวเลขธุรกิจอาหารเสริมของไทย มีมูลค่า 6.67 แสนล้านบาท แบ่งเป็น อาหารเสริมความงาม 142,000 ล้านบาท อาหารเสริมสุขภาพและโรค เป็นตลาดที่มีมูลค่ามากสุด 518,000 ล้านบาท และและอาหารเสริมเพื่อสมรรถภาพร่างกาย 66,700 ล้านบาท

นอกจากนี้เทรนด์สุขภาพ (Healthy Trend) ที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ต่อเนื่องทุกปี ยิ่งหลังสถานการณ์การเกิดโรคระบาดโควิด ประชาชนยิ่งมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ต้องดูแลสุขภาพกันเป็นพิเศษมากกว่าปกติ เป็นแรงผลักที่สนับสนุนตลาดธุรกิจอาหารเสริมยิ่งโตมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายมากยิ่งขึ้น และในกลุ่มผู้สูงอายุมองว่า อาหารเสริม สามารถฟื้นฟูร่างกายและสมรรถนะได้

ด้วยความคิด ว่า อาหารเสริมเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้น การชะลอตัวของ เศรษฐกิจ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของตลาดธุรกิจอาหารเสริมเลย วารสาร Nutrition Business Journal (NBJ) ระบุว่า ปี 2563 รายได้ตลาดอาหารเสริมทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 155 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

การเติบโตของ ธุรกิจอาหารเสริม  ส่วนหนึ่งถูกมองว่า เกิดจากการโฆษณาเกินจริง ชวนเชื่อ แอบอ้างสรรพคุณ และ ประชาชนถูกบอมบาร์ดด้วยโฆษณาบนจอโทรทัศน์ทุกวัน

ทั้งคอลลาเจนบางแบรนด์ ทั้งถั่งเช่าบางแบรนด์ และอาหารเสริมต่าง ๆ จึงเกิดความอยากทดลอง บางรายถึงขนาดเชื่อว่าต้องซื้อมากิน และกินต่อเนื่อง

โดยเฉพาะถั่งเช่า (Cordyceps) ถือเป็นสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ เชื่อถือกันว่า มีสรรพคุณสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศได้ จักรพรรดิในประวัติศาสตร์จีนใช้มาอย่างยาวนาน และยิ่งขายดีเมื่อการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส เกือบ 20 ปีที่แล้วจาก กิโลละไม่ถึงหมื่นหยวน เพิ่มเป็น 16,000 หยวน / กิโลกรัม  และ ราคาสูงกว่า 420,000 หยวน / กิโลกรัม ในปัจจุบัน จากสรรพคุณต่าง ๆ ถึงทำให้หลายคนหลงเชื่อ ซื้อมารับประทาน 

รศ.ดร.ภญ. มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  เปิดเผยว่า จากการติดตามผู้ป่วยโรคไตวัยกลางคนและสูงวัย รับประทานสารสกัดถั่งเช่า 1 เม็ดต่อวันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ผู้ป่วยไตเรื้อรัง 3 รายแย่ลง ค่าการทํางานของไตแย่ลง (eGFR ลดลง)   เมื่อให้หยุดรับประทาน ปรากฏว่าค่าการการทำงานของไตดีขึ้น แต่บางคนก็ไม่ดีขึ้น เพราะกลายเป็นไตวายระยะสุดท้าย

พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กสทช.และ อย. มีการตรวจจับวินิจฉัยเนื้อความการโฆษณา ที่ผิด ทั้งในแง่การอวดอ้างสรรพคุณ และการโฆษณาหลอกลวง ทางสื่อทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้ 17 ราย 77 กรณีโฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 กรณีโฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย 4,058 กรณีโฆษณา  

ซึ่งขณะนี้ได้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่าซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ จัดฉากลวงโลกแบบเดิม อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าดังกล่าว สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่าง ๆ  ซึ่ง กสทช. จะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิมและร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก

“ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.”

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ 

ดังนั้น การโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค ทั้งเสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

“ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ จำนวน 1,388 คดี ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง”

อาหารเสริม ไม่ได้เป็นโอรสทิพย์สำหรับใคร ๆ แต่ทานอาหารเสริม เพื่อเสริมสร้างบำรุงสุขภาพ นอกเหนือจากอาหารหลัก ก่อนทานต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ ถึงประโยชน์และโทษ มิเช่นนั้น อาหารเสริมจะเป็นการเสริมยอดขายให้แก่ผู้ผลิตเท่านั้น 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ