TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessการปันส่วน หรือ การลดโดสวัคซีน ทางออกของการแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลน

การปันส่วน หรือ การลดโดสวัคซีน ทางออกของการแก้ปัญหาวัคซีนขาดแคลน

เมื่อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ยังมีไม่เพียงพอ ทางเลือกของหลายประเทศจึงมีเพียงการลดปริมาณโดสของวัคซีนเพื่อให้สามารถกระจายวัคซีนให้ถึงผู้คนได้มากที่สุด กลายเป็นคำถามคาใจที่หลายคนต่างพากันสงสัยว่า วิธีการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพมากพอในการยุติหรือสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังคุกคามโลกอยู่ในเวลานี้ได้มากน้อยแค่ไหน 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า วิธีการปั่นส่วนหรือลดปริมาณโดสของวัคซีนเพื่อควบคุมการระบาดของโรคระบาดในกรณีที่ขาดแคลนวัคซีน ไม่ใช่มาตรการหรือแนวทางใหม่แต่อย่างใด โดยย้อนกลับไปในช่วงปี 2018 ที่บราซิลเกิดการระบาดของโรคไข้เหลืองและวัคซีนก็มีไม่เพียงพอ ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบราซิลตัดสินใจลดโดสของวัคซีนให้เหลือ 1 ใน 5 จากโดสปกติแล้วฉีดให้ทั่วถึงประชาชนทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด

ผลลัพท์ที่ได้ คือ คนส่วนใหญ่ได้รับการปกป้องในเวลาเพียงไม่นาน รวมถึงยังสามารถควบคุมการระบาดไว้ได้ 

เรียกได้ว่า การแบ่งส่วนหรือลดปริมาณโดสของวัคซีนเป็นวิธีการที่ใช้มาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เฉพาะในกรณีที่มีการขาดแคลนวัคซีน ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมองว่ากรณีของการลดโดสวัคซีน จึงน่าจะนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ของโควิด-19 ในปัจจุบัน 

โดยข้อมูลจาก Our World in Data พบว่า ขณะที่วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มีการกระจายไปทั่วโลกแล้วกว่า 3,790 ล้านโดส แต่ก็ยังคงมีประชากรโลกมากถึง 73.1% ที่ยังไม่ได้แม้แต่วัคซีนเข็มแรก โดยเฉพาะในประเทศยากจนที่มีสัดส่วนประชากรเพียง 1.1% เท่านั้นที่เพิ่งจะได้รับวัคซีนเข็มแรก

Alex Tabarrok ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน (George Mason University) กล่าวว่า การมีวัคซีนให้ฉีด แม้ในปริมาณโดสที่น้อยลงก็ยังดีกว่าการที่ไม่มีสักโดสให้ฉีดเลย

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วปริมาณโดสวัคซีนที่ลดลงจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันหรือไม่ คำตอบก็คือ ภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับต่ำแต่ก็เป็นสัดส่วนที่พอจะเทียบเคียงได้ 

อ้างอิงจากผลการศึกษาฉบับล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่วิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัยของโมเดอร์นาในช่วงต้นของการทดลองวัคซีน ที่ให้อาสาสมัครผู้เข้าร่วมการทดลองได้รับปริมาณโดสยาในระดับที่แตกต่างกันออกไป แล้วพบว่า ขนาดยาอย่างน้อยที่สุดประมาณ 100 มิลลิกรัม ที่สามารถเข้าสู่การทดลองระยะที่ 3 ได้ แต่ขณะเดียวกัน ข้อมูลก็แสดงให้เห็นว่า ภายใน 7 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนปริมาณ 2 ใน 4 ของ 25 ไมโครกรัม อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่คล้ายคลึงกับผู้ที่ได้รับวัคซีนเต็มขนาด 

นอกจากนี้ ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังพบว่า T-cells และแอนติบอดีที่เป็นกลางในขนาดยาปริมาณ 3 ใน 4 มีประสิทธิภาพเทียบเท่าปริมาณโดสเต็ม 

ด้าน Alex Sette ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งสถาบันเพื่อภูมิคุ้มกัน La Jolla ผู้ซึ่งศึกษาการใช้วัคซีนโมเดอร์นา 1 ใน 4  ของปริมาณโดสเต็ม พบว่า แม้การลดโดสจะทำให้ภูมิคุ้มกันวัคซีนขึ้นมาได้น้อย แต่ก็เพียงพอที่จะเทียบเคียงและต่อกรกับไวรัสได้ กระทั่งอาจมีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกับโดสเต็ม ทว่าต้องมีการศึกษาที่เพิ่มเติมมากกว่านี้เพื่อที่จะสามารถยืนยันได้ว่าการลดโดสวัคซีนมีผลเทียบเท่ากับการใช้วัคซีนขนาดโดส 100 ไมโครกรัม  

กระนั้น บนสนามที่มีชีวิตเป็นเดิมพันกลับไม่สามารถรอผลการศึกษาวิจัยใด ๆ มายืนยันได้ โดยมีรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา Moncef Slaoui หัวหน้าโครงการพัฒนาวัคซีนของสหรัฐฯ หรือที่รู้จักในชื่อ Operation Warp Speed ตัดสินใจใช้วิธีลดปริมาณโดสยาวัคซีน โดยระบุว่า ปริมาณวัคซีนโมเดอร์นาครึ่งหนึ่งมีประสิทธิผลเทียบเท่าวัคซีนเต็มโดส โดยที่ยังไม่มีข้อมูลมากพอมารองรับ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการลดปริมาณยาจะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ลดลง 

ทว่า การลดลงเล็กน้อยของวัคซีนที่มีประสิทธิภาพถึง 95% ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง และถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่มีอยู่เพื่อให้คนหมู่มากในรับวัคซีน โดย Ben Cowling ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า ประสิทธิภาพที่ลดลงจาก 95% มาอยู่ที่สักประมาณ 80% ยังคงอยู่ในระดับสูงสำหรับการจัดการกับโรคติดต่อรุนแรง และสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้มากขึ้นท่ามกลางวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัด 

ทั้งนี้ ในการทดลองฉบับหนึ่งพบว่า การลดลงปริมาณโดสจนทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพเหลือ 70% จาก 95% ในช่วงเวลา 2 เดือน สามารถลดอัตราการตายได้มากถึง 20-37% ดังนั้น เมื่อมีตัวแปรต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และ 3 ใน 4 ของประชากรโลกยังคงไม่ได้รับการฉีดวัคซีน การเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จึงยังคงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่สุด 

และอย่างน้อยในที่สุดขณะนี้ก็ยังไม่อาจสรุปได้เช่นกันว่า การลดปริมาณโดสวัคซีนเท่ากับเป็นการลดประสิทธิภาพของวัคซีน 

นอกจากโมเดอร์นาแล้ว ยังมีการวิจัยอีกจำนวนหนึ่งที่พยายามศึกษาการลดปริมาณวัคซีนในยี่ห้ออื่น ๆ ที่มีใช้กันอยู่ในขณะนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ แอสตราซิเนกา ที่มีข้อมูลออกมาระบุว่า ปริมาณครึ่งโดสของแอสตราซิเนกามีประสิทธิภาพเทียบเท่าวัคซีนแบบเต็มโดส เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าวยังมีการศึกษาที่ค่อนข้างจำกัด 

ยิ่งไปกว่านั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า การลดปริมาณโดสวัคซีนยังช่วยให้เกิดผลดีในแง่ของการลดอาการผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนลังเลใจที่จะฉีดวัคซีน โดยในบราซิล มีรายงานว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดสอบและได้รับวัคซีนแอสตราซิเนกาเพียงครึ่งโดส มีผลข้างเคียงน้อยกว่าคนที่ได้รับเต็มโดส แต่มีปริมาณภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นในระดับที่ดีใกล้เคียงกัน 

ดังนั้น กล่าวได้ว่า คนหนุ่มสาวที่มีระบบภูมิคุ้มกันดีอยู่แล้ว ทำให้เมื่อฉีดวัคซีนอาจมีแนวโน้มที่จะมีผลข้างเคียงรุนแรงกว่า ย่อมได้ประโยชน์จากการลดโดสยา 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า โมเดอร์นาเองก็กำลังพิจารณาลดปริมาณยาเหลือเพียงครึ่งหนึ่งสำหรับการฉีดในเด็ก และการลดปริมาณยาอาจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มคนที่รับปริมาณวัคซีนแบบครบโดสเต็มจำนวนไปแล้วก่อนหน้านี้ 

แน่นอนว่า การทดลอบทดสอบการลดปริมาณโดสวัคซีน ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ และจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมให้มากกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดโดสลง กระนั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็ออกมาแสดงความเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้มีผลการศึกษายืนยัน จึงจะนำวิธีการลดโดสวัคซีนมาใช้ แต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยก็มีการศึกษาจำนวนหนึ่งที่เพียงพอจะให้พิจารณาความเป็นไปได้ของการลดปริมาณวัคซีน 

ขณะเดียวกัน นอกจากการลดปริมาณวัคซีนแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทางทีมนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามศึกษาอยู่ก็คือ ระยะห่างของเงื่อนเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนเข็มแรก และเข็มสอง ซึ่งปัจจุบัน มีตั้งแต่ 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ต้องรีบเร่งเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนให้มากที่สุดก่อน ในมุมมองของ Cowling สิ่งสำคัญที่สุดและจำเป็นที่สุดในปัจจุบันก็คือ การตัดแนวคิดในอุดมคติเกี่ยวกับวัคซีนว่าจะต้องให้มีประสิทธิภาพสูงสุดออกไปก่อน แล้วมุ่งไปที่ทางเลือกในการกำหนดปริมาณวัคซีนในระดับขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการช่วยชีวิตผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เพราะการลดปริมาณโดสเท่ากับการทำให้โลกมีซัพพลายวัคซีนที่มากขึ้น และถ้าโดสที่ลดลงมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการตาย ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการช่วยยุติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ 

ที่มา : Al Jazeera 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ