TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewFIN-App หัวใจการลงทุน คือ ข้อมูลที่ถูกต้อง

FIN-App หัวใจการลงทุน คือ ข้อมูลที่ถูกต้อง

เพราะการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนบริหารจัดการเงินเพื่อความมั่นคั่งมั่นคงอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ สุทธิวัฒน์ ยังคล้าย นักลงทุนริเริ่มก่อตั้งพัฒนา “FIN-App” เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล การติดตามมูลค่าพอร์ทการลงทุนที่ผู้ใช้งานไปลงทุนตามที่ต่าง ๆ ไว้ แต่ FIN-App ไม่ใช่ตัวซื้อขาย เน้นการวิเคราะห์ ประมวล และช่วยค้นหาข้อมูลโอกาสในการลงทุนสำหรับนักลงทุน 

ด้วยความที่เน้นและให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลด้านการลงทุนมาสรุปประมวลวิเคราะห์ที่จะช่วยลดการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด ซึ่งตอบโจทย์โดนใจนักลงทุน ทำให้ FIN–App ถือเป็นหนึ่งในแอปยอดนิยมในหมวดการเงิน (Financial) ของ App Store

“ตัว FIN-App เป็นตัวที่พัฒนาต่อยอดจากการที่เป็นนักลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งหมายความว่าในยุคเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ประมาณปี 2014-2015 ตอนนั้นเครื่องมือในการช่วยเลือกหรือคัดกรองกองทุนในการที่จะซื้อ LTF, RMF ค่อนข้างมีปัญหาสำหรับผมพอสมควร เนื่องจากผมเป็นนักลงทุนและเห็นปัญหา และบวกกับโดยส่วนตัวที่ผมในสายไอทีด้วย ก็เลยคิดว่าเราน่าจะสร้างแอปขึ้นมาตัวหนึ่ง เลยสร้าง FIN ขึ้นมา นั่นคือจุดเริ่มต้นคือเพื่อแก้ปัญหาให้ตัวเองเป็นหลัก”

เพราะไม่ได้มีความรู้ในการสร้างหรือพัฒนาแอปพลิเคชันใด ๆ มาก่อน เพียงแต่มีไอเดียและความต้องการที่จะลงมือทำ สุทธิวัฒน์ จึงค่อย ๆ เริ่มต้นพัฒนาแอพด้วยการศึกษาเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลที่มีการสอนบนโลกออนไลน์ ซึ่งในกรณีของสุทธิวัฒน์ก็คือวีดีโอของทางApple Development Conference ทั้งหลาย 

หลังจากใช้เวลาศึกษา เก็บข้อมูลอยู่นานหลายปี ก็ได้เวลาที่จะเริ่มลงมือทำ FIN-App ของตนเอง ควบคู่ไปกับการศึกษาวีดีโอที่สอนเรื่องของการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อนำเทคนิกที่สอนอยู่ในวีดีโอมาประยุกต์ปรับใช้กับ FIN – App จนสามารถพัฒนาออกมาเป็นแอปพลิเคชันในเวอร์ชันที่สมบูรณ์ ช่วยให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ใช้งาน (User Experience) ที่ดี และสามารถเปิดตัวสู่ตลาดผู้ใช้งานได้ในที่สุด โดยปัจจุบัน FIN–App ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ของการเปิดให้คนทั่วไปดาวน์โหลดมาใช้งาน  

“ปัจจุบัน ผมยังคงรับฟีดแบ็คจากผู้ใช้งานที่ส่งเข้ามาในแต่ละวันมาประมวลอินไซต์ เพื่อดูว่าผู้ใช้งานหมู่มาก พิจารณาจากจำนวนคนหมู่มากว่าเขาต้องการอะไร แล้วผมก็จะมาดูเป้าหมายของตัวเองว่า แล้วผมต้องการจะพัฒนาอะไรต่อ แล้วก็ค่อยนำสองส่วนมาแมทช์กัน แล้วก็สร้างขึ้นมาเป็นฟีเจอร์ถัด ๆ ไปเรื่อยมา ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้เลยก็คือว่า เวลาผู้ใช้งานมีฟีดแบ็ค มีคำถามขอความช่วยเหลือใด ๆ เข้ามา ผมก็จะตอบสนองให้เร็วที่สุด ซึ่งอันนี้เป็นปัจจัยสำคัญ การตอบผู้ใช้งานเร็ว ผู้ใช้งานจะชอบ ช่วยทำให้เกิดความพึงพอใจ ดังนั้นความสัมพันธ์ของแอปกับผู้ใช้งานจึงค่อนข้างดีพอสมควร”

สุทธิวัฒน์ กล่าวว่า ทั้งหมดที่ทำมา มีเป้าหมายเพื่อให้แอปพลิเคชันมีประโยชน์จริง ๆ สามารถตอบสนองผู้ใช้งาน และรักษาตำแหน่งบน App Store ให้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้นตลอด

ในส่วนของแผนงานในอนาคต เนื่องจาก FIN–App ถูกพัฒนาโดยคน ๆ เดียว ก็คือตัวสุทธิวัฒน เอง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด การดีไซน์ การตอบแชท จนเรียกได้ว่าทำทุกอย่างแบบ all-in-one เนื่องจากตัว FIN–App มีจุดเริ่มต้นมาจากการลงมือทำเพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาให้ตนเองเป็นหลัก

ดังนั้น เป้าหมายในอนาคตจึงไม่ได้วางตำแหน่งของตนว่าจะต้องมีการขายในอนาคต เพราะโดยส่วนตัว อาชีพหลักของตนคือ นักลงทุน จุดประสงค์หลักจึงยังคงเป็นการเดินหน้าลงทุน และใช้เทคโนโลยีกับเครื่องมือมาลงทุนให้ดียิ่งขึ้น 

“ส่วนเมื่อมองในมุมว่า 7 ปี (ที่พัฒนาแอป) มานี้ ผมได้อะไรมาบ้าง ต้องบอกแบบนี้ว่า ผมได้ลองไอเดียอะไรบางอย่าง และได้สร้างมันขึ้นมา แล้วก็ปล่อยไปใน App Store ซึ่งถือเป็นมาร์เก็ตเพลสที่ดีมาก ๆ คือ การปล่อยตรงนั้น แล้วมีผู้ใช้งานมาดาวน์โหลด มีฟีดแบ็ก มันทำให้เราได้รู้ว่า เขาชอบของเรา และเราเองจะรู้สึกว่า เราทำได้ดีนะ และเราจะทำต่อไป อันนี้คือ สิ่งที่เราได้จากผู้ใช้งาน เพราะถ้าปกติเราไม่เอาขึ้น App Store เราก็แทบจะเข้าไม่ถึงกลุ่มคนเหล่านี้”

ขณะที่บทสรุปที่สำคัญที่สุทธิวัฒน์ต้องการจะสื่อ คือ ถ้าไม่มี App Store ก็จะไม่มีพื้นทีที่นักพัฒนาสามารถนำของมาปล่อย ดังนั้น สำหรับนักพัฒนา App Store จึงเป็นพื้นที่ที่ดีและให้โอกาสแก่นักพัฒนาได้มาปล่อย “ของ” และสำหรับนักพัฒนาที่ต้องการจะพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ การเรียนรู้จากคอนเทนต์หรือข้อมูลที่มีอยู่ เช่น Apple Development Conference ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่นักพัฒนาไม่อาจมองข้ามได้ เพราะเป็นโอกาสที่จะทำให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงแอพพลิเคชั่นของตน

สำหรับข้อมูลด้านการลงทุนของ FIN–App จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ก็คือ กองทุนรวมในไทย และตลาดทุนในต่างประเทศ โดยข้อมูลกองทุนรวมของไทยได้รับการพัฒนาจนมีความแม่นยำตรงเป๊ะแล้ว แต่ข้อมูลการลงทุนในตลาดต่างประเทศยังคงต้องมีการปรับปรุงพัฒนาต่อไป แต่ต้องเน้นความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลักก่อน แล้วค่อยขยายไปในส่วนที่ตนเองต้องการต่อไป 

ปัจจุบัน FIN–App มีผู้ใช้งาน ซึ่งเป็น money active users ประมาณ 50,000-60,000 คน โดยจำนวนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดและอารมณ์ของนักลงทุน เช่น ถ้าช่วงนี้ที่ตลาดรอการปรับฐาน นักลงทุนก็จะไม่มีการเปิดแอพใช้งาน แต่ถ้าเกิดเป็นช่วงตลาดบูม หรือภาวะตลาดกระทิง การใช้งานก็จะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ยอดดาวน์โหลดบน iOS อยู่ที่ประมาณ 400,000 คน ขณะที่ ผู้ใช้งานของ FIN–App  ก็มีหลากหลายกลุ่ม ทั้งนักลงทุนรายย่อย คนที่ทำงานเป็นพนักงาน บลจ.ของสถาบันการเงินหรือธนาคาร และกลุ่มที่เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน

“FIN-App สะดวกและใช้งานง่ายสำหรับมือใหม่ ปัจจุบันผ่านมา 7 ปี ตัวแอปมีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งกลุ่มมือใหม่ก็สามารถที่จะรีเสิร์ช หรือหากองทุนที่ตนเองจะสามารถรับความเสี่ยงได้ แล้วดูว่ากองทุนไหนเติบโต สามารถเปรียบเทียบผลตอบแทน ความเสี่ยง คือจะมีข้อมูลตรงนี้เปรียบเทียบให้ไว้สำหรับมือใหม่มือเก่าอย่างเต็มรูปแบบ”

ส่วนในเชิงของฟีเจอร์ มีเสริมต่อยอดมาเรื่อย ๆ โดยล่าสุดก็เพิ่ม Asset allocation และ Asset Planning ซึ่งจะช่วยให้มือใหม่สามารถติดตามมูลค่าพอร์ตการลงทุนของตนเองว่ามีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เท่าไร ทำให้มือใหม่ตระหนักได้ว่า ตนเองมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากเกินไปหรือเปล่า ช่วยให้มือใหม่สามารถจัดพอร์ทการลงทุนให้เหมาะสมกับปัจจัยและเงื่อนไขของตนเอง ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ได้ 

ทั้งนี้ ในก้าวต่อไปของ FIN–App  สุทธิวัฒน์ กล่าวว่า กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการทำงานของแอพพลิเคชั่น แต่ยอมรับว่า ยังคงไม่เอามาใช้ในเวลาอันใกล้นี้ เพราะการคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มของตลาดการเงินโดยอาศัยข้อมูลย้อนหลังยังเป็นเรื่องยังไม่สามารถทำได้อย่างแม่นยำ

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ