TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyอีลอน มัสก์ ท้าชน OpenAI เตรียมเปิดบริษัทพัฒนา AI

อีลอน มัสก์ ท้าชน OpenAI เตรียมเปิดบริษัทพัฒนา AI

ยังคงสร้างความฮือฮาได้ในแทบทุกครั้งเสมอที่ขยับตัว สำหรับ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจเจ้าของอาณาจักรรถยนต์ไฟฟ้า เทสลา ที่ล่าสุดออกมาประกาศเมื่อวันพุธที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า กำลังเตรียมเปิดบริษัทใหม่ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่มัสก์ กล่าวเชิงทีเล่นทีจริงมาหลายเดือนก่อนหน้านี้ว่าตนเองกำลังวางแผนสร้างคู่แข่งที่จะมาต่อกรกับ ChatGPT

รายงานระบุว่า บริษัท AI ของ มัสก์ จะใช้ชื่อว่า xAI ซึ่งล่าสุด ทางบริษัทได้เปิดตัวเว็บไซต์และรายชื่อสมาชิกทีมงานส่วนหนึ่งจำนวนหลายสิบคนแล้ว โดย มัสก์ จะรั่งตำแหน่งผู้บริหาร และทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมทวิตเตอร์ เทสลา และบริษัทอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายภารกิจที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของ xAI ระบุว่า เป้าหมายของบริษัทมีขึ้นเพื่อเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของจักรวาล ซึ่งสะท้อนถึงคำกล่าวที่มัสก์มักจะพูดเสมอในการอธิบายความทะเยอทะยานด้าน AI ของเจ้าตัว

แต่เดิม มัสก์ ถือเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคนสำคัญของ OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT แต่ต่อมา มัสก์ กลับวิพากษ์วิจารณ์บริษัทที่ป้อนมาตรการป้องกันที่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้แชทบอทปัญญาประดิษฐ์แสดงคำตอบที่มีอคติหรือเหยียดเพศเนื่องจากเห็นว่า การฝึก AI ในลักษณะดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการฝึกให้ AI โกหก ซึ่งถือเป็นอันตรายร้ายแรง

ทั้งนี้ มัสก์เอ่ยถึงแผนการลงทุนพัฒนาเกี่ยวกับโครงการด้าน AI ครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายนระหว่างให้สัมภาษณ์กับ Tucker Carlson ผู้จัดรายการ Fox News โดยในเวลานั้น มัสก์กล่าวว่า ตนเองกำลังจะเริ่มทำในบางสิ่งบางอย่างที่เจ้าตัวให้นิยามว่าเป็น TruthGPT พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า TruthGPT จะเป็น “AI ที่แสวงหาความจริงขั้นสูงสุด” ที่ “ใส่ใจในการทำความเข้าใจจักรวาล”

ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายมองว่าการประกาศจัดตั้งบริษัทด้าน AI ครั้งนี้ของมัสก์ เป็นการกลืนน้ำลายตัวเอง เพราะเจ้าตัวเคยแสดงความเห็นหลายเดือนก่อนหน้านี้ว่า AI อาจทำให้เกิด “การทำลายล้างอารยธรรม” พร้อมเข้าร่วมกับผู้นำเทคโนโลยีรายอื่น ๆ ในการเรียกร้องให้ระงับการแข่งขัน AI ซึ่ง “อยู่นอกเหนือความสามารถในการควบคุม” ของมนุษย์เป็นการชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม จากรายเอียดเล็กน้อยที่ปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ ชี้ว่า บริษัทกำลังรับสมัครพนักงานอยู่ ซึ่งเบื้องต้นรายชื่อทีมงาน xAI ที่มีการเปิดเผยออกมา มี อิกอร์ บาบูชกิน อดีตวิศวกรจาก DeepMind, โทนี วู ซึ่งเคยทางานให้กับ Google, คริสเตียน เซจีดี นักวิจัย Google และเกร็ก หยาง อดีตพนักงาน Microsoft

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของบริษัท ระบุว่า xAI จะจัดงานเปิดตัวผ่าน ทวิตเตอร์ สเปซ (Twitter Spaces) ในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า การประกาศจัดตั้งบริษัทใหม่ของมัสก์ เกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่มัสก์กำลังสั่นคลอนจาก ทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียชั้นนำที่มัสก์ซื้อมาด้วยมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมปี 2022 เพราะทวิตเตอร์ต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน หลังจากที่ Meta เปิดตัวแอปคู่แข่งชื่อ Threads ซึ่งมีการลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 100 ล้านครั้งภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ท่ามกลางรายงานหลายฉบับที่ระบุการใช้งานทวิตเตอร์ที่ลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน

โดยนักวิเคราะห์มองว่า Threads ได้อานิสงค์จากความปั่นป่วนในทวิตเตอร์ ที่มัสก์ ทำให้ผู้ใช้และผู้ลงโฆษณาบางรายรู้สึกแปลกแยก พร้อมผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

ปัจจุบัน นอกจาก ทวิตเตอร์แล้ว  Musk ยังบริหารบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น เทสลา (Tesla), สเปซเอ็กซ์ (SpaceX), นิวเรลลิงค์ (Neuralink) และ เดอะ บอริง คอมพานี (The Boring Company)

วันเดียวกัน มีรายงานว่า บิล เกตส์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่านบล็อกโพสต์ของตัวเองเมื่อวันอังคารที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดย เกตส์ กล่าวถึงผลกระทบทางลบบางอย่างที่มีเกิดจากศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และความเสี่ยงที่จะทำให้คนจำนวนมหาศาลทั่วโลกต้องอยู่ในภาวะตกงาน

อย่างไรก็ตาม แม้เกตส์ จะเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งที่ออกมาเตือนถึงปัญหาจากการใช้งาน AI แต่เกตส์ ก็ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพและประสิทธิภาพของ AI มากกว่าบรรดาผู้บริหารรายอื่น ๆ ในซิลิคอน วัลเลย์ โดย เกตส์ชี้ว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นความเสี่ยงที่สามารถวางแผนจัดการได้ล่วงหน้า

ทั้งนี้ เกตส์ ได้อธิบายด้วยการเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาที่ต้องเผชิญกับนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งในทุกครั้ง การมาถึงของนวัตกรรมทำให้เกิดความกลัว ความกังวล ความรู้สึกคุกคาม หรือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คุ้นเคย แต่ในแต่ละครั้ง มนุษย์ก็สามารถใช้การบริหารจัดการจนทำให้ผ่านพ้นมาได้อย่างลุล่วง

ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ เกตส์ ชี้ว่า รถยนต์ในช่วงแรกทำให้หลายคนกังวลเรื่องความปลอดภัย มนุษย์จึงเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยในรถยนต์เสริมเข้าไป และกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่คนต้องคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ รวมถึงมีการจำกัดความเร็ว กำหนดให้มีการสอบใบขับขี่ และออกกฎระเบียบจราจรเพื่อความปลอดภัยอื่น ๆ

เกตส์ ย้ำว่า ในช่วงเริ่มต้น ความใหม่ของนวัตกรรมอาจสามารถสร้างความปั่นป่วนได้มากมาย แต่ในท้ายที่สุด มนุษย์ ในฐานะผู้ใช้งานจะสามารถเรียนรู้และปรับตัว เพื่อนำนวัตกรรม เหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และเกิดโทษให้น้อยที่สุด

อ้างอิง CNN

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ETDA ร่วมกับ สวทช. เผยผลศึกษาความพร้อมในการประยุกต์ใช้ AI

Amity Solutions ผนึก ไมโครซอฟท์ เปิดตัว Amity Solutions AI Platform ผลักดันการใช้ AI ในองค์กรไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ