TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistส่องแนวคิด BCG Economy ของไทย ที่ขยายไปยัง APEC 2022

ส่องแนวคิด BCG Economy ของไทย ที่ขยายไปยัง APEC 2022

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ครั้งที่ 29 หรือ เอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นประธานและเจ้าภาพ ปิดฉากไปแล้วด้วยความสำเร็จจากการที่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ เห็นพ้องกับการนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 โดยร่วมกันลงนามรับรองเอกสาร 2 ฉบับ คือ “ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2565” และ ”เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ Bangkok’s Goals on BCG Economy พร้อมกับส่งต่อภารกิจเจ้าภาพครั้งต่อไปในปี 2023 ให้สหรัฐอเมริกา ด้วยการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมอบชะลอมคล้องมาลัยสีตราสัญลักษณ์ของเอเปก 2022 ที่เปรียบเสมือนการร่วมมือกันของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ แก่รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ

BCG เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน

ประเทศไทยในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง เคยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 2535 และปี 2546 สำหรับปี 2565 นับเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19 และเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่จัดการประชุมแบบพบหน้ากันได้อีกครั้ง โดยมีผู้นำและคณะผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจจำนวนกว่า 5,000 คน เข้าร่วมการประชุมระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2565

สาระสำคัญของการประชุมหลักในครั้งนี้ประเทศไทยมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open, Connect, Balance) ด้วยการส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างสำหรับทุกโอกาส เชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกันในทุกมิติ และขับเคลื่อนเอเปคสู่การเติบโตที่สมดุล และครอบคลุมทุกภาคส่วน ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular–Green Economy) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการนำความหลากหลายทางชีวภาพ มารวมกับการดำเนินเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

ทั้งนี้ แนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย 4 เป้าหมาย ได้แก่ 1. ร่วมกันสร้างระบบการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 2. ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน 3. ร่วมกันรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และบรรลุการเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 4. ร่วมกันบริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจยังได้พูดคุยกันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเห็นตรงกันว่าปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของทุกเขตเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เศรษฐกิจถดถอย และการขาดแคลนวัตถุดิบ ทุกฝ่ายจึงต้องมีส่วนร่วมกับกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเห็นว่าการพัฒนาดิจิทัลเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างการเติบโตที่สำคัญ จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับให้ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับทุกคนในทุกเขตเศรษฐกิจ

ส่วนการเจรจาย่อยนอกกรอบการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์พิเศษระหว่างเขตเศรษฐกิจ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพมีการเจรจาแบบทวิภาคีกับ 6 ผู้นำเขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และเจรจากับ 4 แขกพิเศษของรัฐบาล (Official Visit) ได้แก่ จีน เวียดนาม ฝรั่งเศส ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งล้วนให้การสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG โดยความร่วมมือในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

อาทิ การเจรจาระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งประเด็นกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันในโครงการรถไฟไทย-จีน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงตั้งแต่ EEC ของไทยไปยังรถไฟจีน-ลาว จนถึงมณฑลยูนนานของจีน แต่ในด้านเศรษฐกิจผู้นำจีนก็เสนอการส่งเสริมการลงทุนแบบใหม่ในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ยานยนต์พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง 

เช่นเดียวกับเวียดนามก็มีการเจรจาในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจที่เข้มแข็งระหว่างไทยและเวียดนาม ผ่านยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงสามด้าน ได้แก่ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากของทั้งสองประเทศ และการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างโมเดล BCG ของไทย และยุทธศาสตร์การพัฒนาสีเขียวของเวียดนาม

สำหรับประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นแขกพิเศษที่ไทยเชิญมาร่วมประชุมในครั้งนี้ นอกจากการหารือเรื่องที่ไทยขอให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจาFTA ไทย–อียู และสนับสนุนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะมีการลงคะแนนเสียงในเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงการประชุมที่กรุงปารีส ยังมีการเจรจาที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยไทยจะเน้นผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU ด้วยการสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว โดยไทยร่วมกับสมาชิกเอเปกลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม 54 รายการ

ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปกครั้งต่อไปพร้อมสานต่อประเด็นและผลสำเร็จจากการประชุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจ BCG ของไทยซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ โดยสหรัฐฯ ยินดีขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับไทยผ่านข้อตกลงต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน รวมถึงความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม Net Zero World

มารู้จักแนวคิดเศรษฐกิจ BCG 

BCG Model เป็นแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ใช้ความรู้ การจัดการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลทางเศรษฐกิจได้รวดเร็ว โดยมุ่งที่การพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เน้นการนำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาทรัพยากรชีวภาพหรือผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยอาศัยจุดแข็งที่ประเทศไทยมีทรัพยากรชีวภาพมากเป็นอันดับ 6 ของโลก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณของเสียในกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุดหรือเท่ากับศูนย์ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือเศรษฐกิจที่พัฒนาด้วยการคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและตระหนักถึงคุณค่า ลดผลกระทบต่อโลกโดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แนวคิด BCG ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยการนำข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศเปลี่ยนเป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม ทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตแข่งขันได้ในระดับโลก และส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ประเทศไทยมีการวางแผนใช้แนวคิดตามโมเดลนี้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่หวังให้เป็น new s-curve ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร ส่งเสริมการนำผลผลิตการเกษตรมาผลิตเป็นอาหารหรือสินค้าที่มีมูลค่าสูงและมีตลาดกว้าง โดยใช้เทคโนโลยีและการตลาดนำการผลิต 2. อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ พัฒนาการผลิตพลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้ในภาคการเกษตร หรือการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเช่นไบโอพลาสติก 3. อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เช่นการวิจัยพัฒนาสมุนไพรเป็นยา การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน และบริการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ 4. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยอาศัยจุดแข็งด้านความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณี อาหารและแหล่งชอปปิ้ง

อันที่จริง BCG Model ถูกนำเสนอเป็นทางเลือกในการสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ของประเทศไทยมานานหลายปี การนำเสนอใช้เป็นแนวทางการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ของที่ประชุมเอเปก 2022 เป็นการสร้างฐานการเชื่อมโยงเศรษฐกิจออกไปยังระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่จะส่งผลดีต่อการขยายตลาดของไทยในอนาคตเนื่องจากคู่ค้าการส่งออกของไทยที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรกล้วนเป็นสมาชิกเอเปกทั้งสิ้น

ตั้งเป้าหมายสู่ผู้นำเศรษฐกิจ BCG

ทั้งนี้ ในงานสัมมนาด้านพลังงาน Decarbonize Thailand Symposium 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ภายหลังการประชุมเอเปก 2022 จบลงเพียงไม่กี่วัน นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) และประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC) ซึ่งรับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพการจัดประชุม APEC CEO Summit 2022 คู่ขนานกับงานประชุมเอเปก 2022 เปิดเผยว่า ทางสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปกได้เสนอนโยบาย BCG Model ต่อการประชุมดังกล่าว โดยมีการส่งมอบข้อเสนอแนะและแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแก่ภาคนโยบายผ่านเวทีการประชุมเอเปกด้วย

เขากล่าวว่า ส.อ.ท.มีเป้าหมายที่จะสร้างความยั่งยืนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการต้องบริหารธุรกิจให้มีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับร่วมบริหารสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งในระยะยาวประเทศไทยได้วางเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำเศรษฐกิจ BCG ในโลก

ในการนี้ ส.อ.ท.ได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยเน้นให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการร่วมกันปรับลดคาร์บอนในระยะยาว ตลอดจนร่วมสร้างแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้มุ่งไปสู่การลดคาร์บอนมากยิ่งขึ้น

โดยในงานดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีโอกาสมากกับอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเนื่องจากมีฐานพลังงานชีวภาพจำนวนมาก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเข้าสู่คาร์บอนฟุตพรินต์ของประเทศไทยมีต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน การเดินหน้านโยบาย BCG Model จึงส่งผลดีต่อประเทศเป็นอย่างมาก

สำหรับ Decarbonize Thailand Symposium 2022 เป็นการรวมพลังจากหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันหาโซลูชั่นขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งร่วมกันสร้างเศรษฐกิจใหม่จากการลดคาร์บอน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ฟุตบอลโลกที่กาต้าร์ CARBON NEUTRAL จริงหรือ

MORE โศกนาฏกรรมหุ้นไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ