TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistค่าแรง 600 บาท ... แรงงานอยู่ได้ - ธุรกิจต้องอยู่รอด

ค่าแรง 600 บาท … แรงงานอยู่ได้ – ธุรกิจต้องอยู่รอด

พลันที่เพื่อไทยประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือดมีทั้ง “เห็นด้วย” และ “เห็นต่าง” คนที่เห็นด้วยเห็นว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่คนที่เห็นต่างก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 600 บาท แค่เห็นต่างในวิธีการและเห็นว่าพรรคเพื่อไทยต้องทำการบ้านมากกว่านี้ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรม แรงงานต้องอยู่ได้ ผู้ประกอบการต้องอยู่รอด เพราะทั้งสองฝ่ายเหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

แต่กลุ่มที่น่าห่วงหากขึ้นค่าจ้างโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย SMEs และเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ไม่ค่อยมีใครคิดถึงว่าปัจจุบันค่าจ้างแรงงานเป็นต้นทุนที่สำคัญ 

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่บังคับใช้อยู่ทุกวันนี้ต่ำกว่าค่าครองชีพมาก ชาวบ้านชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องกู้หนี้นอกระบบมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สะท้อนจากตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” พุ่งกระฉูดถึงร้อยละ 94 กว่า 14 ล้านล้านบาท ที่กำลังจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่

แม้การปรับค่าแรง 600 บาทของพรรคเพื่อไทย จะค่อย ๆ ขยับเป็นขั้นบันไดกระทั่งปีในปี พ.ศ.2570 ก็เท่ากับเพิ่มประมาณ 12% ต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าจ้างแรงงานจะมีสัดส่วนต้นทุนต่ำมากกว่าต้นทุนอื่น ๆ ก็ตาม จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา นายทุนเจ้าของกิจการมักจะแก้ปัญหาด้วยการ “ลดคน” ก่อนอันดับแรกเพื่อลดค่าใช้จ่าย ต่อมาจะใช้วิธีลดสวัสดิการ ตัดค่าโอที เป็นต้น พวกรายใหญ่ยังมีทางเลือกโดยย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า 

เมื่อคราวที่พรรคเพื่อไทยขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยคุยกับเด็กปั๊มที่ตอนนั้นได้ค่าจ้าง 270 บาท ชุดทำงานฟรี ข้าวกล่อง 1 มื้อ ที่พักฟรีในปั๊ม คิดเป็นรายได้มากกว่า 300 บาท พอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นายจ้างตัดค่าโอที ไม่มีชุดทำงานให้ และยกเลิกข้าวกล่อง หักกลบลบกันแล้ว รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่กลับลดลง

ที่สำคัญ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านกาแฟ ร้านข้าวแกง อาหารตามสั่ง ที่ยังไม่ฟื้นจากโควิด-19 ยังไม่ทันตั้งหลักต้องมาเจอค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทางออก คือ ลดคนกับขึ้นราคา หรือเลิกไปเลย

แต่กลุ่มที่น่าห่วงที่สุดคือ “กลุ่มเกษตรกร” ที่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนาในต่างจังหวัด จะกระทบหนักที่สุด เรื่องอย่างนี้บรรดานักการเมือง นักวิชาการที่ออกมาหนุนแบบหัวปักหัวปำ อาจจะมองข้าม ไม่มีใครมองเห็นภาคเกษตร ที่ต้องมีภาระจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น แถมธรรมเนียมปฏิบัติในต่างจังหวัดนอกจากจ่ายค่าแรงแล้วยังมีค่าต้องเลี้ยงดูเพิ่มเติมอีก

ปกติเกษตรกรทำไร่ทำนาต้องแบกรับค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ที่เพิ่มขึ้นทุกปีอยู่แล้ว หากปรับค่าแรงเพิ่มคงอยู่ลำบาก เพราะราคาสินค้าเกษตรไม่ได้ปรับขึ้นตาม ต้องหาทางออกให้คนกลุ่มนี้ด้วย

ฉะนั้นพรรคการเมืองที่กำหนดนโยบายต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน และต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรม พร้อมจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร

ในอดีตทุกครั้งที่รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนหนึ่งจะไปอยู่ในกระเป๋าบรรดานายทุนจะฉวยโอกาสจะขึ้น “ราคาสินค้า” และ “ค่าบริการ” ดักไว้ล่วงหน้าอ้างว่าต้นทุนเพิ่ม ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับก็แทบไม่เหลือ คนที่ได้ประโยชน์ก็คือกลุ่มทุน “จ่ายกระเป๋าซ้าย”และ”รับกระเป๋าขวา” 

นอกจากนี้ การขึ้นค่าแรงยังเป็นแรงจูงใจให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำแย่งงานคนไทยมากขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาซ้ำซากที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนแก้ได้ ปัจจุบันแรงงานต่างชาติก็มากกว่าแรงงานไทยอยู่แล้ว

เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 600 บาท แต่ต้องไม่ใช่มีแต่นโยบายค่าแรงออกมาแบบโดด ๆ แต่ต้องมีมาตรการอื่น ๆ มารองรับ เช่น จะป้องกันพ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าได้อย่างไร ไม่ใช่ขึ้นค่าแรงแล้วแรงงานยังอยู่ไม่ได้เพราะข้าวของแพงขึ้น ในระยะยาวธุรกิจจะต้องไม่มีการผูกขาดโดยส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรี 

ทุกวันนี้ราคาสินค้าแพงเพราะมีการผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าราคาพลังงาน เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า รวมถึงประปา โทรคมนาคม การผูกขาดเป็นต้นเหตุทำให้มีราคาแพงเกินจริง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจ ควรต้องเลิกการผูกขาดและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรีเพื่อให้ต้นทุนธุรกิจถูกลง เมื่อผู้ประกอบการอยู่ได้จะสามารถรับภาระค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มได้

ขณะเดียวกันรัฐจะต้องทบทวนนโยบาย “ดอกเบี้ยเงินกู้” เป็นอีกต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนง่ายในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็จะแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการได้มาก รวมถึงต้องยกเลิกภาษีที่ซ้ำซ้อน ต้องแก้ปัญหาคอรัปชั่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งสิ้น

การขึ้น “ค่าแรง” ควรเกิดจากการ “สร้างงาน” จำนวนมาก ๆ ควบคู่กับการพัฒนาแรงงานให้มี “ทักษะสูง” และ “ตรงกับความต้องการของตลาด” เช่น สมมติรัฐส่งเสริมการลงทุนเอกชนจนสามารถ 20 ล้านตำแหน่ง ขณะที่แรงงานว่างงานมี 10 ล้านคน จะเกิดการแย่งแรงงาน ค่าแรงก็ปรับขึ้นอัตโนมัติ ไม่ต้องรอให้ถึงวันเลือกตั้งรอให้พรรคการเมืองใช้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายหาเสียง

สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้นั่นหมายความว่าจีดีพีของประทศต้องโตไม่ต่ำกว่า 5% ทุกปี เหนือสิ่งใด ต้องมีการกระจายได้ให้ทั่วถึงเท่าเทียม ไม่ใช่รวยกระจุกจนกระจายอย่างทุกวันนี้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

เก็บ “ภาษีหุ้น” ได้-ไม่คุ้มเสีย !!!

คาถา “ลดความเหลื่อมล้ำ”

MORE โศกนาฏกรรมหุ้นไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ