TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistถอดรหัสเจ้าสัวซีพี ติวเข้ม "คาถาฝ่าวิกฤติ"

ถอดรหัสเจ้าสัวซีพี ติวเข้ม “คาถาฝ่าวิกฤติ”

กำลังเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์” ในโลกโซเชียลยามนี้เมื่อ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสบริษัทเครือเจริญโภคภัณ์ “ซีพี” บุก “คลับเฮาส์” ถ่ายถอดวิชาคาถาฝ่าวิกฤติให้กับ “สตาร์ตอัพ” “เถ้าแก่ใหม่” และ “เอสเอ็มอี” คนเข้าไปฟังกันถล่มทะลายกว่า 9 พันคน มี ”หนุ่ย” พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

“เจ้าสัวธนินท์” ปกติเป็นคนถ่อมตัวอยู่แล้ว ทักทายผู้ฟังใน คืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ด้วยประโยคแรก “ตื่นเต้นเหมือนกันที่ได้เข้า “คลับเฮาส์” พร้อมกับพูดว่า

“ผมว่าคลับเฮาส์ มีคนตั้งใจจริง ๆ ที่จะเข้ามาฟัง พูดแล้วมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจยุคใหม่ไม่เหมือนแบบเก่า เราต้องเปิดใจเรียนรู้กับคนใหม่ ๆ เรามันรุ่นเก่า ประสบการณ์ของเราผ่านมากับธุรกิจที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับคน การบริหารคน การลงลึก รู้จริง

พร้อมกับสอนบทเรียน “เถ้าแก่ใหม่” ให้รู้จักการวางแผนว่าในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถอำนวยความสะดวกสบายได้มากมายแม้กระทั่งการทำงานในยุคนี้ที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศอย่างเดียวแล้วเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ในยุคใหม่เราควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เข้ากับยุคสมัยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์

เจ้าสัวยังได้แนะเคล็ดลับการทำธุรกิจในยามเศรษฐกิจไม่ดีไม่มีคนซื้อ โดยให้เรียนรู้จากธุรกิจคนอื่นและต่อยอด “เราต้องศึกษาธุรกิจของเราก่อน จากการดูธุรกิจของคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรา ควรจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนในรูปแบบการต่อยอดมากกว่า เปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ที่เรายังไม่ถนัด ยกตัวอย่าง ธุรกิจกระเป๋าเดินทาง ในปัจจุบันธุรกิจการท่องเที่ยวซบเซาลงเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 อาจจะต้องเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งาน หรือเพิ่มฟังก์ชันเพื่อให้มันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจทำกระเป๋าเดินทาง ตอนนี้คนเที่ยวน้อย ยอดขายก็ตก ก็ลองหาโอกาสใหม่ ๆ อย่างทำกระเป๋าที่สามารถเก็บความเย็น หรือกระเป๋าสำหรับการขนส่ง ก็น่าจะมีตลาดอยู่”

เจ้าสัวธนินท์ ได้เล่าถึงแผนตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มสตาร์ตอัพวงเงิน 100 ล้านเหรียญ พร้อมชี้ช่องว่า ใครจะเข้าข่ายได้รับทุนโดยดูจากสตาร์ตอัพแต่ละคนมีการลงทุนธุรกิจแบบ 4.0 หรือแบบใหม่หรือไม่ หรือมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างไรบ้าง สตาร์ตอัพต้องทำของใหม่เพื่อให้ดีกว่าจากการต่อยอดจากสิ่งเดิม ให้เงินเขาอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูแลให้ความรู้เขาเพื่อการส่งเสริมการขาย สร้างประสบการณ์จากของเก่าสิ่งที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เพื่อให้ของใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สมมุติว่าจะทำสินค้ามาขายกับ 7-11 ตัวเซเว่นฯ เองต้องไปดูว่าจะทำยังไงให้ได้สินค้าที่เป็นของดีราคาถูก ก็ต้องเข้าไปช่วยในการบริหาร เอาประสบการณ์โลกเก่าเข้าไปช่วย ทุกวันนี้หาซื้อวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น พอผลิตสินค้าแล้ว จะทำออกไปขายทั่วโลก แต่สตาร์ตอัพก็ต้องศึกษาข้อมูลวัตถุดิบ ข้อมูลตลาดทั่วโลก ชวนคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาช่วยกัน วันนี้ต้องเอาคนเก่งเป็นทีมมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่วันแมนโชว์แล้ว

เจ้าสัวธนินท์ นั้นให้ความสำคัญกับคนมาก ร่ำลือกันว่า เวลาสัมภาษณ์คนเข้าทำงาน ต้องมีซินแสคอยดูโหงวเฮ้งขณะเดียวกันซีพียังลงทุนราว ๆ พันล้านตั้งสถาบันผู้นำเพื่อพัฒนาคนในองค์กร แนะนำว่า

“การจะพัฒนาคนในตอนนี้ ที่ผู้คนมีอารมณ์หดหู่กันอยู่ มีการปลุกพลังคนในองค์กรอย่างไร ? ต้องคิดว่าทีมงานของเราเหมาะสมกับอะไร ศึกษาคนเพื่อให้อำนาจและให้โอกาสเขา ให้ลองถูกลองผิด ให้โอกาส ให้เงินเขา แล้วชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ เรามีหน้าที่สนับสนุน เรามีหน้าที่ติดตาม สุดท้ายการตลาดสำคัญมาก ให้เขาไปลองถูกลองผิด ไม่มีสตาร์ตอัพคนไหนไม่เคยผิด กองทุนที่ตั้งต้องให้ความรู้เขาเพื่อให้เขาประสบความสำเร็จ ยังไม่พอ ต้องช่วยเขาหาตลาด เรียกได้ว่าช่วยเหลือในทุก ๆ ด้านเพื่อให้เขาประสบความสำเร็จ ให้ศึกษาสตาร์ตอัพจากต่างประเทศว่าเขาขายให้ใคร แล้วประสบความสำเร็จอย่างไร”

อาจจะมีกองทุนใหญ่อีกกองทุนหนึ่ง สำหรับลงทุนในบริษัทที่ทำสำเร็จแล้ว เรียนรู้แล้วก็ต่อยอด วิกฤติเที่ยวนี้ทำให้ธุรกิจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คนใหม่ ๆ ก็มาแทนที่คนเก่า ดีสรัปชันต้องระวังคนจากข้างหน้า เพราะคู่แข่งมาจากนอกอุตสาหกรรม สถาบันผู้นำ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ของซีพีให้ นำเสนอโครงการต่อหน้าผม (เจ้าสัวธนินท์)

”ต้องดูว่าพระเอกหลักเรามีปัญหาไหม ถ้าจะก้าวเร็ว แต่เงินเราไม่พอ ก็ต้องควบรวม ก็ต้องหาพาร์ทเนอร์ แต่ถ้าไม่มีธุรกิจหลัก ก็ต้องอยู่รอดก่อน ถ้ากำลังของเรายังไม่พร้อม จะยังไม่ไป หรือถ้าจะไปก็ต้องหาทางควบรวม” เจ้าสัวแนะกลยุทธ์ธุรกิจและวิธีแก้ปัญหาว่า

“แต่ก็ต้องหาปัญหาให้เจอว่าปัญหาอยู่ไหน จะทำให้สำเร็จต้องทำยังไง ทุกขั้นตอนต้องสอดคล้องกัน มันถึงจะเร็วและมีประสิทธิภาพ ตอนต้มยำกุ้ง ซีพีก็ต้องขายธุรกิจทิ้งไปหลายอย่าง เพื่อรักษาธุรกิจหลักเอาไว้ให้ได้ ในวิกฤตินี้ต้องดูพลังของเราก่อน รักษาแกนไว้ให้ได้ ถ้ามีโอกาสค่อยพุ่ง แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็อย่าเพิ่งออกไป”

บุคคลิกอย่างหนึ่งของเจ้าสัวธนินท์ คือ น้อมรับความผิดพลาดของตัวเอง คืนนั้นเจ้าสัวได้สารภาพว่าตัดสินใจผิดที่ไม่ยอมให้ทุนกับ “แจ็ค หม่า” ที่มาขอทุน 

“ตอนนั้นไปฮ่องกง แล้วเจอแจ็ค หม่า แล้วฟังที่นำเสนอไม่เข้าใจ เพราะที่ผ่านมาทำธุรกิจหนักมาตลอด แล้วยังนึกภาพไม่ออกธุรกิจเบาอย่างอี-คอมเมิร์ช ที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างตอนนั้น จะเป็นเงินได้ยังไง เหมือนตอนนี้ที่ยังไม่รู้จักบิทคอยน์ ลึกเท่าไหร่ ถ้าตอนนั้นไปลงทุนกับแจ็ค หม่า ก็คงรวยไม่รู้เรื่องแล้ว”

ทั้งหมดนี้ คือ หัวใจหลักของคาถาฝ่าวิกฤติจากเจ้าสัวธนินท์ ได้กลั่นประสบการณ์จนตกผลึกจากการทำงานมาตลอดทั้งชีวิตนานกว่าชั่วโมงครึ่ง คนฟังวันนั้นโชคดีที่ได้เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมากที่สุดในเมืองไทยแบบเต็ม ๆ

ทวี มีเงิน

ภาพประกอบจาก cp-enews

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ