TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistคำสั่ง "เปิดร้านอาหารในห้างฯ" ความจริงที่บิดเบี้ยว

คำสั่ง “เปิดร้านอาหารในห้างฯ” ความจริงที่บิดเบี้ยว

ธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยูโรมอนิเตอร์ ประเมินว่า ปี พ.ศ. 2563 มูลค่าตลาดรวมของฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทยอยู่ที่ 68,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 เพิ่มเป็น 74,000 ล้านบาท และมูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 10% ทำให้ภายในปี พ.ศ. 2567 มูลค่าตลาดจะมากกว่า 99,000 ล้าน ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ ในปี พ.ศ. 2563 มีบริการส่งอาหารถึง 66-68 ล้านครั้งต่อปี และเพิ่มขึ้นปีละกว่า 70%

สิ่งที่ตอกย้ำการเติบโตของฟู้ดดิลิเวอรี่ ได้เป็นอย่างดี คือ ตัวเลขจากกรมขนส่งทางบก เรื่องยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2564 (มกราคม ถึง มิถุนายน)  มียอดทั้งสิ้น 874,041 คัน แบ่งเป็นฮอนด้า จำนวน 683,804 คัน ยามาฮ่า 132,492 คัน จีพีเอ็กซ์ 16,914 คัน เวสป้า 16,211 คัน คาวาซากิ 4,661 คัน ส่วนที่เหลือ 15,338 เป็นรถยี่ห้ออื่น ๆ

ในขณะที่ธุรกิจร้านอาหารจะมีมูลค่าตลาดรวมน้อยลง บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ในปี พ.ศ. 2564 นี้ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบ ทำให้มูลค่าของธุรกิจร้านอาหารเหลือเพียง 350,000 ล้านบาท (-13.5%) จากมาตรการควบคุมและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล เพื่อควบคุม การระบาดของโควิด-19 ให้งดนั่งรับประทาน ในร้านเป็นเวลา 30 วัน ทำให้มูลค่ารวมของธุรกิจร้านอาหารในกรณีพื้นฐานในปีนี้สูญหายไป 55,000 ล้านบาท แต่ถ้ากรณีเลวร้าย ห้ามนั่งรับประทานในร้านนานเกินกว่า 30 วัน มูลค่าของธุรกิจร้านอาหารจะหายไป 70,000 ล้านบาท หรือมูลค่าตลาดรวมเหลือเพียง 335,000 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิหาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปฏิบัติอย่างเนื่องอีกระยะเวลาหนึ่ง พร้อมยกระดับมาตรการ เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันมิให้การแพร่ระบาดเพิ่มความรุนแรงขึ้น มีการปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด 

โดยเฉพาะความในข้อ 6 การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนสําหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอํานวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการดําเนินชีวิต จึงกําหนดให้สถานที่และกิจกรรมดังต่อไปนี้ เปิดดําเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข ที่กําหนด

1. ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ให้ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ใน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เปิดดําเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยให้ดําเนินการได้เฉพาะการจําหน่ายในรูปแบบ การสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านการบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้นโดยไม่มี การจําหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงเพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จําหน่ายกับผู้บริโภคจํานวนหลายคน และต้องดําเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกําหนด  

ให้ผู้จัดการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือ สถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน จัดให้มีระบบการคัดกรองและตรวจสอบการลงทะเบียน ผู้ขนส่งอาหารก่อนเข้าภายในอาคารหรือพื้นที่ การจัดระบบคิวและกําหนดพื้นที่เป็นการเฉพาะสําหรับรอคิว มีบริเวณพักคอยซึ่งมีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งหรือยืนที่เหมาะสม และต้องกํากับดูแลให้มีการดําเนิน มาตรการดังกล่าว รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ตามที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด

ทันทีที่ราชกิจจาเผยแพร่ออกมา กระแสวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงทั้งในส่วนร้านค้า และผู้บริโภค เนื่องจากเป็นประกาศที่สร้างปัญหา เนื่องจากร้านอาหารในห้างสรรพสินมีหลากหลาย  ทั้งร้านขนาดใหญ่ ร้านที่เป็นสาขา ร้านแฟรนไชส์ ไปจนถึงร้านเล็ก ๆ เป็น คีย์ออส หรือเป็นบูธขายอาหาร 

ร้านขนาดใหญ่ และร้านที่มีแฟรนไชส์ ก่อนหน้านี้มีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) งดออกนอกเคหสถานเวลา 21.00-04.00 น.ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดต่ออีก 14 วัน เริ่ม 20 กรกฎาคม – 2 สิงหาคมนี้ ที่มีประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านพวกนี้ได้มีการทำสัญญาเช่าครัวกลาง หรือเช่าอาคารเพื่อให้ร้านสามารถประกอบการได้ ไม่ขาดทุน ดังนั้น การให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดขายอาหารได้ แบบบริการขนส่งอาหาร ทำให้ร้านมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เสียเวลาขนย้ายอุปกรณ์ อีกทั้งยังติดสัญญาที่ทำไว้กับการเช่าอาคาร รวมทั้งมีปัญหาอื่น ๆ  ตามมา

สำหรับร้านอาหารขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ร้านพวกนี้ไม่ได้สมัครเป็นร้านอาหารบนแอปพลิเคชันใด ๆ เลย เพราะเจ้าของแอปส่วนใหญ่ผลักภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากให้ร้าน จนไม่คุ้มค่ากับรายได้ที่ได้ ดังนั้นคำสั่งที่ให้สามารถเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าได้ แต่ต้องใช้บริการขนส่งอาหาร ห้ามซื้อกลับบ้าน ทำให้ร้านอาหารดังกล่าวไม่สามารถเปิดขายอาหารได้

ในส่วนของการใช้บริการแอปพลิเคชันขนส่ง โดยปกติการเรียกใช้งานไรเดอร์ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำนวนไรเดอร์ที่มีอยู่ 4-5 แบรนด์ใหญ่ ไม่ได้มากเพียงพอแก่ความต้องการใช้งาน โดยเฉพาะระยะเวลา 11.00 – 13.00 น. หรือช่วงเย็นเวลา 18.00 – 20.00 น. หากเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า แต่ต้องใช้บริการแบบ บริการขนส่งอาหาร อาจจะสร้างปัญหาไม่สามารถใช้บริการได้ 

เนื้อหาในราชกิจจาฯ ที่ระบุการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านการบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้นโดยไม่มีการจําหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงเพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จําหน่ายกับผู้บริโภคจํานวนหลายคน เป็นความเขลา ไม่เข้าใจและเป็นมุมมองที่แคบเพียงด้านเดียว เนื่องจากการซื้อไม่ได้ลดทราฟฟิกของร้านค้าลง ผู้บริโภคซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วเดินมาซื้อของจากร้านอาหาร จะลดความเสี่ยงจากไรเดอร์ การให้ซื้อผ่านบริการขนส่งอาหารอาจจะเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ 

ดังนั้น ก่อนประกาศอะไรที่มีผลกระทบกับคนในวงกว้าง จึงควรศึกษารายละเอียดให้มาก เข้าใจในงานที่ทำให้ถ่องแท้ด้วย จะได้ไม่เกิดปัญหาแบบงูกินหาง 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ