TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityนักพิทักษ์โลกรุ่นเยาว์ รวมพลังพิชิตวิกฤติขยะล้นโลก

นักพิทักษ์โลกรุ่นเยาว์ รวมพลังพิชิตวิกฤติขยะล้นโลก

เกาะสีชัง แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของจ.ชลบุรี ที่ปกติจะคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว แต่ในบ่ายแก่ ๆ วันหนึ่งของเดือนตุลาคม เกาะแห่งนี้กลับกลายเป็นค่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีน้อง ๆ เยาวชนกำลังรวมพลังทำภารกิจใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต นั่นคือ การช่วยแก้วิกฤติขยะล้นโลก

เยาวชนหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วประเทศจำนวน 50 คนได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Power Green Camp) ครั้งที่ 18 ภายใต้แนวคิด “Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer” เพื่อสำรวจปัญหาขยะล้นโลกและเรียนรู้แนวทางจัดการขยะด้วยเทคโนโลยี

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลระหว่างวันที่ 15 – 21 ตุลาคม 2556

เด็กๆ กำลังฟังเรื่องการจัดการขยะเศษอาหารเหลือทิ้งโดยใช้หนอนแมลงวันลายเป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลาย

สิ่งเล็ก ๆ กับผลลัพท์ที่ยิ่งใหญ่

ณัทนอนนท์ ฉมาดล หรือ น้องนนท์ อายุ 15 ปี ศึกษาอยู่ชั้น ม.5 ที่ The Newton Sixth Form School แชร์ประสบการณ์ที่ได้จากค่ายนี้ว่า น้องได้ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและเปิดมุมมองหลาย ๆ มุม ทั้งการรีไซเคิลขยะ การเอาขยะเศษอาหารไปหมุนเวียนทำอย่างอื่นได้ และวิธีการแยกขยะประเภทต่าง ๆ

อย่างการรีไซเคิลขวดพลาสติกเป็นของอย่างอื่น ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน แต่วิธีที่ยั่งยืนกว่าที่เรียนรู้จากค่ายนี้คือ การเอาขวดพลาสติกมาผ่านเครื่องจักร ทำความสะอาดจนกลายเป็นขวดพลาสติกและสามารถนำไปใช้ซ้ำได้อีกครั้ง มันคือการรีไซเคิลไปเรื่อย ๆ และจะไม่สร้างขยะในตอนสุดท้าย

น้องนนท์ยังรู้สึกตื่นเต้นกับการเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะเศษอาหารเหลือทิ้งในชุมชน โดยใช้หนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) เป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และแปรรูปขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปุ๋ย และอาหารสัตว์ เพื่อลดการฝังกลบขยะอินทรีย์ รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในชุมชน

และที่สำคัญ น้องนนท์บอกว่า น้องยังได้รู้ถึงข้อมูลจริง ๆ ว่า จริง ๆ แล้วธรรมชาติโดนทำลายไปเท่าไหร่ ตัวเลขต่าง ๆ ที่ได้ยินมาบางครั้งเราไม่ได้ไปค้นหาต่อว่าจริงไม่จริง แต่พอมาเข้าค่ายนี้ เราพบว่ามันเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าที่คิดมาก ๆ

บ้านปู ชวนนักเรียนระดับม.ปลาย และปวช. เข้าค่าย Power Green Camp ครั้งที่ 18

“ผมก็เพิ่งรู้ว่ากองขยะหรือแพขยะในทะเล มันมีอยู่ทั่วโลกและมีขนาดใหญ่ขนาดไหน ผมคิดว่าการมาเข้าค่ายนี้เป็นการปลูกฝังการรักษ์โลกให้เยาวชนมากขึ้น และทำให้เยาวชนสนใจในสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ใหญ่ขึ้น” น้องนนท์ กล่าว

น้องนนท์ยังบอกว่า สิ่งที่น้องประทับใจและคิดว่าจะเอากลับไปทำต่อที่บ้านคือ เครื่องหมักเศษอาหารที่ใช้มอเตอร์ เพราะทำเองได้ง่ายๆ ใช้วัสดุที่เหลือทิ้ง เช่น โครงเหล็ก หรือถังพลาสติก ใช้งบประมาณเพียงหลักพัน และกินไฟน้อย

“อาจจะมีคนถามว่า ถ้าเอาขยะไปทิ้งเลยไม่ง่ายกว่าหรอ ผมจะบอกว่ามันง่ายกว่าจริง แต่การใช้แรงหรือความพยายามของเราไปทำอะไรเพิ่มเติมอีกนิดนึง เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้แล้วมันคุ้มกว่า  ถ้าเราทำเครื่องหมักขยะ เราสามารถเอาขยะไปทำปุ๋ยได้ ไม่ต้องไปซื้อ” น้องนนท์ซึ่งสนใจสมัครมาร่วมโครงการนี้เพราะพ่อกำลังเริ่มทำสวนที่จ.เพชรบุรี และที่บ้านตั้งใจอยากให้เป็นสวนที่ปลอดสารเคมีเพื่อความยั่งยืนกล่าว

น้องแอมสนใจการขูดไข่หนอนแมลงวันลายจากท่อนไม้

ลงมือทำเป็นตัวอย่าง

ด้าน อภิชา ไทยทวี หรือน้องแอม วัย 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์ จ.นครปฐม สมัครเข้าร่วมค่ายนี้เพราะตระหนักดีว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญของโลก และตัวเธออยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ประเทศ  สิ่งที่แอมรู้สึกประทับใจมากจากโครงการนี้คือ กระบวนการเพาะหนอนจากไข่หนอน และนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์

“จริง ๆ แอมเป็นคนที่กลัวหนอนมาก แต่มาค่ายนี้ ได้ลองจับหนอนและเอาไปโปรยให้ไก่ในเล้ากิน ก็รู้สึกว่าหนอนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และจริง ๆ มันก็มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับเป็นอาหารสัตว์” น้องแอมเล่า

ส่วนตัวน้องแอมก็สนใจเรื่องการจัดการขยะ เธอบอกว่า ในฐานะที่เป็นประธานนักเรียน เธอจะกลับไปรณรงค์เรื่องการแยกขยะอย่างจริงจังที่โรงเรียน โดยจะเสนอกับผู้บริหารโรงเรียนว่าให้ทำโครงการแยกประเภทขยะอย่างชัดเจน

“หนูจะทำเป็นตัวอย่างให้น้อง ๆ ที่โรงเรียนเห็น เพราะการพูดอย่างเดียวแล้วไม่ลงมือทำ ไม่สามารถประสบความสำเร็จ บางคนก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง เราต้องลงมือให้น้อง ๆ เห็นว่าพี่ ๆ เขาทำแบบนี้นะ” น้องแอมกล่าว

“ถ้าทุกคนตระหนักถึงประโยชน์ของการแยกขยะมากขึ้น ก็จะช่วยโลกของเราได้มากขึ้น และได้นำขยะไปใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นด้วย” น้องแอมกล่าว

ห้องเรียนวิทยาศาสตร์นอกตำรา

โครงการค่าย “เพาเวอร์กรีน” เน้นออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ ปูพื้นฐานภาคทฤษฎีเพื่อให้เข้าใจปัญหาขยะและแนวทางแก้ไขตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง รวมถึงการนำเทรนด์ 3 Greens: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจกรรมต่าง ๆ ในค่าย 

น้อง ๆ ยังได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาขยะ ช่วยเก็บขยะในพื้นที่ชุมชนคลองลาดพร้าวใจกลางกรุงเทพฯ และทำกิจกรรมเก็บขยะชายหาดบนเกาะสีชังด้วย

รัฐพล สุคันธี (กลาง) และ ดร.กฤตณะ พฤกษากร (ขวาสุด)

วิกฤติขยะของประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 18 ให้ภาพรวมของสถานการณ์ขยะในประเทศไทยว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 25 ล้านตันต่อปี โดยกว่าร้อยละ 60 เป็นขยะเศษอาหาร ซึ่งสร้างปัญหามากมาย เช่น เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรค เป็นแหล่งกำเนิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก เร่งให้ปัญหาภาวะโลกร้อนมีความรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ถ้าเรามีระบบการจัดการขยะที่ดี เศษอาหารเหล่านั้นก็จะสามารถช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยการเปลี่ยนมาเป็นสารอาหาร (nutrient) ได้หลายรูปแบบวิธีการ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านได้

ส่วนปริมาณขยะพลาสติกโดยประมาณที่ 1 ใน 10 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด ก็เป็นปัญหาที่ประเทศไทยยังจัดการได้ไม่ดี นำไปสู่การตกค้างอยู่ในธรรมชาติและไหลลงสู่ทะเลถึงราว 5 หมื่นตันต่อปี ทำให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีขยะพลาสติกไหลลงทะเลมากที่สุดหลายปีติดต่อกัน

“มีคำเปรียบเปรยว่า เราสามารถวัดความเจริญของประเทศได้จากจำนวนประเภทของขยะที่เราแยกได้ ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่ประเทศไทยมีโครงการรณรงค์ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง พร้อมสัญลักษณ์ที่คนยุค 80-90 ต้องรู้จักเป็นอย่างดี ภายใต้ชื่อ “ตาวิเศษ” ก็เป็นเวลาเกือบ 40 ปี แล้ว แต่จนถึงวันนี้เราคงยังแยกขยะเศษอาหารและขยะทั่วไปได้ไม่ดีนัก จะเห็นได้จากการที่กรุงเทพมหานครยังคงต้องมีโครงการ “ไม่เทรวม” เพื่อขอความร่วมมือประชาชนในการแยะขยะดังกล่าว” ดร.กฤตณะกล่าวพร้อมเสริมว่าขยะมูลฝอยที่กรุงเทพมหานครเก็บรวมกันมาได้เกือบครึ่งหนึ่งคือขยะเศษอาหาร ในขณะที่ส่วนที่แยกและนำมาใช้ประโยชน์ได้มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

ดร.กฤตณะ กล่าวต่อไปว่า การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนโดยเริ่มจากการแยกขยะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าว ในปีนี้ค่ายเพาเวอร์กรีนจึงเลือกให้ความสำคัญกับประเด็นการจัดการปัญหาขยะและการส่งเสริมให้เยาวชนก้าวเข้ามาเป็นกรีนอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อขยายกำลังคนที่สามารถช่วยสื่อสารความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง มีความน่าสนใจและน่าติดตาม

“Power Green Camp” ค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จุดประกายเยาวชน ให้ลุกขึ้นมาเริ่มเพื่อโลก

“เราต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นกระบอกเสียง เป็นกรีนอินฟลูเอนเซอร์  ซึ่งไม่ได้ทำได้เพียงแค่สื่อสารในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถสร้างเป็นอาชีพได้ ดังตัวอย่างจากวิทยากรสายกรีนที่เชิญมาเข้าร่วมโครงการ โดยที่กิจกรรมในค่าย ก็จะมีการเตรียมความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม การสืบค้นข้อมูล และจริยธรรมในการเผยแพร่สื่อให้แล้ว หลังจากนั้น น้อง ๆ ทุกคน ก็จะสามารถเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่ความรู้ไปสู่สังคมได้อย่างมั่นใจต่อไป” ดร.กฤตณะสรุปเป้าหมายและความคาดหวังของโครงการ

จากประสบการณ์ที่เป็นประธานโครงการมา 2 ปี ดร.กฤตณะกล่าวว่า มีน้อง ๆ นักเรียนหลายคนที่จบจากค่ายแล้วอยากเข้าเรียนต่อในหลักสูตรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความตั้งใจที่อยากจะเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอนาคต เพราะเขาได้เรียนรู้แล้วว่า นั่นเป็นปัญหาที่พวกเขาจะต้องเจอและอยากเป็นผู้ลงมือแก้ไขด้วยตนเองอย่างจริงจัง

รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราภูมิใจที่มีเยาวชนที่ให้ความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม และพร้อมอุทิศตนเป็นหนึ่งในแกนนำที่จะมีส่วนสร้างการตระหนักรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมมือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพให้แก่เยาวชนทั้ง 50 คนนี้ จะทำให้พวกเขาเป็นเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันการปกป้อง ฟื้นฟู และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ก้าวเข้าสู่โลกคอนเทนต์ยุคใหม่ไปด้วยกัน ที่งาน ‘iCreator Conference 2023’ 1 พ.ย. นี้ ไบเทค บางนา

BBGI จับมือ Fermbox Bio ทุ่ม 500 ลบ. ตั้งโรงงาน CDMO เชิงพาณิชย์แห่งแรกใน SEA

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ