TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessส่องอุตสาหกรรมบัตรเครดิต ผ่านทัศนะ "เคทีซี" อีกหนึ่งทางเลือก payment tool ที่ยังขยายตัว

ส่องอุตสาหกรรมบัตรเครดิต ผ่านทัศนะ “เคทีซี” อีกหนึ่งทางเลือก payment tool ที่ยังขยายตัว

ประเทศไทยรู้จักบัตรเครดิตครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2512 หรือประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว โดยบัตรเครดิตใบแรกในไทยไม่ได้ออกโดยธนาคารพาณิชย์ของไทย แต่เป็นของธนาคารต่างชาติ ปัจจุบัน บัตรเครดิตในไทยส่วนใหญ่ออกโดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในไทย

The Story Thailand ได้ชวน ประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต บริษัท ​บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)​ หรือ “เคทีซี” มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงแนวคิด การเปลี่ยนแปลงบทบาทและทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรมบัตรเครดิตในไทย รวมถึงทิศทางการเติบโตและพันธกิจของเคทีซีต่ออุตสาหกรรมบัตรเครดิตไทย นับตั้งแต่ก่อตั้งมาได้ประมาณ 27 ปี

แนวคิดของธุรกิจบัตรเครดิตคืออะไร

บัตรเครดิต เป็นเครื่องมือทางการเงินประเภทหนึ่งที่จะช่วยให้สมาชิกมีความสะดวกสบาย หรือเครื่องมือทางการเงินหนึ่งสำหรับการใช้จ่าย (payment tool)

ในอดีต เครื่องมือทางการเงินจะเป็นการใช้เงินสด หรือการแลกเปลี่ยนสินค้า แต่พอเริ่มมีระบบการเงิน เครื่องมือทางการเงินในส่วนของการใช้จ่ายก็มีการพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น

“บัตรเครดิตเป็นตัวช่วยในการใช้จ่ายของสมาชิกให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น”

คุณค่าของบัตรเครดิตที่มีต่อผู้ใช้ ประณยาเล่าถึงข้อดีของบัตรเครดิตที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ​ ทำให้เกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด ยิ่งเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ​ การพกเงินสดจำนวนมากติดตัวไป มีทั้งความเสี่ยงในการสูญหายและความปลอดภัยในการใช้จ่าย

“การถือบัตรเครดิต​เราจะได้วงเงินในบัตรสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน​ ​โดยมีระยะเวลาในการใช้คืนประมาณ 30-45 วัน ขึ้นอยู่กับรอบที่แต่ละสถาบันการเงินกำหนด ซึ่งนั่นก็เป็นเครื่องมือทำให้เกิดสภาพคล่องในการใช้จ่ายมากขึ้น”

คุณค่าของบัตรเครดิตอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าผู้ถือบัตรรู้จักใช้และใช้ให้เป็น การมีบัตรเครดิตจะเป็นประโยชน์ในการเข้าถึงสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การไปทานอาหารที่ร้านแล้วจ่ายด้วยบัตรเครดิตในปัจจุบัน จะได้รับส่วนลดหรือรับคะแนนสะสมไว้แลกของรางวัล ตั๋วเครื่องบินหรือรับส่วนลดเพิ่ม เป็นต้น

“บางทีเรามีความจำเป็นในชีวิตหรือมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้น การมีวงเงินในบัตรเครดิตยังถือเป็นความมั่นคง หรือ peace of mind อย่างหนึ่งอีกด้วย”

KTC แต่งตั้ง ‘พิทยา วรปัญญาสกุล’ นั่งเก้าอี้ CEO คนใหม่ มีผล 1 ม.ค. 67

ข้อควรระวังในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

เมื่อรู้แล้วว่าบัตรเครดิตมีข้อดีหลายเรื่อง ก็ต้องรู้จักใช้บัตรเครดิตอย่างระมัดระวัง

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือผู้ถือบัตรจะต้องเป็นคนมีวินัย เริ่มตั้งแต่การศึกษารายละเอียดก่อนที่จะมีบัตรเครดิต ต้องรู้วัตถุประสงค์ว่าทำไมเราจึงต้องการมีบัตรเครดิต และจะสามารถบริหารจัดการการใช้จ่ายของเราได้อย่างไร การถือบัตรเครดิตก็ย่อมมีประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาด้วยว่าบัตรเครดิตแบบไหนที่เหมาะกับเรา เพราะผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตในปัจจุบันมีหลากหลายมาก

ถ้าเราเป็นคนชอบเดินทาง ชอบท่องเที่ยว การมีบัตรเครดิตที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ ก็จะเพิ่มประโยชน์ให้เรา หรือกรณีที่ชอบช้อปปิ้งออนไลน์ ก็จะมีวิธีการใช้บัตรอีกแบบหนึ่งที่ให้ความคุ้มค่าในการใช้แทนเงินสดดังนั้นจึงต้องศึกษาาและทำความเข้าใจในรายละเอียดของแต่ละบัตร และรู้ว่าไลฟ์สไตล์ของตนเองจะใช้อะไร

สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เราต้องศึกษารายละเอียดด้วยว่าบัตรเครดิตนี้ต้องชำระคืนเมื่อไร ต้องจำรอบวันที่ต้องชำระ เพื่อจะได้ไม่เกิดดอกเบี้ย

ขณะเดียวกัน​ผู่ถือบัตรควรกำหนดวงเงินใช้จ่ายของตนเอง​ โดยทุกคนจะได้วงเงินจากบัตรเครดิต หลังจากบัตรที่สมัครได้รับการอนุมัติแล้ว สมมติว่าได้วงเงินมา 50,000 บาท เราต้องมีสติในการที่จะดูว่า เราสามารถใช้ได้ไม่เกินเท่าไร เพื่อจะได้บริหารเงินในการชำระคืน เพราะการใช้จ่ายบัตรเครดิตคือการใช้เงินอนาคตที่ผู้ออกบัตรเครดิตจ่ายแทนให้ผู้ถือบัตรฯ ไปก่อน  ผู้ถือบัตรฯ มีหน้าที่ต้องชำระคืนเมื่อครบกำหนด

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีของบัตรเครดิตได้ถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้ถือบัตรสามารถเข้าไปบริหารจัดการข้อมูลได้ด้วยตนเองผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวงเงินใช้จ่ายต่อวัน การเพิ่มวงเงินชั่วคราว การกำหนดวงเงินใช้จ่ายในแต่ละช่องทางการชำระเงิน เช่น ช่องทางออนไลน์ ซึ่งการใช้จ่ายออนไลน์ มักเป็นอะไรที่ทำให้สติหลุดได้ง่ายมาก เพราะมีโปรโมชันแทบทุกเดือน ดังนั้น ผู้ถือบัตรจึงควรกำหนดได้ว่าจะใช้เงินไม่เกินเท่าไร

เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ถือบัตรมีสติและสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้นในการใช้จ่ายบัตรเครดิต

เทคโนโลยีกับการปรับเปลี่ยนของบัตรเครดิต

ประณยา ยอมรับว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเริ่มเห็นชัดเจนในช่วงเกิดวิกฤติโควิดในช่วงปี 2019 ที่ผู้คนวิตกกังวลในเรื่องของสุขอนามัยอย่างมาก ผู้ให้บริการต่างๆ รวมถึงเคทีซี จึงมีการพัฒนาระบบบัตรเครดิตบนโทรศัพท์มือถือเพื่อให้สมาชิกสามารถแสกนจ่ายด้วยคิวอาร์ โค้ดได้

เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายและทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทว่าพฤติกรรมการชำระเงินที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดระบาดกลับไม่หายไป กลายเป็นนิว นอร์มอล (new normal) เห็นได้จาก 80% ของสมาชิกเคทีซีลงทะเบียนใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ

ประณยายังตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ยังเกิดขึ้นกับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยที่จะเปิดรับนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ หรือรุ่นสูงวัยที่เคยชินกับการพกบัตรเครดิตติดตัว

บัตรเครดิตกับการเปิดรับ Generative AI

สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเทคโนโลยีที่ฝ่ายบริหารจัดการและทีมเทคนิคของเคทีซีนำเข้ามาใช้ โดยประณยา กล่าวว่า อะไรก็ตามที่จะช่วยลดขั้นตอนและทำให้สมาชิกใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น ก็จะมีการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้แน่นอน

ขณะเดียวกัน การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ก็จะให้น้ำหนักความสำคัญกับพฤติกรรมของสมาชิกเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่า เทคโนโลยีที่นำเข้ามาจะต้องไม่เพิ่มภาระหรือเพิ่มความยุ่งยากให้กับสมาชิก

ขณะเดียวกัน การนำ AI มาใช้ยังเป็นประโยชน์ต่อการนำข้อมูลมาใช้ขับเคลื่อนการเติบโต (data driven) โดยธุรกิจบัตรเครดิตจะมีข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของสมาชิกค่อนข้างมาก ซึ่งการบริหารจัดการข้อมูลในส่วนนี้ด้วยความเข้าใจ เอาใจใส่ และด้วยความระมัดระวัง จะช่วยให้การบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอของบัตรเครดิตมีความเคลื่อนไหว (แอคทีฟ) อยู่เสมอ

“ถ้าหากเริ่มเห็นว่าสมาชิกไม่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเกิน 6 เดือน เราก็จะพิจารณาจัดส่งข้อมูลสิทธิพิเศษที่ตรงกับพฤติกรรมของสมาชิกไปให้เป็นข้อมูล หรือแจ้งให้สมาชิกทราบว่ายังมีคะแนนสะสมเหลืออยู่สามารถนำไปแลกของสมนาคุณได้ เพื่อให้สมาชิกกลับมาแอคทีฟใช้งานบัตรอีกครั้ง”

แนวโน้มของธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทย

ปีนี้บัตรเครดิตน่าจะเติบโตได้ อ้างอิงจากข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ชี้ว่า โดยรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3.5-3.6% ขณะที่ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตก็โตอยู่ที่ประมาณ 14% ส่วนเคทีซีเองโตอยู่ที่ประมาณ 16% ซึ่งแต่เดิมเคทีซีตั้งเป้าไว้เมื่อช่วงต้นปีว่าปีนี้จะโตอยู่ที่ประมาณ 10%

“เราคิดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ด้วยสถานการณ์การท่องเที่ยวที่กำลังกลับมา มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คนมีงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ย่อมกลับมาใช้จ่าย เราจึงเชื่อว่าอุตสาหกรรมบัตรเครดิตยังมีการเติบโต โดยในส่วนของเคทีซีค่าว่าจะเติบโตดีกว่าปีที่แล้วที่ประมาณ 10%”

KTC จัดโปรโมชันลูกค้าใหม่ “เคทีซี พราว” สมัครวันนี้ รับดอกเบี้ยต่ำสุด 0.82% ต่อเดือน

ภาพรวมของอุตสาหกรรมบัตรเครดิต

ภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบันมีบัตรเครดิตอยู่ทั้งอุตสาหกรรมประมาณ 26 ล้านใบ เคทีซีอยู่ที่ 2.6 ล้านใบ ดังนั้น จึงมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 10% ขณะที่ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซีมีการประเมินไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ราว 2.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ในมุมมองของเคทีซี ไม่ได้มองว่าหน้าที่ของตนเองคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่เป็นการดูแลจัดการฐานสมาชิกบัตรฯ ที่มีอยู่ให้ดีที่สุด รวมถึงควบคุมไม่ให้เกิดหนี้เสียในกลุ่มสมาชิกของเคทีซีมากที่สุด โดยปัจจุบันเคทีซีมีหนี้เสียที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของตลาด

พันธกิจของธุรกิจบัตรเครดิตรวมถึง เคทีซี

เป้าหมายของการทำตลาดบัตรเครดิตเคทีซี คือ การทำให้บัตรเดรดิตเคทีซีเป็น default card ของสมาชิก หรือเป็นบัตรเครดิตที่หยิบขึ้นมาใช้ได้ทุกวัน เป็นบัตรเครดิตที่ใช้บ่อยที่สุด ไม่ว่าจะมีโปรโมชันหรือไม่มีก็ตาม พันธกิจของเคทีซีจึงเป็นการทำอย่างไรให้สมาชิกใช้บัตรเครดิตอย่างมีคุณค่าด้วยความสะดวกสบายและรู้สึกปลอดภัย 

ขณะเดียวกัน การมีวงเงินในบัตรเครดิต ทำให้ผู้ถือบัตรสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติมาได้ ยกตัวอย่างเช่นในช่วงโควิด ผู้ถือบัตรที่เป็นเจ้าของกิจการก็สามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตมาพยุงกิจการของตนเอง ซึ่งค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับบัตรเครดิตเทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าของธุรกิจที่รักษาไว้ หรือบางรายก็นำวงเงินมาใช้รักษาสมาชิกในครอบครัวที่เจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล

ในส่วนของกลยุทธ์บัตรเครดิตเคทีซี ประถยากล่าวว่า ในจำนวนสมาชิกบัตรเครดิต 2.6 ล้านคน เคทีซีมีการแบ่งกลุ่มสมาชิกออกเป็น segment เพื่อบริหารจัดการตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกัน

“เราจะต้องรู้จักสมาชิกในแต่ละกลุ่มว่ามีความต้องการเรื่องไหนบ้าง และอะไรที่จะตอบโจทย์สมาชิกได้ เราพยายามจะจัดหาสิทธิพิเศษให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน เราก็มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมถึงการร่วมกับพันธมิตรออกบัตรเครดิตใหม่ๆ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว หรือการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ สิทธิประโยชน์ให้ตอบโจทย์สมาชิก ตลอดจนเรื่องของการให้บริการหลังบ้านก็เช่นกัน มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ บนแอปฯ “KTC Mobile” เพื่อให้สมาชิกกำหนดค่าใช้งานบนบัตรเครดิตได้ด้วยตนเอง และศูนย์บริการสมาชิกบัตรฯ หรือคอนแท็คท์ เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นงานให้บริการหลังบ้านกับสมาชิก เป็นด่านแรกที่จะต้องให้บริการและคอยช่วยเหลือสมาชิกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ”

ปัจจุบันสมาชิกในพอร์ตของเคทีซีประมาณ 60-70%  มีฐานเงินเดือน 15,000 – 30,000 บาท ส่วนรายได้ 30,000 – 50,000 บาท อยู่ที่ประมาณ 17-18%  ขณะที่รายได้ 50,000 บาทขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 18%

หัวใจของการใช้บัตรเครดิต : สติและวินัย

ด้วยกติกาของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ผู้ถือครองบัตรเครดิต คือผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีรายได้พอสมควร กระนั้น ประณยาเชื่อว่า ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ถ้ามีสติและมีวินัย

“ทุกการใช้จ่ายจะต้องมีสติอยู่เสมอ แล้วก็รู้ความสามารถของตนเองในการชำระเงินคืนได้ บัตรเครดิตจะเป็นเพื่อนที่ดี ถ้าเรามีสติและมีวินัยในการใช้จ่าย ทางเคทีซีจึงพยายามช่วยสมาชิก เช่น อำนวยความสะดวกผ่านการแจ้งเตือนต่าง ๆ หรือให้ความรู้ในการบริหารการใช้จ่ายของตนเอง”

ประณยาย้ำว่า เคทีซีใส่ใจในการทำธุรกิจทุกกระบวนการ และให้ความสำคัญกับการคัดกรองสมาชิกเข้าพอร์ตตั้งแต่สมาชิกเริ่มมีการสมัคร เพื่อให้ได้พอร์ตสินเชื่อที่มีคุณภาพ และเมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกแล้ว หากเห็นสัญญาณการชำระที่ผิดปกติ เคทีซีจะดำเนินการแจ้งเตือนทันที จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ขณะนี้เคทีซีจะมีหนี้เสียน้อยกว่าเกณฑ์ของอุตสาหกรรมฯ

“เคทีซี ไม่กังวลในเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะว่าการบริหารจัดการเรื่องหนี้ เรื่องหลังบ้านเราค่อนข้างแข็งแรง แล้วเคทีซีก็เข้มงวดในเรื่องของการใช้จ่าย สำหรับสมาชิกบัตรเอง เพื่อที่จะใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนตัวที่ยังคิดว่าสำคัญก็คือว่าตัวผู้ถือบัตรเองต้องมีวินัยแล้วก็ต้องมีสติทุกครั้งในการที่จะใช้จ่าย ส่วนเคทีซีเราดำเนินธุรกิจโดยเน้นเรื่องของการมีความรับผิดชอบให้กับสังคม ให้กับผู้ถือบัตร เคทีซีจะไม่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากจนเกินไป และมีเครื่องมือต่าง ๆ ที่พร้อมจะเตือนสมาชิกในเรื่องสำคัญ”

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 เคทีซีมีฐานสมาชิกบัตรเดรดิตมากกว่า 2.6 ล้านใบ ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หมวดที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงสุดในกลุ่มสมาชิกเคทีซี คือ ประกัน เนื่องจากประกันมียอดเงินค่อนข้างใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ หรือประกันต่าง ๆ ส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ อันดับสอง คือ หมวดเติมน้ำมัน ส่วนหมวดที่สาม และเห็นได้เด่นชัดในปีนี้ก็คือ  หมวดของการท่องเที่ยว อันเป็นผลพวงจากวิกฤติโควิดระบาดที่ทำให้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ 2-3 ปี

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘เศรษฐกิจสีเงิน’ แนวโน้มและโอกาสในเศรษฐกิจผู้สูงวัย

ไมเนอร์ จับมือ POP MART ลุยตลาดอาร์ตทอยในไทย ประเดิม เปิดแฟล็กชิปสโตร์แห่งแรก ก.ย. นี้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ