TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessRobinhood ปะทะ Eatable เขย่าตลาด Food Delivery

Robinhood ปะทะ Eatable เขย่าตลาด Food Delivery

โลกได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเต็มตัวมาตั้งนานแล้ว ที่ผ่านมาดูเหมือนประเทศไทยจะเสียดุลการค้าบนเศรษฐกิจแบบนี้มาโดยตลอด เพราะยังไม่มีแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้จำนวนมากพอเป็นของตัวเอง จึงถูกแพลตฟอร์มจากต่างชาติเข้ามายึดหัวหาดกวาดฐานผู้ใช้งานไปเกือบหมดประเทศ

แต่ทว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา สงครามแพลตฟอร์มเริ่มก่อตัวขึ้น จากการประกาศของธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้บริษัท SCB 10X ที่ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ชื่อว่า Purple Ventures เพื่อมาสร้างแพลตฟอร์มให้กับร้านอาหารในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Robinhood และจากนั้นไม่เกินสองสัปดาห์ ธนาคารกสิกรไทย โดย KBTG ก็ออกมาประกาศแพลตฟอร์ม Eatable เพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจร้านอาหารให้เข้าสู่ Restaurant 4.0

ที่สำคัญทั้งสองธนาคารยักษ์ใหญ่ทุ่มเงินจำนวนไม่น้อยในการพัฒนาบริการให้ใช้ฟรี โดยมีความมุ่งมั่นตั้งใจเหมือนกัน คือ ต้องการช่วยผู้ประกอบการซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารให้มีเครื่องมือหรือตัวช่วยให้สามารถทำมาหากินดำเนินธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำลงแต่ได้ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ถามว่าทั้งสองธนาคารใจตรงกันหรือไม่ …..

คำตอบก็น่าจะเป็นเช่นนั้น ทั้งสองธนาคารน่าจะอ่านเกมออกและมองเห็นช่องว่างทางธุรกิจและโอกาสทางการตลาดในแพลตฟอร์มการส่งอาหาร หรือ Food Delivery ในประเทศไทยที่ถูกครอบงำโดยผู้ให้บริการจากต่างชาติ ที่มีกำลังเงินมหาศาลในการทุ่มและทุบตลาด จนสามารถมีจำนวนร้านค้าและผู้ใช้งานรวมถึงคนขับได้เป็นจำนวนมาก จนเกือบจะเรียกว่าเกือบจะผูกขาดกันเลยทีเดียว

ช่องว่างที่ว่า คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีร้านอาหารเยอะมาก ตั้งแต่ร้านหรูในห้าง ร้านกลาง ๆ และร้านข้างถนน ยังไม่รวมร้านเกิดใหม่ที่ไม่มีหน้าร้าน แต่ใช้บ้านและครัวเป็นแหล่งผลิตและจัดส่งอาหาร ร้านเล็กร้านน้อยมากมายมหาศาลนี้ มีมากพอที่จะให้ผู้เล่นรายใหม่อย่าง Robonhood ของ SCB กับ Eatable ของ KBANK เข้ามาเก็บเกี่ยวและต่อยอดได้

ประกอบกับจุดแข็งที่ทั้งสองธนาคารมี คือ ฐานลูกค้าธนาคารขนาดกลางและเล็กในธุรกิจร้านอาหารจำนวนมาก รวมถึงทั้งสองธนาคารยังมีผู้ใช้บริการแอปฯ ของธนาคาร (mobile banking app) จำนวนมาก คือ มากเป็นอันดับหนึ่ง และอันดับสองของประเทศ การเดินเกมของทั้งสองธนาคารในครั้งนี้ คือ การเชื่อมต่อสิ่งที่เป็นจุดแข็งที่ธนาคารมีกับจุดอ่อนที่เกิดขึ้นในตลาด นั่นคือ ค่า GP ที่มีอัตราสูง และเป็นค่า GP ที่ถูกกำหนดโดยผู้ให้บริการที่เหมือนเกือบจะผูกขาดตลาด delivery ในประเทศไทยไปเสียแล้ว

ความต่างในความเหมือน Robinhood vs Eatable

SCB มองว่าการเข้ามาในตลาดส่งอาหารของ Robinhood ยังไม่สายเกินไป เพราะแพลตฟอร์มกลางในประเทศไทยเป็นของต่างชาติแทบทั้งหมด ซึ่งธุรกิจส่งอาหารในระยะยาวอาจจะถูกกลืนไปเช่นเดียวกัน Robinhood จึงเข้ามาเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ไม่ให้เกิดการผูกขาดมาก

Robinhood ถูกออกแบบมาเป็นแอปพลิเคชันส่งอาหาร (Food Delivery) เริ่มพัฒนาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม คาดว่าในเดือนสิงหาคมจะเริ่มให้ใช้บริการได้ โดยตั้งเป้าจะมีประมาณ 10,000 ร้านค้าตอนเปิดตัวบริการ ซึ่ง SCB เรียก Robinhood ว่าเป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย ตั้งเป้าให้เป็นช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่หักค่า GP สำหรับร้านอาหารรายย่อย สมัครฟรี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เจ้าของร้านได้เงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ

ในขณะที่ Eatable ​เป็นแพลตฟอร์มที่รองรับการสั่งอาหารได้ทั้งการมาทานที่ร้าน (Dine In) การสั่งแล้วมารับ (Din Out) รวมไปถึงการให้จัดส่ง (Delivery) ซึ่งสามารถทำงานได้บนทุกอุปกรณ์ ไม่ต้องโหลดแอปฯ ไม่ต้องซื้อเครื่องใหม่ เพราะเป็น web-based service เพียงแค่ใช้ QR Code สแกนเท่านั้น ที่สำคัญใช้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียม

KBANK มองว่าธุรกิจร้านอาหารเป็น sector ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อัตราการ recover ช้ามาก ยังติดลบ 70% เทียบกับปีก่อนหน้า ทุกร้านอาหารต้องมี social distancing ในขณะที่คนเริ่ม work- paly- stay at home ทำให้คนไปที่ร้านอาหารต้องการประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

Eatable เกิดมาช่วยเหลือเรื่องการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นให้กับธุรกิจร้านอาหาร ตอบโจทย์ทั้งหมดในโลกยุคโควิดและหลังโควิด โดยมุ่ง 3D Restaurant คือ Dine In, Dine Out และ Delivery โดยให้ลูกค้าเพียงสแกน QR Code ที่ติดอยู่บนโต๊ะ หรือเปิดลิงก์ที่ Eatable สร้างให้ ก็สามารถสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ได้ ไม่ต้องรอให้พนักงานมารับออเดอร์ หรือจะให้ส่งเดลิเวอรี โดยคนของร้านไปส่งเองหรือให้ผู้ให้บริการจัดส่งเจ้าไหนส่งก็ได้

SCB และ KBANK ต่างหวังผลในระยะยาว

ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหารบริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยกล่าวกับ The Story Thailand ว่า เมื่อทุกคนคิดอะไรไม่ออกก็อยากมาปล่อยกู้ทำตัวเป็นธนาคาร เพราะฉะนั้นในฐานะที่ SCB เป็นธนาคารทำไมถึงไม่หันไปทำเรื่อง CUSTOMER ENGAGEMENT บ้าง

เจตนาของ SCB คือ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ทำให้ลูกค้าได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งในอนาคตธนาคารสามารถต่อยอดจากจำนวนลุกค้าที่เข้ามาเชื่อมต่อกับแอปฯ ซึ่งคาดกว่าอีก 3 ปีข้างหน้าแพลตฟอร์มอาจจะปล่อยกู้ได้ หรืออาจจะขยายธุรกิจต่อได้

“แอปพลิเคชันส่งอาหารที่เข้ามาก็เข้ามาเพื่อที่จะปล่อยกู้เหมือนกับธนาคาร ขณะเดียวกันธนาคารก็จะต้องพยายามอยู่ในธุรกิจอื่นบ้าง ถ้าร้านค้าที่มาอยู่ในแพลตฟอร์ม Robinhood ต้นทุนลดลง หรือทำให้การแข่งขันมากขึ้น ทุกคนก็จะคิดถึง Robinhood ซึ่งเวลาคนคิดถึงธนาคารก็จะคิดถึง SCB” ธนา กล่าว

Robinhood จงใจเข้ามาให้เกิดการแข่งขัน การที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียม (GP) ร้านค้าจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เวลาไปเจรจาธุรกิจกับแพลตฟอร์มอื่น

โมเดลของ Robinhood คือ จะไม่เก็บค่า GP ร้านค้ารายย่อย ผู้ซื้อจะได้ราคาตามหน้าร้าน ไม่ถูกลดสัดส่วนอาหาร และเก็บค่าส่งตามจริง

ส่วนบริษัทขนาดกลางและใหญ่ที่มีสาขามาก จะหักค่าบิลไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ โดยนำค่าบริการเหล่านั้นมาลดให้กับลูกค้า ซึ่งถ้าสั่งระยะใกล้อาจจะได้ส่งฟรีไปเลย เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนเวลาในการส่งจะอยู่ในมาตรฐานเดียวกับคู่แข่ง คือ ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

นอกจากนี้ ลูกค้าสามารถใช้ SCB Easy กับ Robinhood หรือจ่ายผ่านบัตรเครดิตธนาคารใดก็ได้ จ่ายผ่าน QR ได้ เพราะแพลตฟอร์มไม่รับเงินสด ร้านค้าจะได้เงินภายใน 1 ชั่วโมง เป็นจุดขายของ Robinhood

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า KBTG สร้าง Eatable มาเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีความสามารถในการสร้างบริการและรายได้ได้ดีขึ้น ช่วยให้การดำเนินธุรกิจของร้านอาหารง่ายขึ้น

“เรามองว่าธุรกิจร้านอาหาร คือ ลูกค้าหลักของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจะมีทีมนักเทคโนโลยี นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และทีมนักพัฒนาของ KBTG ช่วยสนับสนุนอยู่ ซึ่งตรงนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีค่าธรรมเนียม” เรืองโรจน์ กล่าว

ร้านอาหารสามารถเลือก express service ที่เหมาะสมกับร้านตัวเอง อาทิ Grab Lalamove และ Skootar ซึ่ง Eatable มีระบบหลังบ้านที่ช่วยร้านคำนวณอัตราค่าส่งที่เหมาะสม ในกรณีร้านใช้บริการ express service แอปฯ ก็จะแนะนำว่าร้านค้าควรมีส่วนลดค่าส่งให้ลูกค้าเท่าใด ฟีเจอร์นี้สามารถทำให้ร้านอาหารประหยัดค่าธรรมเนียมได้มากวก่า 15% ลูกค้าจะไม่รู้สึกว่าต้องจ่ายค่าส่งที่แพง

นอกจากนี้ Eatable จะมีบริการรับชำระเงินพร้อมให้บริการเดือนกันยายน 2563 นี้ ดังนั้น ลูกค้าสามารถสั่งครบจ่ายจบได้ในช่องทางเดียว และจะมีการเปิดตัวมินิโปรแกรมไคไท่เตี่ยนไช่ (Kai Tai Dian Cai) บริการสั่งอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจีนผ่านแอปวีแชท (WeChat) ในช่วงปลายปีนี้ด้วยเช่นกัน รองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะกลับมา

“Eatable คือ ความตั้งใจของ KBANK และ KBTG ที่ลงทุนเพื่อช่วยเหลือลูกค้า เราลงทุนเยอะแน่นอน ทุกโซลูชั่นเราทุ่มเทจริง ๆ เพื่อช่วยลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยในทุกอุตสาหกรรม” เรืองโรจน์ กล่าว

การเปิดตัว Robinhood และ Eatable ในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนความเข้มแข็งของบริษัทเทคโนโลยีของธนาคาร และเป็นรูปธรรมของการพัฒนานวัตกรรมบริการจากนักเทคโนโลยีคนไทยที่ตอบโจทย์ธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากธุรกิจธนาคารเอง จะเห็นได้ว่าเส้นทางก่อกำเนิดของทั้ง SCB 10X และ KBTG เพื่อมาเป็นฝ่ายสนับสนุนหลักด้านเทคโนโลยีให้กับธนาคาร

ทั้งสองธนาคารต่างมีทิศทางที่ชัดเจนคล้ายกันในการสร้างทีมเทคโนโลยีของตัวเองรวมถึงการควานหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีจากแวดวงสตาร์ตอัพ เพื่อมาตอบโจทย์ธนาคารในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นบทบาทการเป็น Tech Arm ของทั้งสองบริษัทได้ชัดเจน แต่ทว่าที่ผ่านมาบริการต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธนาคาร เพิ่มศักยภาพของธุรกิจหลักของธนาคาร

แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของทั้งสองธนาคารที่เข็นบริการออกมาเพื่อให้ลูกค้าของธนาคารได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง แน่นอนว่าถึงแม้ว่าทั้งสองธนาคารจะบอกว่า ไม่ได้มุ่งหวังรายได้จากบริการใหม่ทั้งสองบริการนี้ ทั้ง Robinhood และ Eatable แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองธนาคารได้ประโยชน์เต็ม ๆ ประการแรก คือ ได้ช่วยลูกค้าของธนาคารให้มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจและฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ไปได้ ได้พิสูจน์ศักยภาพฝีมือทีมเทคโนนโลยีของธนาคาร และได้สร้างภาพลักษณ์ในฐานะผู้นำในตลาดได้เป็นอย่างดี

จะว่าไปการเข้ามาของ Robonhood และ Eatable ของทั้งสองธนาคาร น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรม food delivery อย่างแน่นอน จากแผนที่ทั้งสองธนาคารวางไว้ บวกกับความได้เปรียบในฐานะ “คนท้องถิ่น” และเป็น “นายธนาคาร” ที่มีฐานลูกค้าในมือหลักสิบล้าน ทั้งฝั่งรัานค้า คนขับ และผู้บริโภค เกมนี้ มีโอกาสสูงที่ตลาด food delivery ถูกเขย่า จนผู้เล่นหลักรายเดิมจะต้องมีการปรับกลยุทธ์อย่างแน่นอน จุดแข็งที่ผู้เล่นเดิมมีและใช้มาโดยตลอด คือ เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการกวาดตลาด

เกมนี้สนุกแน่ เมื่อธนาคารขยับรุกคืบเข้าไปในสนามของผู้ท้าชิงที่จะมาให้บริการสินเชื่อแข็งกับธนาคารบ้าง แทนที่จะอยู่แต่ในสนามของตัวเองและรอตั้งรับเพียงอย่างเดียว และเป็นการขยายฐานสู่ลูกค้ารายเล็ก ๆ ที่ในอดีตไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบอีกจำนวนมากมาย

แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ทั้ง Robinhood และ Eatable จะปังหรือจะแป๊ก …. ต้องใช้เวลาพิสูจน์ ความเอาจริงเอาจังของทั้งสองธนาคารว่าจะสามารถยึดครองใจผู้ประกอบการและผู้ใช้งานโดยรวมได้หรือไม่

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ