TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness3 กูรูชี้ 'สมาร์ทโฮมโซลูชัน' อนาคตการเติบโตตลาดอสังหาฯไทย

3 กูรูชี้ ‘สมาร์ทโฮมโซลูชัน’ อนาคตการเติบโตตลาดอสังหาฯไทย

3 ผู้เชี่ยวชาญวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย ขึ้นเวทีเสวนาร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทิศทางแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ภายใต้หัวข้อ  “Your Way, Mind Way – Beyond Gadgets, Makes Life Better with Smart Home” ในงาน Techsauce Global Summit 2023 เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

การเสวนาครั้งนี้ กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่มีต่อการสร้างและออกแบบบ้าน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะระบบ home automation และ smart home (สมาร์ทโฮม) ที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการตัดสินในซื้อบ้านของลูกค้าทุกเจนเนอเรชั่นในเวลานี้

ความเปลี่ยนแปลงของตลาดอสังหาฯ หลังโควิด

ดิเรก ตยาคี Head of Technology Solutions, SC Asset ระบุว่า ความต้องการของผู้อยู่อาศัยหลังโควิดเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเจน เทคโนโลยี และ IoT เช่น สมาร์ทโฮม หรือ ระบบรักษาความปลอดภัย กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าเริ่มใช้เป็นตัวตัดสินใจในการซื้อบ้าน เนื่องจากช่วงโควิดที่ต้องติดอยู่กับบ้าน ทำให้ผู้บริโภคได้เห็น และได้ใช้งานระบบสมาร์ทเหล่านี้มากขึ้น

ดังนั้น เรียกได้ว่าจากเมื่อก่อนการตัดสินใจซื้อบ้าน จะดูที่ทำเล คุณภาพและบริการหลังการขาย ปัจจุบันก็จะดูเรื่องของสมาร์ทโฮม และ IoT

ด้าน กฤช พรหมสุทธิ Managing Director, Aestima​ Asset บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บ้านแนวราบและบ้านเดี่ยว กล่าวว่า

ทุกวันนี้ ลูกค้าที่เข้ามาไม่ได้มองว่าบ้านเป็นแค่ที่นอนหรือที่อยู่อาศัยแต่เพียงอย่างเดียว หลายคนมองว่าบ้านเป็นที่ทำงาน ที่เรียนรู้ หรือที่ไว้ทำมาหากิน เช่น ไลฟ์ขายของ โดยบางรายถึงขนาดต้องการพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในบ้านเพื่อทำเป็นสตูดิโอ เพราะฉะนั้น บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีพื้นที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้

อีกเรื่องหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ก็คือ ลูกค้าส่วนใหญ่มักถามว่า พื้นที่ตรงนี้สามารถทำอะไรให้กับเจ้าของบ้านได้บ้าง จากเมื่อก่อนที่ถามเพียงว่า ผู้พัฒนาจะทำอะไรกับพื้นที่ตรงนี้ เรียกได้ว่า การให้คุณค่าของลูกค้าที่มีต่อตัวบ้านเปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง ห้องนั่งเล่นมีการควบคุมคุณภาพอากาศที่ดีที่เจ้าบ้านรู้สึกว่าจะทำให้สุขภาพตนเองและครอบครัวดีอยู่ตลอดเวลา หรือ บ้านสามารถช่วยประหยัดไฟได้ถึง 2,000-3,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น

ขณะที่ ชัยจักร วทัญญู Senior Director Department of Creative & Product Development, Supalai ระบุว่า ลูกค้าปัจจุบันสนใจเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้ในที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านและคอนโด โดยทุกวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างได้พิสูจน์แล้วว่า อุปกรณ์ IoT ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  สำหรับที่อยู่อาศัยในบ้านเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเรื่องของอนาคตที่เห็นได้ชัดเจนแน่นอน

บทบาทของสมาร์ทโฮมเพื่อการใช้ชีวิตอย่างสมาร์ท

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสามยอมรับว่า สมาร์ทโฮมก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อวิถีชีวิตของผู้บริโภคในสังคมไทย โดย ชัยจักร ชี้ให้เห็นว่า สมาร์ทโฮม เริ่มกลายเป็นสิ่งจำเป็นท่ามกลางสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคสูงวัย (Aging Society) โดยเฉพาะ คนยุคเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งมักจะอยู่ในบ้านแนวราบกับครอบครัว

ทั้งนี้ กลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มผู้สูงวัยที่สุขภาพยังแข็งแรงดี แต่ก็ต้องการการสอดส่องระมัดระวัง กับกลุ่มผู้สูงวัยที่สุขภาพไม่แข็งแรง ทำให้ต้องอยู่ที่โรงพยาบาลหรืออยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทั้งสองเงื่อนไข ทำให้อุปกรณ์อัตโนมัติ หรือ smart device ต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการดูแล 

“การออกแบบบ้านจะมีทั้งเรื่องฟังก์ชันและความสวยงามควบคู่กันไปเสมอ ตัว smart device และ home automation จะเป็นส่วนที่สามที่สำคัญที่เข้ามาช่วยให้การอยู่อาศัยของผู้สูงวัยในบ้านหลังนั้นมีความสะดวกสบาย มีความปลอดภัย ง่ายต่อการเชื่อมต่อกับลูกหลานได้มากขึ้น ส่วนในกลุ่มของผู้มีสุขภาพไม่แข็งแรงที่ต้องใกล้ชิดกับคุณหมอหรือพยาบาลมากหน่อย ก็อาจจะให้ home automation หรือ อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารโดยตรงกับทางทีมแพทย์หรือโรงพยาบาลได้เลยเวลาเกิดเหตุไม่พึงประสงค์หรือเหตุไม่คาดติด ดังนั้น smart device คือการตอบโจทย์ให้การอยู่อาศัยของผู้สูงวัยมีชีวิตที่ดีขึ้น”

เรียกได้ว่า นอกจากดีไซน์การออกแบบแล้ว เทคโนโลยีทั้งหลายก็จะเข้ามาช่วยให้ผู้สูงวัยอยู่ได้สะดวกสบายมากขึ้น

ด้าน กฤช อธิบายว่า ในกลุ่มลูกค้า Gen Y ซึ่งเกิดระหว่างปี 2523 – 2540 ถือเป็นวันที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว หลายคนเพิ่งจะมีลูกหรือกำลังจะมีลูก และเกิดมาในสังคมที่คาบเกี่ยวระหว่างยุคอะนาล็อก กับ ยุคดิจิทัล ดังนั้น จึงเป็นกลุ่มที่พร้อมจะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน Gen Y ยังถือเป็นกลุ่มที่มีความเป็นผู้ประกอบการสูง หลายคนอยากทำธุรกิจของตนเอง หรือในรายที่มีงานประจำก็มักจะทำธุรกิจส่วนตัวควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ กลุ่ม Gen Y ยังเป็นกลุ่มที่มีความตื่นตัวในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม (Climate Change) ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้ รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่อง Work Life Balance ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต และความสุขในการใช้ชีวิตไปพร้อม ๆ กับการทำงานหนัก

“เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ออกแบบสมาร์ทโฮมสำหรับคนกลุ่ม Gen Y ผมก็จะออกแบบโดยมี 4 เกณฑ์ด้วยกัน เรื่องแรกคือเรื่องของความปลอดภัย เพราะเพิ่งมีครอบครัว มีลูกเล็ก ๆ ดังนั้น ก็จะให้คุณค่ากับความปลอดภัย ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถกดมือถือ เปิดกล้องดูลูกได้เลย หรือจะรู้ได้ทันทีว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่บ้าน เนื่องจาก มีสัญญาณเซ็นเซอร์ส่งเข้ามือถือ หรือการที่สามารถกดเปิด-ปิด ดิจิทัลล็อก เพื่อให้คนรับใช้หรือพี่เลี้ยงเข้ามา

เรื่องที่สองคือเรื่องสุขภาพ  สำหรับโครงการของผม ลูกค้าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ด้วยความที่ Gen Y เป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต ดังนั้น สุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผมคิดว่าสุขภาพที่ดีเริ่มที่อากาศภายในบ้าน เพราะว่าคนเราใช้เวลาอยู่ที่บ้านเยอะมาก ผมรู้สึกว่าคนเจน Y จะให้คุณค่ากับการที่ตนเองและครอบครัวได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ตนเองแข็งแรง

ส่วนเรื่องสามสำหรับ Gen Y ก็คือความสะดวกสบาย โดย Gen Y เป็นวัยที่ความอดทนน้อยเมื่อเทียบกับเจนก่อน ๆ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างจะต้องกดได้เพียงแค่ปลายนิ้ว การสั่งการทุกอย่างอยู่ภายในแอพฯเดียว รวมถึงสามารถสั่งการใช้งานได้ไม่ว่าตนเองจะอยู่แห่งหนใดบนโลก ดังนั้น ทุกอย่างต้องง่าย และต้องเร็ว

ส่วนเรื่องสุดท้าย ก็คือเรื่องของการประหยัดพลังงาน ด้วยความที่ Gen Y อยู่บ้านมากขึ้น จึงให้คุณค่ากับการที่บ้านช่วยประหยัดไฟต่อเดือนได้มากขึ้น บวกกับความรู้สึกที่่ว่าตนเองได้ร่วมทำอะไรในการช่วยเหลือบรรเทาแก้ไขภาวะโลกร้อน (Climate Change) ได้ด้วย เช่นการใช้พลังงานสะอาด

“เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ผมสรุปก็คือ ในการออกแบบสมาร์ทโฮมโซลูชั่นสำหรับคน Gen Y จะมีอยู่ 4 หัวข้อด้วยกันคือ หนึ่งคือความปลอดภัย สองคือสุขภาพ สามคือความสะดวกสบาย และสี่คือประหยัดพลังงาน”

ส่วน ดิเรก ได้แชร์มุมมองในกลุ่มของคน Gen Z ที่มีต่อสมาร์ทโฮม โดยระบุว่า คน Gen Z มีทัศนคติต่อบ้านที่ต่างจากคนรุ่นก่อนที่มักกำหนดว่าต้องชื้อบ้านในช่วงวัย 30 ปี เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว แต่คน Gen Z กลับเห็นต่างออกไป ดังนั้น หน้าที่สำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็คือการทำที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของคน Gen Z

“เป็นลักษณะแบบให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer centrics) คือลูกค้าอยากได้อย่างไรก็ทำไปตามนั้น จริง ๆ แล้วสิ่งที่เอสซี แอสเซท ให้ความสำคัญอย่างมากสำหรับการทำบ้านให้กับกลุ่ม Gen Z เลยก็คือ บ้านต้องสะท้อนหรือบ่งบอกตัวตนของ Gen Z ได้อย่างชัดเจน ว่าเขา/เธอ เป็นคนอย่างไร เขาต้องรู้สึกว่าบ้านเป็นตัวแทนของเขา แต่ไม่ใช่ตัวแทนที่บอกสถานะทางสังคมหรือบอกว่าเขาร่ำรวยแค่ไหน แต่ควรเป็นสิ่งที่ต้องบอกว่าเขาเป็นคนอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร”

ดิเรกได้ยกตัวอย่างโครงการคอนโดมิเนียม HOPE ที่ทำร่วมกับ Mind ของ SCG Digital ซึ่งไม่ได้เป็นคอนโดที่ดูหรูหรามาก แต่ดูรักษ์โลก เป็นมิตร และทันสมัย ซึ่งเป็นสิ่งทีทางเอสซี แอสเซทให้ความสนใจอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ดิเรกย้ำว่า เอสซี แอสเซท สร้างบ้านเพื่อไว้ตอบโจทย์กับคนทุกกลุ่ม เจนใดเจนหนึ่งไม่ได้มาซื้อบ้านเพียงลำพัง แต่มักจะเป็นคน 3 เจนตัดสินใจด้วยกัน มาอยู่ร่วมกัน คือ Gen Z เป็นลูก Gen Y เป็นพ่อแม่ และ เบบี้บูมเมอร์ เป็นปู่ย่า ซึ่งทั้งหมด ต้องทำให้ทุกเจนอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว

จับมือกับเอสซีจีเพื่อสร้างแบรนด์สมาร์ทโฮม

กฤช มองว่า การนำแพลตฟอร์ม Mind ของเอสซีจี มาใช้ให้สมาร์ทโฮมเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งในตลาด โดยเฉพาะสำหรับบริษัทที่ต้องการสร้างแบรนด์ให้มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม ในการที่นำเอาระบบสมาร์ทโฮมทั้งหลัง หรือ fully integrated smart home เข้ามาใช้ ก็จะช่วยให้ brand positioning แข็งแรงขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเอสติมา แอสเซท ของเราตอนนี้ก็พยายามทำแบรนด์ดิง ในการที่จะเป็นบริษัทดีเวลลอปเปอร์หน้าใหม่ที่ทำเพื่อคนรุ่นใหม่ เราพยายามตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างในเรื่องของนวัตกรรม เทคโนโลยี และการออกแบบต่าง ๆ อย่างโครงการอาคิน บ้านแฝดในย่านดอนเมือง ย่านนั้นบ้านแฝดขายอยู่ 7-8 ล้านบาท แต่โครงการของผมขายอยู่ที่ 15 ล้านบาท แล้วก็มียอดขายที่ไปได้ดี ซึ่งส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญก็คือการชูนวัตกรรมและความเป็นสมาร์ทโฮมทั้งหลัง บวกกับดีไซน์ที่แตกต่าง การคัดวัสดุคุณภาพ และการทำแบรนด์ดิ้งที่ชัดเจน ซึ่งยอดขายก็ไปได้ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ให้คุณค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับจากนวัตกรรมเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมมากกว่าในเรื่องของแค่ราคา”

นอกจากเรื่องของการช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว ลูกค้าอีกส่วนหนึ่งก็ให้ความสำคัญในมุมของคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ เช่น การที่รู้สึกว่าสามารถอยู่ในบ้านกับลูกได้อย่างปลอดภัยก็ถือเป็น peace of mind ที่หาซื้อที่ไหนไม่ได้ และตีมูลค่าได้ยาก หรือ เรื่องของระบบ air quality control ที่ลูกค้ารู้สึกมีความสุขเพราะเห็นลูก ๆ โตขึ้นมาและมีสุขภาพที่แข็งแรง

“ถือเป็นสิ่งที่เราตีมูลค่าได้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่เราได้ประโยชน์จากระบบสมาร์ทโฮม”

ด้าน ดิเรก ระบุว่า เห็นด้วยและมีมุมมองที่ใกล้เคียงกับกฤช โดยตลอด 20 ปีของเอสซี แอสเซทที่มีเอสซีจีเป็นพาร์ตเนอร์สำคัญ รวมถึงได้ทำงานร่วมกัน ได้ช่วยส่งเสริมกันและกัน ด้วยความที่เอสซีจี เป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง และมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นการเลือกใช้แบรนด์เอสซีจี ก็ช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อเอสซี แอสเซท ตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้างหรือของใหม่ ๆ อย่างระบบแพลตฟอร์ม Mind  หรือ Home Automation ที่ถ้าบอกว่ามาจากเอสซีจี ลูกค้าย่อมให้ความเชื่อถือแน่นอน

ดิเรกยกตัวอย่างโครงการควบคุมคุณภาพอากาศซึ่งทำร่วมกับเอสซีจี โดยปัจจุบันสามารถติดตั้งแล้วกว่า 800 ยูนิต และยังไม่มีปัญหาใด ๆ แถมการรับประกันและความพึงพอใจจากลูกค้ายังเป็นที่น่าประทับใจ

นอกจากนี้ ระบบเชื่อมต่อที่ integrated สามารถหลอมรวมใช้งานได้กับอุปกรณ์ หรือ แอปพลิเคชั่นทุกแบรนด์ ช่วยลดภาระของลูกค้าในการดาวน์โหลดติดตั้งแอพฯหลายอย่างเข้ามาไว้ในมือถือเพื่อการใช้งาน  แต่เอสซีจีกลับเปิดให้พาร์ทเนอร์เชื่อมต่อเครือข่าย ไม่จำเป็นต้องให้ลูกค้าโหลดหลายแอพ สามารถใช้งานแอพที่มีอยู่ในการเชื่อมต่อไปได้เลย ลูกค้าก็สามารถควบคุมทุกอย่างในบ้านผ่านเพียงแอพฯเดียว ถือเป็นจุดแข็งที่ทางเอสซีจีมอบให้กับพาร์ทเนอร์นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ส่วนจักรชัยมองว่า ในฐานะบริษัทที่ตั้งมานานกว่า 30 ปี และทำโครงการหลากลายมากกว่า 1,000 โครงการในแทบทุกระดับราคา สิ่งที่ศุภลัยได้รับจากการเป็นพาร์ทเนอร์เอสซีจีนก็คือการมีวัสดุที่สามารถตอบโจทย์ต้นทุนการก่อสร้างในทุกระดับ 

“บ้านแพงหน่อยเราก็ใช้วัสดุให้สมราคา ส่วนบ้านที่ถูกหน่อยก็ไม่ได้ละเลย หยิบนวัตกรรมและโทคโนโลยีเข้ามาใส่ โดยเป็นไปเพื่อป้องกันรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะฉะนั้นพวกเซ็นเซอร์และการแจ้งเตือนก็มีติดตั้งให้”

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ home automation ของเอสซีจียังมีตั้งแต่ต้นน้ำ การคิดค้นผลิตภัณฑ์ – บริการใหม่  กลางน้ำ อย่างสินค้าที่ตกผลึกเรียบร้อย และปลายน้ำ การติดตั้งและการบริการหลังการขาย  กลายเป็นความเชื่อถือเชื่อมั่นในการใช้สินค้าของเอสซีจีต่อไป แถมยังทำให้บริษัทนักพัฒนาอสังริมทรัพย์ที่ใช้แบรนด์เอสซีจี ได้รับความเชื่อถือตามไปด้วย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Conversational AI ขับเคลื่อนตลาด Contact Center ทั่วโลกโต 16%

‘เศรษฐกิจสีเงิน’ แนวโน้มและโอกาสในเศรษฐกิจผู้สูงวัย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ